61.ชีวิตที่เหลือแต่หน้าที่

ตอนที่ 1 เริ่มให้มันถูก

เวลาเดินจงกรมเราก็เดินสบายๆ เดินให้มันเหมือนที่เราเดินทุกวัน ไม่ต้องเร็ว แต่ไม่ต้องช้า เดินเป็นธรรมชาติ

การเดินจงกรม” อธิบายง่ายๆ …แค่เดิน แค่เดินไปข้างหน้าแค่นั้น แต่เป็นการเดินที่ “รู้เนื้อรู้ตัว” รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย ของการเคลื่อนไหว ของก้อนนี้ ที่มันเคลื่อนไหวอยู่ พอมันฟุ้งซ่านไปคิดก็รู้ทันได้

ให้การเดินของเรานี้มันมีความรู้สึก “สดใหม่สดชื่น” ไม่ให้จมไปในความเซื่องซึม ให้มัน “ตื่น” เข้าไว้

เราปฏิบัติธรรม เราไม่ต้องการว่าจะเอาความสงบ ความสงบเป็นผลจากการตื่นรู้อีกทีหนึ่ง เมื่อเรา “ตื่นรู้” อยู่ “จิตใจปกติ” อยู่ นั่นเรียก “ความสงบที่แท้จริง” ไม่ใช่สงบดำดิ่ง จมไปในอารมณ์อันเดียว

เวลาเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิ ถ้ามันเริ่มเซื่องซึม ให้เรายิ้มกับตัวเองหน่อย ยิ้มหวานๆ กับตัวเองซักทีนึง มันจะสดชื่นขึ้นมาเลย

รู้จัก “สภาพที่ไม่มีอะไร ว่าง” มี “แค่รู้สึก” มีแค่รู้สึกของการเคลื่อนไหว และกำลังฟุ้งซ่านก็รู้ทัน แต่ไม่ให้ไปบังคับอะไรเอาไว้ ให้มันเป็นธรรมชาติ ผ่อนคลาย สบาย

เราฝึกเพื่อจะเข้าสู่ทางสายกลาง ความเป็นกลาง ไม่ได้ฝึกที่จะบังคับอะไรเอาไว้ เอานี่ ไม่เอานั่น ไม่ได้ฝึกแบบนั้น

เราฝึกที่จะเรียนรู้สภาพที่แท้จริง สภาพเป็นธรรมชาติ

การที่เราอยู่บนฝั่งตื่นรู้อยู่ในทุกอิริยาบถ ในทุกสถานการณ์ ความตื่นรู้นั้นคือทางสายกลาง

คนไหนที่ฟุ้งซ่านมากๆ …ลองรู้สึกเวลาเท้ากระทบพื้น กระทบก็รู้สึก กระทบก็รู้สึก แต่ไม่ใช่ไปเพ่งไว้ที่เท้า

การปฏิบัติธรรมมีแค่ง่ายๆ …แค่รู้สึก

สังเกตเวลา “แค่รู้สึก”… ไม่มีอะไรเลย สมมติ ความหมาย การปรุงแต่งทั้งหลาย มันหายไปเอง พอมันหายไปความเป็นปกติก็เผยตัวออกมา “สภาพปกติ” ก็เผยตัวออกมา จิตใจตอนนี้เป็นยังไง…ปกติ จิตใจที่เป็นปกติมากเข้าๆ กลายเป็นสัมมาสมาธิ มันเป็นสัมมาสมาธิเพราะอะไร เพราะมันไม่มีตัวเราเข้าไปทำอะไร เส้นทางของการปฏิบัติธรรมเส้นทางนี้ เป็นเส้นทางของเหตุปัจจัย ไม่มีใครเข้าไปทำอะไรทั้งนั้น

ถ้ามีใครไปทำอะไร ให้มันได้อะไร…เป็นเส้นทางของอัตตา เส้นทางของการพอกพูนอัตตาว่าฉันทำได้ ฉันทำสมาธิได้ ฉันทำฌานได้ ฉันสงบ

เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างเหตุปัจจัยให้ถูก….แค่รู้สึก พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งทั้งปวง ความเป็นปกติเผยตัวออกมา…รู้จักมัน รู้จักมันบ่อยๆ สัมมาสมาธิเกิด มันเกิดเอง สมาธิเกิดขึ้นได้เพราะว่าไม่มีความฟุ้งซ่าน สัมมาสมาธิเกิดขึ้นความตื่นรู้ก็เกิดขึ้น ความเป็นพุทธะก็เกิดขึ้น สภาพรู้ตื่นเบิกบานก็เกิดขึ้น

ทีนี้อะไรผ่านมาผ่านไปในใจนี้ ในร่างกายนี้ เราก็กลายเป็นเพียงแค่ “พยาน” ภาษาครูบาอาจารย์เรียกว่า เราเป็นแค่ “ผู้ดู ผู้รู้”…มันเป็นเอง เราไม่ได้ไปสร้างผู้รู้ ผู้ดู มันเป็นเอง พอมันเป็นเอง ก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของสภาพต่างๆ แม้กระทั่งสภาพของการเป็นผู้รู้ ผู้ดู ก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะในความเป็นจริงมันไม่มีผู้ เป็นแค่ “กิริยา…รู้ ตื่น เบิกบาน” แค่นั้น

พอเราตื่นขึ้นมา รู้เห็นสภาวะต่างๆ ตามเป็นจริง มันก็เข้าใจโลกได้ โลกนี้ก็เป็นแบบนี้ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา…นี่! ก็เจริญวิปัสสนาแล้ว เจริญเอง เป็นผลเหมือนกัน เจริญไปเรื่อยๆ พอมันแก่รอบ เต็มรอบ มันก็ตัดสังโยชน์เอง ทำลายอวิชชาเอง มันเป็นเรื่องของการเป็นเองทั้งหมด แต่เราต้อง “เริ่มให้มันถูก” รู้อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย อะไรที่เราต้องทำ

 

ตอนที่ 2 เด็ดเดี่ยว

ทุกคนฟังคลิปผมมามาก จะต้องเข้าใจว่า สิ่งที่ผมเน้นย้ำมากที่สุดก็คือ “สภาพปกติที่มีอยู่แล้วในจิตใจทุกคน” เรามีมันบ่อยได้แค่ไหน เรารู้จักมันบ่อยได้แค่ไหน มันเปิดเผยตัวออกมาให้เรารู้จักบ่อยแค่ไหน….อันนี้เป็นบาทฐานสำคัญมาก เพราะเป็นบาทฐานของสัมมาสมาธิที่มันจะเกิดขึ้นได้

อย่างที่ผมบอกว่าการปฏิบัติที่ผมสอนทุกคน ทุกคนเข้าใจได้พอสมควรแล้ว เพราะฉะนั้นพิจารณาตัวเอง มีโอกาสรู้จักสภาพปกตินี้บ่อยแค่ไหน ถ้ามันไม่มาก มันไม่บ่อย ไม่มากอย่างที่คิดว่ามันควรจะมากกว่านี้ ต้องพิจารณาชีวิตตัวเอง ไม่ใช่ถูลู่ถูกังทำไปเรื่อย เอาแค่นี้พอ…แบบนั้นก็โง่เกินไป

เรารู้วิธีปฏิบัติที่ถูกแล้ว เราต้องมีเวลาให้กับมันด้วย….

เราอย่าโดนใครหลอกว่า ปฏิบัติไปทำงานไป ที่ผมเคยบอกว่ามันได้ไหม มันก็ได้ แต่เราหวังแค่ไหน ถ้าเราหวังเอาแค่ปฏิบัติไปทำงานไป เราก็พอแล้ว…ก็โอเค แค่นั้นก็ได้ แต่ถ้าเราหวังถึง ความบรรลุธรรม ความพ้นทุกข์ เราต้องทุ่มเทมากกว่านี้

เราอย่าให้คนในโลก คนที่มีมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งอาจเป็นคนที่เรารักฉุดรั้งเราไว้ เราจะโง่เหมือนกันตลอดชีวิตไม่ได้ มันต้องมีคนหนึ่งฉลาดขึ้นมาก่อน ไม่อย่างนั้นก็เตี้ยอุ้มค่อม ลงนรกกันไปหมด

