241.เห็นตามเป็นจริง…จริงมั้ย

เส้นทางเส้นนี้อาศัยปัญญาที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ และอาศัยความเด็ดเดี่ยว

เจ้าชายสิทธัตถะ ลงมาถึงเจ้าชายอีกหลายองค์ ลงมาถึงพ่อค้า ลงมาถึงคนธรรมดาสามัญ คนทั้งหลายที่เรารู้จักสามารถเข้ามาอยู่ในเส้นทางนี้อย่างสมบูรณ์และประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้ ล้วนใช้ชีวิตอย่างเด็ดเดี่ยว ไม่มีใครครึ่งๆกลางๆ

เหมือนที่ผมเคยบอกว่าหลวงพ่อชาบอกกับพระบอกกับเราว่า “ทิ้งมันไปสักชาตินึงได้ไหม ผมจะพาคุณทิ้งเอง” เราเสียสละตัวเองไม่ได้ ตัวเองคืออะไร “ความคิด” เราเสียสละความคิดไม่ได้ เราเสียสละอารมณ์ ความรู้สึก และอื่นๆ อีกมากมายไม่ได้ ทำไม เพราะปัญญาและความเด็ดเดี่ยวนั้นไม่พอ

ปัญญาในเชิงสัมมาทิฏฐิมีความจำเป็นอย่างยิ่งในเส้นทางนี้ เราจะปฏิบัติธรรมถูกหรือผิดเริ่มที่ตรงนี้ เริ่มที่ความเข้าใจในสัมมาทิฎฐิ 

พระพุทธเจ้าท่านว่า “โลกนี้ว่างจากความเป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล เราเขา” ประโยคนี้ที่เราฟังกันมาไม่รู้กี่รอบแล้ว เรานั่งรอวันที่ประโยคนี้จะเป็นผลลัพธ์ในการปฏิบัติธรรม ซึ่งผมบอกว่าไม่ใช่ มันคือประโยคแรกที่เราจะต้องเข้าใจก่อน เหมือนเราต้องเข้าใจก่อนว่าอาหาร ข้าว กับข้าวมีประโยชน์ต่อร่างกาย เราต้องรู้อย่างนั้นก่อน เราต้องเข้าใจก่อนว่ามันคืออาหาร อาหารเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แล้วถึงจะลงมือที่จะกินมัน และใช้เวลา กว่ามันจะย่อยเป็นสารอาหาร แล้วเราจะได้ประโยชน์จากมัน เราจะเห็นแจ้งเห็นจริงว่ามันมีประโยชน์กับร่างกาย

เพราะฉะนั้น เริ่มต้นเราต้องเข้าใจสัมมาทิฏฐิ เข้าใจให้ได้ เมื่อโลกนี้ว่างจากความเป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล เราเขา แล้วเราจะเอา “เรา” ไปปฏิบัติธรรมได้ยังไง

 

มีบางคนเคยถามผมว่า ถ้าไม่ต้องทำอะไร นั่นหมายความว่าสิ่งต่างๆ นั้นมันดีอยู่แล้วใช่ไหม ผมบอกว่าผมไม่ได้พูดแบบนั้น

สิ่งที่ผมพูดคือ “สิ่งต่างๆ มันเป็นอย่างนั้นของมัน มันเป็นตถตา มันเป็นอย่างนั้นของมัน”

แต่ปัญหาคือ “ตัวเรา”

ปัญหาที่เนื่องจากตัวเราคือ “ความคิด”

เราคิดแยกแยะสิ่งที่มันเป็นอยู่อย่างนั้นไปในทางดี ไปในทางไม่ดี และ “เรา”… เราต้องการสิ่งที่ดีเท่านั้น

