320.ใส่ใจ…ความไม่หลง

 

ธรรมชาติของมนุษย์เรานั้น จะมีความใส่ใจต่อชีวิต ก็ต่อเมื่อมีความทุกข์ เพราะเราทุกคนไม่อยากทุกข์

ถ้าเราจน เราจะหาทางรวย
ถ้าเราทุกข์ เราจะหาทางมีความสุข
ถ้าเราโดนบีบบังคับ เราจะหาทางอิสระ
นี่คือกระบวนการดิ้นรนที่ตื้นที่สุดของมนุษย์

คนที่เห็นความตื้นเขินของความดิ้นรนแบบนี้ เขาจะเริ่มใส่ใจชีวิต เริ่มใส่ใจว่า
…เขาทุกข์ได้ยังไง?
…ความทุกข์มาจากไหน?
…ทำไมถึงเกิดความดิ้นรนแบบนี้?

แต่เบื้องต้น เราใส่ใจเฉพาะความทุกข์ที่ใหญ่ ๆ ความทุกข์ที่หนักหนาเท่านั้น เพราะมันสร้างภาระที่หนักหนาให้กับชีวิตมาก

ในขณะที่ผมกำลังบอกว่า เราต้องใส่ใจกับทุกเรื่อง ไม่ว่าความทุกข์นั้นจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม

เพราะไฟกองเล็กนั้น สามารถจะกลายเป็นกองใหญ่ได้เสมอ และไฟกองใหญ่นั้น มักจะเกิดขึ้นจากกองเล็กเสมอ

ถ้าเราใส่ใจแต่ไฟกองใหญ่ มันเหมือนว่าเราพยายามจะดับไฟกองใหญ่ และความใส่ใจของเรามีแค่น้ำ 1 ถัง แค่นั้น

เราได้เพียงทำให้กองไฟนั้นเล็กลง แต่ไม่ได้ดับไป

และเมื่อกองไฟนั้น เล็กลงแล้ว นั่นหมายความว่า ความทุกข์เบาบางลงแล้ว

นั่นหมายความว่า เรารู้สึกมีความสุขขึ้นแล้ว

และนั่นหมายความว่า ที่เหลือช่างมันเถอะ

และนั่นหมายความว่า ชีวิตเป็นความปล่อยปละละเลย

และนั่นหมายความว่า ชีวิตเป็นความหลงเหมือนเดิม!

ผมไม่ได้บอก ให้เราแค่ใส่ใจต่อความทุกข์ แต่ผมบอกว่า เราต้องใส่ใจต่อ การแสวงหาความสุขด้วย
และใส่ใจไปถึง การได้รับความสุขด้วย
และใส่ใจไปถึงว่า อะไรกันแน่ที่เป็นตัวรับความสุข

จนเรามีความชัดเจนและแจ่มแจ้งในเรื่องของความสุข

ผมเคยพูดว่า ความสุขนั้นมีส่วนของระดับพื้นฐาน และมีส่วนของความสุขที่เกิดขึ้นจากความปรุงแต่งของความคิด ในการได้รับความสุขนั้น ๆ

และส่วนที่เป็นความปรุงแต่งจากความคิด ในการได้รับผัสสะอะไรก็ตามในขณะนั้น เป็นส่วนที่มนุษย์เราเสพติด

แต่ส่วนความสุขขั้นพื้นฐานที่ไม่เกี่ยวข้องกับความปรุงแต่งต่อผัสสะนั้น ๆ เป็นความสุขที่มนุษย์มีความสามารถที่จะรับได้ โดยไม่ถูกครอบงำให้เสพติด

บทสรุปแบบนี้ ที่ผมบอกเราทุกคน ไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว เหตุการณ์เดียว และไม่ใช่ทฤษฎี ที่บอกว่า เราต้องเข้าไปศึกษาที่ตรงนี้

แต่บทสรุปแบบนี้ เกิดขึ้นจากการที่เราใส่ใจ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ผมบอก คือ การแสวงหาความสุข

