จงกรม

ความคิด คืออาการไหลตามธรรมชาติ

การปฏิบัติธรรม คือการไม่เข้าไปในกระแสของการไหลนั้น

และธรรมชาติที่จะพาให้จิต ตัดวงจรของการไหลเข้าไปในกระแสของความคิดคือกิริยาอาการ”หยุด

การปฏิบัติธรรมเราต้องใช้ธรรมชาติ คือ”กิริยาหยุด”จัดการกับธรรมชาติ คือ”กิริยาไหล”

เมื่อเราใช้ธรรมชาติ ขัดเกลาธรรมชาติ

เมื่อนั้นเรากำลังปฎิบัติธรรมบนเส้นทางแห่งความว่างจากตัวตน
บนเส้นทางแห่งสัมมาทิฏฐิ
บนทางเดินของอริยมรรคมีองค์แปด

เวลาเราหยุด เราอยู่กับความรู้สึกตัว มันไม่มีเวลา

มันมีแต่ความรู้สึก แล้วก็เห็นความรู้สึกอยู่

บางคนบอกว่าหยุดนานแล้วมันจะคิด

คำถามคือ ทำไมเค้าถึงรู้ว่าการหยุดนั้นนาน

คำตอบคือ เพราะว่าขณะที่หยุด เค้าไม่ได้อยู่กับความรู้สึกตัว

เขามีความคิด มีการตัดสิน ให้ค่า
เวลาเลยเกิดขึ้นกับเขาคนนั้น เขาเลยรู้ว่ามันนาน

นั่นเท่ากับว่าการหยุดของเขา เป็นการ “หยุดเพื่อจะคิด” ไม่ใช่ “หยุดเพื่อที่จะรู้สึกตัว

มีคนเคยถามหลวงพ่อสมบูรณ์ว่าการเดินจงกรมต้องหยุดหรือไม่

หลวงพ่อตอบว่าหยุดหรือไม่หยุดก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือยังเห็นความรู้สึกอยู่

การที่จะเห็นความรู้สึกอยู่ได้นั้น แปลว่าขณะนั้นกำลังมีความรู้สึกตัวอยู่
ขณะที่กำลังรู้สึกตัวอยู่ ขณะนั้นไม่มีความคิด

ดังนั้น ประเด็นไม่ใช่การหยุดหรือไม่หยุด แต่ประเด็นคือ เราออกจากความคิดได้หรือไม่

สำหรับคนที่ออกจากความคิดไม่ได้ หลงเพลินไป ไม่สามารถรู้สึกตัวขึ้นมาได้เอง

กิริยาอาการหยุด จะช่วยให้ความรู้สึกตัวเกิดขึ้น และจะช่วยพาจิตให้หลุดออกมาจากความหลงเพลิน หลงเข้าไปในความคิด

แต่คนที่ปฏิบัติมาจนอยู่ตัวแล้ว
ไม่ค่อยมีความคิดแล้ว
มีความเป็นปกติอยู่เป็นพื้นฐานแล้ว
เค้าจะหยุดหรือจะไม่หยุดก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
เพราะว่าหยุดหรือไม่หยุด ก็ปกติอยู่ ก็ไม่มีความคิดเหมือนกัน

แต่ ถ้าหากว่าเรายังคงลุ่มๆดอนๆฟุ้งซ่านอยู่เป็นนิจ (ทุกคนควรจะประเมินตัวเอง ไม่เข้าข้างตัวเอง)

เราก็ควรที่จะไม่ประมาท และฝึกใช้การหยุดช่วยตัดการไหลเข้าไปในความคิด

มองอีกมุมหนึ่ง หากการหยุดไม่สำคัญ 14 จังหวะ ของหลวงพ่อเทียนคงไม่มี
คำว่า หยุดแล้ว…ให้รู้

ถ้าการหยุดไม่สำคัญ หลวงพ่อเทียน คงจะให้เคลื่อนไปตลอด โดยไม่ต้องมีการหยุดเลย

บางคนเข้าใจว่าการหยุดจะทำให้ความคิดเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง เพราะความคิดนั้นเกิดขึ้นได้จากจิตที่มีโมหะ จิตที่มีแต่ความฟุ้งซ่าน จิตที่ไม่มีกำลังของสมาธิ จิตที่ไม่มีความเป็นปกติอยู่เป็นพื้นฐาน

ถ้าหากการหยุดส่งผลให้มีความคิด ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น พวกเราคงไม่สามารถนั่งเฉยๆ ยืนเฉยๆ พวกเราคงต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา

นั่นหมายความว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติธรรม

ถ้าการหยุดเป็นต้นตอของความคิดจริง นักปฏิบัติคงเหลืออิริยาบถเดียว คือการเดิน

ดังนั้น เราต้องเข้าใจให้ถูก เข้าใจให้ตรงว่าความคิดความฟุ้งซ่านไม่ได้เกิดจากอิริยาบถ แต่เกิดจากจิตที่มีแต่โมหะ

ความรู้สึกตัว จะพาเราคลี่คลายเมฆหมอกของโมหะ

การสะสมความรู้สึกตัวไว้ มันก็ชิงพื้นที่

เหมือนเราเล่นเก้าอี้ดนตรี เก้าอี้ทุกตัวก็ถูกจับจองไว้ด้วยความรู้สึกตัว เมฆหมอกโมหะก็หมดโอกาส ไม่สามารถเข้ามาในจิตในใจนี้ได้เอง

พอเมฆหมอกไม่มี ความคิดฟุ้งซ่านมันก็ไม่มา เพราะไม่มีต้นกำเนิด ซึ่งก็คือโมหะ

แต่ถ้าเราไม่ได้ฝึกที่จะรู้สึกตัวเลย มันก็ไม่มีฐานของความปกติอยู่ในจิตในใจเลย มันก็ไหลตลอด

ไม่ว่าอิริยาบถไหน ไม่ว่าจะหยุด หรือจะเคลื่อน มันก็ไหลทั้งนั้น

เพราะความคิดฟุ้งซ่านนั้นไม่ได้เกิดขึ้น หรือขึ้นอยู่กับอิริยาบถ แต่มันเกิดขึ้นมาจากจิตที่ไม่มีความรู้สึกตัวเป็นบาทเป็นฐานนั่นเอง

Camouflage