240.ดำรงอยู่…อมตะ

เรามานั่งทำไม
เรานั่งเพื่ออะไร

ถ้าเรานั่งเพื่ออะไร เราจะไม่พอใจในขณะนี้
ถ้าเรานั่งด้วยความจำ ด้วยเป้าหมาย เราจะมีแต่ความไม่พอใจ บางครั้งเราอาจจะพอใจ ถ้ามีแบบนั้นอยู่ในชีวิตของการนั่งของเราขณะนี้ เราต้องรู้ไว้ว่าเรากำลังหลงทาง
ไม่มีไอเดียอะไรทั้งสิ้น มันเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาคือ จิต และมันเป็นอย่างนั้น 
เราไม่มีหน้าที่ต้องตั้งเป้าหมายให้กับมัน
บางครั้งมันมีสมาธิ บางครั้งมันไม่มี
บางครั้งมันมีปัญญา บางครั้งมันไม่มี
บางครั้งมันสงบ หลายครั้งมันฟุ้งซ่าน
มันมีแต่ความไม่แน่นอน มีแต่ความเปลี่ยนแปลง มีแต่ความไม่คงที่
แล้วเราจะยุ่งอะไรกับมัน

คนเราแสวงหาความมั่นคง ความแน่นอน 
เหมือนเรามีแฟนสักคนนึง เราก็อยากจะให้เขาไม่เปลี่ยนแปลงไปจากวันแรกที่เรารู้จัก เพราะเราชอบวันแรกของเขา แต่แล้วมันเปลี่ยน เราเลยทุกข์ เพราะฉะนั้น มนุษย์เราทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลง

ถ้าเราไม่อยากทุกข์ เราต้องดำรงอยู่กับความไม่เปลี่ยนแปลง กับสิ่งที่ถาวร สิ่งนั้นคือความเป็นหนึ่ง ความเป็นหนึ่งนั้นแสดงอาการที่เราเรียกว่า “รู้” รู้ที่ไม่ใช่เรารู้

เมื่อเราพ้นจากทุกไอเดีย ทุกรูปแบบของความคิด ทุกคอนเซ็ปต์ ทุกการโปรเจคชั่นออกไป รู้ที่เป็นอมตะนี้จะทำงาน

ส่วนจิตนั้นจะเหลือแรงเฉื่อยของอวิชชา ของอนุสัย ของกิเลส ของเหตุปัจจัยที่มันมีอยู่ มันจะกระเทือนต่อไปเรื่อยๆ ตามแรงเฉื่อยที่มันมีอยู่ จนกว่าแรงเฉื่อยนั้นจะหมดลง มันจะหยุด

แต่จิตนั้นมันไม่เหลือแค่แรงเฉื่อย ถ้าเรายังคงยุ่งกับมัน การยุ่งกับมันเป็นการเพิ่มพลังให้มันในทุกๆ ทางที่เรียกว่า สังสารวัฏ ยุ่งกับมันในทางดี เราจะได้สังสารวัฏฝ่ายดี ยุ่งกับมันในทางชั่ว เราจะได้สังสารวัฏฝ่ายชั่ว แล้วมันจะหมุนไปตามนั้น แล้วมันจะเพิ่มกำลังและแรงเฉื่อยให้ยาวนานมากขึ้นไปอีก การที่เราค่อยไปยุ่งกับจิต เหมือนเราฆ่าตัวตายในเส้นทางของการปฏิบัติธรรม

เส้นทางนี้ง่ายที่สุดเพียงแค่เอาตัวเราออกไป แล้วให้ทุกอย่างดำเนินไปตามวิถีของมัน
จิตจะดำเนินวิถีของมัน คือกระทบและกระเทือนตามเหตุปัจจัยที่มันมี

ธาตุรู้ หรือความเป็นหนึ่ง จะทำหน้าที่ตามวิถีของมัน
ทุกอย่างจะทำหน้าที่ตามวิถีของมัน
เพียงแค่เราหายไป

คำถามคือ เราจะหายไปได้ยังไง
ถ้าพูดคำพูดสั้นที่สุดคือ ไม่ต้องคิด
หรือภาษาครูบาอาจารย์เรียกว่า หยุดคิด