ชีวิตบนพื้นฐานของความเป็นเราจึงอยู่ภายใต้อุดมคติอันนึง

ผมพูดว่า “อุดมคติ” แปลว่าไม่จริง

เราเคยได้ยินคำสอนมากมายว่า เรามีหน้าที่เห็นตามความเป็นจริง…จริงไหมที่เราทำแบบนั้น ถามตัวเองตอนนี้เลย จริงไหม เราเห็นตามเป็นจริง จริงๆ ไหม หรือการเห็นนั้นมีเป้าหมายอยู่เบื้องหลัง

จริงของเราคืออะไร เช่น…

จริงของเราคือต้องเห็นมันเป็นเช่นนั้นเอง

จริงของเราคือต้องเห็นมันเป็นไตรลักษณ์

จริงของเราคือต้องเห็นมันเป็นเหตุและปัจจัย

จริงไหม? สิ่งที่เรากำลังอยู่กำลังทำอยู่นั้นจริงไหม?

ฟังผมให้ดี สิ่งที่เรากำลังทำอยู่แบบนั้น จริงไหม?

การเห็นตามเป็นจริงคือ “การเห็นที่ไม่มีอะไรชี้นำ ไม่มีทฤษฎี ไม่มีอุดมคติใดๆ” 

เราจะให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นเพื่อปิดบังความจริงอย่างนั้นเหรอ

 

วันที่เจ้าชายสิทธัตถะนั่งใต้ต้นโพธิ์ ท่านไม่เคยรู้ความจริงมาก่อน ท่านไม่รู้อะไรเลย แล้วการเห็นตามความเป็นจริงถึงจะเกิดขึ้น 

เราไม่เคยเห็นตามความเป็นจริงเลย เราพยายามเห็นสิ่งต่างๆ ในขณะนี้ตามทฤษฎีเท่านั้น เราคือคนที่อยู่ภายใต้ความคิดตลอดเวลา

ผมเคยอ่านหนังสือของอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า เมื่อจิตนั้นแสดงความโง่เขลา แล้วเราพยายามเปลี่ยนความโง่เขลานั้นให้กลายเป็นสติปัญญา นั่นหมายถึงว่าเรากำลังโง่เขลามากกว่าเดิม เพราะนั้นไม่ใช่ความจริง

การเห็นตามความเป็นจริงคือ จิตนี้กำลังแสดงบางอย่าง ที่เราเรียกมันว่าเป็นความโง่เขลา แล้วเราจะแค่รู้หรือดูว่ามันเป็นยังไง จนมันจบสิ้นไป…แค่นั้น เราไม่มีข้อสรุปอะไรล่วงหน้ากับความโง่เขลาของจิต เราไม่มีอนาคตกับมัน เราไม่ชี้นำทิศทางให้กับมัน เราจะแค่รู้อย่างที่มันเป็น นี่คือความหมายของคำว่าโลกนี้ว่างจากความเป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล เราเขา เพื่อจะเห็นโลกนี้ตามความเป็นจริง จริงๆ 

เพราะฉะนั้น นี่คือที่มา ที่เราจะเคยได้ยินคำสอนว่า “เราต้องทิ้งทุกอย่าง ลืมให้หมด

แล้วถ้าเราใช้ชีวิตที่เรียกว่าปฏิบัติธรรมอยู่บนพื้นฐานนี้ เราจะเข้าใจว่าธรรมชาติของจิตมันทำได้แค่ 2 อย่างคือ “หลง แล้วก็รู้” สภาพความเป็นจริงของมันทำได้แค่ 2 อย่าง

แต่มีสภาพธรรมชาติอันหนึ่งที่ชอบยุ่งกับมันคือ “กู” กูทำอะไร…จิตต้องเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนั้น คำว่า “ต้อง” กับ “ควรจะเป็นอย่างนั้น” เป็นเรื่องของกู  ไม่ใช่เรื่องของจิต เรื่องของกูจะบดบังความจริงทุกอย่าง 

