172.ว่างจากความเป็น

ตอนที่ 1 แค่รู้สึกและรู้ทัน

ตอนนี้เรานั่งหลับตา แล้วรู้สึก แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้ รู้สึกได้ไหม เห็นไหมว่าร่างกายกำลังนั่งอยู่ รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้กำลังนั่งอยู่ สังเกตไหมว่าพอเรารู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้เราหลุดออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง ความกังวล ภาระต่างๆ ในจิตใจหมดไป นี่คือ “ความอิสระเบื้องต้น” นี่คือ “อิสรภาพเบื้องต้น” อิสรภาพจากอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายที่ร้อยรัดเราเอาไว้ ความรู้สึกหมดภาระเบื้องต้นแบบนี้เรียกว่า “นิพพานชิมลอง

เราอยู่ในโลก เรามีเรื่องคิดทั้งวัน ลองเทียบกับตอนนี้ ตอนนี้ที่เราหมดเรื่อง ชีวิตเราต่างไปไหม เราไม่มีหน้าที่จะคิดหาอะไร ตอนนี้เรามีหน้าที่เดียวคือ “แค่รู้สึก”

ยังรู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายไหม จะเห็นว่าเรารู้สึกไม่ได้ตลอด เดี๋ยวมันก็ลืม ลืมไปไหน…ลืมไปคิดแล้ว หลงไปคิดแล้ว พอเราลืมความมีอยู่ของร่างกายนี้จิตใจก็จะหลงไปคิดปรุงแต่งเรื่องราวทั้งหลายจนเกิดอารมณ์ความรู้สึก เช่น กังวล เบื่อ หรืออยาก…อยากเลิก หรืออยากฟังว่าอาจารย์จะพูดอะไรอีก เห็นได้ไหมว่ามันเป็นทุกข์ ความอยากนั้นน่ะบีบคั้น บีบคั้นให้เรารู้สึกดิ้นรน เทียบกับตอนที่เรารู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้ ไม่มีความอยากอะไร ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกอะไรมาบีบคั้นเรา เราจะเริ่มเห็นความแตกต่างของชีวิตเรา แค่เพียงไม่กี่นาที ทำไมมันถึงเป็นนรกกับสวรรค์ขนาดนั้น

พอถึงจุดนี้เราอาจจะรู้สึกว่าถ้าอย่างนั้นเราควรจะหยุดความคิดปรุงแต่งให้ได้ เราควรจะเพ่งจิตใจนี้ไว้ที่ร่างกายสักที่ใดที่หนึ่งไปเลย มันจะได้ไม่ต้องไปคิด ซึ่งก็ไม่ถูกอีก ถ้าใครเคยเพ่งเราจะรู้ว่านั่นคือความทุกข์ เพราะมันมีเรา มีเราพยายามจะทำอะไร

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรมจึงเหลือ “แค่รู้สึก และก็รู้ทันเมื่อจิตมันไปคิด” แต่ถ้ายังรู้ทันจิตไปคิดไม่ทันจนมันปรุงแต่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกขึ้นมา เราก็มีหน้าที่รู้ทันตรงที่เรารู้ทันได้ เราปฏิบัติอยู่แค่นี้

คนที่คิดว่าการปฏิบัติธรรมนั้นยาก ตอนนี้ผมพูดหลักการปฏิบัติธรรมจบแล้ว มีแค่นี้ “แค่รู้สึกและรู้ทัน” คงไม่น่าจะมีใครทำไม่ได้

จะเห็นว่าการแสดงธรรมนั้นมีการแสดงให้เข้าถึงได้หลายทาง ที่ผมพูดไปตอนแรกทั้งหมดเพื่อให้เรารู้จักว่าชีวิตนั้นมีมุมที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้สึก ในความทุกข์ของชีวิตนั้นมีความพ้นทุกข์ซ่อนอยู่ แต่แค่ไม่เคยมีคนบอกเราแค่นั้น ว่าแค่นั่งแล้วก็รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายเนี่ยเหรอ จิตใจก็ปลดเปลื้องภาระ ความหนักอึ้งทั้งหลายในจิตใจก็คลายไป…คลายไปเอง แต่ศาสนาพุทธเราไม่ได้อยู่แค่นั้น ความจริงสูงสุดที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น

