238.ใส่ใจ…ไร้ข้อจำกัด

ในแต่ละวันที่เราตื่นขึ้นมา
ชีวิตเรามีความเรียกร้องต้องการอะไรมั้ย
เราเรียกร้องต้องการกับชีวิตนี้มากขนาดไหน
ขณะนี้ไม่มีความเรียกร้องต้องการใดๆเลย
เราไม่สามารถใช้ความเรียกร้องต้องการในชีวิตที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมได้

ตอนเราอยู่ในโลก เราเรียกร้องต้องการความสุข
เราเรียกร้องต้องการหลายอย่างกับชีวิตนี้เพื่อจะได้ไม่ทุกข์
จนวันนึงเราเข้าใจว่ามันไม่ใช่ทาง
เราเริ่มหันหน้ามาสู่การปฏิบัติธรรม

แต่เราไม่เข้าใจว่าอะไรคือการปฏิบัติธรรม
เราจึงยังคงเรียกร้องต้องการกับชีวิตที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรม

เราเรียกร้องต้องการสติ
เราเรียกร้องต้องการสมาธิ
เราเรียกร้องต้องการความมีปัญญา
ลึกที่สุดในใจเรา มันยังมีความโหยหา ความดิ้นรน
ความเรียกร้องต้องการบางสิ่งบางอย่างจากชีวิตนี้
เราไม่สามารถจะแค่นั่งเฉยๆ แบบตอนนี้
ที่ปราศจากความเรียกร้องต้องการ
หรือความดิ้นรนใดๆ ที่จะได้อะไรมาเพื่อให้ชีวิตดีกว่านี้

ถ้าเราลืมเรื่องราวทั้งหมดของความรู้ทางปริยัติ
ความรู้ทั้งหมดในการปฏิบัติที่เป็นวิธีปฏิบัติ
แล้วเริ่มใช้ชีวิต
แค่รู้ทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้น
ในความเป็นทั้งหมดของชีวิตนี้
เราจะไม่ต้องคิดถึงคำว่าสติ
เราจะไม่ต้องคิดถึงคำว่าสมาธิ
เราจะไม่ต้องคิดถึงคำว่าปัญญา

เราแค่เผชิญหน้ากับชีวิตที่มีอยู่นี้อย่างเข้มข้น
อย่างชัดเจนว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้น

แล้วการเรียนรู้และความเข้าใจชีวิตนั้น
จะเริ่มต้นจากความอิสระ
จะเริ่มต้นในที่ที่ไม่มีแนวทางใดๆ ทั้งนั้น
การเรียนรู้นั้นจะเปิดกว้าง ไม่มีข้อจำกัด
มันเป็นอิสระในตัวของการรู้นั้นเอง
การเรียนรู้ชีวิตนั้นจะไมุ่ถูกครอบ
ด้วยบางสิ่งบางอย่างที่เรียกว่า ความคิด

เนื้อหาต่างๆที่เราเคยเรียนรู้มามันคืออดีต
เราเข้าได้มั้ยว่ามันคืออดีต

เมื่อเราพูดถึงคำว่าสติ
เรามีคำแปล
เรามีความหมาย
เมื่อเราพูดถึงคำว่าสัมปชัญญะ
เรามีคำจำกัดความให้มัน

ทันทีที่เรามีความหมายหรือคำจำกัดความ
ชีวิตเรานั้นจำกัดซะแล้ว
การเรียนรู้นั้นถูกจำกัดซะแล้ว
มันไม่ใช่ความเปิดกว้าง มันไม่ใช่รู้ที่เป็นอิสระ
มันเป็นความจำกัดภายใต้ความคิด ความหมาย
การให้ค่ากับเนื้อหาต่างๆที่เราเคยฟังมา

วิถีแบบนั้นไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรม
วิถีแบบนั้นเป็นแค่การปฏิบัติธรรมภายใต้แนวคิดอันนึงเฉยๆ
เป็นแนวคิดใหม่ เป็นแนวคิดแบบเดียวกับที่เราเคยอยู่ในโลก
แล้วเราก็คิดว่าเราควรจะไปซื้อหนังสือ 7 Habits มาอ่าน
เพื่อเราจะได้เป็นคนที่ดีขึ้น
เราควรไปซื้อหนังสือพลังของความคิดบวก …ชีวิตเราจะดีขึ้น
แต่ก็ไม่ดี ยังไม่ดีซะที

