173.หลอมทั้งชีวิต

ตอนที่ 1 ไม่เข้าไปร่วมวงกับมัน

สำหรับคนไม่เคยเดินจงกรม ให้เดินสบายๆ เดินแบบเหมือนเราเดินเล่น เดินไม่ต้องเกร็ง เดินธรรมชาติของเราเลยถ้าสงสัยว่า เอ๊ะ เดินยังไง ให้รู้ทันว่ามีความสงสัยเกิดขึ้นแล้ว

เดินตามความเร็วปกติของเรา เดินตามธรรมชาติ ตามธรรมดา ทีนี้พอเราเดินเป็นธรรมชาติตามธรรมดาแล้ว เราก็แค่หันเหความสนใจมาที่ความรู้สึกว่าร่างกายนี้กำลังเดินอยู่ เรารู้สึกได้ใช่ไหม มันหมุนตัวอยู่ รู้สึกได้ไหม ก็แค่รู้สึกแค่นั้น ไม่มีอะไรมากกว่านั้นเลย แล้วเวลามันเคลื่อนไหวยังไง เราก็รู้สึกอยู่

รู้สึกไหมว่าใจเราเกร็งๆ เราก็รู้ทันว่าใจมันเกร็งๆ รู้ทันซ้อนลงไปอีกทีนึงว่าตอนนี้จิตใจเป็นแบบนี้

เราเดินเหมือนเดินชมนกชมไม้ การปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรซีเรียส เราเดินไปแล้วก็สังเกตจิตใจเป็นยังไง

ถ้าเราเป็นคนที่เดินทอดน่อง เราสังเกตไหมว่าเดินไปเดินมา ความรู้สึกทางจิตใจเป็นยังไง…เริ่มเอื่อยเฉื่อย เราก็รู้ว่าจิตใจนี้เอื่อยเฉื่อย บางจังหวะเราอยากจะเปลี่ยนเดินเร็วๆ เราก็จะรู้สึกว่ามันตื่นตัวขึ้น และก็รู้ทันจิตใจที่มันเปลี่ยนแปลงว่ามันมีความกระฉับกระเฉงขึ้น เนี่ยเรารู้เหตุรู้ผล มันไม่ใช่ว่าต้องเป็นยังไง

เพราะฉะนั้น การเดินหรือการนั่งหรือการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งร่างกาย มันเป็น background ที่เราจะคอยรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของจิตใจ

เรารู้สึกร่างกายไว้ มันเดินอยู่ ก็เห็นมันเดินอยู่ ขากระทบ เท้ากระทบพื้น ก็รู้สึกได้ มันหมุนตัว น้ำหนักไปลงที่ขาไหนก่อน รู้ได้ไหม รู้สึกได้ พอรู้สึกได้สักพักนึง เราจะเริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจได้ แป๊บเดียวก็เบื่อแล้ว แป๊บๆเดี๋ยวก็อยากดูนู่นอยากดูนี่แล้ว แป๊บๆ เดี๋ยวก็สงสัยแล้ว รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจนี้ไปเรื่อยๆ

มันเป็นเรื่องใหม่ในชีวิตเรา เพราะเราไม่เคยรู้ เราเคยแต่เป็นทาสของมัน มันสงสัยเราก็เข้าไปคิดกับมัน มันกังวลเราก็เข้าไปกังวลกับมัน มันเป็นห่วงคนอื่นเราก็เข้าไปเป็นห่วงกับมัน เราไม่เคยเห็นเลยว่าตอนนี้มีความเป็นห่วงเกิดขึ้น มีความกังวลเกิดขึ้น เราไม่เคยดูมันเฉยๆ เราร่วมวงกับมันตลอด

เพราะฉะนั้น ฝึกที่จะเห็นจิตใจนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง อาการ อารมณ์ ความรู้สึกใดๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในจิตใจนี้เป็นปรากฏการณ์ปรากฏการณ์หนึ่งที่เราจะดูมัน ไม่ใช่เข้าไปร่วมวงกับมัน เราจะเรียนรู้ความจริงของมันว่ามันเป็นยังไง

ถ้าเราไม่เข้าไปร่วมวงกับความสงสัย ความกังวลนั้น มันแสดงอะไรอีก คอยดู คอยเรียนรู้ว่ามันกำลังแสดงอะไรให้เราดูบ้าง สิ่งที่มันแสดงออกมา แล้วเราดูอยู่เฉยๆ มันจะมีความจริงอันหนึ่งร่วมกันคือ “มันจะเปลี่ยนแปลง มันจะบีบคั้น มันจะทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัย มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้” เรามีหน้าที่ดู ดูว่ามันเป็นอย่างนี้จริงไหม

