83.หัวใจครูบาอาจารย์

 

ตอนที่ 1 เห็นที่ไม่เข้าไปเป็น

เวลาเราเริ่มนั่งสมาธิ…ถ้าเรามีความตั้งใจนิดนึง ก็จะอึดอัดแน่นขึ้นมา ก็ไม่ต้องไปกลัว ไม่ต้องทำอะไร ก็เห็นมันเป็นอย่างนั้น บังคับไม่ได้ จิตที่มันจะตั้งใจเป็นของมันเอง ไม่ใช่ว่าอึดอัดแน่นมันไม่ดี…มันไม่ดีถ้าไม่รู้  แต่ถ้ารู้เป็นอย่างนั้น ดีแล้ว รู้แล้วไม่เดือดร้อนกับมัน เราทำได้แค่นั้น

เรื่องง่ายๆ… “เห็นร่างกายนี้มันนั่งอยู่มั้ย…คำสอนง่ายๆ เห็นบ่อยๆ มันจะเริ่มถอดถอนว่าร่างกายนี้เป็นเรา หรือมีเราอยู่ในร่างกายนี้ ความเห็นผิดแบบนี้ จะค่อยๆ ถูกถอดถอนจากการเห็น เรียกว่า “เห็นตามเป็นจริง

อย่าดูถูกกรรมฐานง่ายๆ อย่าดูถูกมุมมองง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยที่จะเกิดมุมมองแบบนี้กับชีวิตเรา พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องเหลือวิสัย เค้าเรียกว่า “อิริยาบถบรรพ” อยู่ใน “กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน” เรื่องตื้นๆ ขอแค่มีคนชี้ให้เห็น เราก็เห็นได้เลย พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ท่านเป็นผู้ชี้ทาง ผู้บอกทาง ครูบาอาจารย์ก็นำมาบอกต่อ ชี้ให้เห็น เราก็เห็นตาม ไม่ใช่เรื่องลึกลับ เรื่องตื้นๆ แต่อย่าละเลย

ถ้าพวกเรานักปฏิบัติคุยกัน ภาษาสมัยนี้ก็จะเรียกว่า…เห็นเบๆ (เบสิก) ดูไม่มีคุณค่าอะไร เนี่ย! เรียกว่าไม่เข้าใจ  การเห็นตามเป็นจริง เป็นเรื่องลึกซึ้งที่ไม่น่าเชื่อว่าเห็นได้ง่าย

ขณะที่เรารู้สึกตัว ยังไม่มีอะไร…ให้เห็นร่างกายนี้มันนั่งอยู่มั้ย รู้สึกตัวอยู่เฉยๆ ตรงนี้เป็นกำลัง ภาษาเรียกว่า “สมถะ” ก็ได้ แต่พอเราเกิดมุมมองเห็นว่าไม่มีเราในร่างกาย เห็นว่าร่างกายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ มุมมองตรงนี้เรียกว่า “วิปัสสนา” เป็นวิปัสสนาน้อยๆ จากการฝึกที่จะเห็นตามเป็นจริง

เปรียบเสมือนเรามองไปที่ประตู ประตูเป็นสิ่งที่ถูกเราเห็นอีกทีนึง เราจะบอกว่า เราคือประตูมั้ย มีเราในประตูมั้ย เราคือคนเห็นประตูอีกทีนึง ตอนนี้เราคือคนเห็นประตู เพราะฉะนั้น โมเดลเดียวกัน เราฝึกหัดเห็น ที่ผมบอกว่า เห็นเครื่องฉายภาพ ไม่ใช่ไปเห็นจอภาพ เห็นเครื่องฉายภาพคือ “เห็นกายกับจิตนี้”….พอเห็นกายกับจิตนี้ กายกับจิตนี้กลายเป็นสิ่งที่ถูกเห็นขึ้นมาทันที หรือภาษาครูบาอาจารย์เรียก “ผู้รู้” เพราะฉะนั้น เรากลายเป็น “สภาพรู้ตื่น” ขึ้นมา ส่วนสิ่งที่ถูกเห็นคือ กายกับจิตนี้ มันก็เป็นแค่ขันธ์ 5 ที่ถูกเห็น ไม่มีเราอยู่ในนั้น

หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น? เรามุ่งความสนใจการใช้ชีวิตมาสู่การเห็นกายและจิตนี้ทำงาน มันนั่งอยู่ก็เห็นมันนั่งอยู่ มันเดินก็เห็นมันเดิน มันยืนก็เห็นมันยืน มันนอนก็เห็นมันนอน ไม่ใช่เรานอน ไม่ใช่เรานั่ง ไม่ใช่เราเดิน ไม่ใช่เรายืน ตัวนี้ถูกเห็นอีกทีนึง

เริ่มเห็นได้หนึ่งครั้ง จะเริ่มเห็นได้สองครั้ง จะเริ่มเห็นได้สามครั้ง ฟังธรรมบ่อยๆ มันจะเข้าไปในสัญญาเตือนเราขึ้นมา …เดินๆ อยู่นึกขึ้นได้ เอ้ย! “เห็นร่างกายมันเดิน”  นั่งสมาธิ ไม่ใช่เริ่มก็จ้องเลย…ไม่ใช่แบบนั้น นั่งปุ๊บ…สัญญาจำได้ อ่อ! “เห็นร่างกายมันนั่ง” พอมันเริ่มหนึ่งได้ มันไปต่อเอง

ต่อมาเริ่มเห็นจิตใจ ….จิตใจไปคิด….เห็น อ่อ! จิตใจนี้คุมไม่ได้ ไม่ใช่เรา “เราเป็นตัวเห็นมันอีกทีนึง” เห็นมันปรุงอารมณ์สุข ทุกข์ เฉยๆ …อ่อ! ไม่ใช่เรา มันปรุงของมันเอง

แต่การจะเห็นได้โดยที่ไม่เข้าไปเป็นกับมัน …ไม่ใช่ฟังๆ แล้ว จะบอกว่าไม่เข้าไปเป็นเลย เป็นไปไม่ได้ อย่าลืมที่ผมบอกตั้งแต่แรก ตอนที่เรารู้สึกตัวอยู่ ไม่มีอะไรให้เห็น ไม่มีมุมมองของวิปัสสนาเกิดขึ้น ตรงนั้นเป็นกำลัง และเมื่อมีมุมมองของวิปัสสนาเกิดขึ้น เช่น เห็นจิตมันปรุงแต่งความสุขเข้ามา เห็นมันปรุงแต่งความทุกข์เข้ามา ด้วยกำลังอันนั้นจะเกิดการ “เห็นที่ไม่เข้าไปเป็น” ไม่ใช่นึกเองที่จะไม่เข้าไปเป็นก็ได้ มันมีเหตุของสมาธิถึงจะไม่เข้าไปเป็นได้

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรากำลังฝึกอยู่ประกอบด้วย “สมถะและวิปัสสนา สลับกันไปอยู่ในตัวของการปฏิบัติอยู่แล้ว” เพียงแค่เราไม่ลืมที่จะรู้จะเห็นกายและใจนี้ทำงาน

ด้วยหน้าที่ที่ผมบอก 3 อย่างง่ายๆ …..

รู้สึกตัว

พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง …มีความคิด เราก็ไม่เข้าไปคิดกับมัน ไม่ตามมันเข้าไป

แล้วก็ทำหน้าที่ที่จะหันมาดูจิตใจนี้ หรือเรียกว่า ดูความรู้สึกนี้ หรือเรียกว่า ดูอารมณ์ที่เกิดในจิตใจว่าเป็นยังไง

แล้วมันก็จะเกิดอาการไม่ลืม ไม่ลืมกายและจิตนี้ ไม่ลืมที่จะรู้สึกกายและจิตนี้ เมื่อมันไม่ลืม…กำลัง ความตั้งมั่น ก็ก่อตัวขึ้น เมื่อเกิดอะไรขึ้นทางจิตใจทางร่างกาย ก็จะเห็นได้โดยที่ไม่เข้าไปเป็นกับมัน เหล่านี้คือ ผลที่สืบเนื่องจากการทำหน้าที่ที่บอก