เพราะทั้งหมดยังอยู่ในโครงสร้างเดิม
คือการใช้ชีวิตภายใต้ความคิดหรือแนวคิดบางอย่าง
ถ้าแนวคิดนี้มีแบรนด์ของใครสักคนที่ดูดี
เราจะทำตาม

นี่คือโครงสร้างของชีวิตเรา
โครงสร้างของชีวิตที่จะพัฒนาชีวิตของเรานี้
จากจุดหนึ่งไปถึงอีกจุดหนึ่ง
เป็นโครงสร้างของพัฒนาที่จะให้ชีวิตดีกว่านี้

กับสิ่งที่ผมบอกว่าการปฏิบัติธรรมที่แท้จริงนั้น
เป็นแค่การเรียนรู้ และเข้าใจความเป็นไปของชีวิตนี้
จะเห็นว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชีวิตให้ดีกว่านี้
มันเป็นคนละเรื่องกัน
มันไม่ใช่การเพิ่มเติมอะไรเข้าในชีวิต
มันไม่ใช่การลดทอนอะไรลงจากชีวิต
เรากำลังเข้าใจชีวิตนี้ว่ามันเป็นยังไงตามความเป็นจริง

กระบวนการการเข้าใจชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดใดๆทั้งสิ้นคือ อริยสัจ 4
คือการรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง

การเรียนรู้อย่างเปิดกว้าง
ปราศจากความเรียกร้องต้องการใดๆทั้งสิ้น
ความเข้าใจในชีวิตนี้เอง
ส่งผลให้เกิดแนวทางวิธีปฏิบัติ
คำสอนในรูปแบบของสติ สมาธิ ปัญญา
สิ่งเหล่านี้มาทีหลัง
บัญญัติทั้งหลายนั้นมาทีหลัง

เหมือนที่ผมบอกว่า พอเราขับรถเป็นแล้ว
เราขี่จักรยานเป็นแล้ว
เราค่อยเริ่มกลับมาคิดว่า
ถ้าเราต้องสอนคนอื่น
เราต้องสอนยังไง
เราต้องบอกเค้ายังไง
ต้องเริ่มจากที่ไหนก่อน
หนึ่ง สอง สาม สี่
แต่ตัวเราเองตอนเราขี่จักรยานหรือขับรถ
เราไม่เคยมี 1 2 3 4ก่อนหน้านั้น
ผมจำได้ว่าผมขี่จักรยานครั้งแรก
ผมก็จับจักรยานมาขี่เลย แล้วผมก็ล้ม
แล้วผมก็ล้มอีก แล้วผมก็ล้มอีก
แล้วการเรียนรู้ก็เกิดขึ้น

มันก็เรื่องเดียวกับเรื่องว่ายน้ำ
เราเคยเรียนว่ายน้ำมั้ย
ครูจะบอกให้เกาะขอบสระก่อน หัดตีขา
เรียนไปตั้ง 1-2 สัปดาห์
จับเราไปอยู่ในสระลึกๆ แล้วก็ปล่อยเรา ตู้ม
เราลืมหมดแล้วเราตีขายังไง
แต่มันตีเองเพราะมันไม่อยากจม
เราจะตีทั้งขา ทั้งแขน
แล้วทันทีเราก็ว่ายน้ำเป็น
แล้วเราก็จะเริ่มว่ายเก่งขึ้น
เราเริ่มพัฒนาการว่ายนั้น
เรารู้แล้วว่าต้องเหวี่ยงแขน ยาไปยังไง
หน้าควรจะอยู่ที่ระดับน้ำตรงไหนที่จะเร็วที่สุด
เหล่านี้คือ ศิลปะ เรารู้ได้ด้วยตัวเอง
ไม่มีใครสอนเราได้

การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน
มันคือความใส่ใจ ให้ความใส่ใจ
กับความเป็นทั้งหมดของชีวิตนี้
เราใส่ใจมันพอมั้ย
เราใส่ใจที่จะรู้จักมันจริงๆ มั้ย
หรือเรามัวแต่ว่า เอ๊ะนี่สติรึยัง เอ๊ะนี่มีสมาธิรึยัง
เอ๊ะนี่มีปัญญารึยัง
เข้าใจมั้ย มันคนละเรื่องกัน
แบบนั้นคือเรากำลังอยู่ในแนวคิดอันนึงเฉยๆ
แล้วเรากำลังจะไปให้ถึงในเป้าหมายในแต่ละขั้นที่เราเชื่อ
ว่ามันจะช่วยให้เราดีกว่านี้

แต่ความใส่ใจทั้งหมดลงไปในชีวิตนี้
มันไม่เกี่ยวกับความคิด
ไม่เกี่ยวกับแนวคิด
มันเป็นคนละเรื่องกันเราต้องเข้าใจให้ได้

ถ้าเราใส่ใจกับชีวิต
เราจะสังเกตเห็นว่าเราทุกข์เพราะความคิด
บางครั้งเราหลุดไม่ออกจาเความคิดนั้นๆ
แม้ว่าเราพยายามจะไม่สนใจมัน
แต่มันก็ยังอยู่
มันเหมือนจะทำให้เราเป็นบ้า
ทำให้เราจมไปในความทุกข์
ทั้งที่เรารู้อยู่ว่า มันไม่่น่าจะใช่แบบนั้น
มันไม่ใช่วิถีที่ควรจะเป็นของนักปฏิบัติธรรม
แต่มันก็ยังอยู่
และเราก็ทุกข์เพราะมัน
แต่ไม่นาน อยู่ดีๆ เยื่อใยจากความคิดเหล่านั้นก็กลับหายไป
มันหายไปได้ยังไง
ความทุกข์ที่เคยมีความคิดนั้นอยู่ๆมันก็ไม่เกิดขึ้น

มีความจริงบางอย่างที่ทำให้เรื่องเดียวกันแต่เกิดผลไม่เหมือนกัน
มันไม่ได้ผลแบบเดิมตลอดเวลา
และเราชาวพุทธจะสรุปลงไปว่า
นี่แหละอะไรๆก็ไม่เที่ยง
อะไรๆก็ไม่แน่
เป็นความจริงในโลกนี้

เพราะฉะนั้น ให้ความจริงนี้มันผลิบานออกมา
ด้วยความใส่ใจในความเป็นทั้งหมดของชีวิตนี้
ไม่ใช่ด้วยการจำข้อสรุปมาใช้กับชีวิตนี้
ให้ความเข้าใจนั้นมันผลิบานขึ้นมาจากภายในของเราเอง
มันต้องใช้เวลา

เราจะทำเหมือนว่าเราไปเรียนพิเศษ
เคยเรียนพิเศษมั้ย
เวลาเราไปเรียนพิเศษ
อาจารย์ที่สถาบันกวดวิชาต่างๆ จะมีสูตรลัดให้ตลอด
เค้าคิดมาเสร็จแล้ว จากสูตรพื้นฐานเนี่ย
เค้าคิดปึ๊บๆๆๆ มาเป็นสูตรลัดอันนึงที่จะคำนวณได้เร็วมาก
เราไปเรียนพิเศษเพื่อจะไปเอาสูตรลัดนั้น
ที่ไม่มีสอนในโรงเรียน
แล้วเมื่อเราได้สูตรลัดนั้นมาเราก็จะเก่งที่สุดในห้อง
เราจะคิดได้เร็วกว่าเพื่อน เพราะเพื่อนไม่ได้ไปเรียนมา
ซึ่งดูดีมาก ดีที่มีสูตรลัด
แต่ผมพบว่าเราไม่มีพื้นฐาน
เราจะไม่มีพื้นฐาน
เราไม่รู้ว่าสูตรลัดนั้นมานังไง
แล้วเราไม่สนใจด้วย
เราต้องการแค่สูตรลัด พอแล้ว

เพราะฉะนั้น ชีวิตเราก็เหมือนการทำอาหารที่ใส่ผงชูรส
เราไม่รู้ว่าน้ำซุปจะอร่อยนั้นมันต้องมีพื้นฐานของอะไรบ้างจริงๆแล้ว
แล้วชีวิตเราก็พัง
เราได้รับความสุข ความอร่อย แต่ชีวิตเราพัง

