ความจอมปลอมแห่งการสละออก

มองในแง่พุทธประวัติ

 

พระพุทธเจ้าท่านสละทรัพย์สมบัติ

ท่านสละภรรยาและลูกที่เพิ่งจะเกิดขึ้นมา

ท่านสละพ่อแม่ญาติพี่น้อง

ท่านสละประชาชนที่ต้องการท่าน

เหล่านี้คือสิ่งที่พวกเราอ่านมาฟังมาว่าท่านสละแบบนั้น แต่ก่อนที่ท่านจะสละทางพฤติกรรมแบบนั้นได้ ท่านต้องสละอะไรภายในใจก่อน??? นี่คือสิ่งสำคัญกว่า

 

ท่านสละออก กิเลส ตัณหา ราคะ ความผูกพัน ซึ่งก็คือมิจฉาทิฐิที่ท่านมีต่อสิ่งต่างๆรอบตัวท่าน

 

ดังนั้น การสละออกที่สำคัญที่สุด ก็คือ การสละมิจฉาทิฏฐิแห่งความมีอัตตาตัวตนออกไป และเริ่มการเดินทางเพื่อที่จะมาทำหน้าที่ที่จะพาตัวเองไปสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

 

แต่วิธีการไม่ใช่การไปคอย”สละ” ไปคอยที่จะ”ละ” หรือไปทำอะไรทั้งสิ้น เพราะการจะทำอะไรตัวตนจะเกิดขึ้นทันที

 

ในที่นี้ผมขอพูดสั้นสั้นว่า เพียงแค่จิตใจนี้มีความเป็นปกติอยู่ และพ้นออกจากโลกของความปรุงแต่งทั้งปวง ในขณะนั้นเป็นความว่างจากตัวตนที่แท้จริง

 

ไม่ใช่การไปคอยละ คอยสละใดๆ เพราะการกระทำเช่นนั้น เป็นการสร้างตัวตนรูปแบบใหม่ขึ้นมาทันที

.

.

.

ดังนั้นการสละออกที่แท้จริงมันเริ่มจากใจที่ว่างจากความเป็นตัวเป็นตน ไม่ใช่เพียงแค่การกระทำภายนอก

 

หากจะลองยกตัวอย่าง การสละออก ในแง่มุมที่เห็นชัดที่สุด คงเป็นแง่มุมของ ทานบารมี

 

การทำทานเพื่อที่จะหวังผล ไม่ใช่การสละออกอย่างแท้จริง กลับกันผู้ทำทานนั้น มองทานเป็นการลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนอย่างไดอย่างหนึ่งขึ้นมา

 

ในกรณีนี้ ผมไม่ได้หมายรวมถึงผู้ที่มีความตั้งใจดีในการทำทาน เห็นประโยชน์ของการช่วยสงเคราะห์โลก เห็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นหลักใหญ่

 

แล้วต่อมาภายหลัง เกิดความจำได้ขึ้นมาว่า ผลของทานคงช่วยเรา ให้ผลดีกับเราก็ตาม ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องของสัญญาจำได้หมายรู้ ถึงสิ่งที่เคยเรียนรู้มา ไม่ได้เป็นความตั้งใจแรกที่ลงมือทำทานเพราะหวังผลของทานนั้นๆ

.

.

.

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มความเข้าใจผิดอันละเอียดมากในการสละออก ที่ผมจะกล่าวต่อในที่นี้

 

ตามหลักของทานบารมี ซึ่งมีการแจกแจงไว้ว่า การจะได้สั่งสมทานบารมีขั้นสูงสุดนั้น คือการสละออกซึ่งสิ่งใดๆ โดยไม่คาดหวังผลที่จะได้

 

ด้วยความรู้อันนี้ ที่ได้ศึกษามา ทำให้การทำทานทุกครั้งของคนกลุ่มนี้ จึงเต็มไปด้วยความระแวดระวัง ความตั้งใจ ที่จะไม่ให้เกิดความหวังผลในทานนั้นๆ เพื่อจะได้บรรลุเงื่อนไข ของการที่จะได้บารมีจากทานนั้นในขั้นสูงสุด อย่างสมบูรณ์ที่สุด