เราอย่าเข้าใจว่าเราแค่เป็นคนดีในสังคม เราก็ไม่ตกนรก อันนี้เข้าใจผิดอย่างร้ายแรง นักปฏิบัติธรรมนี่แหละตัวดี ปฏิบัติผิดๆ แล้วบ้าๆ บอๆ มากกว่าเดิม โกรธหนักกว่าเดิม โทสะหนักกว่าเดิม เห็นคนอื่นไม่ดีหมด กูดีอยู่คนเดียว เต็มไปด้วยมานะ อัตตา ทิฐิ

เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องไปให้ถึงความเป็นโสดาบัน ปิดอบายภูมิ อันนั้นเป็นทางรอดทางเดียวของเราทุกคน

มีเป้าหมายแล้วเดินไปให้ถึงเป้าหมาย อย่าให้อุปสรรคอะไรก็ตามมาขัดขวางเรา ไม่มีหน้าที่ยอมแพ้อุปสรรค มีหน้าที่ “ใช้ปัญญา ใช้ความเด็ดเดี่ยว”…ที่จะนำพาชีวิตเรา ไปในจุดที่ไม่สามารถหวนกลับมาในโลกได้อีก

 

ตอนที่ 3 ไม่พัก…ไม่เพียร

การปฏิบัติธรรมนี่เป็น “การขัดเกลา” เราต้องขัดเกลาชีวิตเราไปเรื่อยๆ คนไหนเป็นโสดาบันแล้วก็ต้องขัดเกลาชีวิตตัวเองต่อเหมือนกัน

มีคนถามพระพุทธเจ้าว่าท่านข้ามโอฆะ (คือสังสารวัฏนี้) ได้อย่างไร พระพุทธเจ้าบอกว่า “เราไม่พักแล้วก็ไม่เพียร” ….

“ไม่พัก” คือว่าเราไม่เลิก

“ไม่เพียร” คือว่าเราไม่ใช่ตั้งใจ

เพราะว่าคำว่า “พัก” และ “เพียร” เป็นทางซ้ายกับทางขวา “มันไม่ตรงกลาง” ไม่พักไม่เพียร คำที่ให้ความหมายตรงกลางก็คือคำว่า “หน้าที่” มีหน้าที่ต่อชีวิตนี้

ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลสยังมีหน้าที่ต่อชีวิตนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าเราพักอยู่เราก็จะจม ถ้าเราเพียรเราก็จะลอย

เราจะสังเกตว่าคนตั้งใจมากๆ เป็นไง เครียด เพ่ง เอาจริงเอาจัง ชีวิตเริ่มผิดเพี้ยน ความผิดปกติเริ่มคืบคลานขึ้นมา คนที่พักอยู่ก็จม…จมไปที่ไหน? จมไปที่ความขี้เกียจ ความเกียจคร้าน จมไปกับกิเลส

เพราะฉะนั้น “ไม่พักไม่เพียร” คือเป็น “กิริยารู้” รู้อย่างที่มันเป็น แค่รู้ ไม่มีใครทำอะไร มีแต่กิริยารู้ ไม่มีเป้าหมายด้วยว่าต้องรู้ให้มาก รู้ให้น้อย…ไม่มี มี “แค่รู้… รู้แค่ไหนแค่นั้น”

ฝึกไปเรื่อยๆ ที่เคยหลงยาว มันจะหลงสั้น ที่เคยรู้ไม่บ่อย มันจะรู้บ่อย ที่ไม่เคยปกติเลย จะค่อยๆ เริ่มปกติมากขึ้น แต่เป็นเรื่องที่เราต้องค่อยๆ ค่อยๆ ให้ธรรมชาติทำหน้าที่ของมันเอง เราแค่สร้างเหตุปัจจัย “ใช้ชีวิตให้ถูกต้อง” หน้าที่เรามีนิดเดียว

แต่ถ้าใครมีครูบาอาจารย์ที่ถูกต้องแล้ว ก็ต้องจำเอาไว้ “ชีวิตไม่ใช่ของเราอีกต่อไป” ชีวิตเราจะเหลือแต่หน้าที่จริงๆ ไม่ใช่ชีวิตตามความอยาก ตามความคิด ความเชื่อของตนเอง เหมือนในอดีตที่เราเป็นมาตลอดชีวิต

ความคิด” กับ “ปัญญาญาณ” เป็นคนละเรื่อง ถ้าเรายังไม่มีปัญญาญาณของตัวเอง เราต้องอาศัยครูบาอาจารย์ก่อน