 

ตอนที่ 2 ไม่ต้องสร้างบุคลิกนักปฏิบัติธรรม

เดินแล้วก็รู้สึกเวลาเท้ากระทบพื้น รู้สึก กระทบก็รู้สึกขึ้นมาว่ารู้สึกแล้ว แล้วลองนับดูสิว่าลืมไปกี่ที

เดินจงกรมเพื่อที่จะให้ เมื่อเราออกจากการปฏิบัติในรูปแบบ ทุกการเคลื่อนไหวของเราหลังจากนี้จะเป็นการเคลื่อนไหวที่ประกอบด้วยสติ รู้ตัวอยู่ ไม่ได้จบแค่นี้

ต่อไปทุกการก้าวของเราในชีวิตประจำวันจะกลายเป็นการเดินจงกรม เราจะไม่ใช่คนที่เดินอย่างขาดสติเหมือนเดิมอีกแล้ว เราจะเดินไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัวว่ากำลังรู้ เท้ากำลังก้าว เท้ากำลังกระทบพื้น ร่างกายกำลังเคลื่อนไหว จิตใจกำลังนึกคิด จิตใจกำลังมีอารมณ์ ความรู้สึกอะไร เราก็รู้ แล้วการปฏิบัติธรรมมันจะหล่อหลอมอยู่ในชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่ตื่นจนหลับได้

อย่าลืมว่าเราไม่ได้ต้องสร้างบุคลิกของการเป็นนักปฏิบัติธรรม เราใช้บุคลิกเดิมๆ ของเรานั่นแหละ แต่เพิ่มเติมคือมีสติ มีสติรู้อยู่ กำลังเคลื่อนไหวก็รู้อยู่ ร่างกายนี้กำลังขยับเขยื้อนก็รู้อยู่ จิตใจนึกคิดปรุงแต่งก็รู้อยู่ ที่เพิ่มเติมคือมีแค่นี้ คือมีสติรู้อะไรกำลังเกิดขึ้น เราไม่ต้องสร้างบุคลิกอื่นขึ้นมา แล้วการปฏิบัติธรรมมันถึงจะเป็นการปฏิบัติที่เป็นธรรมชาติจริงๆ เราเคยเห็นใครไหม ที่เมื่อเห็นปุ๊บก็รู้เลยว่านี่นักปฏิบัติธรรมแน่นอน มันมีบุคลิกอันหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา

เพราะฉะนั้น เราไม่ได้สร้างอะไรเพิ่มนะ สิ่งที่เพิ่มเติมมีอย่างเดียวคือสติ มีสติ รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของกายและใจนี้อยู่เนืองๆ รู้เท่าที่รู้ได้

การปฏิบัติที่เป็นธรรมชาติ เราจะปฏิบัติโดยที่ไม่มีใครรู้หรอกว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรม เราจะกลมกลืนอยู่กับคนที่ไม่ปฏิบัติก็ได้ แต่เราไม่ไปกลมกลืนกับเขาหรอก แต่หมายถึงเขาก็ไม่รู้หรอกว่าเราปฏิบัติธรรม เพราะมันเป็นเรื่องของสติที่ต่างจากคนทั่วไปในโลกแค่นั้นเอง

 

ตอนที่ 3 หลอมทั้งชีวิต

“การปฏิบัติธรรมคือวิถีชีวิตใหม่” ที่เราไม่เคยมี ไม่เคยมีใครสอนเรา ตั้งแต่เราเกิดขึ้นมาเราใช้ชีวิตตามกิเลส ตามอารมณ์ ตามความอยาก เราไม่เคยใช้ชีวิตแบบมีสติ พอจะมีทีนึง มันมึนๆ ว่าเอ๊ะยังไงนะ

วิถีชีวิตเป็นนามธรรม มันคล้ายๆ ความเป็นอาจารย์หรือวิถีชีวิตของอาจารย์ถ่ายทอดไปสู่ลูกศิษย์ มันเป็นนามธรรม มันต้องอาศัยการที่เราได้มาสัมผัส มาอยู่ มาซึมซับ แล้ววิถีชีวิตใหม่ที่เรียกว่า “วิถีชีวิตอย่างผู้มีสติ” มันจะค่อยๆ เกิดขึ้นในเรา

บางทีเราเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคือการมีสติ รู้สึกตัว รู้ทันจิตใจ แต่การตัดสินใจในชีวิตเราอีกมากมายมันมีหลายแง่หลายมุมที่เรายังใช้วิถีชีวิตเก่าของเรา มันไม่พอ ถ้าไม่เชื่อลองดู…มีอะไรในชีวิตเราที่ต้องตัดสินใจ ลองตัดสินใจก่อน ตัดสินใจเสร็จแล้วมาถามผม ร้อยละ 99 จะตรงกันข้ามกับที่เราคิด การตัดสินใจจะไม่เหมือนที่เราคิด