เมื่อวานผมถามพวกเราว่า ชีวิตการปฏิบัติธรรมของเรา มันมีคำว่าต้องไหม หรือมีคำว่าควรจะไหม นั่นคืออุดมคติ นั่นคือทิศทาง นั่นคือการชี้นำ นั่นไม่ใช่ความจริง แล้วถ้าเรายังมีอย่างนั้น เราจะไม่สามารถเห็นมันตามความเป็นจริงได้ 

เวลาเราปฏิบัติธรรม แล้วเรามีคำถามกับอาจารย์ของเราว่า อย่างนี้ถูกไหม นั่นแปลว่าอะไร มันมีความจริงอันหนึ่งที่เราเชื่อว่าถูก แต่ความจริงนั้นไม่ใช่ความจริง เพราะมันเป็นความเชื่อ และความเชื่อคือความคิด เราเข้าใจไหม…เราเข้าใจไหมว่าเราถูกหลอกขนาดไหน

ความเป็นเช่นนั้นเองจะมีถูกกับผิดได้ยังไง 

เวลามีคนมาถามผมว่าอย่างนี้ถูกไหม ผมตอบไม่ถูกอ่ะ ผมได้แต่ตอบไปว่ามันเป็นอย่างนั้น ก็มันเป็นอย่างนั้น มีปัญหากันไหมล่ะ ถ้ามีปัญหากับมันก็ต้องทุกข์

 

ทันทีที่เราได้ยินคำว่าเห็นตามความเป็นจริง เราจะมีคำถามที่เรียกว่าจริงคืออะไร เราจะได้เห็นตามนั้น เห็นไหมว่าเรามีเป้าหมาย เราต้องการการชี้นำ ทั้งหมดเป็นแค่ความเชื่อ ไม่ใช่ความจริง 

เพราะฉะนั้น ผมใช้คำพูดอีกคำหนึ่งคือ 

เห็นอย่างที่มันเป็น มันเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้นแหละ

หรือว่า อ๋อ ตอนนี้เป็นแบบนี้ มันจะจริงไม่จริง ก็ไม่รู้ มันเป็นแบบนี้” เนี่ยจริง

 

เราฟังว่าธรรมะนั้นเป็นอกาลิโก เราแปลคำว่าอกาลิโกว่าอะไร เราแปลว่าธรรมะนั้นเป็นของแท้ ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ธรรมะเป็นความจริง เราแปลแบบนั้น แต่ความหมายที่ผมเข้าใจคือ “ธรรมะนั้นอยู่นอกเหนือกาลเวลา” คำว่าปัจจุบันก็ยังมากเกินไป 

ความนอกเหนือกาลเวลานั้นคืออะไร คือความเป็นหนึ่ง คือความที่ไม่มีความแตกต่างใดๆ ความไม่มีใครคอยนั่งแบ่งแยกอะไรเป็นอะไร 

เมื่อไม่มีความแตกต่าง เวลาเกิดขึ้นไม่ได้ นี่คือธรรมะ

แล้วราปฏิบัติธรรม…ใช่ธรรมไหม

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะปฏิบัติธรรม เราต้องรู้จักหนึ่ง พ้นจากการแบ่งแยก พ้นจากความปรุงแต่งทั้งปวง นี่คือธรรม แล้วเราจะพ้นจากการเวลา แล้วเราจะเข้าใจอกาลิโก 

ถ้าเราเข้าใจธรรมะ เข้าใจว่าชีวิตเราทั้งชีวิตคือธรรมะ เราจะไม่หลงเสียเวลากับความคิดปรุงแต่งในเรื่องที่นอกเหนือจากธรรมะ

ถ้าเราย้อนกลับไปในอดีต แม้กระทั่งเมื่อวานนี้ เมื่อวานซืน เราเสียเวลากับความคิดปรุงแต่ง กับเรื่องราวที่ไม่ใช่ธรรมะ เหตุการณ์ต่างๆ คน คำพูด สิ่งเหล่านั้นไม่มีคุณค่าเพียงพอที่เราจะไปแลกกับชีวิตที่เป็นธรรมะ

 

Camouflage

31-01-2564