 

ด้วยความตั้งไจแรกแบบนั้น ทำให้ในทุกครั้งของการทำทาน จึงกลับกลายเป็นการหวังผลจากทานนั้นๆ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่สุด

 

ซึ่งทำให้ ทานนั้นๆ ถูกเคลือบแฝงอย่างแนบเนียนไปด้วยโลภะทางใจ

 

ผมขอให้พวกเรา พึงเข้าใจว่า ความอยากฝ่ายดี นั้นนับเป็นความอยากอยู่เหมือนเดิม ต่างก็ยังเป็นกิเลสเช่นกัน

 

เราทำทาน ไม่ได้ทำเพื่อที่จะทำเพียงแค่นั้น แต่เราทำโดยมีความโลภแห่งการหวังว่าเราจะบรรลุการได้ผลสูงสุดจากทานบารมีนั้นเป็นเบื้องหลัง

 

และในบางครั้ง ยังเกิดความเห็นผิดถึงกระทั่งว่า เมื่อเห็นผู้อื่นทำดีก็ไม่อยากจะกล่าวโมทนาสาธุ เพราะกลัวว่าจะเป็นการหวังผลบุญ เนื่องด้วยความเชื่อที่ว่าถ้ากระทำแบบนั้นจะทำให้ตนเอง ไม่ได้รับบุญบารมีจากทานบารมีขั้นสูงสุด

 

จะเห็นว่าผู้ที่คิดแบบนี้ การกระทำภายนอกนั้นดูดีมาก แต่ภายในนั้นเต็มไปด้วยอัตตาตัวตน

 

ทำทั้งหมดไปก็เพื่อจะได้รับประโยชน์จากทานบารมี ที่ตัวเองเชื่อว่าถ้าทำตามหลักการนี้ เราจะได้สำเร็จทานบารมีขั้นสูงสุด หรือที่เรียกว่า บารมีเต็ม

 

ลักษณะนี้เป็นมิจฉาทิฐิอย่างรุนแรง เป็นความมืดสีขาวที่มองเห็นได้ยาก

 

และนี่คือตัวอย่างของ ความจอมปลอมในการสละออก

.

.

.

การสละออก หรือการทำทานของเราชาวพุทธนั้น มีลักษณะง่ายๆ ไม่ซับซ้อน

 

เช่น เมื่อถึงโอกาสได้รับข้อมูล หรือที่เรียกว่าบอกบุญมา จิตใจก็พร้อมที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์เพื่อให้กิจการงานนั้นๆ สำเร็จด้วยดี ว่าแล้วก็ไปช่วยทำ ไม่ว่าจะด้วยแรงเงิน หรือแรงงาน ก็แล้วแต่ แล้วก็จบแค่นั้น

 

แม้จะระลึกได้ว่าบุญหรือทานนั้นจะส่งผลดีต่อชีวิตของเราในภายภาคหน้า ก็เป็นเพียงเรื่องของสัญญาความจำได้หมายรู้ทำงานขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องของมิจฉาทิฏฐิใดๆเลย ตรงกันข้าม การระลึกถึงบุญกุศลที่ได้ทำแล้ว กลับช่วยให้เกิดความปีติสุขในใจได้ในอีกทางหนึ่งด้วย เมื่อจิตใจมีความสุข จิตใจก็เป็นสมาธิง่ายๆ

 

และถึงแม้ หากจะมีถ้วยรางวัล เหรียญเกียรติยศมาให้เรา ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราต้องปฏิเสธ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มคนที่หวังจะบรรลุทานบารมีขั้นสูงสุด เพราะการแสดงออกเพื่อปฏิเสธแบบนั้นจะกลับกลายเป็นแสดงออกของตัวตนในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง

 

การรับสิ่งเหล่านั้นไม่ได้แปลว่า เรามีมิจฉาทิฏฐิ แต่หมายถึงเราเข้าใจความเป็นไปของสมมติและวิมมติอย่างทั่วถึงกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว

 

