298.มหากาพย์ของเขาวงกต…เรื่องของความสุข

 

“ละนันทิ” คือ ละความเพลิดเพลินพอใจในสิ่งที่เป็นความสุขหรือความทุกข์

นึกออกมั้ยว่าความทุกข์ เราก็เพลิดเพลินได้นะ เวลาเราโกรธ เราก็มันส์เหมือนกันนะ…เลิกไม่ได้

เราเอาคำสอนว่า “ละนันทิ” “มาทำ” คือหมายความว่า เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น…เรารีบออกจากมัน หรือเมื่อความสุขเกิดขึ้น…เรารีบออกจากมัน ละมัน ไม่มีความเพลิดเพลินต่อมัน

คำถามผมคือว่า ทำไมเราทำแบบนั้น?
เพราะไอเดียมันบอกเราว่า ละนันทิได้ เราจะหลุดพ้น

ไอเดียที่ 2 บอกอีกว่า ก็คำสอนเขาบอกว่า ต้องละนันทิ ถึงจะถูก ถ้าเพลิดเพลินอยู่ มันก็ไม่ถูกสิ

เห็นไหมว่า ในไอเดียของเขาวงกต เราก็มีไอเดียเล็กๆ ย่อยๆ อยู่ในนั้นอีก ที่เราใช้ในการปฏิบัติธรรม

แล้วเราก็เชื่อว่าดี แล้วก็ถูกด้วย

เพราะฉะนั้น ในแง่นึงคือ การที่เราพยายามทำสิ่งที่ ถูกและดี ภายใต้ไอเดียอย่างหนึ่งที่เรา เชื่อ ตลอดเวลา

แต่อย่างที่ 2 คืออะไร?
เราไม่เข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ

ท่านบอกว่า “เพราะเห็นตามความเป็นจริง จึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่าย จึงคลายความเพลิดเพลิน เมื่อคลายความเพลิดเพลิน ก็คลายจากราคะ เมื่อคลายจากราคะและความเพลิดเพลิน จึงหลุดพ้น”

เห็นมั้ยว่า การละความเพลิดเพลินได้นั้น มันมีเหตุ แต่เรา “เอามันมาทำ!”

เหตุของมันคืออะไร? คือเห็นตามความเป็นจริง หรือที่ผมสอนว่าคือ การแจ่มแจ้งในสิ่งนั้นๆ

เราค้นพบได้ไหมว่า ชีวิตที่แท้จริง ที่เป็นจริงนั้น คือ ความแจ่มแจ้งในทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่นี้

ไม่ใช่การที่เราจะกลายเป็นอะไรที่ดีกว่า

ไม่ใช่การที่เรากำลังฝึกอะไรบางอย่าง เพื่อจะมีอะไรบางอย่าง เพื่อจะไปถึงอะไรบางอย่าง หรือฝึกอะไรบางอย่าง เพื่อจะไม่มีอะไรบางอย่าง จะได้รู้สึกดีกว่านี้

แต่เราใช้สติปัญญาทั้งหมด พละกำลังทั้งหมด ในแต่ละวันที่เราตื่นขึ้นมา ที่จะแจ่มแจ้ง กระจ่างชัดในสิ่งทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

ไม่ว่ามันจะเป็นความสุข หรือความทุกข์ ความอยาก ความต้องการ ความบีบคั้น ความไม่อยาก ความไม่ต้องการ กระจ่างชัดกับทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชีวิตเราได้ไหม

และอย่ามีคำถามถามว่า กระจ่างชัดลงไปในแต่ละขณะของชีวิต หรือเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิต แล้วเราจะได้อะไร

นั่นคือลูป (Loop) ของความคิดเก่าๆ ที่เราเข้ามาปฏิบัติธรรม เราจะได้อะไร เราจะดีกว่านี้ใช่ไหม ถ้าทำแบบนี้

.

เราพยายามละความเพลิดเพลินพอใจในความสุขนั้น ด้วยความถูกต้องตามทฤษฎีที่เราเชื่อ เราใช้อะไร?

