ควายหลัก

 

สมมติว่าตอนนี้เรานั่งอยู่ร่วมกัน แล้วผมก็อธิบายว่าวันนี้พวกเรามานั่งฟังกัน มีหลวงพี่ มีหลายๆ คนนั่งอยู่ แต่ผมไม่พูดถึงตัวผมเองเลย

ภาพที่ผมเล่าไปทั้งหมดเหมือนจริงมั้ย? เหมือนจริง แต่ไม่จริง เพราะมันไม่มีผม ผมไม่ได้อธิบายถึงตัวผมว่าผมนั่งอยู่ด้วย

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะเห็นความจริงมากเท่าไหร่ก็ตาม
แต่ถ้ามันมีสิ่งหนึ่งคงที่ตลอดเวลานั้น มันเหมือนจริง แต่ไม่จริง

เวลาผมพูดว่า เรา คือสิ่งมีชีวิต
คำว่าสิ่งมีชีวิต หมายความว่า ทุกสิ่งมีชีวิตนั้นมีเหตุปัจจัยให้มันเคลื่อนไหว ให้มันเปลี่ยนแปลง ให้มันเป็นไปตามอย่างที่มันจะเป็น

แต่ทันทีที่สิ่งมีชีวิตนั้นๆ มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคลื่อนไหว นิ่ง ซึ่งผมหมายถึงว่ามันจะเป็นอะไรก็ได้นะ

ตัวชีวิตทั้งหมดนี้มันไม่จริงอีกแล้ว ไม่ว่าเราจะเห็นชีวิตนี้ตามเป็นจริงยังไงก็ตาม มันไม่มีทางเป็นความจริงได้เลย ไม่มีทางเลย

มันเหมือนเราเอาควาย ไปผูกกับเสาอันนึง หรือต้นไม้ก็ได้ แล้วเราก็จะดูควายตัวนั้น เราจะไม่สามารถเห็นความจริงของควายตัวนั้นได้ เพราะความเป็นควายเนี่ยมันจะต้องเดิน ต้องวิ่ง ต้องทำอะไรของมัน ตามที่มันจะต้องทำ

แต่เพราะมันมีหลักอันหนึ่งที่นิ่งอยู่ ก็คือหลักอันที่ผูกควายไว้ ผูกไว้นานจนหลักนั้นกลายเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิตมัน เหมือนแขน หรือขา อีกอันของมัน

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะเห็นมันยังไง มันก็ไม่จริงอยู่ดี มันไม่ใช่ควาย มันคือควายพร้อมหลัก มันคือ “ควายหลัก” ไม่ใช่ควายเฉยๆ มันคือควายหลัก มันคือสัตว์อีกชนิดนึง เข้าใจมั้ย

ถ้าสมมติว่าเราให้เด็กที่ไม่มีความรู้อะไรมาดูควายหลัก เค้าก็จะดูไปตลอดชีวิตว่า อ๋อ ควายหลักเป็นอย่างนี้

แต่ในความเป็นจริง “ควายจริงๆ” ไม่เหมือนควายหลักหนิ ควายจริงๆ มันวิ่งได้ตั้งไกล ควายจริงๆ มันทำอะไรได้อีกตั้งหลายอย่าง นึกออกมั้ย ผมเปรียบเทียบให้ดู

สมมติว่าเราเป็นควายหลัก แล้วเราก็รู้จักชีวิตของควายหลักทั้งหมดเลย ตั้งแต่เกิดจนอายุ 100 ปี แล้ววันนึงผมก็ตัดเชือกที่ผูกกับควาย ควายก็วิ่ง ปับๆๆๆ เราก็ตกใจว่า อ้าว ควายจริงๆ เป็นอย่างนี้หรอ นี่คือการค้นพบความเป็นจริงในขณะทันทีที่ตัดเชือกมันทิ้งไป ซึ่งควายตัวนี้อายุ 100 ปีนะ

กับควายหลักอายุ 2 ปี หรือ 2 วัน เมื่อผมตัดเชือกที่ผูกไว้ ปั๊บ มันก็วิ่ง ปับๆๆ เลย เราก็รู้ความจริงว่าควายจริงๆ เป็นยังไงใช่มั้ย? มันเกี่ยวกับเวลามั้ย? เกี่ยวกับอายุมั้ย? เกี่ยวกับการเห็นความเป็นควายหลักอยู่กี่ปีมั้ย?

