131.รู้อยู่มั้้ย

ตอนที่ 1 ใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง

ชีวิตของการปฏิบัติธรรมในแต่ละวันที่ผ่านไป เราไม่ต้องมีหวังอะไร เราไม่ต้องรู้สึกว่าวันนี้เราได้อะไรหรือยัง เราได้ปฏิบัติธรรมหรือยัง หรือเราเป็นนักปฏิบัติธรรมหรือยัง

“เราแค่ใช้ชีวิต” ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ เราเรียนรู้วิธีการที่จะพ้นจากทุกข์กันหมดแล้ว ที่เหลือคือเราจะเผชิญหน้าอย่างถูกต้องกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นทุกข์หรือสุข เรียกว่า เป็นการใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง

มีทุกข์…ปฏิบัติต่อทุกข์อย่างถูกต้อง มีสุข…ปฏิบัติต่อสุขอย่างถูกต้อง พลั้งเผลอ หลง พลาดไป ก็ถือเป็นบทเรียน ทุกอย่างจะมาช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ “ศิลปะ” ในการอยู่บนเส้นทางนี้

อย่าไปคิดว่าการปฏิบัติธรรมเป็นแค่การนั่งสมาธิ เดินจงกรม ให้เหลือแค่เราใช้ชีวิตอย่างถูกต้องได้ไหม ที่กำลังใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละขณะ แต่ละสถานการณ์ เรามีหลักที่ถูกต้องไหม

เวลามีความโกรธเกิดขึ้น ตามหลักการต้องเป็นยังไง เห็นความโกรธนั้น ไม่เข้าไปเป็นความโกรธนั้น มีศีล เก็บมือ เก็บเท้า เก็บปาก เก็บสีหน้าให้เรียบร้อย ในความเป็นจริงเราทำได้ไหม มันได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ส่วนใหญ่ไม่ได้ และตบท้ายด้วยการที่โทษตัวเองว่าตัวเองปฏิบัติไม่ดี ทำไม่ดี ยังแย่อยู่ เปลี่ยนใหม่…มันหลงเละเทะไปแล้ว พลาดไปแล้ว เรียนรู้จากมัน บทเรียนครั้งนี้ให้มันเป็นประโยชน์

“สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” ทุกความผิดพลาดเป็นบทเรียนสำคัญ ไม่ใช่ผิดพลาดนี้แปลว่าไม่ดี ทุกความผิดพลาดจะสร้างความทุกข์ แล้วความทุกข์นั้นจะหล่อหลอมให้เรารู้จักทางแห่งความพ้นทุกข์ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเราเลยไม่ได้จะเอาให้มันดี ให้มันถูก เราต้องกว้างขวางมากกว่านั้น มันคือการใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง

ทุกวันนี้พวกเราฟังหลักการปฏิบัติไปมากแล้ว เรานั่งกันตอนนี้ สังเกตชีวิตเราเหลือแค่อะไร… “แค่รู้สึก” มีร่างกายอยู่ เราก็รู้สึก ความรู้สึกทางจิตใจเป็นยังไงเราก็รู้ได้ จิตใจเที่ยววิ่งวนไปในจุดต่างๆ ของร่างกาย หรือวิ่งออกไปคิด เราก็รู้ได้ ไม่ว่าจะรู้ช้าหรือรู้เร็ว ก็รู้ได้ทั้งนั้น

 

ตอนที่ 2 กลมกล่อม

ชีวิตเราปราศจากความหวัง ปราศจากการคิดคำนวณว่านี่สติ สมาธิ ปัญญา เราเลิกสนใจเรื่องพวกนั้น มีชีวิตที่เหลือแค่รู้สึก ไม่มีหวังอะไร ไม่ได้อะไร ไม่รู้เรื่องว่าจะต้องเป็นยังไงต่อไป จนกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นพาให้เราสนใจ จะไปคิดพิจารณาในเชิงของธรรมะไม่ว่าในมุมไหนก็ตาม เราก็ไปตามสถานการณ์ จินตามยปัญญา ปัญญาจากการคิดพิจารณาก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของนักปฏิบัติธรรม

สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา มันเป็นเหมือนความกลมกล่อมของชีวิตนักปฏิบัติธรรมต้องสมดุลไม่มากไปไม่น้อยไป ไม่ใช่ฟังทั้งวัน ไม่ใช่คิดทั้งวัน แต่ภาวนาทั้งวันนี้นั้น ok แต่ภาวนาทั้งวันบางทีมันรู้สึกแห้งแล้ง มันก็อยากฟังธรรมทำมั่ง อยากคิดพิจารณาธรรมบ้าง ก็ให้มันพอดี

แต่พอถึงวันหนึ่งเราได้เห็นตามความเป็นจริงจากภาวนามยปัญญา มันหมดสงสัย มันเป็นเรื่องที่ไม่ต้องคิด ธรรมะจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ไม่ต้องคิด แต่ระหว่างทางมันก็อาศัยคิด เพราะมันเป็น “ความกลมกล่อม” หรือเรียกว่าเป็น “ศิลปะ” ในการเดินทาง แต่เมื่อถึงวันหนึ่งเห็นแจ้งตามความเป็นจริง ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องคิด

เหมือนให้คนอธิบายสิ่งหนึ่งที่เขาไปเห็นมา ลองฟังแล้วคิดตาม กับเราเห็นเองไม่ต้องคิด มันก็เข้าใจเอง เห็นเองก็เข้าใจเอง เข้าใจเลยด้วยการเห็นนี่แหละ ไม่ต้องคิดเลย ด้วยการเห็น ด้วยการรู้สึก สัมผัสสิ่งๆ นั้นด้วยตัวเอง เขาจึงเรียก “ภาวนามยปัญญา” ไม่ได้เรียกว่าจินตามยปัญญา เพราะมันไม่ต้องคิด เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมไม่ยาก ไม่ต้องฉลาด ความอดทนสำคัญกว่าความฉลาด

อดทนจะแค่รู้สึกไปเรื่อยๆ อันนี้ยาก มันเบื่อ มันขี้เกียจ มันอยากไปทำอย่างอื่นมากกว่า อยากจะไปหาความสุขมากกว่า อยากจะไปทำอะไรที่มันเพลินมากกว่า แค่รู้สึกนี่มันจืดชืด ไม่ได้เสวยอารมณ์อะไรเลย

จิตมีธรรมชาติหิวอารมณ์ ทั้งอารมณ์ดี ทั้งลมร้าย หิวหมดทุกอย่าง พอไม่ได้เสวยอารมณ์มันจะทุกข์ มันจะบีบให้เราทุกข์ เพราะฉะนั้น ความอดทนจึงเป็นความสำคัญกับนักปฏิบัติธรรมทุกคน

แม้ว่าเราเป็นนักบวช เราจะเลือกใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง หรือเราจะเลือกใช้ชีวิตตามความอยาก เราก็ทำได้ทั้งสองอย่าง จริงๆ แล้วมันยังมีช่องที่ทำให้เราทำตามความอยากได้เสมอ ช่องเล็กช่องน้อยเต็มไปหมด เพราะฉะนั้น มันอยู่ที่เราเลือกเอง

 

ตอนที่ 3 ช่วยใครไม่ได้

ตั้งแต่ผมออกจากโลกมาปฏิบัติธรรม มามีชีวิตวิเวกสันโดษ ไม่ทำอะไร ผมยังไม่เคยเห็นการมีชีวิตในรูปแบบอื่นเลยที่ดีกว่านี้ พอคิดถึงนักบวชก็รู้สึกว่าเป็นคนที่มีบุญมาก มีปัญญาที่จะรู้จักเลือกใช้ชีวิตให้ถูกต้อง มีบุญพอที่จะมีสถานที่ให้เราอยู่ได้ มีบุญพอจะได้รู้จักหลักการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าสอนไว้

