5.Highway สู่ความพ้นทุกข์

ตอนที่ 1 ฝึกพ้นความปรุงแต่ง

 

พอมันไปคิด เรารู้ทันปุ๊บ มันกลับมา พอมันกลับมาปุ๊บนี่ เราตัดวงจรของโมหะ ตัดวงจรของ

Consequence (ผลสืบเนื่อง) ที่จากโมหะขับดันให้จิตเคลื่อนไปคิดอย่างนี้ “ตัดมัน!”

พอตัดมัน จิตรู้จักสิ่งใหม่ ก็คือสภาวะที่ไม่ได้คิดอะไร สภาวะที่ไม่มีความปรุงแต่งอะไร ที่เรียกว่าเป็นพุทธะ ที่เรียกว่าเป็นความปกติ เราก็ฝึกให้มันรู้จักแบบนี้บ่อยๆ ฝึกให้มันรู้จักสภาพสภาวะที่มันไม่มีอะไรปรุงแต่งมัน ก็คือกิเลสขับดันมันไม่ได้

 

ทีนี้พอเราฝึกตรงนี้ ในสภาพที่พ้นความปรุงแต่งบ่อยๆนี่ พอจิตมันคุ้นเคยกับตรงนี้ 30กว่าปีที่เราเคยอยู่กับความคิด อยู่กับความหลงนี้ มันก็จะเปลี่ยน มันเปลี่ยนนิสัยมัน มันจะมาอยู่กับความที่ไม่ปรุงแต่ง ความที่ไม่หลงไปคิด คล้ายๆว่าเราก็Train (ฝึก) มันใหม่ว่า30กว่าปีที่ผ่านมาก็โง่อยู่ตั้งนานลักษณะนั้น

 

พอเราTrain(ฝึก)มันใหม่ แต่ธรรมชาตินี้มันให้โอกาสเรามาก เราไม่ต้อง train(ฝึก)30กว่าปีแบบที่เราเคยหลงมา เราแค่train(ฝึก) “มันถึงจุดๆนึงจิตก็ฉลาด ที่จะแหวกทำลายอาสวะกิเลสได้”

 

ตอนที่ 2 ต่อเนื่องจึงเกิดญาณ

 

แต่ความสำคัญที่สุด ก็คือ “ความต่อเนื่อง” สมมุติเหมือนเรากำลังจุดไฟ เรากำลังจุดไฟ จุดไฟด้วยการเอาไม้2อันถูกัน ถูกัน แล้วเราถูๆอยู่นี่ กำลังต่อเนื่องเลยกำลังไฟ ความร้อนกำลังมา กำลังขึ้นแล้วไฟ เราก็หยุดปุ๊บ เออ…ไปพักผ่อนดีกว่า นึกออกมั๊ย? แทนที่ไฟจะลุกโพลงขึ้น เริ่มใหม่อีก แต่นี่เปรียบเทียบเฉยๆ แต่จริงๆแล้วการสะสมทำให้จิตมันรู้จักความเป็นปกติ รู้จักความว่างที่พ้นจากความปรุงแต่งทั้งปวง มันก็สะสมอยู่แล้วในตัว

 

เราก็ฝึกแค่นี้ หลักสำคัญ หัวใจสำคัญนี่(คือ)เราฝึกที่จะพ้นออกไปจากความปรุงแต่งทั้งปวงให้ได้ พอเราพ้นได้บ่อยๆ วันนึงเราก็เข้าถึงความที่จิตไม่มีอะไรสามารถปรุงแต่งได้อีกต่อไปอย่างถาวร และก็เป็นอิสระ

 

เราแค่ฝึกแบบที่บอกนี่แหละ เดี๋ยวมันเร็วเอง เร็วไม่เร็วนี้ มันอยู่ที่เราฝึกไอ้ตัวนี้ให้มันต่อเนื่อง ถ้ามันต่อเนื่อง มันจะก่อตัว มันจะเป็นพลัง มันจะเป็นทุกอย่างเลย สุดท้ายมันจะเป็นญาณ “ญาณที่ไม่ใช่ฌาน เป็นญาณปัญญา” อันนี้… ถึงเวลานั้น มันจะเลื่อนระดับเอง

 

ตอนที่ 3 “รู้สึกตัว” และ “เห็นความรู้สึกปกติ” เป็นลูกคู่

 

ขอให้เราแค่รู้ก่อนว่า ทางปฏิบัติธรรมที่แท้จริงนี้มันคืออะไร ?