แล้วเราจะได้เรียนรู้ว่า ทำไมครูบาอาจารย์ถึงตอบแบบนี้ เราจะค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆซึมซับวิถีการใช้ชีวิตอย่างผู้มีสติปัญญา แล้วเราจะถูกหลอมชีวิตขึ้นมาใหม่ เราจะถูกหลอม…หลอมทั้งชีวิต

ทำไมความคิดความเห็นในการใช้ชีวิตของเรา มันถึงมักจะผิดพลาด เพราะเราอยู่ภายใต้กระบวนทัศน์เก่าๆ  “กระบวนทัศน์แห่งความมีตัวตน” กระบวนทัศน์ที่สังคม ครอบครัว พ่อแม่หล่อหลอมเราขึ้นมา เป็นกระบวนทัศน์แคบๆ ภายใต้อัตตาตัวตน ภายใต้ความเห็นแก่ตัว การตัดสินใจของเรามันถึงผิดพลาดตลอดเวลา

วันใดที่เราเห็นโลกนี้ว่างจากความเป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา เราจะรู้สึกเหมือนมีชีวิตใหม่ เหมือนเราเกิดใหม่ กระบวนทัศน์ทุกอย่างในชีวิตเราจะเปลี่ยนไป ความจริงแค่ครั้งเดียวทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเปลี่ยนไปเลย

เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์ก็เห็นไม่เหมือนเราแน่นอน เพราะเราไม่เคยเห็นสิ่งที่ท่านเห็น

เหมือนที่ผมถามคำถามทิ้งไว้ว่า “คิดออกไหมว่าไม่มีเราจริงๆ มันเป็นยังไง” ถ้าเราคิดไม่ออก เราก็เข้าใจครูบาอาจารย์ไม่ได้

 

ตอนที่ 4 เห็นตัวเอง

(หลังจากนำภาวนาเดินจงกรม ช่วงถามตอบกับผู้ปฏิบัติธรรม)

ถาม “ที่ให้รู้เท้ากระทบพื้น ลืมเยอะไหม” ตอบ “ครึ่งๆ 50/50 เลย” ถาม “ตอนลืมไปแล้วรู้ไหม” ตอบ “รู้”

เห็นไหมว่าเราบังคับจิตใจไม่ได้ มันไปคิดเอง

เห็นไหมว่าเราอยากจะให้มันอยู่ที่เท้า เราตั้งใจพยายามจะเดินให้รู้สึกที่เท้ากระทบพื้นใช่ไหม แต่มันไม่อยู่ใช่ไหม นี่เป็นความจริง ความจริงว่าเราบังคับจิตใจนี้ไม่ได้ มันทำของมันเอง ฝึกจะเห็นความจริงแบบนี้ เคยเห็นแบบนี้ไหมในชีวิตที่ผ่านมา

เคยเห็นไหมว่าจิตใจไปคิดเองได้ ไม่เคยใช่ไหม

เคยเห็นไหมว่าเราควบคุมจิตใจไม่ได้ ไม่เคยใช่ไหม อย่างนี้เราก็ค่อยๆ เห็น นี่แหละความจริง

เห็นไหมว่าความจริงง่ายๆ แบบนี้ แต่เราไม่เคยเห็นนะ ใช่ไหม ทำไม เพราะเราไม่เคยอยู่กับตัวเองเลย เรามีร่างกายเราลืมร่างกาย ไม่เคยรู้ เรามีจิตใจ เราทำตามมันอย่างเดียว เราเลยไม่เคยรู้ความจริงของมันว่ามันจะไปคิดเอง บังคับให้มันอยู่ที่เท้าก็ไม่ได้ อยากให้มันอยู่นี่แต่มันไปนู่น

เวลาโกรธทำให้มันไม่โกรธได้ไหม ไม่ค่อยได้…ต้องให้เขามาง้อก่อนถึงจะหายโกรธใช่ไหม ต้องมีเหตุอีกอันนึง เนี่ยก็ความจริงเหมือนกันคือ ต้องมีเหตุอีกอันนึงก่อน ผลอีกอันนึงถึงจะเกิดขึ้น ต้องได้รับเสียงง้องอนก่อน ความโกรธก็เริ่มเบาลง เราจะได้ค่อยๆ เรียนรู้ความจริงในเชิงของเหตุปัจจัยว่า ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ให้ทุกคนเรียนรู้ชีวิตแบบนี้ ทุกคนที่ไม่เคยปฏิบัติธรรมหรือยังไม่เคยเข้าใจความจริงของชีวิต มองลงไปถึงความจริงแบบนี้ มองให้เห็นว่าทุกสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลง มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ เห็นทุกกิริยาในชีวิตของเรา…เห็นอย่างนั้น เห็นไปเรื่อยๆ