เหมือนกันเรากำลังปฏิบัติธรรม
ภายใต้วิธีการปฏิบัติอันนึงที่มีคนบอกเรามา
ภายใต้สูตรลัด
แล้วเราก็รีบใช้สูตรลัดนั้น
โดยที่เราไม่มีพื้นฐานของความเข้าใจชีวิตเลย
แล้วชีวิตเราก็จะพังเหมือนกัน
คล้ายๆเราใช้ชูรส

เราได้ยินมาตลอดว่าธรรมะนั้นเป็นสากล
ความจริงนั้นต้องเป็นสากล
ความเป็นสากลนั้นไม่สามารถจะถ่ายทอดได้ด้วยคำพูด
ไม่สามารถจะส่งผ่านกันได้โดยภาษา
ความเข้าใจ ความใส่ใจในความเป็นทั้งหมดของชีวิตนี้เป็นสิ่งที่เป็นสากล
วิถีของการเรียนรู้ชีวิตนี้ด้วยความใส่ใจเป็นความเป็นสากล

กระแสของการใส่ใจเรียนรู้ชีวิตมันไม่เคยเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเลย
ถ้าเรากำลังเรียนรู้ชีวิตด้วยแนวคิดบางอย่าง
เราจะไม่มีวันพบความจริงในชีวิตนี้เลย
เพราะเราจำกัดมันด้วยแนวทาง
ด้วยขอบเขตบางอย่างที่เราเชื่อ

เราเคยได้ยินคำศัพท์บาลีที่ว่า จิตนี้ควรจะเป็นลหุตา
คืออ่อนโยน นุ่มนวล ควรค่าแก่การงาน
คำว่าลหุตาคำนี้ จะอ่อนโยน นุ่มนวล ควรค่าแก่การงานได้
มันต้องไม่มีขอบเขต
มันต้องไม่ถูกจำกัดด้วยแนวคิดบางอย่าง
มันต้องเป็นอิสระ
มันต้องเปิดกว้าง

เราเคยคิดมั้ยว่า พุทธศาสนาเท่านั้นที่จะนำสัตว์โลกไปสู่ความหลุดพ้นได้
ผมว่าเราน่าจะคิดทุกคน
เราภูมิใจกับศาสนาพุทธ
เราภูมิใจที่เราเป็นชาวพุทธ เราโชคดี
ผมไม่ปฏิเสธว่าศาสนาพุทธจะทำให้เราไปถึงความหลุดพ้นได้
แต่เราซึ่งเป็นชาวพุทธแล้ว เราต้องเปิดกว้าง กว้างขวางมากกว่านั้น
เพราะวิถีแห่งการหลุดพ้นนั้นเป็นสากล
เราแน่ใจรึเปล่าว่าเรารู้จักทุกศาสนาในโลกนี้แล้วอย่างแท้จริง
เราแน่ใจรึเปล่าว่าเรารู้จักทุกคำสอนในโลกนี้แล้วอย่างแท้จริง
พอคิดอีกที เราชักไม่แน่ใจ
เราต้องถามตัวเองอีกครั้งว่า เอ ทำไมเราถึงตัดสินหรือลงความเห็นไปในแบบนั้นได้
ทำไมเราด่วนตัดสินขนาดนั้น
เพราะพื้นฐานของจิตใจเรานั้นคับแคบ
ยิ่งเรากว้างขวางมากเท่าไหร่
เราจะยิ่งรู้ว่าเมื่อก่อนเรานี้คับแคบมาก
เราจะรู้ว่าเราคับแคบ เราต้องกว้างขวาง
ถ้าใครไม่เคยรู้เลย หรือไม่ิคิดว่าตัวเองคับแคบเลย
นั่นแปลว่าเราคับแคบ

เราทุกคนใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความคิดปรุงแต่งมาตลอดชีวิต
แล้วจะไม่คับแคบได้ยังไง เป็นไปไม่ได้

ความคับแคบนั้นเองก่อให้เกิดความแบ่งแยก ก่อให้เกิดสงคราม
ก่อให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก
ก่อให้เกิดทุกข์มากมายในวัฏสงสารนี้
ก่อให้เกิดกรรมดีกรรมชั่ว
บุญ บาป และการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่จบสิ้น
เพียงเพราะความคับแคบ

 

Camouflage

21-02-2564