 

ตอนที่ 2 ตายจากชีวิตที่แท้จริง

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเข้าไปเป็นกับอารมณ์ เรื่องราวใดๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา อารมณ์ความรู้สึกครอบงำ ขณะนั้น “เราตายจากชีวิตที่แท้จริง” อารมณ์ความรู้สึกเกิดมาจากสัญญา ทิฏฐิ สร้างอารมณ์ความรู้สึกให้กับตัวเอง พลังแห่งความพอใจและไม่พอใจเกิดขึ้น พลังนั้นแผ่ซ่านออกไปสู่คนอื่น ทำลายความปกติของคนอื่น

ในพระไตรปิฎกเคยกล่าวไว้ว่า… “ชนเหล่าใดยังยึดถือสัญญาและทิฏฐิ ชนเหล่านั้นย่อมเที่ยวกระทบกระทั่งกันในโลก

เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่รู้ทันสัญญาและทิฏฐิของตัวเอง เราจะถูกมันครอบงำและมันจะพาเราไปกระทบกระทั่งกับคนรอบข้าง นั่นไม่ใช่วิถีชีวิตของนักปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติธรรมเราดูตัวเอง เกิดอารมณ์ความรู้สึกอะไรในใจ ดูตัวเอง ไม่ใช่ปล่อยมันออกมาเพ่นพ่านข้างนอก

ถ้าเราแต่ละคนรู้จักดูตัวเอง ไม่ถูกสัญญาและทิฏฐิครอบงำ หมดการกระทบกระทั่ง

พระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถจะห้ามให้ญาติพี่น้องฆ่ากันได้ เป็นถึงพระพุทธเจ้าก็ยังทำไม่ได้ ห้ามให้ใครทะเลาะกันไม่ได้ เพราะตราบใดที่คนเหล่านั้นยังไม่ดูตัวเอง ก็ไม่มีพระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์ที่ไหนจะห้ามศึกได้ ห้ามทะเลาะเบาะแว้งได้

เราทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง รับผิดชอบกายและจิตของตัวเองนี้ “มีหน้าที่ดูมัน เห็นมัน แล้วไม่คว้ามันมาเป็นเจ้าของ

เพราะฉะนั้น ผมเคยพูดหลายครั้งว่า เราเคยเห็นมั้ยเวลาสัญญามันเกิดขึ้น… รู้ทันมั้ย? ที่ผมเคยพูดว่า สัญญาเสร็จมันต่อสังขาร ปรุงแต่ง ถ้าเราหัดรู้ทันสัญญาที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรกเลย…มันจบ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ จบลงตรงนั้นเลย

 

ตอนที่ 3 หัวใจครูบาอาจารย์

ครั้งนึงผมเคยนั่งอยู่บ้าน ไม่มีอะไรทำ แล้วก็ไม่รู้จะทำอะไร สิ่งที่เคยเป็นความสุขก็ไม่เห็นมันเป็นความสุข พยายามคิดว่าเคยทำแบบนี้มีความสุขจะไปทำมั้ย? คิดแล้วก็ไม่ได้ความสุข หรือเดี๋ยวจะไปทำสิ่งนั้นแล้วได้ความสุขมั้ย? ก็ไม่ได้ คิดไปหลายอย่าง ถามตัวเองว่าได้ความสุขมั้ย? ไม่ได้  ไม่มีความสุขในโลกนี้ แล้วเหลืออะไร นึกถึงคำท่านพุทธทาสขึ้นมา ท่านว่า… ชีวิตที่ประเสริฐที่สุดคือ “ชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์

พาพวกเรานั่งสมาธิอย่างนี้มีความสุขมั้ย ไม่ใช่ความสุขเหมือนกัน แต่เป็นชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ อันนื้คือ “หัวใจของครูบาอาจารย์