 

ตอนที่ 2 ว่างจากความเป็น

ความจริงสูงสุดที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ถ้าผมจะพูดตอนนี้ก็คือท่านบอกว่า “โลกนี้ว่างจากความเป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล เราเขา ไม่มีเราจริงๆ” ไม่มีอาอึ้ม อาเจ็ก อาซิ่ม ไม่มีคนคนนั้นจริงๆ เราคิดออกไหมว่าไม่มีคนคนนั้นจริงๆ ไม่มีเราจริงๆ ได้ยังไง

บางคนฟังสุญญตา ฟังเรื่องความว่าง ก็ไปทำให้จิตมันว่างแทน ไปทำให้จิตว่างไม่ใช่ความจริง โลกนี้ว่างจากความหมายแห่งความเป็นคน ว่างจากความหมายแห่งความเป็นสมมติ สิ่งต่างๆ นั้นมีอยู่แต่ไม่มีน้ำหนักหรือความหมายหรือความมีอยู่ของสิ่งๆ นั้นจริงๆ

เหมือนเราอยู่ที่นี่ เราเห็นภูเขาทุกวัน เรามองไปที่ภูเขา เราเห็นภูเขาจริงๆ ใช่ไหม มีภูเขาจริงๆ ใช่ไหม ใครจะบอกเราว่ามันไม่มีภูเขา มันจะเป็นไปได้ยังไง คำว่าโลกว่างจากความเป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา มันก็เหมือนเราเห็นภูเขา แต่ไม่มีภูเขา ผมจะพยายามเปรียบเทียบ…เหมือนเรามีกระดาษใบหนึ่ง แล้วเราก็เอาดินสอมาวาดเส้น 2 เส้นโค้งโค้งชนกันตามที่เราเคยวาดตอนเด็กๆ เราก็ดูปุ๊บ เราก็รู้ว่ามันคือภูเขาใช่ไหม แต่มันไม่ใช่ภูเขาจริงๆ ใช่ไหม มันมีเส้นอยู่ มีสัญญาความจำได้อยู่ แต่เรารู้ว่าจริงๆ มันไม่ใช่ภูเขา นี่คือความหมายของการที่เราจะเห็นว่าโลกนี้ว่างจากความเป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา ไม่ใช่จิตว่าง

แต่สมัยนี้เอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาตีความผิดเพี้ยน จงมองโลกนี้เป็นของว่าง คือทำจิตให้มันว่างซะเลย บางคนก็ฝึกเห็นอะไรก็ไม่ให้มีสมมุติเกิดขึ้น คือไม่ให้มีสัญญาเกิดขึ้น มันจะได้ว่าง เนี่ยการปฏิบัติผิดๆ ในประเทศไทยนี่มีเยอะ

เราชอบฟังธรรมะลึกซึ้งแต่ไม่รู้เรื่อง อย่างที่ผมพยายามอธิบายทั้งหมดนี้ ผมถามว่ารู้เรื่องไหม มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะรู้เรื่อง เพราะฉะนั้น อย่าพยายามฟังธรรมะที่ดูลึกซึ้ง ลึกลับ ดูขั้นเทพ แล้วพยายามทำสิ่งๆ นั้นขึ้นมา เรามีหน้าที่แค่รู้สึกและรู้ทัน เรียนรู้ความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นในกายและใจนี้ไปเรื่อยๆ แล้วสิ่งที่ผมอธิบายทั้งหมดที่ยากๆ เมื่อกี้นี้ ดูขั้นเทพ ดูลึกซึ้ง มันจะปรากฏแก่ใจเราเอง