เพราะฉะนั้น การจะเข้าใจความจริงมันก็คือ แค่ต้องเป็นควายจริงๆ

เราคิดว่าเราจะต้องมีหลักอันหนึ่ง ซึ่งหลักอันนั้นก็คือความปรุงแต่งบางอย่างที่เราเชื่อ เป็นหลักในชีวิต เช่น ต้องมีนั่น มีนี่ มีอะไรอีกมากมายที่เข้ามาเพิ่ม

มันก็เหมือนกับการเพิ่มเชือกที่เข้ามาผูกกับหลักเอาไว้

ทำไมเราชอบทำแบบนั้น??
เพราะมันทำให้เรารู้สึกปลอดภัย เรากำลังเดินอยู่บนเส้นทางนี้อย่างมั่นคง เพราะเรามีเชือกและหลักอันแน่นหนาเอาไว้ แล้วเราก็จะเริ่มเป็นควายหลักที่มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ

เราอยู่ในอุตสาหกรรมของควายหลัก เราคิดว่า การที่เราผูกตัวเองกับทฤษฎี กับบางสิ่งบางอย่างที่ถูกสั่งสอนมา มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะทำให้เราเห็นความจริงของความเป็นตัวเองได้

เราไม่ตระหนักว่า เราถูกผูกอยู่…ควายเห็นตัวเองแต่ถูกผูกอยู่ มันก็เลยเห็นตัวเองแบบถูกผูกอยู่ ซึ่งไม่ใช่ตัวมันจริงๆ อยู่ดี เข้าใจมั้ย

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เห็นทั้งหมด แม้ว่าจะเห็นจริง แต่มันไม่จริง

แต่เราก็มีความเชื่อที่ผิดอีกว่า เราต้องไปหาความรู้เพิ่ม เราต้องไปหาคำแนะนำเพิ่ม แล้วเราก็หวังว่าเราจะเห็นความจริงได้ กับเชือกเส้นใหม่ที่เรานำเข้ามาเพิ่มในชีวิต

พอผมเห็นภาพแบบนี้ ผมเลยเห็นว่าไม่เพียงแต่เราเอาเชือกมาผูกตัวเอง

แต่เรายังเข้าใจว่าเส้นทางของการที่เราเริ่มต้นรับเชือกมาผูกตัวเองนั้นคือเส้นทางไปสู่ความหลุดพ้น

นี่คือโศกนาฏกรรมมาก นี่คือเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย เรามีแต่จะถูกตรึงมากขึ้น

ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ผมอธิบาย เราก็จะไถลไปทางความเชื่อเดิมๆ แป๊บๆ มันไปแล้ว แป๊บๆ มันก็น่าจะใช่นะ มันไปแล้ว มันเร็วมาก

เพราะฉะนั้น การที่คนคนนึงจะเข้าใจความจริง มันไม่ใช่การฝึกนะ แต่เป็นการใช้ปัญญาอย่างยิ่งต่อสิ่งที่เป็นอยู่ทั้งหมดว่า มันเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นได้ยังไง

เหมือนที่ผมบอกว่านักปฏิบัติธรรมเรามีความสุขเหรอ? ไม่มีหรอก เราทุกข์จะตาย พอฟุ้งซ่านขึ้นมา พอสมาธิตก หรือมีสติไม่ไวตามมาตรฐาน เราก็ไม่พอใจ เราก็ทุกข์แล้ว ทำไมนักปฏิบัติธรรมไม่สงสัยเรื่องแบบนี้เลยหรือ? เราไม่สงสัยว่าความทุกข์แบบนี้มาจากไหน

เรามีแต่โทษตัวเองว่า ทำไมเรายังทำไม่ได้ สงสัยเรายังปฏิบัติได้ไม่เข้มข้นพอ ยังไม่ดีพอ เรามีแต่เรื่องแบบนี้ เรากำลังปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ แต่เราทุกข์มากกับเงื่อนไขต่างๆ เราไม่เคยสงสัยว่าทำไมเราทุกข์

นึกออกไหม เรากำลังพูดเรื่องพ้นทุกข์ แต่เราไม่สนใจเรื่องนี้ เราสนใจเรื่องว่าทำไมเราถึงทำไม่ได้แบบนี้สักทีนึง เข้าใจไหม?

แล้วเราก็คิดไปอีกว่า ก็เพราะทำไม่ได้ไง มันก็เลยไม่พ้นทุกข์ แต่เราไม่มองตรงที่ว่าเงื่อนไขอะไรที่ทำให้เราทุกข์ในขณะนี้เลย เราไม่มอง เราไม่เคยเห็นเชือกนั้น

ไม้หลักทั้งหมดก็คือความเชื่อสักอย่างหนึ่ง ซึ่งความเชื่อทั้งหมดนั้นส่งผลให้การรู้แจ้งอริยสัจ 4 เกิดขึ้นไม่ได้