เวลาผมไปเจอคนในโลก คุยกับเขา คนเหล่านั้นไม่มีทางออกในชีวิตเลย สิ่งที่เขาเล่าส่วนใหญ่เป็นความทุกข์ มีแต่ความทุกข์ ไม่ว่าจนหรือรวยก็มีแต่ความทุกข์ แต่ไม่มีปัญญาพอที่จะรู้ว่าชีวิตนั้นต้องปฏิบัติธรรม มีแต่คิดว่าจะทำยังไงที่จะแก้ทุกข์วันนี้ แก้ทุกข์พรุ่งนี้ แก้ทุกข์มะรืนนี้แก้ไปเรื่อยๆ เห็นแล้วก็สงสารด้วย หมดหวังด้วย ช่วยไม่ได้ ถ้าเป็นคนจนจะให้เงิน เงินจะหมดเพราะใช้ไม่เป็น คิดไม่เป็น คนรวยมีเงินแล้วจะไปช่วยเรื่องเงินก็ไม่ได้ คนรวยนี่ต้องมีปัญญาเองแล้ว เพราะมีทุกอย่างแล้ว ถ้าไม่มีปัญญาพอก็ต้องจมทุกข์แบบนั้น ทางออกมีเล็กนิดเดียว

ผมเคยเห็นจิตที่สงสารคน เป็นทุกข์มาก เข้าใจเลยว่าพวกคนดีๆ ทั้งหลายทำไมมันทุกข์มาก คนดีก็ขี้สงสาร แต่มันทุกข์มากตรงที่เราสงสาร เราก็ช่วยไม่ได้ด้วย ประตูเดียวเลยที่เห็นก็คือว่าต้องมาปฏิบัติธรรม ไม่มีทางอื่นเลย

พระพุทธเจ้าถึงว่า “เรามีหน้าที่พ้นจากกองทุกข์นี้” มันเป็นกองทุกข์จะเปลี่ยนเป็นสุขไม่ได้ ไม่มีวิธีการจะเปลี่ยนให้มันเป็นสุขได้ เรามีหน้าที่แค่พ้นไปแค่นั้น มีหน้าที่ต้องพ้นไปอย่างเดียว การกลับเข้าไปอยู่ในกองทุกข์กองเพลิงแบบนั้นไม่ได้ช่วยอะไร พวกเราทุกคนก็มีหน้าที่เดินหน้า ถอยหลังไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเราอยากถอยหลังก็จะถอยได้ เรามาถึงจุดที่ถอยไม่ได้แล้ว ใจเนี่ยมันถอยไม่ได้แล้ว มันรู้แล้วอะไรเป็นอะไร

วันนี้ผมเข้าใจเจ้าชายสิทธัตถะที่ออกไปเห็นโลก เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย เหมือนผมเห็นพ่อแม่พี่น้องตัวเองคนใกล้ชิดของเราวันหนึ่งจะต้องเป็นแบบนั้น เจ้าชายสิทธัตถะเห็นแบบนั้นว่าพ่อแม่พี่น้องลูกเมียตัวเองวันนึงก็ต้องเป็นแบบนั้น ความรู้สึกแรกจะต้องรู้สึกสงสารก่อน เจ้าชายสิทธัตถะก็สงสาร เสียใจแต่ไม่มีทาง ไม่รู้จะทำยังไง ท่านจึงตัดสินใจหนีออกจากวังไปหาทาง

