ความไม่มีตัวตน

Leader think about business creativity business vision and headhunter concept. Businessman without head just with brain.

[av_dropcap1]ค[/av_dropcap1]วามไม่มีตัวตนเป็นสิ่งที่คิดเอาไม่ได้

บางคนฟังเซนมา ฟังพระพุทธเจ้าพูดถึงสัจธรรมสูงสุด คือความไม่มีตัวตน ไม่มีบุคคล เรา เขา 

แล้วก็อาศัยคิดเอาเองว่าสิ่งต่างๆเป็นเพียงแต่เหตุปัจจัยไม่มีตัวตน ไม่มีคน ไม่มีใคร

ถึงขั้นคิดว่า เชื่อว่า แท้จริงไม่มีตัวตน แล้วนำธรรมะแห่งความไม่มีตัวตนนั้น ไปอ้าง ไปพูด ไปทำอะไรต่อมิอะไร ซึ่งการกระทำนั้นกลับกลายเป็นการกระทำที่เต็มไปด้วยกิเลส เต็มไปด้วยอัตตาตัวตน ขาดซึ่งความเหมาะสมในกาลเทศะ

แล้วพอโดนตำหนิวิพากษ์วิจารณ์กลับพูดธรรมะขั้นสูงว่า พูดไป ทำไปอย่างไม่มีตัวตน หรือกระทั่งพ้นตัวตนไปแล้ว

ผู้ที่พ้นแล้วจากตัวตน หมายถึงพ้นแล้วจากมิจฉาทิฐิ หมายถึงพ้นแล้วจากอวิชชา เพราะฉะนั้นโอกาสที่กิเลสจะเกิดขึ้นในใจนี้ย่อมไม่มี

จิตใจที่ สะอาด สว่าง สงบนั้น เป็นพื้นฐานของการคิด พูด ทำ อยู่บนความว่าง

ผลของการคิด พูด ทำ ที่อยู่บนความว่างนั้นจะเป็นการคิด พูด ทำที่เหมาะสม เหมาะเจาะ พอดี ต่อกาละ สถานที่ บุคคล

แม้ว่าการคิด พูด ทำนั้นจะเต็มไปด้วยความว่าง แต่กระแสพลังงานที่ออกมาจากความว่างนั้น ผู้ฟัง หรือผู้ที่กำลังเกี่ยวข้องในการกระทำนั้นๆด้วย จะรู้สึกสัมผัสได้ถึงความสะอาด สว่าง สงบ หรือแม้กระทั่งพลังงานนั้นแปลไปเป็นความรู้สึกแห่งความอ่อนโยน อ่อนนุ่ม อ่อนละมุน จนถึงระดับที่ผู้ฟังนั้นรู้สึกได้ถึงความเมตตาจากผู้ที่ว่างจากตัวตนแล้วนั่นเอง

ดังคำที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ในพระสูตรที่ชื่อว่า อภัยราชกุมารสูตร

วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่มีประโยชน์ 

และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น

ตถาคตไม่กล่าววาจาเช่นนั้น

วาจาที่จริง แท้ แต่ไม่มีประโยชน์

และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น

ตถาคตไม่กล่าววาจาเช่นนั้น

วาจาที่จริง แท้ มีประโยชน์

แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น

ในข้อนี้ตถาคตย่อมรู้กาลที่พูด

วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่มีประโยชน์

แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น

ตถาคตไม่กล่าววาจาเช่นนั้น

วาจาที่จริง แท้ ไม่มีประโยชน์

แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น

ตถาคตไม่กล่าววาจาเช่นนั้น

วาจาที่จริง แท้ มีประโยชน์

และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น

ในข้อนั้นตถาคต ย่อมรู้กาลที่จะพูด

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย  

.

.

.

ผู้ที่เข้าถึง หรือ พ้นไปจากความมีตัวตนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงการเชื่อ การคิด การสะกดจิตตัวเอง ว่าไม่มีตัวตน ย่อมรู้จัก การคิดพูดทำ ดังที่ท่านได้สอนไว้ข้างต้น

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่นักปฎิบัติจำเป็นจะต้องแยกให้ออกว่าความไม่มีตัวตนที่เป็นอยู่นั้น เป็นการคิดเอาตามคำสอน หรือเป็นความเข้าใจที่แท้จริงกันแน่

.

.

.

