64.ความอยากที่มองไม่เห็น

ตอนที่ 1 หมั่นสังเกตจิตตัวเอง

นั่งสมาธิ…ไม่ได้ทำอะไร แค่นั่ง…นั่งเฉยๆ   นั่งเฉยๆ แล้วดูจิต จิตไปที่ไหนก็รู้ จิตไปที่หูก็รู้ จิตไปที่เนื้อที่ตัวก็รู้

การที่เราคอยรู้ทันจิต มันทำอะไร มันไปไหน มันเป็นการละสมุทัย สาเหตุแห่งทุกข์อัตโนมัติ

มันไปคิดนี่…รู้ทัน มีความรู้สึกเอิบอาบทั้งร่างกาย มีความรู้เนื้อรู้ตัวเอิบอาบทั้งร่างกายนี่…ก็รู้ว่าเป็นแบบนั้น

การปฏิบัติธรรม…นั่งแบบนี้ เราจะรู้สึกได้ถึงความสุขชนิดหนึ่ง ความสุขจากความสงบ ไม่ใช่สงบเงียบ ไม่ใช่สงบหลบอยู่ในรู แต่เป็นความสงบจากการที่เรารู้ทันจิต ความสงบแบบนี้เป็นความสงบที่เรียกว่า “ความตั้งมั่น”

จิตอยู่กับเนื้อกับตัว…ก็รู้ว่าอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ต้องไปควานหาว่าจิตอยู่ไหน มันอยู่กับเนื้อกับตัวก็คือ อยู่กับเนื้อกับตัว

ธรรมะไม่มีอะไรมาก ฟังมากก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดูจิตตัวเองให้มาก อย่าให้คลาด แต่ถ้าคลาดไปแล้วก็ไม่เป็นไร แต่เตือนใจตัวเองไว้ว่า เราจะตามรู้จิตเท่าที่รู้ได้ เราจะไม่ปล่อยเอ้อระเหย ฟุ้งซ่าน ลืมเนื้อลืมตัว จะพูดจะคิดจะทำ ทำกิจวัตรในชีวิตประจำวัน…“อย่าลืมจิตตัวเอง” หมั่นสังเกตจิตตัวเอง

ถ้าเราทำแบบนี้เป็น เราทำอะไรอยู่ ก็ปฏิบัติธรรมได้ทั้งนั้น แค่อย่าลืมว่าเรามีหน้าที่ “ดูจิต”

จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตอยู่กับเนื้อกับตัวแล้วก็รู้ จิตวิ่งไปนี่ไปนั่นก็รู้… “แค่รู้” ดูบ่อยเข้าๆ จิตมันเรียนรู้เอง เรียนรู้ว่า อ่อ…เกิดแล้วก็ดับ เห็นมันเปลี่ยนแปลง เป็นทุกข์ ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ มันทำของมันเอง จิตมันจะเรียนรู้เอง…นี่เรียก เจริญปัญญา วิปัสสนา…อันนี้เป็นผลจากการที่เราดูจิต อยู่กับเนื้อกับตัว การเจริญปัญญาก็เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น มันเจริญของมันเอง ไม่ใช่เราเจริญ

ขณะจิตมันเบื่อ…เห็นจิตมันเบื่อ ไม่ใช่เราเบื่อ เตือนตัวเองไว้…จิตไม่ใช่เรา มันทุกข์ มันเศร้า เตือนตัวเองไว้…โอ้! จิตไม่ใช่เรา ตอนนี้มันเป็นแบบนี้ แค่เตือนตัวเองว่า ไม่ใช่เราปุ๊บ…นี่! มันจะปล่อยเลย เรื่องของมัน มันปล่อยนี่ ไม่ใช่ว่าความเศร้าหมองหรือความอะไรมันหายไปนะ มันก็ยังอยู่ แต่เราเป็นผู้ดู ดูเสร็จปุ๊บ…เดี๋ยวมันก็แสดงไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็เห็นได้

