จุดประกาย ถาม-ตอบ 06

A: 

ขออนุญาตเรียนถามค่ะ รู้ว่าตั้งใจมากเกินไปเพราะเวลานั่งสมาธิแล้วมีอาการเกร็งที่ใบหน้า เลยเลิกนั่ง แต่ดูเหมือนใจยังหวนกลับไปรู้ลมตลอด (เลยเหมือนมีความเกร็งอย่างต่อเนื่อง) จะแก้ไขอย่างไรดีคะ

Camouflage:

สวัสดีครับ

ปัญหาของการติดที่จะรู้ลมหายใจ เป็นปัญหาที่แก้ยากพอสมควรครับ

ผมเจอคนจำนวนมาก ฝึกกรรมฐาน รู้ลม เพราะคิดว่ากำลังทำอานาปานสติอยู่

แต่กลับกลายเป็นการเพ่งลมหายใจโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นอึดอัด ขัดแน่น ไม่เป็นปกติ ไม่ผ่อนคลาย ไม่เป็นธรรมชาติ

กรรมฐานที่ผมแนะนำ คือความรู้สึกตัว ไม่ใช่รู้ลม

ผมแนะนำให้เลิกนั่งหลับตา แล้วไปเดินเล่นสบายๆ

ถ้ามันกลับมารู้ลมหายใจ ในแบบแคบๆ อึดอัด จนลืมร่างกายไป

ก็ให้รู้ทัน และอาศัยรู้ความเคลื่อนไหวของอิริยาบถใหญ่แทนทันที จะค่อยๆคลายออกครับ

ที่สำคัญอย่าไปนั่งหลับตาอีก มันจะเข้าร่องเดิม

หลายคนคิดไปเอง ว่าลมหายใจก็คือรูปหนึ่งของกาย

ว่ากันตามทฤษฎีก็ไม่ผิดอะไรครับ

แต่หากว่ากันตามสภาวะของจิตตอนนั้น มันอึดอัด คับแคบ ไม่กว้างๆ เบาสบาย เรียกว่าสภาวะไม่เป็นลหุตา ไม่อ่อนโยน ควรค่าแก่การงาน

หากจะใช้ลมหายใจ ต้องเป็นลักษณะของการรู้สึกว่าร่างกายนี้กำลังกระเพื่อมขึ้นลง

เห็นลม แต่ร่างกายทั้งร่างกายไม่ได้หายไป
ข้อนี้ต้องจำกันให้ดี

ถ้าหายไปแสดงว่าเรากำลังจมเข้าไปในลมหายใจแทน

นั่นเรากำลังทำสมถะจนอาจจะได้ฌานในที่สุด

ซึ่งนั่นเองเป็นทางของดาบสทั้งสอง ที่พระพุทธเจ้าเคยไปร่ำเรียนมา และต้องเลิกร้างไปในที่สุด

คนที่ติดลมหายใจ จึงแก้ยากมาก เพราะ เค้าเข้าใจว่ากำลังรู้สึกตัว แต่จริงๆคือเพ่งเอาไว้จนชิน

เข้าใจว่า ไม่หลง เพราะไม่ลืมลมหายใจเลย นั่นเพราะเพ่งเอาไว้อีกเช่นกัน

เข้าใจว่าจิตใจปกติดี เพราะ กระทบก็ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว นั่นก็เพราะเพ่งเอาไว้จนชินอีกเช่นกัน

จิตใจมนุษย์นั้น มีธรรมชาติ กระเพื่อมหวั่นไหว ส่งออกนอก

แต่นักปฏิบัติจำนวนมาก เข้าใจการปฏิบัติผิด ว่าต้องไม่ให้กระเพื่อม ไม่ให้ไหล ไม่ให้ส่งออก

จึงเป็นที่มาของนักปฏิบัติธรรม ที่ทำไมจำนวนมากดูเพี้ยนๆ ดูเคร่งขรึม ดูเป็นซอมบี้ ขาดความมีชีวิตชีวา ขาดความเบิกบาน ขาดความเป็นธรรมชาติ

และชอบติคนที่ไม่เป็นเหมือนตัวเอง จิตใจเต็มไปด้วยการตัดสินแบ่งแยก ทิฏฐิมานะ

ครั้งหนึ่งมีคนเห็นกลุ่มพระภิกษุในสมัยพระพุทธเจ้า เกิดความรู้สึกประทับใจ จนเอ่ยกับพระพุทธเจ้าว่า เหล่าภิกษุของท่านนั้น
ช่างดูมีความสงบ แต่ร่าเริง

คำว่าร่าเริง นี่สำคัญ

นักปฏิบัติที่ปฏิบัติแล้ว แข็งเป็นหิน

ชีวิตที่พอเริ่มปฏิบัติก็เปลี่ยนไป จากเบิกบาน เป็นธรรมชาติ ก็เริ่มกลายเป็นซอมบี้ ไร้อารมณ์ ความรู้สึก และพาลเข้าใจผิดว่า จิตใจเป็นอุเบกขา

ทั้งหมดทั้งสิ้นเหล่านี้เพราะปฏิบัติไม่ถูกต้อง เพราะไปเพ่ง กด ข่ม บังคับ

พยายามทำผลลัพธ์ของพระอริยะเจ้า คือ ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่ไหล ไม่ส่งออกนอก

แทนที่จะสร้างเหตุ คือการเรียนรู้กายจิตตามความเป็นจริง

เมื่อมันไหลก็รู้ทัน มันเป็นยังไงก็รู้ทัน

เรากลับพยายามไปสร้างผลให้เหมือนที่เราเรียนมา แล้วละทิ้งการสร้างเหตุที่ถูกต้อง

การทำแบบนั้น ทั้งชีวิต ก็ได้ผลแค่การหลอกตัวเองว่ากำลังปฏิบัติธรรมอยู่ครับ

A: สาธุค่ะ