ผมคิดว่ามันทำให้เกิดคำสอนที่สำคัญของเซนก็คือ การพ้นจากความปรุงแต่งทั้งปวง และเมื่อพ้นจากความปรุงแต่งทั้งปวงแล้ว เราถึงจะเห็นชีวิตนี้ได้ เห็นสติได้ เห็นความเป็นสมาธิได้ หรือว่ารู้จักสิ่งที่เรียกว่าปัญญาได้ แล้วเป็นการเห็นจริง ที่ผมบอกว่าเราไม่สามารถจะเห็นอยู่ภายใต้เลนส์ของอัตตาได้ เพราะนั่นมันไม่จริง สมัยก่อนผมใช้คำนี้แทนคำว่าควายหลัก

มันจะต้องไม่มีเจตนาใดๆ ทั้งหมดต่อชีวิตนี้ มันไร้ทิศทาง แล้วการเห็นทั้งหมดที่เหลือนี้ ที่ไม่มีไม้หลักอันนั้นอยู่ มันถึงจะเป็นจริงได้

เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าเราเป็นควายหลักมาร้อยปี แล้วโดนตัดเชือกทิ้งไป ความจริงจะเกิดขึ้นทันที โดยที่ความเป็นควายหลักทั้งหมด 100 ปีไม่เกี่ยวข้องกับความจริงที่เกิดขึ้นเลย เข้าใจไหม

ถ้าผมไม่อธิบายอย่างชัดเจน เราจะเชื่อว่าการเป็นควายหลักนี้มีประโยชน์ ทำให้วันนึงเราหลุดพ้นได้

แต่ผมกำลังบอกว่าการที่เรายังคงยอมเป็นควายหลัก ก็เพราะเราไม่เข้าใจต่างหากว่าการปฏิบัติธรรมคืออะไร

แม้ว่าควายหลักมีอายุ 2 ปี ถ้าเชือกมันถูกตัด ก็จะรู้ความจริงของตัวเองทันทีเหมือนกัน

ชาวพุทธเราเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำมาอย่างนี้อย่างนู้นอย่างนั้น มันเป็นผลให้วันนึงคนคนนั้นหลุดพ้นได้ ถ้าจะเป็นพูดว่ามันเป็นผล ก็ได้หมดแหละ ก็เราทำอะไรมา ก็อ้างว่าเป็นเหตุของผลนั้นได้ทั้งนั้น ถ้าเราอยากจะคิดเข้าข้างตัวเอง โดยไม่ซื่อตรงต่อเหตุที่แท้จริง ว่าแท้จริงมันคือการตัดเชือกทิ้ง ไม่ใช่การอยู่เป็นควายหลัก

เราต้องกระจ่างชัดกับว่าอะไรเป็นอะไร ผมบอกว่าทำไมผมเน้นเรื่องพ้นจากความปรุงแต่ง ผมเน้นเรื่องความเชื่อ โดยไม่ว่าใครจะหลงเหลืออะไรแม้แต่นิดเดียว ผมก็ต้องจัดการหมดใช่ไหม นิดหน่อยก็ไม่ได้นะ เพราะมันคือไม้หลัก ไม่ว่าหลักใหญ่หลักเล็ก มันก็คือมีเชือกอยู่ และถ้ามันยังเหลืออยู่ แล้วปล่อยให้มันอยู่ไปเรื่อยๆ มันก็อยู่กับไม้หลักไปนั่นแหละ

คำว่าไม้หลัก มันไม่ใช่แค่รูปธรรมนะ เราต้องเข้าใจว่ามันคือนามธรรมทั้งหมดที่เกี่ยวกับความคิด ทิฏฐิ ความเชื่อ หลักการบางอย่าง

เราต้องเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้มันต้องอิงกับอีกสิ่งหนึ่งเสมอ เราถึงเชื่อได้

มันอิงอยู่กับอีกอันนึง และมันผูกกันเป็นพรวนแบบนั้นกับชีวิตจริงๆ ของเรา

ถ้าเราเข้าใจทั้งหมดที่ผมพูดว่า ชีวิตจริงๆนั้นมันไม่มีไม้หลัก นั่นคือจิตใจที่ไร้เดียงสา ที่เราถูกสอนมาว่าต้องมีจิตใจที่เป็นเหมือนเด็ก innocent

มีเพียงชีวิตที่ไม่มีไม้หลักนี้เท่านั้นถึงจะเป็นจิตใจที่ไร้เดียงสาเหมือนเด็ก เป็นจิตใจที่เป็นอิสรภาพในตัวเอง แล้วจิตใจนี้จะกระทบกระเทือนอย่างไร้ข้อจำกัด ไร้ขอบเขต และเราถึงจะเห็นจริงๆ ได้ การเห็นชีวิตตามความเป็นจริงจึงจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

Camouflage
11-06-2565