เราต้องใช้ความอดทนมาก ใช้เจตนางดเว้นมาก ใช้หัวใจที่มีความแบ่งแยกอย่างถึงที่สุด

และนั่นคือสิ่งที่เรานักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ทำกัน คือ ใช้ความอดทนอย่างไม่มีปัญญา

ถ้าผมถามว่า เราติดรสชาติในความสุขนั้นเพราะอะไร? เราตอบได้ไหม?

เพราะเราไม่เข้าใจว่าความสุขคืออะไร

เราไม่เข้าใจว่า สิ่งที่เราเรียกว่าความสุขนั้นคืออะไร มันคืออะไรกันแน่ มันเป็นความสุขจริงไหม?

สิ่งที่เราเรียกว่าความสุข ที่เราติดอยู่ในรสชาติของความสุขนั้น มันประกอบด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง ที่พร้อมจะแปรปรวนไม่คงที่

แล้วเราใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะได้ความสุขจากผัสสะนั้นๆ ในการควบคุมองค์ประกอบหลายอย่างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเราจึงจะได้รับความสุขจากสิ่งๆนั้นได้จริงๆ ซึ่งสำหรับผมแล้ว มันคือความทุกข์อย่างมาก

เพราะฉะนั้น ผมไม่ได้บอกว่า นักปฏิบัติธรรมไม่ควรมีความสุข เราทุกคนมีความสุขได้ แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือว่า เรากระจ่างชัดกับสิ่งต่างๆ หรือสิ่งที่เรียกว่าความสุขนี้ได้ไหม

เราได้รับผัสสะที่น่าพอใจ โดยไม่หลงกลมันได้ไหม?

“หนูรู้อยู่” นั่นเป็นเรื่องที่ตื้นเขินมาก ผมพูดถึงความกระจ่างชัดในสิ่งนั้น

เพราะฉะนั้น เราชาวพุทธลึกซึ้งกับสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์มากๆ เราตื้นเขินกับสิ่งที่เรียกว่าความสุขมากๆเหมือนกัน

เวลาเราฟังคำว่า ละความเพลิดเพลินในความสุข แต่เหล่านักบวชนั่งสมาธิ ทำสมถกรรมฐาน มีความอิ่มเอิบในความสุขจากสมาธิ ทำไมถึงทำแบบนั้น?

เพราะความสุขนั้นเป็นส่วนประกอบหนึ่งในชีวิต พระพุทธเจ้าท่านถึงได้สอนว่า ต้องทำสมถกรรมฐานด้วย แต่ปัญหาคือผู้ฟังคำสอนเอามาทำตามนั้น ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งกับคำสอนต่างๆ ที่ท่านสอน

การนั่งสมาธิก็เพียงเพื่อจะได้รับความสุขในแบบที่ชาวโลกหาความสุขกัน โดยที่ไม่มีความกระจ่างชัด ในความเป็นอยู่ของสมาธินั้นๆ

ไม่มีความกระจ่างชัดในความอยากได้ความสุขจากสมาธิ จึงเกิดเรื่องราวต่างๆ ในเขาวงกตที่ผมบอกคือ การติดสมาธิ คือการไม่ชอบความฟุ้งซ่าน แล้วก็อยากจะมาทำความสงบ

เพราะฉะนั้น เนื้อหาต่างๆ ในคำสอนต่างๆ ถ้าเราไม่กระจ่างชัด ว่าอะไรคือชีวิตที่แท้จริง เราจะหลงทางอยู่ในคำสอนเหล่านั้น

มันเหมือนๆ แต่มันไม่ใช่ พูดคล้ายๆกัน แต่มันไม่ใช่

ถ้าเราพลาดหัวใจของความมีชีวิตที่แท้จริง เราพลาดทั้งหมด ให้มันเหมือนแค่ไหนก็ตาม เราก็พลาด

Camouflage
28-05-2565

ฟังธรรม : https://youtu.be/KZvhXjalq08

ดาวน์โหลด mp3 : https://mcdn.podbean.com/mf/download/venn35/298.mp3