ไม่ใช่จะทำอะไรเพื่อจะได้ความสุข เพราะมันไม่ได้ มันไม่มี แต่ทำเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ ชีวิตของคนที่เป็นครูบาอาจารย์ สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ “ธรรม…ธรรมะ ไม่ใช่ตัวเอง

เพราะฉะนั้น อะไรที่เกี่ยวกับธรรม สังเกตว่าครูบาอาจารย์ไม่ถอย จะมีคนในโลกนี้สักกี่คนที่อยากฟังธรรมะ อยากนั่งสมาธิ แล้วถ้ามีคนแบบนั้น แล้วเราจะไม่ให้โอกาสเค้า จะมีครูบาอาจารย์ที่ไหนจะทำแบบนั้น…ไม่มี!

มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปคิดเอาเองว่า เป็นเรื่องของอยาก ไม่อยาก ชอบ ไม่ชอบ… ไม่ใช่แบบนั้น มันเป็นเรื่องของเป็นประโยชน์ก็ทำ ไม่เป็นประโยชน์…ไม่ทำ

เพราะฉะนั้น บางทีพวกเราชอบไปประเมินตามความคิด ความเชื่อตัวเอง อย่าเพิ่งรีบไปประเมิน ไว้วันนึงตัวเองเป็นครูบาอาจารย์จะเข้าใจหัวใจของครูบาอาจารย์

ในพุทธวจนะพูดถึง การประมาณหรือว่าประเมินบุคคลมีเหมือนกัน มีคำถามว่าการพยากรณ์บุคคลอื่นทำได้หรือไม่

เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคล ใครเล่าจะพึงรู้เหตุนั้นได้ นอกจากเราคถาคต

เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ชอบประมาณในบุคคล และอย่าได้ถือประมาณในบุคคล

เพราะถือประมาณในบุคคลย่อมทำลายคุณวิเศษของตน เราหรือผู้ที่เหมือนเรา พึงถือประมาณในบุคคลได้

เพราะฉะนั้น ท่านไม่ให้ใครประมาณในบุคคล ยกเว้นเราคถาคต

 

ตอนที่ 4 มีทุกข์อยู่ แต่ไม่มีผู้ทุกข์

ต่อไปนี้นอกเหนือจากการปฏิบัติในรูปแบบ ตื่นมาใช้ชีวิตใหม่…เห็นร่างกายมันลุกขึ้น เห็นร่างกายมันเดินไปห้องน้ำ เห็นร่างกายมันยืนแปรงฟัน เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว จิตใจไปคิด…รู้ทัน สัญญาเกิดขึ้น…รู้ทัน ความรู้สึกสุขทุกข์ในใจเกิดขึ้น…รู้ทัน  เดินไปทำวัตรสวดมนต์ เห็นร่างกายมันเดิน คุกเข่าลงกราบ เห็นร่างกายมันกราบ เดินไปตักอาหาร เห็นร่างกายมันเดิน

จิตส่งออกไปดู เห็นจิตใจส่งออกไปแล้ว มืออุ้มบาตรอยู่ รู้สึก กับเข้าห้องไปกิน เห็นความเพลิดเพลิน เห็นจิตใจที่เปลี่ยนแปลงกับการกิน เรียนรู้มีความสุขจริงมั้ย หรือแค่กินให้ร่างกายมันอิ่ม มีความไม่พอใจมั้ยไม่มีอาหารที่ชอบที่ต้องการ ไม่ใช่สนองความพอใจและไม่พอใจนั้น… “มีหน้าที่เห็นจิตใจเป็นยังไง

กินเสร็จไปล้าง เห็นร่างกายมันเดินอีกแล้ว เห็นมือมันขยับไปล้าง…ก็รู้  ไม่ใช่รีบๆๆๆ จะไปเดินจงกรมล่ะ จะไปนั่งสมาธิล่ะ งานการอย่างอื่นไม่ทำ กลัวไม่ได้ปฏิบัติธรรม