อธิบายง่ายๆสั้นๆที่สุด ก็คือว่า “การพ้นออกไปจากความปรุงแต่งทั้งปวงให้ได้” อันนี้เป็นทางที่จะต้องไปให้ถึง

 

แต่วิธีการต้องทำยังไง? วิธีการนี้ก็คือ “ฝึกที่จะรู้สึกตัว” ทุกครั้งที่เรารู้สึกตัว ความคิดมันก็จะดับไปและที่เราเคยบอกว่าให้ “เห็นความเป็นปกติ” ให้เห็นความรู้สึกเวลามันปกติแล้วนี่ให้เห็นด้วย เพราะว่าการเห็นความรู้สึกปกตินี่ มันเหมือนเป็นปราการอีกด่านหนึ่ง แทนที่เราจะปล่อยจิตให้ล่องลอยไป เราก็กลับมาเห็นความรู้สึกว่าตอนนี้เป็นยังไง เป็นปกติอยู่ เราก็เห็น…อ๋อ…มันเป็นปกติอยู่พอเราเห็นอย่างนั้น ความคิดก็เกิดไม่ได้

 

มันคล้ายๆ… “ความรู้สึกตัว กับการเห็นความรู้สึกปกติอยู่ … ทั้ง2อย่างนี้ มันเหมือนกับเล่นเป็นลูกคู่กัน” 2ตัวนี้จะกัน ไม่ให้เราเข้าไปอยู่ในความคิดง่ายๆ อันนี้เป็นวิธีการที่ว่าจะทำยังไงให้พ้นจากโลกของความคิดให้ได้ อันนี้เป็นวิธีการทางเข้า และก็ทางที่ป้องกันไปในตัวด้วย

 

ตอนที่ 4 เดินบนถนนไฮเวย์…เห็นอยู่แต่อย่าแวะ

 

สังเกตว่าเราไม่ได้ไปยุ่งย่ามอะไรกับใครนะ เราไม่ได้ไปทำอะไรกับความคิดเลย เราแค่สนใจกับ “ความรู้สึกตัว” เราเฉยๆ และก็สนใจกับความรู้สึกตอนนี้เป็นยังไง “ความรู้สึกที่ปกติ” อยู่ เราก็สนใจมัน…ลักษณะแบบนั้น

 

ถ้าเราสนใจแบบนี้ มันก็ไม่เข้าไปในความคิดเอง มันเปรียบเสมือนว่า “ทางที่เราจะเราปฏิบัตินี่เป็นถนนไฮเวย์อย่างนี้” ทางที่เราจะต้องไปเป็นถนนไฮเวย์ “เดินไปเรื่อยๆ มีอะไรข้างทาง ก็รู้ว่ามีอะไรข้างทางแต่ไม่สนใจมัน”

 

สมมุติว่ามันจะมีร้านขายหมูปิ้ง มีเด็กข้างทางที่จะคอยโยนหินใส่รถ โยนหินใส่กระจกใช่มั๊ยที่มีข่าวบ่อยๆ พวกนี้เหล่านี้มันเป็นกิเลส แม้กระทั่งเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่าเป็นไตรลักษณ์ของสภาวธรรมต่างๆที่จะเข้ามาให้เรารู้จักอย่างนี้ เราก็เพียงแต่รู้จักมันเฉยๆ

 

เหมือนเราอยู่บนถนนไฮเวย์ เราขับรถนี่ เราก็เห็นข้างทางหมดทุกอย่างใช่มั๊ย? มันผ่านมาใช่มั๊ย? มันก็ผ่านไปใช่มั๊ย? มันจะเปลี่ยนแปลงตลอด ไอ้ข้างทางนี่ มันไม่มีอะไรอยู่ตลอด

 