ฟุ้งซ่านก็ให้รู้ รู้ทันความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านจะดับไปเอง มันจะกลับมาที่เนื้อที่ตัวเอง ไม่ต้องพยายามจะไปดึงมันกลับมา ไม่ต้องพยายามจะไปทำอะไรกับความฟุ้งซ่าน…แค่รู้อย่างเดียว

ใครเดินแล้วซึม อันนี้ต้องรู้ ให้มันสดชื่นสดใหม่ หายใจเข้าลึกๆ ลืมตากว้างๆ

จิตใจของนักปฏิบัติธรรมต้องเป็นลหุตา อ่อนโยนควรค่าแก่การงาน อ่อนโยนไม่ใช่อ่อนแอ อ่อนโยนแต่แข็งแกร่ง แข็งแกร่งแต่ไม่ใช่แข็งกร้าว

วอกแวกให้รู้ว่าวอกแวก

อย่าลืมใครฟุ้งซ่านมากๆ ให้รู้สึกถึงเท้ากระทบพื้น…รู้สึก  กระทบก็รู้สึก

แค่รู้สึก” ไม่ต้องไปไกลกว่าคำๆ นี้

ถ้าเราแค่รู้สึก การเดินของเรานี่จะไม่มีอาการเบื่อ เพราะคำว่าแค่รู้สึกนี่มันไม่มีคน ไม่มีเวลา เราแค่รู้สึกจากแต่ละขณะ ขณะตรงหน้าแล้วก็ผ่านไป

คนไหนที่เดินแล้วเบื่อ ให้สังเกตว่าเราชอบคิดไปข้างหน้ากับคิดไปข้างหลัง เราทำแค่สองอย่าง คิดอดีตกับคิดอนาคต…เราไม่ได้อยู่ตรงนี้ ตอนนี้ ขณะนี้

 

ตอนที่ 4 ชีวิตที่เหลือแต่หน้าที่

สังโยชน์ที่มันร้อยรัดเราอยู่ ตัวสำคัญคือสังโยชน์ สังโยชน์ต่างๆ เป็นตัวทำให้กิเลสเกิดขึ้น  ตัวสุดท้ายคือ ”อวิชชา” อวิชชานี่แหละ สร้างตัวตนขึ้นมา พอมันสร้างตัวตนขึ้นมา กิเลสก็เกิดขึ้น เพราะมันต้องสนองตัวตน มันก็คล้ายๆ ต้องค่อยๆ ขัดเกลาไปเรื่อยๆ อย่างที่ผมบอก เราขัดเกลาไปมากเข้าๆๆ  จริงๆเราไม่ต้องพูดนิพพานด้วย เราก็รับรู้ถึงสภาพพ้นทุกข์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปีที่เราปฏิบัติไปนั่นแหละ

เหมือนเรื่องเดิมๆ เรื่องนี้เคยทุกข์ 100 เปอร์เซ็นต์ กี่ปีๆ มันก็ทุกข์แบบนี้แหละ นึกถึงทีไรก็ทุกข์แบบนี้แหละ แต่เราปฏิบัติไปเรื่อยๆ …เรื่องนี้มา ไม่ทุกข์เหมือนเดิม ให้เราเข้าใจว่ามันเป็น “สภาพพ้นทุกข์” ก็พอแล้ว เราอย่าไปจินตนาการว่ามันเป็นเรื่องมหัศจรรย์พันลึกอะไร แม้ว่ามันจะมหัศจรรย์ก็ตาม

แต่ให้เราเข้าใจว่ามันเป็นแค่สภาพที่เราจะค่อยๆ พ้นทุกข์ไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ จนพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง โดยสมบูรณ์

แต่ขณะที่เราปฏิบัติแบบนี้…มันก็ค่อยๆ อยู่แล้ว ค่อยๆ อยู่แล้ว เราทุกคนปฏิบัติ เราก็รู้สึกเองได้ ไม่อย่างนั้นไม่มานั่งฟังวันนี้หรอก ถ้ามันปฏิบัติไม่ได้ผล ไม่มีใครมานั่งฟังแบบนี้หรอก เพราะมันปฏิบัติแล้ว มันรู้แล้วว่าสภาพแห่งความพ้นทุกข์นี้มันเป็นยังไง เพียงแต่ว่ามันยังไปไม่สุดแค่นั้นเอง เราก็แค่มีหน้าที่ไปให้สุด แต่ขอแค่ทำให้ได้ตามที่ผมบอก “เด็ดเดี่ยวให้ได้ อดทนให้ได้” อดทนกับตัวเองนั่นแหละ อดทนกับคนอีกคนในร่างกายเรา หรือจิตใจที่มันจะบอกว่าทำไม่ได้ๆ สู้กับมัน ไม่ยอมแพ้มัน