เราจะได้พบชีวิตใหม่ เราจะได้มีชีวิตบนพื้นฐานของความจริง ไม่ใช่ชีวิตแบบเดิมที่หลงตามความคิด  หลงตามกิเลส หลงตามความอยาก ไปตามความพอใจไม่พอใจเหมือนเดิม นั่นเป็นชีวิตแบบสัตว์ สัตว์เนี่ยมันไม่มีสติ มันไปตามความอยาก ความพอใจ ความไม่พอใจ ไปตามตัณหาราคะ ความเพลิดเพลิน ความหลง เราเคยได้ยินคำพูดไหมว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เราเติบโตมาคุณครูสอนเรา พ่อแม่สอนเราว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ไม่เกิดประเสริฐหรอก เราเหมือนสัตว์เดรัจฉานเลย ทำไมเหมือนเพราะไม่มีสติ ทำตามกิเลส

เราจะประเสริฐขึ้นได้ ต้องมีสติ เรายังไม่ประเสริฐ…อย่าเข้าใจว่าเราประเสริฐ เรายกยอตัวเองมากเกินไป เราไม่ได้ประเสริฐจริงอ่ะดูตัวเองเข้าไปเถอะว่าเป็นทาสของกิเลส ทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นทาสกิเลสทุกอย่างแล้วเราจะบอกว่าเราประเสริฐ…ประเสริฐไม่ได้หรอก เนี่ยมองลงไป ดูตัวเองลงไปว่าเราประเสริฐตรงไหน เราสะอาดหมดจดตรงไหน หรือเราเต็มไปด้วยความสกปรก พิจารณาลงไปว่าชีวิตเรามีอะไรดีบ้าง มองความจริงลงไป

เมื่อเราเห็นความไม่ดีของตัวเอง เราจะดี เมื่อเราเห็นความสกปรกของตัวเอง เราจะสะอาด แต่ถ้าเรามองไม่เห็นอะไรเลย เราก็จะเน่าอยู่อย่างนั้นแหละ

เหมือนทั้งวันเราไม่อาบน้ำ เราก็รู้สึกว่าเราสะอาดอยู่ไม่ต้องอาบ อีกวันนึงก็ไม่อาบ ก็สะอาดอยู่ สะอาดอยู่ แต่จริงๆ แล้วสกปรกอ่ะ เพราะไม่รู้ไง คือต้องรู้ว่าสกปรกก่อน แล้วถึงจะอาบ เพราะฉะนั้น เราต้องเห็นความสกปรกของตัวเอง หรือความไม่ประเสริฐของตัวเองให้ได้ แล้วเราค่อยสะอาดขึ้น

เหมือนตอนอยู่ในคอร์สมีคนมาบอกว่าแทบอยากจะสึกเลย ทำไม เพราะคิดแต่เรื่องไม่ดี คิดอกุศล คิดเลวร้ายมาก ทำไมเราอยู่กับคนดีๆ เราถึงมีโทสะ ถึงได้คิดร้ายอะไรได้มากมายขนาดนี้ ทำไมมันเป็นขนาดนี้ สัจธรรมอันนึงที่ผมพูดเมื่อกี้นี้ว่าจิตมันไปคิดเองเห็นไหม นอกจากอันนี้แล้วสิ่งที่ผมบอกก็คือว่าเราฉลาดแล้วที่เราเห็นความไม่ดีในจิตใจนี้ เราเจริญแล้วที่เราเห็นว่าตัวเองนี่แหละไม่ดี เพราะถ้าเราไม่เห็น เราจะยังคงทำเรื่องไม่ดีแบบนั้นอยู่เนืองๆ เพราะเรานึกว่ามันดีแล้ว เคยมีเพื่อนไหม…เพื่อนที่นิสัยไม่ดีนะแต่เขาคิดว่าเขาดีแล้ว บอกเขาให้ตายเขาก็บอกว่าไม่ เขาดีแล้ว เขาทำถูกแล้ว อันนี้คือเห็นตัวเองไม่ได้เลย เห็นความชั่วของตัวเองไม่ได้เลย เห็นความชั่วเป็นความดีไปหมด ผมเคยเจอคนแบบนั้น สอนไม่ได้ น่ากลัวมาก

 

15-12-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/A9qtOp2G9_c

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://lin.ee/hHJprqr

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
https://camouflagetalk.podbean.com/