แต่พอพูดสั้นแบบนี้ ก็จะมีคนเอาไปทำผิด 
และพยายามหยุดคิด
ความพยายามจะหยุดคิดคือ “เรา”

หัวใจของการปฏิบัติธรรมคือ “เอาเราออกไป” 
หรือเราหายไป

เราจะหายไปได้ด้วยความที่ไม่ต้องคิด
ไม่มีไอเดีย
ไม่มีไอเดียของความเป็นใคร

ตรงนี้สำคัญ !
ความผิดพลาดทั้งหลายเกิดจากเราพยายามจะไม่มีเรา
ด้วยวิธีการต่างๆ นานา
ด้วยอุบาย ด้วยเครื่องมือ
ไม่ว่าครูบาอาจารย์หยิบยื่นเครื่องมืออะไรให้กับเรา
จะผิดหมด !
ถ้าเรามีความพยายาม
ถ้าเรายังมีไอเดียหลงเหลือในการใช้เครื่องมือนั้น

วิธีการที่ผมสอนคือ การนั่งเฉยๆ
แรงเฉื่อยของจิตที่จะคิด จะยังมีอยู่
และเราก็แค่นั่งเฉยๆ
นั่งด้วยความตื่น และไม่ทำอะไร

ความคิดจะค่อยๆ หดเข้าๆๆ และหายไป
มันหมดแรงเฉื่อย
และคงเหลือ “ความดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์”
ผมพูดว่าเป็นความดำรงอยู่ Being หรือ “Absolute Being”

ความดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์ไม่เกี่ยวข้องกับทุกเครื่องมือที่เราเคยได้รับมา
ไม่เอนไปในเครื่องมือใดๆ
ไม่โน้มเอียงไปในเครื่องมือใดๆ เช่น ความรู้สึกตัว

ความดำรงอยู่นั้นอยู่ตรงกลาง เพราะมันพ้นจากทุกไอเดีย จะเรียกว่าอยู่ตรงกลางก็ได้ หรือจะเรียกว่ามันเป็นความเป็นทั้งหมดครอบทุกสิ่งทุกอย่างก็ได้

สังเกตออกไหมว่า ความดำรงอยู่ กับ อยู่กับความรู้สึกตัว มันไม่เหมือนกัน
แต่ความดำรงอยู่นั้นมีความรู้สึกตัว

เพราะอะไร ความดำรงอยู่นั้นกว้างใหญ่ไพศาล ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้ายังมีตัวอยู่มันรู้สึก ถ้าไม่มีตัวก็ไม่มีคำว่ารู้สึกตัว แต่ความดำรงอยู่นั้นยังเหมือนเดิม นี่คืออมตะ นี่คือต้นกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกสิ่งทุกตั้งอยู่บนนี้…บนความดำรงอยู่

สรรพสิ่งมากมายที่เปลี่ยนแปลง ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ นอกเหนือการควบคุมบังคับบัญชา มีนับไม่ถ้วน เราอาจจะรู้ลักษณะของมัน แต่ถ้าเราไม่รู้จักความดำรงอยู่ที่เป็นอมตะนี้ เราก็แค่หลงของปรุงแต่งพวกนั้น

แต่ถ้าเรารู้จักอมตะ ความเป็นอมตะนี้ สิ่งทั้งหลายในโลกที่เรียกว่า ความปรุงแต่ง จะกลายเป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ ไม่มีความสำคัญอะไรเลย มันอยู่ในข่ายของการรับรู้ เช่นเดียวกับความรู้สึกตัว

ความดำรงอยู่นั้นครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง กว้างใหญ่ไพศาล นี่คือตัวเราที่แท้จริง
เราทุกคนคือคนคนเดียวกัน คือความเป็นอมตะนี้ คือความดำรงอยู่นี้
กลับมาให้ถึงบ้านก่อน กลับมาถึงบ้านแล้วค่อยมองไปข้างนอก ไม่อย่างนั้นเราจะเที่ยวเล่นอยู่ข้างนอกจนเพลิน และเราก็นึกว่าเราถึงบ้านแล้ว

ความดำรงอยู่นั้นไม่เคยต้องการอะไรเลย ไม่เคยต้องการสติ ไม่เคยต้องการสมาธิ ไม่เคยต้องการปัญญา เพราะไม่มีอะไรปรุงแต่งมันได้