ความจริงนี้มีอยู่แล้ว มันแค่รอเราค้นพบ ต้องใช้เวลา ใช้การปฏิบัติที่ถูกต้อง อดทนต่อการปฏิบัติง่ายๆ แบบนี้ ไม่มีอะไรหวือหวาในชีวิตการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง มีแต่เรื่องน่าเบื่อที่ต้องอดทน

พระพุทธเจ้าบอกว่า “เราทุกคนเป็นผู้แบกของหนักพาไป” เราเคยรู้ไหมว่าเราแบกของหนักอยู่ตลอดเวลา เราเคยสังเกตไหมเราแบกอะไรไว้บ้าง พระพุทธเจ้าบอกว่า เราเป็นผู้แบกของหนักพอไป คือ ขันธ์ 5 นี้ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าแปลเป็นไทยง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่เราแบกกันมากที่สุดคือ “ความคิด” เมื่อเราคิดแล้ว ก็ตามมาด้วยการแบกความกังวล แบกความสงสัย สงสัยไหมเขาคิดยังไงกับเรา เราพูดอย่างนี้ไปเขาจะคิดยังไง เขาพูดอย่างนี้มาแปลว่าเขาคิดอะไร มีไหม พอสงสัยเสร็จก็ต้องกังวล เคยเห็นไหมว่าเราแบกของพวกนี้อยู่ตลอดเวลา หนักไหม พระพุทธเจ้าโกหกไหมว่าเราเป็นผู้แบกของหนักพาไปทั้งชีวิต หรือเราว่าไม่หนัก เบาสบายดี

ความพ้นทุกข์ก็คือ การพ้นภาระเหล่านี้แหละ เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งเราจะพ้นจากภาระเหล่านี้ได้ พ้นจากการแบกของหนักพาไปเหล่านี้ได้ เราทุกคนมีโอกาสพ้นได้ มันอยู่ที่ว่าเราอยากจะพ้นหรือเปล่า ไม่ต้องกลัวว่าเราจะคิดไม่เป็น ถ้าบอกว่าเลิกแบกของหนักแล้วเดี๋ยวจะคิดไม่เป็น ไม่ต้องห่วง ยังคิดเป็นเหมือนเดิม แต่จะคิดด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ เป็นกลาง คิดในแบบที่ไม่ต้องแบกอะไร

เหมือนเมื่อก่อนเราใช้ชีวิตแบกกระสอบข้าวสารอยู่ตลอดเวลา ถึงวันนึงถ้ามันหมดภาระ คือเราอาจจะมีรถอัตโนมัติรีโมทคอนโทรลแบกข้าวสารให้เราแทน เรายังกินข้าวได้อยู่เหมือนเดิม มันยังไปกับเราได้เหมือนเดิม แต่ไม่เป็นภาระของเราอีกต่อไป

 

ตอนที่ 3 เรียนรู้ความจริง

เวลาเราฟังครูบาอาจารย์สอน บางทีเราได้ยินคำพูดว่า เราวางหมดแล้ว ปล่อยวางหมดแล้ว หมดภาระแล้ว จบกิจแล้ว เรานึกว่ามีอะไรพิเศษพิสดารดูเป็นซุปเปอร์แมนอุลตร้าแมน คำพูดต่างๆ ทั้งหมดมันก็เป็นแค่สมมุติเฉยๆ เช่น เราฟังคำว่าปล่อยวาง กิริยาปล่อยวาง…เราก็เอามาเป็นการปฏิบัติ เนี่ยเราชาวพุทธนักปฏิบัติธรรมเข้าใจอะไรผิดกันหลายแง่หลายมุมมาก มากจนตามแก้กันไม่หวาดไม่ไหว ทั้งหมดเป็นผล

