ปล่อยวาง

พระพุทธเจ้าสอนเราว่า ชาวพุทธไม่ได้มีหน้าที่ปล่อยวางไปเสียทุกเรื่อง

ในทางตรงกันข้าม ชาวพุทธต้องรู้หน้าที่ ที่สมควรจะทำ สมควรจะจัดการ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสม ในแต่ละสถานการณ์

.

.

.

ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อชาแห่งวัดหนองป่าพง เดินสำรวจกุฏิ ก็พบว่า กุฏิหลังหนึ่ง หลังคารั่ว 

ท่านเองจึงถามพระว่า ทำไมไม่จัดการซ่อมแซมให้เรียบร้อย

พระท่านเลยพูดว่า ก็หลวงพ่อสอน ให้รู้จักปล่อยวาง

หลวงพ่อชาท่านจึงบอกว่า ใช่ เราสอนให้รู้จักปล่อยวาง

แต่ไม่ใช่ “ปล่อยวางแบบควาย” แบบนี้

.

.

.

ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนนั้น เราเองต้องรู้จักจัดการชีวิตตนเองอย่างเหมาะสม

และหากเรานั้นอยู่ในบทบาทของการเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะระดับครอบครัว ระดับชุมชน หรือระดับสังคมก็ตาม 

เราเองนั้นจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องมีปัญญา ที่จะบริหารจัดการสิ่งรอบตัวในปกครองทั้งหลายอย่างเหมาะสมเช่นกัน

ในหลวงท่านเคยมีพระบรมราโชวาทมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 ใจความว่า

ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี 

ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด 

การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี 

หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้

พวกเรานั้นยังต้องอยู่ในสังคม และไม่ว่าสังคมนั้นจะเป็นสังคมแบบใด จะเป็นสังคมพระ สังคมฆราวาส ล้วนต้องมีกฏระเบียบ มีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพราะแต่ละสมาชิกในแต่ละสังคมส่วนใหญ่นั้น ยังเต็มไปด้วยอัตตาตัวตน กิเลส ตัณหา และความเห็นแก่ตัว

ดังนั้น หากทุกคนนำธรรมะแห่งความปล่อยวางไปใช้ผิดๆ 

สังคมเราคงอาจจะไม่มีกฏหมาย และคงไม่มีบรรทัดฐาน ไม่มีการจัดการอะไรทั้งสิ้น นี่คือการปล่อยวางแบบผิดๆ 

ซึ่งหากพวกเราลองนึกภาพว่าไม่มีกฏเกณฑ์อะไรเลย จะเป็นอย่างไร

และในสังคมแบบนั้น หากจะมีใครลุกขึ้นมาจัดการสังคมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ก็อาจจะถูกกล่าวหาว่า “ไม่รู้จักปล่อยวาง

ซึ่งความเข้าใจลักษณะนั้น เป็นความเข้าใจผิดในหลักของการปล่อยวาง

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะ ผู้ปล่อยวางแบบนั้น ยังไม่เข้าใจว่าสมมติ และวิมุตตินั้นทำงานร่วมกันเป็นหนึ่ง ไม่มีการแบ่งแยก

.

.

.

เราจะปล่อยวาง

ก็ต่อเมื่อ เราได้ทำสิ่งที่สมควรจะทำแล้ว อย่างเต็มที่

ครั้นแล้ว เราจึงปล่อยวางในผลลัพธ์ 

.

.

.

ดังนั้นการใช้ชีวิตในโลกอย่างสมบูรณ์ สมมติและวิมุตตินั้น จะสอดประสานกันเป็นหนึ่ง ไม่ใช่แยกขาดจากกัน

.

.

.

สมัยก่อน ท่านพุทธทาส ท่านสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ

ท่านสร้างแล้วก็หยุด เพราะไม่มีปัจจัยมาซื้อวัสดุก่อสร้าง 

มีคนไปถามท่านว่า 

เมื่อไรจะเสร็จ?

ท่านตอบ เสร็จทุกวัน

ลักษณะนี้ หมายถึงท่านได้ทำเต็มที่แล้ว ท่านก็ปล่อยวางในผลลัพธ์ที่ได้

ขยายความคือ ท่านลงมือทำสิ่งที่ท่านเห็นว่าสมควรทำ และเมื่อท่านได้ทำเต็มที่แล้ว แม้จะไม่เสร็จ ท่านก็รู้จักปล่อยวาง

ดังนั้นพวกเราชาวพุทธ จึงควรจะรู้จัก การปล่อยวาง ให้ถูกต้องตามธรรมเสียหน่อย อย่าปล่อยวางตามแต่ใจคิด

Camouflage