ความวิ่งวุ่นของจิตทั้งหมด วิ่งไปไหนต่อไหน ทำนี่ทำนั่น ทุกขณะจิตเลย มันอยู่กับที่ไม่ได้เลย เดี๋ยวจิตมันก็วิ่งไปนี่ วิ่งไปนั่น เดี๋ยวมันก็ทุกข์ เดี๋ยวมันก็เศร้า เดี๋ยวมันก็สุข ดีใจ เสียใจของมันไปเรื่อย ทั้งหมดนี้เป็นทุกข์ ทุกขสัจจ์…ทุกขสัจจะ คือ ทั้งหมดทั้งสิ้นอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ที่เรียกว่า “ทุกขสัจจะ”

 

ตอนที่ 2 “ตื่นขึ้น” เพื่อจะเห็นทุกสิ่งตามเป็นจริง

“ความคิดปรุงแต่ง” เป็นสิ่งที่ต้องระวัง มันหาก่อหาเกิด สุดท้ายหาทุกข์ ความคิดปรุงแต่ง พาเราไปทำบาปทำบุญได้ทุกอย่าง อยู่เหนือมัน อย่าให้มันลากเราไปไม่ว่าทั้งดีและชั่ว คิดดีก็เป็นบุญ คิดไม่ดีก็เป็นบาป พาเราขึ้นสวรรค์ ลงนรกได้หมด

ครูบาอาจารย์เคยพูด  “คิดดีก็ใจเย็น แต่ถ้าคิดไม่เป็นนี่…เย็นสบาย” ….คิดไม่เป็นคืออะไร? เราไม่ตามเข้าไปในความคิดปรุงแต่งนั้น ไม่ไปหาก่อหาเกิด หาบุญ หาบาป ที่มันจะล้นออกมาทางกาย วาจา พาเราติดอยู่ในสังสารวัฎ เพราะฉะนั้น ความคิดปรุงแต่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง

พอเรารู้เนื้อรู้ตัว จิตใจก็พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง ความปกติเปิดเผยตัวออกมา สภาพปกติ…สภาพไร้ราคะ ไร้โทสะ ไร้โมหะเผยตัวออกมา…รู้จักมัน มันจะเป็นกำลังพาให้จิตตื่นขึ้น…“ตื่นขึ้น” เพื่อจะเห็นทุกสิ่งตามเป็นจริง เห็นจิตตามเป็นจริง เห็นสภาวะใดๆ ตามเป็นจริง… “เป็นจริง” คือเป็นยังไง? ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์

การปฏิบัติธรรมก็มีแค่นี้แหละ เห็นเรื่องซ้ำซากจำเจแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนจิตมันแจ่มแจ้งว่า โลกนี้มีแค่นี้ สิ่งทั้งหลายที่เราพอใจ ไม่พอใจ ดี ไม่ดี สุดท้ายก็มีแค่นี้ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตใจเห็นความจริงมากเข้าๆๆ เห็นมีแต่ทุกข์ มีแต่เรื่องน่าเบื่อ มีแต่เรื่องไร้สาระ ไร้แก่นสาร ไม่มีอะไรน่าเอาน่าเป็นซักอย่าง มันก็เกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย พอเบื่อหน่าย มันจะคลายกำหนัดคือ คลายความอยาก พอคลายความอยากมันเป็นยังไง? จิตมันก็เป็นกลาง เข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา  พอมันเป็นกลางปุ๊บ…อีกไม่นานมันก็หลุดพ้น  เค้าเลยว่า พอจิตมันเบื่อหน่าย มันถึงคลายกำหนัด พอมันคลายกำหนัด มันจึงหลุดพ้น พอมันหลุดพ้น ก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว

 