ไม่มีพระอริยะที่ไหนที่ไม่ต่อสู้มาก่อนในชีวิต ทุกคนต้องต่อสู้ ทุกคนต้องทิ้ง สิ้นโลกเหลือธรรม

และก็ถึงธรรมเราจะอยู่กับโลกได้ แต่เราจะรู้จักอยู่ ชีวิตผมที่เหลือก็คือทำหน้าที่แบบนี้เฉยๆ ผมต้องใช้เวลาของผมมาช่วย มาอยู่กับโลกก็คือพวกเราแบบนี้

เมื่อเราเริ่มปฏิบัติธรรม จนสุดท้ายปฏิบัติถูก จนสุดท้ายใช้ชีวิตให้ถูกต้อง ชีวิตที่ถูกต้องคือ “ชีวิตไม่ใช่ของเราอีกแล้ว”… เป็นของครูบาอาจารย์ เป็นทาสของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วชีวิตเราจะเหลือแต่หน้าที่จริงๆ เพราะชีวิตจะไม่เป็นไปตามความอยาก

เพราะฉะนั้น “ชีวิตที่เหลือแต่หน้าที่” คำๆ นี้ง่ายๆ นะ แต่สำคัญมาก

“ชีวิตที่เหลือแต่หน้าที่” เป็นชีวิตที่ไม่เป็นไปตามความอยาก ความเชื่อของตัวเอง…มีแค่หน้าที่

เหมือนถ้าเราเป็นพระ พระมีหน้าที่ เช้าตื่น สวดมนต์ บิณฑบาต ฉัน ปฏิบัติธรรม ทำกิจของสงฆ์ กวาดวัด ถูศาลา เย็นสวดมนต์ นอน พรุ่งนี้เช้าตื่น เหมือนเดิมทุกวัน ไม่ต้องคิดอะไรเลย เห็นมั้ย…ชีวิตเราเป็นทาสของพระธรรมวินัย เป็นทาสของข้อวัดปฏิบัติ…ไม่ใช่ชีวิตของเราอีกแล้ว  การเป็นพระก็เลยเข้าสู่ความเป็นกลางได้อย่างรวดเร็ว เพราะอยากจะต่อต้านก็ต่อต้านไม่ได้ บัญญัติไว้แล้ว

เพราะฉะนั้น เราเป็นฆราวาส โครงสร้างแบบนี้ มันให้กำลังเรามาก มันเป็นบารมีอันใหญ่มาก ซึ่งเราทุกคนก็ควรที่จะนำโครงสร้างแบบนี้ไปใช้กับชีวิตการปฏิบัติของเราเหมือนกัน

แนวคิด (Concept) ที่ผมพูดถึงความเป็นทาสพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่อยู่ในบทสวดมนต์ทำวัตรเย็น ความลึกซึ้งของมันก็คือว่าชีวิตไม่ใช่ของเราอีกแล้ว ซึ่งมันก็เชื่อม (Link) กลับไปถึงสิ่งที่ผมพูดตลอดมาก็คือชีวิตนั้นมีแต่ “หน้าที่และวินัย

อย่างที่ผมบอกว่าผมมีกัลยาณมิตรคนเดียวคือหลวงพ่อตอนนั้น ให้ผมไปทำอะไรผมก็ทำ สงสัยมั้ย ก็สงสัยเหมือนกัน ไม่อยากมั้ย ไม่อยากก็มี ขี้เกียจก็มี เป็นเรื่องยากก็มี แต่ก็ทำ  นั่นแหละ! แล้วจิตใจเราก็เป็นกลางต่อหน้าที่ใดๆ ที่ท่านให้ทำ เพราะฉะนั้น การมี “ครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง” นั้นสำคัญมาก