ผู้ที่ให้เรานั้น เค้าเองอาจจะแค่ต้องการแสดงความขอบคุณ หรือป่าวประกาศสรรเสริญ ว่าการทำสิ่งดีนั้น เป็นสิ่งที่สมควรทำ

 

หรือแม้กระทั่งผู้ที่เข้ามาร่วมอนุโมทนาสาธุนั้น ไม่ใช่หมายความว่าเขาเหล่านั้นอยากจะได้บุญ…ไม่ใช่ทุกคนคิดแบบนั้น

 

บางคนก็คิดว่าเป็นมารยาททางสังคม บางคนเพียงต้องการแสดงความเห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้นั้นได้กระทำ  บางคนเพียงแค่ยินดีด้วยกับการทำสิ่งดีดีนั้นโดย ไม่ได้หวังอะไรจากการกล่าวอนุโมทนาสาธุใดๆ ทั้งสิ้น

 

แต่เพราะเราเอง มัวแต่หลงอยู่ในข้อมูลของวิมุตติ ที่เค้าเรียกว่า เมาวิมุตติ เมาความไม่มีตัวตน จึงเกิดการแบ่งแยก ว่าเค้า ว่าเรา ว่าแบบนี้เป็นสัมมาทิฏฐิ แบบนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ

 

ผมมีตัวอย่างง่ายๆ ที่จะเปรียบเทียบ สมมติว่า สัมมาทิฏฐิเป็นสีขาว และมิจฉาทิฏฐิเป็นสีดำ เมื่อสีดำและสีขาวเคลื่อนตัวมาตรงกลางมาเจอกัน สีที่ได้จะเป็นสีใหม่ ตรงนั้นเราจะเรียกมันว่าสีอะไร

 

ผู้ที่เข้าใจสมมติและวิมุตติแล้วนั้น จะไม่เรียกว่ามันเป็นสีอะไร แต่แม้ว่าจะมีใครจะเรียก หรือใครจะไม่เรียกว่าสีอะไร ก็ไม่ได้มีจิตใจไปตัดสินอะไรทั้งนั้น

 

แต่จะเข้าใจว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง

 

คนที่มัวแต่คิดเอง ว่าตัวเองเป็นสัมมาทิฏฐิ คนอื่นเป็นมิจฉาทิฐินั้น เป็นจิตใจที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยกสรรพสิ่ง ไม่สามารถเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งได้

 

ลักษณะอาการแบบนี้เรียกว่าเป็นมิจฉาทิฐิโดยสมบูรณ์

.

.

.

 

ผมเคยพูดเสมอว่า การปฎิบัติธรรมคือการปล่อยวางทุกสิ่ง ทิ้งทุกอย่าง แม้กระทั่งสิ่งนั้นจะเป็นความรู้อันสูงสุดก็ตาม

 

แม้กระทั่งความรู้อันสูงสุดเราเองยังไม่เอาเลย แล้วนับประสาอะไรกับทานบารมี

 

เพราะฉะนั้น บารมีไม่ใช่เป็นเรื่องของการที่มี “เรา”ไปคอยสั่งสม

 

หากเพียงแต่ว่าเราดำเนินจิตของเราให้อยู่ในทางที่พ้นไปจากความปรุงแต่งทั้งปวง แล้วเราก็ทำหน้าที่ทั้งทางโลก และทางธรรม ในทางที่สมควรจะทำ ตามเหตุตามปัจจัยที่เหมาะสมโดยสมบูรณ์

 

บารมีต่างๆ จะเป็นผลที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ซึ่งไม่ต้องมีใคร ต้องคอยพยายามจะสั่งสมมัน

 

แต่ถ้าเบื้องลึกในจิตใจ เป็นอย่างที่ผมพูดตอนแรกในลักษณะของความมืดสีขาว ความโลภอย่างละเอียด ถ้ายังคงมีความรู้สึกแบบนั้นอยู่

 

ทานบารมีที่กำลังทำอยู่นั้น ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นทานบารมีขั้นสูงสุด

 

แต่เป็นเพียงทานบารมีที่เป็นความจอมปลอมของการสละออกเท่านั้น

 

Camouflage