ทุกวันนี้เราเห็นคนใกล้ชิดเราที่ยังหลงอยู่ในโลก เห็นแล้วสงสาร อยากจะช่วย เราก็มีทางแล้วด้วย แต่ไม่ใช่ว่าเราอยากจะช่วยแล้วเราก็ไปช่วยได้ มันขึ้นอยู่กับบุญกับวาสนาของเขาด้วย เพราะฉะนั้น ทุกการกระทำ ทุกความหวังดีจะต้องประกอบด้วย “อุเบกขา” เสมอ ไม่งั้นมันจะพลิกกลายเป็นโทสะแทน ยิ่งเราปฏิบัติธรรมมากๆ เข้า เราจะค่อยๆ เข้าใจว่า “จริงๆ แล้วช่วยใครไม่ได้เลย” “ช่วยใครไม่ได้ ช่วยตัวเองก่อน” มันเป็นคำง่ายๆ แต่มันมีความหมายลึกซึ้ง มีเหตุปัจจัยหลายอย่างมากที่ทำให้เราช่วยใครไม่ได้ แม้ว่าเราอยากจะช่วย เหตุปัจจัย เช่น บุญ บารมี วาสนา สติปัญญา กรรม หลายอย่าง ให้เราเก่งแค่ไหนเราก็ช่วยไม่ได้

พระพุทธเจ้าท่านจึงว่า “ท่านเป็นแค่ผู้บอกทาง” ท่านพูดสั้นๆ แค่นี้เอง ท่านเป็นผู้บอกทาง ชี้ทาง ท่านไม่ได้ช่วยใคร ส่วนใครจะเห็นทางเป็นเรื่องของคนคนนั้น เป็นเรื่องความพร้อมของคนคนนั้น

ปฏิบัติธรรมไป ยิ่งพบว่าการมีชีวิตอยู่เหมือนชีวิตนี้มันยิ่งตลก ปฏิบัติธรรมไปยิ่งรู้สึกไร้คุณค่า ไร้ตัวตน ไร้ความหวัง ไม่มีความสุขในโลกนี้ ช่วยใครไม่ได้…แปลกไปหมด เหลือแค่ใช้ชีวิตไปวันๆ ไปเรื่อยๆ มีหน้าที่อะไรก็ทำไป วันๆ เห็นแต่ทุกข์ เป็นเรื่องแปลกที่เราแต่ละคนจะต้องรู้สึกเอง

 

ตอนที่ 4 รู้อยู่มั้ย

เรายังเป็นกันอยู่ไหมที่รู้สึกวันนี้ปฏิบัติดีจัง วันนี้ปฏิบัติแย่…ยังเป็นกันอยู่ไหม ลองโยนทิ้งไปเลย เหลือแค่รู้สึก เหลือแค่ได้เห็นโลกนี้ตามความเป็นจริง กายเป็นยังไง…รู้อยู่ จิตใจเป็นยังไง…รู้อยู่ มันแสดงอะไร…รู้อยู่ คำว่า “รู้อยู่” มันไม่มีว่าดีหรือไม่ดี

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่ว่าดีหรือไม่ดี มีแต่ว่า “รู้หรือไม่รู้” นี่คือการปฏิบัติธรรม รู้อยู่ในกายในใจอยู่ไหม ไม่ต้องพูดถึงสติ สมาธิ ปัญญา ไม่ต้องพูดถึงอะไรทั้งนั้น เอาแค่ว่ารู้อยู่ไหม อะไรกำลังจะเกิดขึ้นในกายในใจนี้รู้อยู่ไหม ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวรู้อยู่ไหม จิตใจทุกข์สุขเปลี่ยนแปลงบีบคั้นรู้อยู่ไหม เหลือแค่นี้พอ

เราพูดธรรมะกันโยงสติ สมาธิ ปัญญา ไตรลักษณ์ วุ่นวายกันไม่รู้เท่าไหร่แล้ว พวกเราเลยจุดที่จะหาเหตุหาผลว่าทำไมต้องแค่รู้สึก แค่รู้สึกมันจะไปได้ไหม แค่นี้เองเหรอ มันง่ายแค่นี้เองเหรอ เราเลยจุดที่เราหาเหตุผลจากการทำหน้าที่แค่นี้แล้ว คนส่วนใหญ่ต้องฟังเยอะ ครูบาอาจารย์ต้องพูดเหตุผล พูดสารพัดสารเพ โยงใยให้มันมีเหตุมีผล เพื่อให้คนมันยอมรับวิธีการปฏิบัติง่ายๆ แบบนี้ แต่เมื่อวันนี้เรารู้แล้ว โยนมันทิ้งไปให้หมด เหลือแค่รู้สึก… แค่รู้