หลักการปฏิบัติเพื่อจะถึงผลนั้น มีหลักเดียวคือ เรามีหน้าที่เรียนรู้ชีวิตนี้ที่เรียกว่ากายและใจ รวมถึงสิ่งประกอบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากกายและใจนี้ตามความเป็นจริง จำหลักนี้ให้แม่น ถ้าเมื่อไหร่มันไม่ใช่การเรียนรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้าตามความเป็นจริง นั่นแปลว่าเรากำลังทำอะไรเข้าแล้ว เรากำลังจะเกิดขึ้นแล้ว

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียวที่เกี่ยวข้องกับความจริง เวลาเรานึกถึงศาสนาอื่นๆ เรานึกถึงอะไร เรานึกถึงพระเจ้าของเขา เรานึกถึงสิ่งที่เรียกว่าดี เรานึกถึงสิ่งที่เรียกว่าบุญ เวลาเรานึกถึงองค์กรอะไรสักอย่างหนึ่ง มันจะมีสัญลักษณ์ความหมายที่เราจะนึกถึงได้ในองค์กรนั้น เรานึกถึงคนคนนึงขึ้นมา เราจะนึกถึงนิสัยเขาหรืออะไรก็ตามที่มันเด่นในตัวคนคนนั้น แต่ถ้าเรานึกถึงศาสนาพุทธและถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราทุกคนต้องนึกถึงความจริง ความจริงที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง

ความเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่คนธรรมดาคนหนึ่งค้นพบได้ คนที่ค้นพบได้ที่เรียกว่า “พระพุทธเจ้า” และคนอีกหลายคนที่ค้นพบได้ที่เรียกว่า “พระปัจเจกพระพุทธเจ้า” และคนอีกหลายคนที่จะเห็นตามได้ที่เรียกว่า “พระสาวกของพระพุทธเจ้า

ความจริงนี้ไม่ขึ้นอยู่กับใคร มันมีอยู่แล้ว มันรอคนที่จะเรียนรู้ความจริงจริงๆ ก็จะได้พบความจริงที่แท้จริง

ตอนที่ 4 ความจริงคืออาหารของจิตใจ

ความจริงอยู่ที่ไหน อยู่ที่กายที่ใจเรานี้ เรียนรู้มันลงไป มันกำลังเป็นอะไร มันกำลังเกิดอะไร อารมณ์ความรู้สึกใดๆ เกิดที่ไหน เกิดที่จิตใจนี้หรือเกิดที่เรา ความเจ็บป่วยทางร่างกายใดๆ เกิดขึ้น มันเกิดที่ไหน มันเกิดที่ร่างกายนี้หรือเกิดที่เรา แยกให้ออก ค่อยๆ แยกออกว่ามันเกิดที่ไหนกันแน่ แล้วที่ที่มันเกิดเนี่ยมันใช่เราไหม

ผมหงอกเนี่ย มันหงอกที่ไหน มันหงอกที่ผม ผมใช่เราไหม ตัดทิ้งได้ไหม ทำไมตัดทิ้งได้ อ่อ ไม่ใช่เรา เคยได้ยินไวรัสอะไรที่มันกินเนื้อคนไหมตอนนี้ หมอบอกต้องตัดขาทิ้ง ถ้าไม่งั้นตาย ตัดไหม…ตัดนะ ขาไม่ใช่เรา เรายังอยู่…ตัดได้

พิจารณาไปเรื่อยๆ วันนึงจะรู้ว่า เราอยู่ไหน เราคือใครกันแน่ เราอยู่ตรงไหน หรือว่าไม่มีเรา เคยหาไหมเราอยู่ตรงไหน อยู่ที่หัวไหม อยู่ที่แขนไหม อยู่ที่เล็บไหม อยู่ที่หน้าไหม ลองหาดูซิว่าเราอยู่ที่ไหน เชื่อไหมว่าเราหาไม่เจอ ให้กลับไปนั่งคิดทั้งคืนเลยคืนนี้ เราเป็นใครกันแน่ เป็นคำถามที่ชวนหาคำตอบ