หลอมรวมมันเข้ามาในชีวิตประจำวันให้ได้” ถึงจะเป็นการปฏิบัติที่แท้จริง

เมื่อเราเห็นร่างกายและจิตใจทำงานอยู่อย่างนี้ เราจะเป็นทาสของอารมณ์ได้มั้ย? เป็นทาสของสัญญาของทิฏฐิได้มั้ย? เป็นทาสของความปรุงแต่งได้มั้ย? เป็นไม่ได้… เป็นไม่ได้ก็ไม่มีใครทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากทุกข์ รู้จักปฏิบัติ ไม่ใช่รู้จักแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น นั่น! คนในโลกเค้าทำกัน แก้ไขกะเกณฑ์ทุกอย่างตามเท่าที่ตัวเองพอใจถึงจะไม่ทุกข์ มันไม่มีวันนั้นหรอก ถ้าตราบใดยังมีความพอใจ มันจะมีความไม่พอใจมาเสมอ เพราะฉะนั้น อยู่เหนือมันทั้งสองอย่าง แล้วมันจะไม่ทุกข์อย่างแท้จริง

เกิดอะไรขึ้นกระทบเข้ามาทางอายตนะต่างๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ไปดูสิ่งที่มากระทบ เรื่องนี้พูดหลายทีแล้ว กลับมาดูที่จิตใจตัวเองเป็นยังไง “ถ้าดูผิดที่..ทุกข์ทันที

เพราะฉะนั้น เมื่อเราเป็นนักปฏิบัติธรรม รู้จักฉลาดที่จะอยู่อย่างไม่ทุกข์ ถ้าเราทุกข์แปลว่า เราโง่ …จำไว้

เพราะฉะนั้น เมื่อเราก้าวเข้ามาเป็นนักปฏิบัติอย่างแท้จริง อยู่ให้เป็น รู้จัก “อยู่ให้เป็น” อยู่อย่างผู้ไม่ทุกข์ “มีทุกข์อยู่ แต่ไม่มีผู้ทุกข์ จิตปรุงแต่งจนเป็นทุกข์อยู่ แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของทุกข์นั้น  ดูมัน เห็นมัน รู้อยู่ แต่ไม่ต้องสนใจ แล้วมันจะผ่านไป

เมื่อเรารู้ทุกข์ได้โดยไม่เข้าไปเป็นกับมัน นั่นคือ “กำลังใจของนักปฏิบัติธรรม” นั่นคือ ความก้าวหน้าของนักปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น อย่างกลัวทุกข์ เมื่อทุกข์เกิดขึ้น มันกำลังยื่นชัยชนะให้กับเรา อยู่ที่เราจะเอาชัยชนะมั้ย หรือเราจะเอาทุกข์ เมื่อเราชนะได้ครั้งนึง ชัยชนะจะเกิดขึ้นได้อีก ขอแค่มีครั้งแรก

ชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ เช่นอะไร? หิว… ทนไม่เคยได้ ต้องกิน ไม่กินโมโห อารมณ์เสีย ต้องเห็นเป็นอาการหิว ในร่างกายแสดงอาการบีบคั้น บีบๆ โครกคราก น้ำย่อยทำงาน จนหมดความอยาก หมดการสนองเหมือนที่เคยต้องทำทุกครั้ง เราเห็นเฉยๆ ได้ เราเห็นร่างกายนี้แสดงอาการอย่างนี้อยู่เฉยๆ ได้ ถ้าเรารู้จักเห็นสักครั้งนึง ครั้งต่อไปหมู ครั้งแรกอาจจะยาก แต่ถ้าเราอดทนจะเห็นมัน มันจะครอบงำเราไม่ได้อีกต่อไป มันจะครอบงำเราไม่ได้อีกแล้ว

อะไรที่เป็นความสุขในชีวิตเราขอสักครั้งตลอด อยากได้ความสุขนั้นๆ

เช่นเดียวกันกับความทุกข์เหมือนกัน ขอสักครั้งที่จะเห็นมันเฉยๆ แล้วเราจะ “รู้จักบุญคุณของความทุกข์” นั้นว่ามันช่วยเราขนาดไหน