เราไม่ต้องกลัวปฏิบัติผิด เราทุกคนหนีความทุกข์ไม่ได้ ความทุกข์จะมาหาเราเสมอไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องน้อย เรื่องใหญ่ ความทุกข์นั่นแหละจะค่อยๆ พาให้เราปฏิบัติถูก อย่าไปหาทางทำให้ถูก อย่าไปสงสัยว่าถูกหรือยัง มันเป็นยังไงก็รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นสิ่งที่เรียกว่าไม่ดี ก็รู้ว่ามันไม่ดี ก็รู้เป็นอย่างนั้น มันเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าดี ก็รู้มันเป็นอย่างนั้น ไม่มีผลอะไร ถ้ายังรู้อยู่

ชีวิตการปฏิบัติธรรมของผมมีหลักง่ายๆ ผมแค่รู้สึก แล้วเมื่อกิเลสอะไรเกิดขึ้น ผมเห็นมันตามเป็นจริง ผมอดทนจะเห็นมัน ผมไม่รีบไปทำตามกิเลสนั้นก่อน ผมเห็นก่อน ผมอดทนที่จะเห็นก่อน เห็นจนมันดับไปแล้วค่อยทำ ถ้าต้องทำค่อยทำ

ผมใช้ความทุกข์เป็นบทเรียนให้เกิดศิลปะในการใช้ชีวิต ในการปฏิบัติธรรม ผมไม่ใช่คนเพอร์เฟคอะไร ไม่ใช่ปฏิบัติเก่งมาก ผมใช้ทุกอย่างให้กลายเป็นศิลปะ ให้กลายเป็นบทเรียน ให้กลายเป็นธรรมขึ้นมา

เวลาเรามีความทุกข์ คนส่วนใหญ่เราอยากหาทางระบาย อยากหาคนเข้าใจ อยากหาที่ปรึกษา อยากหาคนคุยด้วย แต่วิธีที่ผมทำคือ ผมอยู่คนเดียว ผมอยากทำแบบนั้นผมไม่ทำ ผมอดทนอยู่กับทุกข์นั้น มันคิดผมก็ปล่อยให้มันคิดเพราะผมห้ามมันไม่ได้ จริงๆ ไม่อยากคิดนะแต่ไม่มีปัญญาห้ามมัน ไม่อยากคิดมันก็คิดอ่ะ คิดก็ทุกข์วนอยู่อย่างนี้แหละ

พอพูดซ้ำ คิดซ้ำ ก็ทุกข์ซ้ำอีกเพราะมันไม่ใช่ทางที่จะไปพูดอะไรต่อ เรามีหน้าที่อดทน เรามีหน้าที่อดทนอยู่กับมัน ถ้ามันห้ามความคิดไม่ได้ก็ปล่อยมันคิด ดูดิมันจะคิดถึงเมื่อไหร่ คิดจนตายไปข้างนึงเลย ดูซิมันจะได้อะไร ผมมีบทเรียนกับทุกอย่าง ผม “เรียนรู้” กับทั้งซ้ายและขวา เรียนรู้ทั้งความสุขและความทุกข์ พิจารณาตามความเป็นจริง ผมไม่ได้เอาดี ไม่ใช่ต้องดี

 

17-08-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/g931MAFzA6c

ฟังรวมคลิปเสียงธรรมได้ที่ https://goo.gl/RDZFMI

5 ช่องทางติดตามข่าวสาร
1) YouTube: https://goo.gl/in9S5v

2) Facebook : https://www.facebook.com/SookGuySookJai

3) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

4) Podcast: Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S

5) website : https://camouflagetalk.com/