สติ สมาธิ ปัญญาก็เหมือนของธรรมดาในโลกนี้เหมือนกัน จะเป็นสิ่งที่อยู่ในข่ายของการรับรู้ในความดำรงอยู่นี้…แค่นั้น 

เพราะฉะนั้น นี่คือสาเหตุที่ปรมาจารย์ตั๊กม้อท่านถึงบอกว่า “เมื่อรู้หนึ่ง ก็จะรู้ทั้งหมด แต่ถ้ารู้ทั้งหมด จะไม่มีวันรู้หนึ่ง”

ผมคิดว่าพวกเราได้ลองแล้ว ลองกันมาหลายปีแล้วที่จะพิสูจน์คำสอนนี้ของปรมาจารย์ตั๊กม้อ เรารู้ทั้งหมดกันมานานเท่าไหร่แล้ว แต่วันนี้ที่เรารู้หนึ่ง เราถามตัวเองว่าเรารู้ทั้งหมดไหม ใช้เวลานานไหม เราพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง 

แล้วเราจะเข้าใจ เราจะเข้าถึงชีวิตที่พ้นไปจากความแบ่งแยก

ทำไมพ้นได้ เพราะทันทีที่เกิดการแบ่งแยก เราเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้น และเรารู้ว่านั่นไม่ใช่ทาง 

ถ้าเรายังนั่งวิเคราะห์หาความรู้ หาความเข้าใจเพื่อการปฏิบัติธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป นั่นเราหลงทาง ผมบอกแล้วไงว่าความฉลาดทางโลกนั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้ในการปฏิบัติธรรม แต่พ้นไปจากความฉลาดและความโง่ต่างหาก พ้นจากทุกข์ไอเดีย

ถ้าเราเป็นนักวิเคราะห์เส้นทาง การวิเคราะห์นั้นจะหลอกเรา ถ้าเราวิเคราะห์ได้ว่ามัน 1 แล้วมัน 2 แล้วมันจะ 3 แล้วมันจะ 4 แล้วมันจะ 5 แล้วมันจะตู้ม! ระเบิดเป็นพระอรหันต์ นั้นเราหลงทาง

อย่าลืมที่ผมบอกว่า “เส้นทางนั้นเกิดจากความไร้เส้นทาง” อย่าลืมที่หลวงพ่อเทียนบอกไว้ “ความจริงนั้นรู้ล่วงหน้าไม่ได้” 

อย่าฉลาดเกินไป ผมเห็นมาเยอะแล้วคนฉลาด ก็ได้แต่ปล่อยให้ฉลาดต่อไป คนฉลาดจะไม่รู้ว่าตัวเองโง่ มีแต่คนรู้ว่าตัวเองโง่เท่านั้นถึงจะฉลาดขึ้น

รู้จักความเป็นอมตะเอาไว้ อะไรที่เป็นอมตะ อะไรที่ไม่ได้เกิดจากการประกอบด้วยเหตุปัจจัย ประกอบด้วยสิ่งหนึ่งจึงมีอีกสิ่งหนึ่ง จึงมีอีกสิ่งหนึ่ง 

อย่าลืมที่ผมบอก เช่น ความรู้สึกตัว เราต้องมีตัว ถึงจะมีคำว่าความรู้สึกตัว มันเป็นสิ่งที่ประกอบกันขึ้น

เพราะฉะนั้น กลับคืน เข้าถึงสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยเหตุและปัจจัย ไม่ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย สิ่งนั้นเป็นอมตะ สิ่งนั้นคือความดำรงอยู่ สิ่งนั่นคือความเงียบ สิ่งนั้นคือนิพพาน และเราเข้าถึงได้ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” 

พ้นจากทุกไอเดีย รวมทั้งไอเดียของที่นี่และเดี๋ยวนี้ด้วย 

การได้ดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์คือ การใช้ชีวิต อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าใช้ชีวิต อย่าใช้ชีวิตภายใต้ความคิด ไอเดีย คอนเซ็ปต์ ทฤษฎี เพราะนั่นเป็นชีวิตที่ตายแล้ว 

Camouflage

24-01-2564