วันนี้ถ้ามีคนเดินมาบอกเราว่า เชื่อไหมว่าไม่มีเราจริงๆ เราคงด่าไอ้คนนั้นว่ามันบ้าแล้วมาพูดอย่างนี้ เราไม่รู้เลยนะว่าตัวเองเป็นคนบ้าที่เชื่อว่ามีเราจริงๆ พอถามว่าเราอยู่ที่ไหน…ตอบไม่ได้

มีใครตอบได้ไหมว่าเราอยู่ที่ไหน บางคนที่เริ่มค้นคว้าอาจจะตอบไปว่า “เราอยู่ที่ความคิด” เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นว่าถ้ารูปร่างแบบนี้ นิสัยแบบนี้ คาแรคเตอร์แบบนี้ หน้าตาแบบนี้นี่แหละคือเรา มันต้องมีความคิดก่อน แต่พวกเรายังเป็นความคิดที่ผิด คือความเห็นผิดว่ามีเราจริงๆ พอเรารู้แล้วว่าอยู่ที่ความคิด แต่ยังเห็นผิดอยู่ว่ามันมีเราจริงๆ แต่ผู้ที่เห็นถูก ก็ใช้คำพูดแทนตัวเองว่าเราเหมือนกัน แต่รู้ว่าไม่มีเราจริงๆ มันเป็นแค่คำพูด เป็นแค่สรรพนาม

เพราะฉะนั้น ผมจะฝากเอาไว้สำหรับคนที่มาใหม่ ความจริงของคนคนหนึ่งที่เรากราบไหว้ทุกวันที่บ้านที่ชื่อว่าพระพุทธเจ้า ท่านบอกเราว่า “แท้จริงแล้วโลกนี้ว่างจากความเป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา ไม่มีเราจริงๆ” ฝากความจริงนี้ไว้ในใจของเราทุกคน

เราเริ่มจากการเรียนรู้ความจริงของกายและใจที่มีอยู่นี้ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ เรียนรู้อย่างอดทน เรียนรู้ของเดิมๆ อย่างอดทน จนความจริงอันแรกปรากฏขึ้นคือเราเห็นโลกนี้ว่างจากความเป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา แล้วเราก็ยังต้องเห็นความจริงต่อไปอีกอย่างอดทน ความจริงคืออาหารของจิตใจนี้ ความเจริญเติบโตทางจิตวิญญาณนี้กินอาหารคือความจริง กินอาหารที่ชื่อว่าปัญญา

เห็นตามความเป็นจริง มันจะเติบโตขึ้น เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนมันเติบโตเต็มที่ครูบาอาจารย์ก็เคยบอกไว้ว่า “เหมือนลูกไก่ที่เติบโตเต็มที่ก็จะเจาะเปลือกไข่ออกมาเอง” มันเติบโตเต็มที่มันจะสลัดคืนอาสวะกิเลสทั้งหลายที่ห่อหุ้มอยู่ จะหลุดพ้น เป็นอิสระ กลับคืนสู่ธรรมชาติเดิม ธรรมชาติที่ไม่มีอะไรสามารถที่จะปรุงแต่งได้อีกต่อไป ธรรมชาติที่ไม่สามารถถูกปรุงแต่งได้อีกต่อไป

ทั้งเส้นทางของการนำไปสู่ความหลุดพ้นนี้อาศัยการเรียนรู้ชีวิตนี้ตามความเป็นจริง เมื่อเราอยู่บนหลักของการรู้เห็นชีวิตนี้ตามความเป็นจริง เรากำลังเจริญสติ กำลังเจริญสมาธิ กำลังเจริญปัญญา กำลังเจริญอริยมรรคอยู่ ยอมมาเหลือแค่เรากำลังเรียนรู้ชีวิตนี้ตามความเป็นจริง แล้วทุกอย่างจะเป็นเอง

 

15-12-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/F4kLEPySSvs

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://lin.ee/hHJprqr

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
https://camouflagetalk.podbean.com/