ความเข้าใจ ความแบ่งแยก

เมื่อก่อนเราไม่รู้จักธรรมะ เราเข้าใจเรื่องต่างๆ ด้วยการคิดบวก (Positive Thinking) ต่อมาเรารู้จักธรรมะว่า อ๋อเป็นเหตุปัจจัย อ๋อเป็นกรรมของมัน อ๋อนี่ อ๋อนั่น แต่…เรายังทุกข์เหมือนเดิม ทำไม?

เพราะความพยายามจะเข้าใจอะไร นั่นเป็นเรื่องของ “เรา

แต่ผมบอกว่า “เราไม่มีหน้าที่เข้าใจอะไรทั้งนั้น” แม้กระทั่งการสรุปว่า อ๋อ คนนี้เป็นคนอย่างนี้แหละ หรือมันเป็นเช่นนั้นเอง นั่นก็คือ “ความเข้าใจ” ความเข้าใจนั้นสุดท้ายจะทำให้เราทุกข์ เพราะจริง ๆ ความเข้าใจแบบนั้นเป็นความเข้าใจของ “กู” แล้ววันนึงมันจะพลิกเป็นว่า ทำไมเขาคิดอย่างนั้นได้  

“ธรรมะอยู่เหนือทุกอย่าง เราไม่ต้องเข้าใจอะไร” คำนี้มีความหมายที่ลึกซึ้ง เพราะความเข้าใจเป็นเรื่องของ  “คน” เท่านั้น มีแต่คนเท่านั้นที่คิดได้ และลงความเห็นได้ และเข้าใจได้ แต่ผมไม่ได้บอกว่า เราจะไม่เข้าใจนะ

ประสบการณ์ของความคิด ก่อให้เกิดความขัดแย้งในที่สุด

ธรรมะเป็นสิ่งที่พูดไม่ได้ พูดยังไงก็ไม่หมด คำอธิบายธรรมะจึงกลายเป็นปัญหา

 

เราเคยสังเกตเห็นไหมว่า เวลาเราเข้าใจธรรมะ หรือเข้าใจสิ่งที่เราเรียกว่าความจริง นั่นเป็นความสุขหรือความดีใจ โดยสรุปคือ อะไรก็ตามที่ยังให้ความสุขได้นั่นคือปัญหา

สมมติว่าเราเป็นคนชอบเข้าใจธรรมะ เราชอบฟังธรรมะ เราชอบเข้าใจความจริงอะไรก็ตาม เราจะโหยหาธรรมะ เราจะมีความโหยหาการปฏิบัติธรรม เราจะมีความโหยหาบางอย่างลึกๆ อยู่ในใจ นั่นคือ ตัณหา เหมือนกัน

แต่ผมพูดถึง “ความเงียบ การที่ไม่ต้องเข้าใจอะไร” กลับกลายเป็นความสุขอีกแบบนึง (ความสุขที่แท้จริง) กลับกลายเป็นความกว้างขวาง

เพราะฉะนั้น ชีวิตนี้เป็นเหมือนการสำรวจ การเรียนรู้ เรียนรู้ที่จะเข้าใจว่าอะไรที่จะทำให้เราทุกข์ได้บ้าง

ทำไมเรายิ่งปฏิบัติแล้วตัวตนยิ่งเยอะ ยิ่งปฏิบัติยิ่งแบ่งแยก ยิ่งรู้เยอะ ยิ่งไม่ชอบหรือไม่พอใจคนที่ไม่รู้เรื่อง หรือคนดีก็ไม่ชอบคนชั่ว ทำไมมันกลายเป็นแบบนั้น ทำไมเรายังทุกข์ เพราะอะไร? เพราะมีเราคอยจะเข้าใจ เราคอยจะเข้าใจอะไรนั่นคือ เราคอยที่จะแบ่งแยกสิ่งต่างๆ ออกเสมอๆ

เหมือนเมื่อกี้เรานั่งสมาธิ แล้วมีเสียงรถไฟ ถ้าในขณะนั้น เป็นความเงียบ…แต่ความเงียบไม่ใช่เสียงนะ หมายถึงเราเข้าถึงความเงียบจริงๆ “ความเงียบคือความไม่มีปัญหากับอะไรทั้งนั้น นั่นคือความเป็นหนึ่ง คือความเป็นทั้งหมดของชีวิต

แต่ทันทีที่นิสัยของเราเต็มไปด้วย “ความแบ่งแยก” เราก็คิดในใจว่า “โอ้ย รถไฟเสียงดังจัง ฟังธรรมก็ไม่ค่อยได้ยิน” แล้วด้วยนิสัยแบบนี้ จะส่งผลต่อการปฏิบัติทั้งหมดที่เหลือของชีวิตเรา เช่น นั่งไม่ดีเลย ไม่สงบเลย ความคิดเยอะมาก ทั้งหมดทั้งมวลมาจากเราไม่เข้าใจความเป็นหนึ่ง ความเป็นทั้งหมด นั่นเป็นเพราะ “นักปฏิบัติธรรมพยายามเข้าใจทั้งหมดในโลกนี้ แต่ไม่เข้าใจความเป็นหนึ่ง”

เมื่อใดก็ตามที่เราพยายามที่จะเข้าใจทั้งหมดในโลกนี้ โดยที่ไม่เข้าใจความเป็นหนึ่ง ชีวิตเราจะเต็มไปด้วยความแบ่งแยก เราจะแยกทุกอย่างออกหมดเลย เราแยกทุกอย่างออก ในขณะเดียวกัน มันคือ “การเน้นตัวเราให้มันชัดขึ้น

แต่ถ้าเราสามารถที่จะอยู่ในจุดที่ไม่ลงความเห็น ไม่แบ่งแยกอะไรเลย  นั่นแหละคือจุดที่ตัวเราจะหายไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมถามว่า ในขณะนั้นรู้ไหมว่ามีเสียงรถไฟ…เรายังรู้เหมือนเดิม

 

การฟังธรรมะ ก็เต็มไปด้วยความเห็นด้วย และความไม่เห็นด้วย และนั่นก็คือโลกแห่งความคิดเหมือนเดิม เราถึงฟังธรรม ปฏิบัติธรรม แล้วก้าวหน้าไม่ได้ เพราะเราอยู่ที่เดิม เราอยู่ในโลกของการลงความเห็น เหมือนเดิม เราใช้สมองฟัง ไม่ได้ใช้ใจฟัง สอนคนมีแต่ทิฏฐิ มีแต่เรา นั้นสอนยาก

Zen ถึงบอกว่า ต้องเป็นแก้วเปล่า คำว่า แก้วเปล่า คือ เราไม่ได้ใช้สมองฟัง ใช้ใจฟัง

ความเข้าใจในธรรมะไม่สามารถเข้าใจด้วยสมองได้ และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์เราฟังไม่เข้าใจเหมือนกันว่าถ้าไม่ใช้สมองฟังแล้วจะเข้าใจได้ยังไง  เห็นไหม มันไปนอกเหนือเหตุผล นอกเหนือสิ่งที่เราจะคิดออกว่ามันเข้าใจได้ แล้วพอเราเข้าใจไม่ได้ด้วยสมองว่าทำอย่างนั้นจะเข้าใจได้ เราก็เลยไม่ทำ เราก็เลยใช้สมองเหมือนเดิม กลับไปยืนที่เดิม!

 

Camouflage

06-02-2564_2.1