ลักษณะนี้เราจะเห็น(สิ่ง)ข้างทางแบบนี้ ในขณะที่เราเดินอยู่บนถนนเมนนี้ด้วย แต่เราไม่ต้องไปสนใจมัน การที่เราไปสนใจมัน เราจะหลงเข้าไปเสียเวลาติดกับมัน เช่นเจอร้านหมูปิ้งข้างทางใช่มั๊ย เราก็แวะไปกินหมูปิ้งก่อนอร่อยดีว่ะ สมมุติเป็นผู้ชายนะอ่าว…ลูกสาวร้านหมูปิ้งสวยจีบชะหน่อย!อะไรก็ว่าไป (จน)ไปๆมาๆก็อยู่กับเค้าเลยลักษณะนั้น…แทนที่จะเดินทางไฮเวย์ที่จะไปถึงจุดหมายได้ก็ไม่ไป ก็ติดความสุข นี้เรียกว่าติดความสุขอยู่ ก็ติดอยู่ ติดอยู่

 

ข้างทางจะมีของให้ติดเยอะ สิ่งนั้นอาจจะเป็นความรู้ สิ่งนั้นอาจจะเป็นของดี สิ่งนั้นอาจจะเป็นของไม่ดี สมมุติเป็นของไม่ดี สมมุติมีคนมาเขวี้ยงกระจก เขวี้ยงหินใส่กระจกรถเรา ถ้าเราไม่มีสติเราก็อาจจะลงจากรถใช่มั๊ย วิ่งตามล่ามันใช่มั๊ย จะจับมัน เราก็เสียเวลาอีกแล้วใช่มั๊ย แทนที่เราจะไปต่อเราก็ไปเสียเวลาจะไล่จับมันอย่างนี้ ก็คือ “ติดทั้งดี ติดทั้งไม่ดี ติดทั้งความสุข ติดทั้งความทุกข์” ด้วยซ้ำติดหมด เพราะเราไม่ยอมปล่อยสิ่งข้างทาง เราจะเอาหมด “เราไม่ต้องเอาเราเดินไปทางนี้แหละ”

 

ตอนที่ 5 หลักสู่วิปัสสนาง่ายๆ

 

“ถนนไฮเวย์เป็นถนนของความพ้นจากความปรุงแต่งทั้งปวง ไม่ติดกับอะไรเลย แต่เรารู้ทุกอย่างข้างทางหมด” จุดนี้สำคัญนะ เพราะมันต่างจากการที่เราเวลานั่งสมาธิหลับตา เพ่งอยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง มันจะไม่เห็นข้างทาง … นึกออกมั๊ยเวลานั่งสมาธิ เราพ้นออกจากความปรุงแต่งเราไม่คิดอะไร เพราะเราเพ่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เราไม่เห็นข้างทางเลย เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ทางที่จะไปสู่จุดหมายได้

 

การที่เราไปอยู่บนถนนไฮเวย์ และเราก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป อย่างนี้แหละที่เค้าเรียกว่า “วิปัสสนาคือเราเห็นทุกสิ่งทุกอย่างแต่เราไม่ได้เข้าไปเป็นกับมันเราไม่ได้หลงเข้าไปกับมัน ไม่เข้าไปเป็นกับมันไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมัน”……“เราเห็นเฉยๆ”

 

เพราะฉะนั้นทางหลักสำคัญที่สุด คือถนนไฮเวย์นี้ ก็คือว่าไปให้พ้นความปรุงแต่งให้ต่อเนื่อง ต่อเนื่องคือว่าไปเรื่อยๆอย่าหยุด! แล้ววันนึงมันจะถึงเอง

 

เห็นมั๊ยเราไม่ได้ทำอะไรเลยใช่มั๊ย เราไม่ได้ต้องทำอะไรที่ลำบากยากเย็นไม่ต้องไปมีความรู้อะไรเยอะเลยเราทำแค่นี้แหละ การปฏิบัติธรรมนี้มันง่ายมาก!!! มันง่ายจนยาก เพราะคนคิดว่าต้องไปทำอะไร เพราะคนคิดว่าการปฏิบัติธรรมต้องไปทำอย่างนี้ ทำอย่างนั้น เอ๊ะ…หรือว่าต้องทำอย่างนี้ หรือต้อง…ต้อง…..เอ๊ะ……ต้องนั่งสมาธิก่อน……แล้วค่อยเจริญวิปัสสนาได้…อะไรไปเรื่อยเลย มันจะยุ่งเพราะอย่างนี้แหละ