พระพุทธเจ้าเลยบอกว่าสรณะอื่นไม่มี พุทธศาสนิกชนเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งแห่งเดียว เนี่ย! พูดในหลายมุมมาก เราต้องเข้าใจให้มันลึกซึ้งจริงๆ ถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าฝากคำสอนเอาไว้…เรามีที่พึ่งอันเดียว เพราะฉะนั้น เราต้องหาที่พึ่งนั้นให้ได้ แล้วก็ทำตามที่พึ่งอันนั้นให้ได้ แล้วก็ทำตามที่พึ่งอันนั้น

ผมมานั่งนึกสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน…มันง่ายๆ เหมือนการปฏิบัติที่มันง่ายๆ แต่เรามองข้ามกัน มองข้ามกันไป ให้เข้าใจตรงกันว่า ชีวิตของการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่แค่ปฏิบัติถูก…ไปให้มากกว่านั้น ไปให้ไกลกว่านั้น เข้าใจชีวิตให้มันลึกซึ่งกว่านั้น แล้วมันจะเป็นบารมีส่งผลให้ความสำเร็จที่เราหวังไว้นั้นเกิดขึ้นได้ อย่ายอมแพ้ต่อสมมติในโลก อย่ายอมแพ้กับมิจฉาทิฏฐิของตัวเอง อย่ายอมแพ้กับความเชื่อที่คนอื่นมายัดใส่หัวสมองเรา อย่ายอมแพ้ต่อความมืดสีขาว “อดทน”…ไปข้างหน้า เราต้องไปข้างหน้าเรื่อยๆ

 

ตอนที่ 5 เลิกขังตัวเอง

ทุกการเปลี่ยนแปลงของชีวิต จะต้องมีความกระเพื่อมหวั่นไหว มีความกระทบกระเทือน คนรอบข้าง คนที่เรารัก ลูกน้อง ลูกพี่ เจ้านาย ลูกหลาน เหลน โหลน ทุกความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กล้วนมีผลกระทบทังสิ้น

ห้ามคิดว่าเราจะไปทางนี้ โดยที่ไม่ความกระทบกระเทือนใครเลย มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ต้องกระเทือน ต้องลำบาก ต้องไม่ราบรื่น อันนี้เป็นธรรมชาติ

เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มันก็ต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นๆๆๆ เราจะบอกว่าเราเปลี่ยนแปลง แล้วไม่ต้องการให้มีใครเปลี่ยนแปลงในความรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ ทุกข์ใจเลย…เป็นไปไม่ได้! ยอมรับซะว่ามันต้องกระเพื่อม มันต้องกระเทือน มองโลกตามเป็นจริง ไม่ใช่มองโลกตามความดี เห็นตามเป็นจริงว่ามันต้องเป็นแบบนี้

ผมมาถึงวันนี้ ไม่ใช่ง่ายๆ นะ ต้องเด็ดเดี่ยว กระเทือน กระเพื่อม ถ้าวันนั้นผมไม่ตัดสินใจ ก็ไม่มีผมวันนี้ แม่ผมไม่ได้มาวันนี้

เพราะฉะนั้น แต่ละคนต้องช่วยตัวเอง ยิ่งเรารักใครมากๆ อยากให้เขาดี เราก็ยิ่งต้องช่วยตัวเองก่อน และถ้าเขามีบุญพอถึงจะช่วยเขาได้ ไม่ใช่มัวแต่ห่วงกลัวเขาทุกข์ เขาจะอยู่ไม่ได้ กลัวอะไรไม่รู้เต็มไปหมด และก็นั่นแหละ…จมกองทุกข์อยู่ด้วยกัน ไม่มีใครช่วยใครได้

“อยู่ง่ายๆ…ใช้ชีวิตพอเพียง วิเวก สันโดษ ใช้ชีวิตที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม” เกื้อกูลซึ่งกันและกันบนจุดหมายอันเดียวกัน

เราอยู่ในครอบครัว เราเกิดมา ผมเคยคิดว่าเรามีแค่กิริยาเดียวของการเกิดมาบนโลกมนุษย์นี้คือ “กิริยาขัง