ข้อสังเกตง่ายๆ บางคนเวลาอยู่ในชีวิตประจำวัน เจออารมณ์อะไรมากระทบ แล้วก็เกิดความผิดปกติขึ้นในจิตใจทันที แล้วก็พูดกับตัวเองว่าไม่มีตัวตน แบบนี้เป็นการคิดเอา บางคนอาจจะเป็นอุบายการสอนตัวเอง แต่หลายคนก็เอาเป็นจริงเป็นจัง จนเหมือนสะกดจิตตัวเอง

ขณะที่บางคนเวลาอยู่ในชีวิตประจำวัน เจอผัสสะอะไรบางอย่างแล้ว แม้ว่าอาจจะเกิด หรือไม่เกิดการปรุงแต่ง จนมีอารมณ์อะไรกระเทือนขึ้นมาก็ตามที 

แต่หากยังมีความพอใจในความรู้สึกแห่งความไม่มีตัวตนนั้น รู้สึกถึงความไม่มีตัวตนในขณะนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่สูงส่ง 

นั่นแปลว่าจิตใจยังเต็มไปด้วยความพอใจ ตามความคิด ความเชื่อพื้นฐานที่ตัวเองเห็นด้วยถึงความไม่มีตัวตนว่าเป็นสิ่งที่ดี

ดังคำสอนของหลวงปู่หล้า

ท่านสอนไว้ว่า นิพพานข้ามฟากผู้รู้ไปไม่มีที่หมาย

ดังนั้นถ้าหากยัง”หมาย” ความไม่มีตัวตนอยู่นั่น แปลว่าเรายังไม่ได้ไปถึงไหนเลย

นั่นแปลว่าเรายังข้ามฟากไปไหนไม่ได้

เรายังอยู่ในโลกของความคิด ความเชื่อ แต่เปลี่ยนจากที่เคยเชื่อสมมติ กลายเป็นเชื่อวิมุตติแทนนั่นเอง

.

.

.

ผู้ที่ถึงวิมุตตินั้น จะรู้จักสมมติ จะรู้จักวิมุตติ 

แต่จะไม่แบ่งแยกสมมติ และวิมุตติ

เพราะทั้งสองสิ่งนั้นสอดประสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยไม่มีความรู้สึกแบ่งแยกใดๆ

ดั่งคำของหลวงปู่ดูลย์ที่เคยกล่าวไว้ว่า 

“ถ้าเรามองดูพุทธะ ว่าเป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่บริสุทธิ์ผ่องใสและรู้แจ้งก็ดี หรือมองสัตว์โลกทั้งหลายว่า เป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่โง่เง่า มืดมน และมีอาการสลบไสลก็ดี ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้อันเป็นผลเกิดมาจากความคิดยึดมั่นต่อรูปธรรมนั้น จะกันเราไว้เสียจากความรู้อันสูงสุด”

ดังนั้น ความรู้สึกแห่งการแบ่งแยกระหว่างวิมุตติ(พุทธะ) กับสมมติ จะกันเราไว้จากความรู้อันสูงสุด

ดังนั้น นักปฏิบัติที่ชอบธรรมะในขั้นไม่มีตัวตน หรือชอบเซนในมุมมองนี้ จึงควรสำรวจภายในตนให้ถ่องแท้ว่าเป็นอย่างไรกันแน่ 

ความรู้สึกที่แท้จริงของความไม่มีตัวตนนั้นเป็นความรู้สึกที่หยั่งไม่ถึงอะไรเลย 

หยั่งไม่ถึงความรู้สึกที่ไม่มีตัวตนด้วย 

ไม่มีความรู้สึกถึงการได้อะไรมา หรือการเสียอะไรไป 

ไม่มีความรู้สึกถึง ความพอใจในสภาวะแห่งความไม่มีตัวตน 

ทั้งยังไม่มีความรู้สึกถึงการมีตัวตนของผู้อื่นเป็นของต่ำต้อยด้อยค่ากว่าความไม่มีตัวตนที่ตัวเองเป็นอยู่

มันคือความว่างจากความรู้สึกแห่งความมีตัวตน และไม่มีตัวตน 

ในความว่างนั้นไม่มีความรู้สึกแห่งการได้อะไรมา หรือกำลังเสียอะไรไป

ไม่มีความรู้สึกถึงการได้สัมมาทิฏฐิมา หรือกำลังเสียมิจฉาทิฏฐิไป

ไม่มีที่หมายใดใดเหลืออีกเลย 

หมายความว่า ถ้ายังมีความรู้สึก แบ่งแยก ให้ค่า ว่าความไม่มีตัวตน นั้นดูเป็นความมีปัญญาอันยิ่งกว่า ความรู้สึกแห่งความมีตัวตน

เหล่านี้นั้น เมื่อพูดออกมาหรือรู้สึกขึ้นในจิตใจ นั่นหมายถึงว่า จิตใจนี้ยังเต็มไปด้วยตัวตน แต่แปรสภาพตัวตนแบบเก่า เป็นตัวตนผู้ยอมรับกับทฤษฎีแห่งความไม่มีตัวตน

และนั่นคือจิตใจนั้นยังมีที่หมาย

ยังไม่พ้นไป ยังไม่ข้ามฟากไป

อย่างไรก็ตาม การสอนธรรมะให้แก่ผู้ฟังผู้อ่านนั้น จำเป็นต้องแยกแยะให้เข้าใจ ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างชัดเจน

ดังนั้นสิ่งที่เขียนไปข้างต้นเป็นสิ่งที่ไว้ เป็นข้อเตือนใจ สำหรับการตรวจสอบภายในของแต่ละท่านเอง

Camouflage