ตอนที่ 3 ความอยากที่มองไม่เห็น

การปฏิบัติธรรมถึงบอกว่า ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีว่าแบบนั้นดีกว่าแบบนี้ ไม่มีคำว่า “ต้อง” ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้…ไม่มี! ถ้ามีอะไรเหล่านี้ในจิตใจในหัวสมองเรา เราจะทำอย่างเดียว การปฏิบัติทั้งหมดอยู่ภายใต้ “ความอยาก” การปฏิบัติธรรมจะเหนื่อย การทำอะไรภายใต้ความอยากมันจะเหนื่อย เพราะจะเอา จะเอา จะเอาตลอด จะเอาดีกว่านี้

ชีวิตการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุดคือ แค่บอกกับตัวเองว่า ชีวิตที่เหลือขอแค่ทำหน้าที่นี้ให้เต็มที่ที่สุด ไม่ได้อะไรก็ไม่เป็นไร พอใจแล้วที่ได้ทำหน้าที่นี้กับชีวิตที่เหลืออยู่…แค่นี้พอ! เพราะฉะนั้น เป็นการสร้างเหตุ เราได้ทำเหตุอย่างบริสุทธิ์จริงๆ

เมื่อไหร่เรามีความหวังว่าจะบรรลุธรรม ความหวังนั้นเองมาทำลายการปฏิบัติทั้งหมด โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยว่าเราโดน “ความอยาก” ครอบงำไปแล้ว…มันมองไม่เห็น เวลาเราอยู่ภายใต้ความครอบงำของอะไรมันมองไม่เห็นหรอก จนกว่าเราจะได้ก้าวออกมา เราจึงได้ค่อยกลับไปเห็นว่า… โอ้โห! เมื่อก่อนเรามีแต่ความอยาก แต่ตราบใดที่เรายังไม่ก้าวออกมา เราจะไม่เห็นว่าเราอยากอยู่

“ความว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาอาการของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรซักอย่าง”… เหล่านี้เป็นผลของการปฏิบัติจนถึงจุดที่ไม่มีกิเลสแล้ว  เมื่อไม่มีกิเลส ผลเหล่านี้ถึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น หน้าที่เราไม่ได้ไปทำผลอย่างนั้นให้มันเกิด เรามีหน้าที่ “ฝึก” จนวันนึงหมดกิเลส และผลอย่างนั้นมันจะเกิดเอง ทำไมถึงหยุดการปรุงแต่งได้? ก็เพราะไม่มีกิเลสขับดัน ทำไมถึงหยุดการแสวงหาได้? ก็เพราะไม่มีกิเลสขับดัน ทำไมถึงหยุดกิริยาอาการของจิตได้? ก็เพราะไม่มีกิเลสขับดัน เพราะฉะนั้น ฝึกให้มันถูกที่ถูกทาง และผลมันออกเอง…งอกงามเอง

 

ตอนที่ 4 เห็นกิเลสในใจตัวเองได้…ขัดเกลาแล้ว

จะเห็นว่า เรานั่งสมาธิกันแค่นี้…แค่นั่ง ไม่มีความอยากมากไปกว่าการแค่นั่ง จิตใจทุกคนก็ผ่อนคลายเป็นธรรมชาติ พร้อมจะดูจิตได้แบบสบายๆ ความคิดแต่ละคนก็น้อย แรกๆ อาจจะเยอะ พอนั่งไปสักพักก็น้อยลงแล้ว ก็รู้ทันได้

มีสงสัยเกิดขึ้น ก็รู้ทัน พอรู้ทันปุ๊บ…ความอยากในการอยากได้คำตอบหมดไป มันก็กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว

ถ้านั่งแล้วเริ่มเคลิ้ม…หายใจแรงๆ ซักทีนึง ปลุกความรู้สึกตัวความตื่นตัวขึ้นมา

จิตไปฟังเสียง ก็รู้…รู้แค่นั้น จิตใจฟุ้งซ่าน รู้ทัน สภาวะจิตเปลี่ยนไป ไม่เป็นไร เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลง ไม่ดีเหมือนเมื่อกี้นี้…ก็ไม่เป็นไร ก็เห็น…ตอนนี้เป็นแบบนี้…ยอมรับ! เหตุปัจจัยเปลี่ยน จิตก็เปลี่ยน…เห็นในมุมของอนัตตา นักปฏิบัติเราต้องอดทนที่จะอยู่กับสภาพสภาวะจิตที่ไม่ดีก็ได้ อดทนให้ได้ อย่าแก้ไข… “มีหน้าที่สร้างเหตุอย่างเดียว”

จิตสบายขึ้น ก็ให้รู้จิตสบายขึ้น

เรานั่งเฉยๆ แบบนี้ เหมือนไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่จริงๆ เรากำลังสร้างกุศลอันใหญ่ เรานั่งเฉยๆ แบบนี้ จิตใจที่เป็นปกติอยู่ มันไม่คิดร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร ไม่ปรุงแต่งไปในทางอกุศล เท่านี้เราก็ช่วยโลกนี้มากแล้ว ช่วยทั้งโลกนี้ ช่วยทั้งตัวเราเอง ไม่ให้ตกไปสู่กระแสของบาปกรรม

พวกเราปฏิบัติไป ปฏิบัติไป อกุศลในใจจะค่อยๆ ลดลงเอง กิเลส…ความโลภ ความโกรธ ความหลง จะค่อยๆ ลดลง เบาลง จนหมดไปในที่สุด

เราปฏิบัติกันขั้นต้น ไม่ต้องไปพูดถึงขั้นบรรลุธรรมอะไร ถ้าเราปฏิบัติเป็น เราจะเห็นกิเลสในใจตัวเอง เห็นอัตตาในใจตัวเอง พอเห็นปี๊บ…เนี่ย! มันจะไม่ทำแบบนั้น มันได้ขัดเกลาแล้ว คุณธรรมในใจจะเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เรา “ขัดเกลา” ตั้งแต่วันนี้ เมื่อเราได้ก้าวข้ามความเป็นคนไป แม้ว่าเชื้อของกิเลสยังมีอยู่ แต่มันจะไม่กระโชกโฮกฮากออกมาเหมือนเดิม เราจะเห็น “อัตตา” เป็นสิ่งที่น่าเกลียดที่สุด

เมื่อเราปฏิบัติธรรมก้าวหน้า เราจะรู้สึกตัวเองได้ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น นิสัยเราจะดีขึ้น ความเห็นแก่ตัวเราจะน้อยลง เพราะความเห็นแก่ตัวมันคือ อัตตา  เราจะรู้จักยับยั้งชั่งใจ มีหิริโอตัปปะมากขึ้น คุณธรรมเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเอง กิเลสต่างๆ ที่เคยแสดงตัว แล้วเราก็ทำตามมันลดลง คุณธรรมอื่นๆ ก็งอกงามขึ้น ตัวเราเองรู้ตัวเองได้ว่าเราดีขึ้น คนอื่นรอบข้างเรารู้ได้ว่าเราเปลี่ยนแปลง พูดง่ายๆ…นิสัยดีขึ้น

และเมื่อเราปฏิบัติไปเรื่อยจนถึงขั้นที่กิเลสเบาบาง เราจะได้พบความสุขมากขึ้น เพราะจิตไม่มีเชื้อของกิเลส ถึงมีก็น้อยมากจนปรุงไปในทางทุกข์ไม่ได้ แค่เห็นมันก็ขาดหมด

เพราะฉะนั้น เราทำทุกอย่างในโลก เกิดมาเพื่อจะมีชีวิตที่ดี…ทำแบบนี้แหละ! จะได้ชีวิตที่ดีจริงๆ…แต่ใช้เวลา และอย่าคาดหวัง

 

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/Ej4-6sIn0E0

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S