ยินดีพอใจในความว่าง

ความว่างที่แท้จริงนั้น ไม่มีอะไรเจือปน ทั้งยังไม่มีอารมณ์สุนทรีย์ หรืออารมณ์เพลิดเพลินพอใจกับชีวิตที่ว่างๆใดๆ เจือปน

ดังที่หลวงปู่ดูลย์ท่านว่า ในความว่าง นั้น ไม่มีอะไรบรรจุอยู่

หากจะหาครูบาอาจารย์ที่อยู่อย่างว่างๆอย่างแท้จริง ที่เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักปฏิบัติเป็นอย่างดี และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ก็คงจะหนีไม่พ้น หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ชีวิตของท่านนั้น เป็นชีวิตที่เรียบง่าย มักน้อย สันโดษ 

ท่านมีปฏิปทา พูดน้อย ตอบคำถามทางธรรมสั้นๆ แต่ตรงประเด็น ซึ่งอันนี้ถือเป็นวาสนาของแต่ละครูบาอาจารย์ที่อาจจะไม่เหมือนกัน

.

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมขอให้เหล่านักปฏิบัติหมั่นสังเกตตัวเองสักหน่อย

การอยู่อย่างว่างๆ นั้นหมายถึง ในแต่ละขณะไม่ได้มีความคิดฟุ้งซ่าน แม้กระทั่ง #ความคิดฟุ้งซ่านในธรรม

ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า

วิมุตติ คือ จิตที่เข้าถึงความว่าง 

จากความว่าง คือ ละความสบาย 

เหลือแต่ความไม่มีไม่เป็น 

ไม่มีความคิดเหลืออยู่เลย

หากท่านใดที่เข้าใจว่าตนเองเข้าถึงความว่างแล้ว แต่ยังมีความคิดฟุ้งซ่านในใจอยู่ อาจจะต้องรู้จักสังเกตตนเองสักหน่อย ว่าเรากำลังติดว่างหรือไม่

คำว่า ติดว่าง ในที่นี้ คือ ความยินดีพอใจในความว่าง หรือในชีวิตที่ได้เข้าถึงความว่างแล้ว ???

.

ผู้ที่เข้าถึงความว่างที่แท้จริงนั้น จะไม่รู้สึกพอใจในชีวิตที่ว่าง 

ในทางกลับกัน “ท่านผู้นั้นไม่ได้ให้ความสนใจ ทั้งว่าง และไม่ว่าง แต่ ท่านว่าง

เมื่อว่างแล้ว จิตใจก็ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ธรรม หรือ อธรรม 

แต่ท่านสามารถแสดงธรรมได้ ในลักษณะ จิตสู่จิต หรือ ใจสู่ใจ นั่นหมายถึง ธรรมะจะออกจากใจ เมื่อมีใจอีกดวงมารองรับธรรม 

และอีกแบบหนึ่งคือ อาศัยสัญญา ที่จำได้ มาถ่ายทอด เช่น หลักปฏิบัติ หรือองค์ความรู้ต่างๆ อันนั้นเรียกว่าการใช้สัญญา มาเรียบเรียง ถ่ายทอด เช่นการเทศนาธรรม ผ่านกล้องอีกทีหนึ่ง

ใจสู่ใจ นั้นเป็นกระแสธรรมชาติ เปรียบเสมือนน้ำต้องไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ เช่นเดียวกับ ธรรมแท้ก็ออกมาจากใจ และเข้าถึงใจ ผู้ฟังที่พร้อมเปิดรับเช่นกัน

.

.

ดังนั้น ท่านที่เข้าถึงความว่างแล้ว เวลาท่านอยู่คนเดียว ท่านจะไม่มีความฟุ้งซ่านในธรรม 

ท่านไม่มีความยินดีพอใจกับชีวิต แม้กระทั่งชีวิตนั้นเป็นชีวิตที่เข้าถึงความว่างแล้ว เพราะท่านเห็น หรือ รู้เฉยๆ 

ท่านมีความเป็นปกติ ต่อทั้งสภาพว่าง และไม่ว่าง

ท่านมีความปกติ ต่อ ปัญญาญาณ และ องค์ความรู้ดาษๆทั่วไป

เพราะท่านเห็นทุกอย่างเสมอกัน

จึงอยู่ในสภาพของ ตถตา 

คือ มันเป็นเช่นนั้นเอง

.

.

ลายท่านเข้าใจว่า พอเข้าถึงความว่างแล้ว เมื่อมีธรรมะดีๆ ผุดออกมา รีบจดเอาไว้ เพราะเข้าใจว่าเป็นปัญญาญาณ 

ถึงแม้ความรู้นั้นจะถูกต้องจริงแท้ และเรียกว่าปัญญาญาณได้ แต่สิ่งที่เราพลาด คือเราไม่สามารถเห็นเฉยๆได้ เรากำลังยินดีพอใจ กับความรู้นั้น

ที่เราพยายามจะจดจำเอาไว้ เพราะไม่ทันเห็นว่ามันเป็นความคิด เป็นความฟุ้งซ่าน เพราะเราให้ค่าเรียบร้อยว่ามันคือปัญญา เป็นของดี 

สุดท้าย จึงเกิดการมีตัวตนที่อยากจะสะสมความรู้นั้น

.

.

ผมเคยได้ยินครูบาอาจารย์เวลาท่านเทศน์สอน แล้ว โยมก็เริ่มหยิบสมุดมาจดหลักธรรมสำคัญกันใหญ่

จนท่านเอ็ดเข้าให้ว่า เอาแต่จดเนี่ย…ความคิดทั้งนั้น 

ท่านกำลังสื่อความหมายคือ ความรู้ทางธรรม ไม่ใช่การจด จำ การเข้าใจทางความคิด แต่ให้เร่งลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง

จะเห็นว่าการปฏิบัติธรรมนั้นมีความละเอียดอ่อน และจำเป็นต้องอาศัยครูบาอาจารย์ 

แต่หากท่านที่กำลังติดว่างในลักษณะนี้ และยังไม่มีครูบาอาจารย์แนะนำ อาจจะทำให้เราติดอยู่นาน 

แต่ผมเชื่อว่า ด้วยบุญที่อยู่ในเส้นทางนี้อยู่แล้ว จะช่วยท่านเหล่านั้นสะกิดใจขึ้นมาได้เอง ด้วยโยนิโสมนสิการ 

แต่จะติดนานเท่าไหร่ คงไม่อาจบอกได้

Camouflage