 

ตอนที่ 6 อย่าเสียความเป็นปกติ

 

สาเหตุที่เราโกรธหงุดหงิด เพราะเราคิดต่อ สมมุติว่า(มีคน)พูดมาไม่ถูกหูปุ๊บ เราก็โมโหปึ๊บขึ้นมา แทนที่เราจะรู้สึกตัว กลับมารู้สึก กลับมาอยู่กับร่างกายเรากลับไปมองหน้าเค้าอีกทีเอ้า…คิดอีก… นึกออกมั๊ย สมมุติว่าโอเคกลับมารู้สึกตัว อารมณ์สงบแล้ว ไปมองหน้าอีกทีดิ มาอีกแล้ว (โกรธ)ขึ้นอีกแล้ว

 

เพราะว่าสัญญา…ตารับภาพปุ๊บ ความคิดทำงานเลย เรื่องเมื่อกี้นี้ขึ้นมาอีกก็โกรธอีก มันมีแค่นั้นเองเพราะฉะนั้น  “ในขั้นที่มันยังไม่แน่นหนานี้ บางทีมันต้องหนีก่อน” อย่าไปอยู่ในที่ๆมันมีปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เราไม่ปกติ พอเราหนีออกมาปุ๊บ จิตปกติอันนี้มีสมาธิแน่นหนาขึ้น เดี๋ยวเราก็จะรู้สึกว่าเมื่อกี้ไร้สาระ เราก็ไม่โกรธเค้าแล้ว คือไม่รู้จะไปโกรธทำไม

 

“อย่าให้คนอื่นมาทำให้ตัวเองเสียความเป็นปกติ” (มัน)ไม่คุ้ม เท่ากับว่าเราหยุดข้างทาง (อย่าง)ที่บอก หยุดข้างทางไปไล่ตามจับไอ้เด็กที่เขวี้ยงหินนั้น จะหยุดจะเสียเวลาอย่างนี้ทำไม เรารู้อยู่แล้วว่าถนนไฮเวย์ คือถนนหลักของเรา คือการไปกับความรู้สึกตัวนี้

 

เราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้(กับ)ตัวเอง ในช่วงแรกที่จิตเรามันยังไม่แน่นหนา เราก็ต้องรู้จักที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมให้ตัวเอง เช่น “ไปอยู่ในที่วิเวกสันโดษ เพื่อจะฝึกให้ตัวเอง(ให้)แข็งแรงก่อน” เหมือนเราดูหนังจีนใช่มั๊ย พวกวัดเส้าหลินนี่ ก็ต้องไปฝึกก่อนใช่มั๊ย กว่าจะลงมาเป็นเจ้ายุทธภพได้กว่าจะลงมาในยุทธจักรได้ใช่มั๊ย ก็ต้องไปฝึกก่อนมันมันไม่มีหรอกใครที่ โอ้โห เกิดมาปึ๊งอยู่ในยุทธจักร(แล้ว)เก่งเลย ไม่มีทางเป็นแบบนั้น

 

เราต้องสอนตัวเองว่า “อย่าเอาความเป็นปกติที่เรามีอยู่นี้ ไปแลกกับกิเลสคนอื่น” ไม่คุ้ม ต้องสอนตัวเองแบบนี้เลย คล้ายๆว่าเรามีความเป็นปกติอยู่ เหมือนเรามีทองคำอยู่แล้ว แล้วเราก็เอาไปถูกับกระเบื้องเล่น มันไม่จำเป็น เค้าจะทำไรก็(เป็น)เรื่องของเค้า เราถือทองคำอยู่เราจะไปสนใจอะไร

 

มองว่าความเป็นปกติของตัวเองนี้ มีคุณค่ามาก อย่าเอาไปแลกกับความไม่ปกติ

 

ตอนที่ 7 รีบพ้นจากสังสารวัฏ

 