และเข้าใจแจ่มแจ้งในการได้รับความสุข และแจ่มแจ้งว่าอะไรคือความสุข

เราต้องเริ่มจาก ที่ที่ตื้นที่สุด ปรากฏอยู่ข้างหน้าเราชัดที่สุด และลึกลงไปในนั้นด้วยตัวเราเอง

และนอกจากนี้ เรายังต้องแจ่มแจ้งว่าความคิดนั้น ควบคุมชีวิตยังไง ไอเดียต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมามากมาย ตลอดทั้งวัน มันกำหนดทิศทาง และควบคุมชีวิตเรายังไง

เมื่อความคิดหนึ่งเกิดขึ้น ไอเดียหนึ่งเกิดขึ้น เกิดอะไรขึ้นต่อ เกิดอะไรขึ้นอีก?

เกิดสารคัดหลั่งอะไร ที่มันบีบบังคับ ส่งผลแห่งความบีบคั้นบางอย่างให้กับเรา ให้กับชีวิตนี้?

เราเคยเห็นกระบวนการทำงานของความคิดจริง ๆ ไหม?

หรือชีวิตเราเป็นแค่ ชีวิตที่อยู่ภายใต้ความคิด และแจ่มแจ้งในเนื้อเรื่องและความรู้สึกต่าง ๆ ขณะที่ชีวิตกำลังอยู่ภายใต้ความคิดนั้น

เราแจ่มแจ้งความคิด หรือเราแจ่มแจ้งเรื่องราวของความคิด?

เราอาจจะคิดว่า ถ้าเราใส่ใจทั้งหมดแบบที่ผมบอกนี้ แล้วชีวิตเราจะเหลืออะไร?

เราจะไม่ได้รับความสุข หรือการได้ทำอะไร ที่เราชอบ หรือที่เราสนใจเลยอีกไหม?

ชีวิตคงจะจืดชืด และดูไม่น่ามีความสุขเลย

สิ่งที่ผมจะบอกได้ก็คือ มันเหมือนจะเป็นอย่างที่เราคิดนั่นแหละ แต่ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว

มันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดหรอก แต่ก็ไม่ใช่ ไม่เป็นอย่างที่เราคิด

เราคิดไม่ออกหรอกว่า จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เมื่อชีวิตทั้งชีวิตไม่เป็นความหลงอีกแล้ว

เราคิดออกแต่ว่า ถ้าชีวิตไม่เป็นความหลงอีกแล้ว ชีวิตจะเป็นสีขาว

จะไม่เป็นอย่างนั้นหรอก จะไม่ทำอย่างนี้หรอก จะไม่นู้น ไม่นี้ ไม่นั้น นี่คือสิ่งที่เราคิด และนั่นเป็นความหลงเหมือนกัน

เราอาจจะไปถ่ายรูปเหมือนเดิม แต่หัวใจทั้งหมดของเราเปลี่ยนไป เราอาจจะชื่นชมกับการเห็นนก เห็นขนนก เห็นการกระทำอะไรของมัน แต่หัวใจเราไม่เหมือนเดิม

ความแจ่มแจ้งนั้น เป็นความสามารถในการได้รับความสุขโดยที่ไม่หลง

เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ไม่ได้เป็นท่อนไม้ ไม่ได้เป็นก้อนหิน

แต่เป็นบุคคลที่มีความสามารถ ที่จะใช้ชีวิตนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพของมัน ที่ไม่ใช่การเลือกข้าง อยู่ข้างใดข้างหนึ่ง

และการที่คนคนนึงไม่ต้องเลือกข้าง อยู่ข้างใดข้างหนึ่ง นั่นคือ อิสรภาพ

Camouflage
28-01-2566

ฟังธรรม

YouTube : https://youtu.be/fEXrtFPOyVU

Podbean : https://www.podbean.com/ep/pb-2q5hx-1444f68