เราเกิดมา เราก็เริ่มถูกขัง เราถูกขังอยู่ในท้องก่อน พอเราเกิดมา เราโตขึ้นมาหน่อย พ่อแม่ก็เริ่มขังเรา ไม่ให้เราทำนี่ ไม่ให้เราทำนั่น ห้ามนี่ ห้ามนั่น

พอเราโตขึ้นมา พร้อมไปด้วยอัตตาตัวตนของเราเอง ที่อวิชชาเป็นหัวใจของเรา พร้อมกับพ่อแม่เราก็สอนเราด้วย นี่ของลูกนะ นี่ของแกนะ สอนความเป็นเจ้าของให้เราเรียบร้อยเลย ตัวกูของกูก็ยิ่งหนักเลย

พอเราโตขึ้นมา ก็เริ่มขังตัวเองก่อน เพราะเราสร้างตัวตนให้กับตัวเอง พอเราสร้างตัวตนให้กับตัวเองก็เริ่มขังตัวเองแล้ว พอคนอื่นทำไม่เหมือนกับที่เราคิด เราก็เริ่มไม่พอใจ เพราะเราคิดว่าตัวกูนี่แหละถูก

พอเราโตขึ้นเรามีแฟน เราก็เริ่มขังแฟนเรา ห้ามไปนี่ ห้ามไปนั่น เมื่อไรจะกลับ เค้าคิดถึง…คิดถึงตัวเอง ไม่อยากทุกข์ เลยเรียกเค้ากลับมา แล้วบอกว่าเค้ารักตัวเอง…ใช่! ถูกต้องเค้ารักตัวเอง ไม่อยากทุกข์เลยห้ามเค้านู่น ห้ามเค้านี่ ขังเค้าทุกอย่าง เราขังเค้า เค้าก็ขังเราเหมือนกัน ไม่ใช่เราขังได้ฝ่ายเดียว

พอเราแต่งงาน มีลูก เราก็เหมือนเดิม วนไปเรื่อยๆ เราก็ขังลูกเราต่อ

เพราะฉะนั้น มนุษย์เรามีกิริยาเดียวคือ “ขัง” มนุษย์จะหาความสุขยังไง ต่างคนต่างขังกับถูกขังกันอยู่แค่นี้แหละวันๆ ไม่ต้องทำอย่างอื่นๆ

แต่พระพุทธเจ้าสอนเรา สอนเราให้ไปสู่ความอิสระ แต่ไม่ใช่อิสระตามกิเลส แต่เป็นการ “อิสระจากตัวตน” นี้ พ้นไปจากอวิชชานี้ ทำลายอวิชชานี้ นั้นเป็นความอิสระสูงสุด ความอิสระโดยสมบูรณ์ ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆ เหลือในใจอีกต่อไป

เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังอยู่ในโลกก็ไม่พ้นหรอก ไม่เราขังเค้า เค้าก็ขังเรา มีอยู่สองอย่าง

แต่ที่ผมบอกเมื่อกี้นี้ที่สำคัญคือ “เราขังตัวเอง” เราเริ่มจากการขังตัวเองก่อน

แล้ววันนี้ที่ผมบอก ให้ไปไกลว่าการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ผมกำลังให้ทุกคนเลิกขังตัวเอง เราต้องเลิกขังตัวเองก่อน ความอิสระถึงจะเกิดขึ้นได้ ก้าวแรกต้องได้ก่อน

พวกเราเป็นฆารวาส ถ้าเราบังคับตัวเองได้ที่จะอยู่แบบเยี่ยงนักบวชได้ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องบวช แต่ถ้าเรารู้ว่าเราบังคับตัวเองไม่ได้ เราขี้เกียจ เรามีห่วงพันธะทางโลกมาก ถ้าเรายังอยู่ในโลกที่ยังเป็นสมมติเดิมเนี่ย โลกจะลากเรากลับไป เราต้องบวช มันอยู่ที่เราเข้มแข็งขนาดไหน ที่ผมบอกเราเด็ดเดี่ยวขนาดไหน สมัยที่ผมออกมา ผมไม่ติดต่อกับใครเลย ไม่คุยกับใครเลย ถ้าเราเด็ดเดี่ยวได้ อยู่วิเวกสันโดษได้ หรือว่าอยู่เยี่ยงนักบวชได้ ไม่ต้องบวชก็ได้

 

Camouflage

YouTube : https://youtu.be/KLaWiqu5EpY

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S