ความเติบโตทางจิตวิญญาณเกิดขึ้นจากความทุกข์ ดาบที่คมต้องถูกหลอม ถูกทุบ ถูกตี ครั้งแล้วครั้งเล่า มันถึงคมขึ้นมาได้ นี่คือธรรมชาติ

 

ตอนที่ 5 รีบเร่งปฏิบัติธรรม

คนไหนที่สละเวลา เสียเวลา สละเงิน สละความเป็นอยู่ในโลกมาปฏิบัติธรรม ก็ขออยู่ให้มันถูก อยู่ให้มันเป็น ปฏิบัติตั้งแต่ตื่นจนหลับ เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่ามันเคร่งเครียดไป ก็ผ่อนหน่อย รู้จักศิลปะ ผ่อนคลาย ดีแล้วไปต่อ

ปฏิบัติตั้งแต่ตื่นจนหลับ ถ้าจิตใจสว่างขึ้นมา ที่ๆ เราอยู่จะสว่างขึ้นมา ใครมาใกล้เราก็ได้รับความสว่างนั้นไปด้วย พลังงานเป็นความบริสุทธิ์ คนที่มาอยู่จะสัมผัสได้ ความตื่นเนื้อตื่นตัวถ่ายทอดไปจากจิตสู่จิตถ้าคนๆ นั้นพร้อมจะเปิดรับ

เราทุกคนไม่รู้ว่าภัยจะมาถึงตัวเมื่อไหร่ กรรมชั่วทั้งหลายจะมาถึงตัวเมื่อไหร่ โลกนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือ “รีบเร่งปฏิบัติธรรม” อย่าไปมัวกังวลกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เข้ามาในชีวิต ไม่มีประโยชน์อะไรในการไปกังวลเรื่องแบบนั้น อย่าไปเสียอกเสียใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต อย่าไปพอใจหรือไม่พอใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต อย่าไปพัวพันกับเรื่องโง่ๆ ก็แล้วกัน

อย่าปิดโอกาสตัวเอง โง่ๆ แบบนั้น ตื่นออกมาจากมัน แล้ว “รู้กายและจิตอย่างที่มันเป็น” นี่คือ ทางที่จะนำเราทุกคนไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง อย่ามัวแต่บ้าๆ บอๆ ชอบกัน ไม่ชอบกัน มีหน้าที่ช่วยกัน ไม่ใช่ทะเลาะกัน

นั่งแล้วมันไม่มีอะไร ก็แค่รู้สึกไป รู้สึกร่างกายไว้ บางทีร่างกายมันเกร็งอัตโนมัติ ก็รู้ได้

ยังเห็นร่างกายนี้มันนั่งอยู่มั้ย เราไม่ได้เข้าไปเป็นกับความรู้สึกใดๆ ในร่างกาย เราไม่ได้เป็นความรู้สึกตัว เราเห็นว่ามีความรู้สึกอยู่ที่ตัว เมื่อไหร่เราเป็นความรู้สึกตัว เราจะกลายเป็นความสงบแล้วก็หลับในที่สุด

เห็นความรู้สึกตัวมั้ย มีความรู้สึกอยู่ตรงไหนตอนนี้ รู้สึกความมีอยู่ของร่างกายมั้ย รู้สึกร่างกายนี้มันนั่งอยู่มั้ย เดี๋ยวความรู้สึกมันก็ไปเกิดตรงนั้นตรงนี้ก็รู้สึกได้ใช่มั้ยว่ามีความรู้สึกเกิดขึ้นแล้ว เวลามันเบลอๆ ดูไม่ออกแล้ว หายใจขึ้นมาทีนึง ฝึกไปเรื่อยๆ ศิลปะเฉพาะตัวจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดจากการฟัง แต่เกิดจากการผ่านประสบการณ์ที่ผ่านการฝึกรู้สึกกายรู้สึกจิต

 

22-01-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/SUPsnu1KRrM

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S