การเสียใจนี่ก็…มันห้ามไม่ได้ เพราะว่าถ้าเรายังมีกิเลส มีความอ่อนแอแบบนั้นอยู่ เราก็อาจจะต้องเสียใจ แต่ว่าเราก็ต้องรู้ให้ทันว่า เมื่อไรที่มีความเสียใจ ความทุกข์อะไรเข้ามา เราต้องรู้ให้ทันว่า โอ้…เราต้องรีบเร่งปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นอีก เรายังชะล่าใจไม่ได้ เพราะความทุกข์แบบนี้ เหตุการณ์แบบนี้ ยังทำให้เราทุกข์อยู่ “เรามีทางเดียวคือเราต้องรีบพ้นไป”

 

“ถ้ามัวเสียใจอยู่ ก็เท่ากับเสียเวลา แวะข้างทางอีกแล้ว” เราไปมัวเสียใจ เราก็ไม่เดินต่อ ไม่เดินต่อ เราก็พ้นไม่ได้ เรามีหน้าที่เดียว เราต้องรีบพ้นไป เราสู้กรรมไม่ได้หรอก ถ้าเรารู้ว่าเรารับมันไม่ไหว เราต้องรีบพ้นไปอย่างเดียวเท่านั้น

 

นักปฏิบัติที่แท้จริงนี่จะรู้ว่าบาปนี้มันน่ากลัว คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม รับบาปนิดๆหน่อยๆ เพราะสังสารวัฏเค้ามันยาวนานเหลือเกิน เค้าไปรับอีกทีนึงก็ลงนรกไปเลย

 

คือ คนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวพุทธในประเทศไทย ก็คิดว่าเราทำดี เราไม่ทำร้ายใคร เราก็ทำทานทำบุญทำทานและก็ตาย ก็ไปดีแล้ว จะไปเป็นเทวดานางฟ้าอะไรก็ว่าไป แต่จริงๆจิตมันเต็มไปด้วยกิเลส อย่างน้อยๆนี่โมหะ จะบอกว่าทำดีแล้วไม่มีโมหะ ไม่ใช่หรอก!!!

 

“พื้นฐานจิตถ้ายังเกิดอยู่ มันมีแต่โมหะทั้งนั้นแหละ” แล้วถ้ามีโมหะเป็นพื้นฐานของชีวิต จะเกิดโทสะได้ง่ายๆ จะเกิดโลภะได้ง่ายๆ ในที่สุด ลองมีใครไปชักชวน(หรือ)ลองชีวิตเมื่อไหร่ตกต่ำ ก็จะดิ้นรนเอาชีวิตรอด (เช่น)ต้องไปเป็นโจรบ้าง ต้องเป็นอะไรบ้าง แต่แค่วันนั้นยังไม่มาถึงเท่านั้นเอง วันนึงถ้ามาถึงก็ต้องทำบาปอีกแล้ว

 

มีทางเดียว คือต้องประพฤติปฏิบัติทางจิตทางใจนี่แหละ ถึงจะพ้นไป พ้นนรกได้ ไม่งั้นพ้นไม่ได้ จะตาย…มีแต่กิเลส แล้วจะคิดว่าตัวเองไม่ลงนรก ได้ยังไง เออ..นึกว่าก็ดีอยู่แล้ว ก็นึกว่าจะไปดี  อืมม…มันไม่เกี่ยว ทำบุญส่วนทำบุญ ไม่เกี่ยวกัน

 

ทำการฝึกจิตให้พ้นไป (ให้มัน) เหนือบุญเหนือบาป เหนือดีเหนือชั่ว นักปฏิบัติที่แท้จริงนี้ “ทำดี…ไม่ใช่ทำเพื่อจะได้ดี ทำดีนี้มันดีเฉยๆ” ก็รู้แค่นั้น เพราะเราไม่ได้อยากได้ดี เราไม่ได้อยากได้อะไร อะไรไม่ดีเราก็ไม่ทำ แต่ถ้าอะไรที่ดีของนักปฏิบัติที่มีปัญญาแล้วนี้ มันไม่ใช่ดีของคนในโลก มันเป็นดีที่มีปัญญาแล้ว

 

Camouflage

20 – Jul – 15

 

ถอดไฟล์เสียงจาก YouTube : https://youtu.be/se1dq2FEryE

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5)Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c