167.วิถีชีวิตใหม่ : 13 เรียนรู้…ทุกข์

ตอนที่ 1 เรียนรู้ทุกข์

เราเคยเห็นไหมว่าสิ่งที่น่ายินดีพอใจนี้เป็นทุกข์

ถ้าเราปฏิบัติธรรมและมีมุมมองที่เรียกว่า “มีความหมายรู้ที่ถูกต้อง” คือสัญญานี้ไม่วิปลาสแล้ว เราจะเห็นทุกสิ่งแสดงความทุกข์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เรายินดีพอใจก็ตาม มันแสดงความบีบคั้น

ถ้าไม่เชื่อเดี๋ยวลองดู…ผมให้ทุกคนนึกถึงอะไรก็ได้ คน ของกิน สิ่งของอะไรก็ได้ที่เรารักมาก ที่เราชอบมาก ของสวยของงามอะไรก็ได้ที่เรานึกถึงแล้วเราอยากจะดู อยากจะฟัง อยากจะใกล้ชิด อะไรก็ได้ที่มันดึงดูดเรา ให้เราลองนึกถึงสิ่งๆ นั้น หรือถ้าใครไม่มีเลยก็นึกถึงคนที่เราเกลียดแล้วกัน ก็คล้ายๆ กัน นึกออกแล้วใช่ไหม

พอเรานึกถึงคนๆ นั้น สิ่งๆ นั้น เป็นยังไง มีแรงดึงดูดให้เราคิดอีกไหม มีแรงดึงดูดทำให้เราอยากไปพบ ไปเจอ ได้รับรสชาติ หรืออะไรก็ตามทีไหม ลักษณะนี้คือมันบีบคั้น เป็นทุกข์แล้ว แต่เราไม่เข้าใจ เรานึกถึงคนที่เรารัก คิดถึงสิ่งของที่เราชอบกิน คิดถึงสถานที่ที่เราอยากไป เราต้องไปถึงที่นู่นนั่นคือความสุข เรารู้สึกว่าเราได้ความสุข เราไม่เห็นตอนเราถูกบีบคั้น จนกว่าเราจะไปถึงที่นั่น เราไม่เห็นว่าจิตนี้บีบคั้น ความอยากเกิดขึ้นต่อมา หรือความไม่อยากที่จะคิดถึงคนที่เกลียดที่ไม่อยากเจอเกิดขึ้นต่อมา เราจะบอกว่าชีวิตเราไม่มีทุกข์ได้ยังไง “ชีวิตนี้มีแต่ทุกข์” แม้จะเป็นเรื่องที่เราคิดว่าเป็นความสุข มันก็เป็นทุกข์ มองเข้าไปให้มันลึกซึ้ง เห็นเข้าไปที่จิตใจ ไม่ใช่ไปอยู่ที่สิ่งที่เราชอบ “ให้เห็นว่าถูกบีบแล้ว

เราเป็นคนอยู่ในโลก ที่สามารถทำตามความอยากได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่จะไม่เห็นว่าถูกบีบคั้นกัน พออยากปุ๊บเราก็ไปเลย พระพุทธเจ้าบอกว่า “ห้วงน้ำที่เสมอด้วยตัณหานี้ไม่มี” แต่ถ้าเราเป็นพระเป็นแม่ชี เราจะเห็นโทษของความอยากมาก ชอบอะไรเข้าแล้ว อยากอะไรเข้าแล้ว แต่ทำไม่ได้ มันบีบคั้นหัวใจเหลือเกิน เลยเห็นโทษของความอยาก โทษของความไม่อยากได้ง่ายๆ

แต่ถ้าเห็นลึกเข้าไปอีกคือ มันมีความยินดีพอใจ มีความไม่ยินดีไม่พอใจก่อนหน้า เรายังมีความชอบไม่ชอบก่อนหน้า มันเลยเกิดความอยากและไม่อยากตามมา นักปฏิบัติธรรมเราจะเห็นแบบนี้ เราจะเห็นสภาพใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นแสดงความเป็นทุกข์อยู่ในตัวมัน

แต่นักปฏิบัติธรรมบางคนเมื่อจิตใจคิดถึงใคร คิดถึงของกินอะไร พอติดอะไรปุ๊บก็รีบตัดทิ้ง รีบตัดทิ้ง ปล่อยวาง ปล่อยวาง แบบนี้คือไม่ได้ปฏิบัติธรรมเลย “จะเอาแต่ดี” เอาแต่ของที่ไม่ทุกข์ มันก็เหมือนกับเซนที่มีบทหนึ่งบอกว่า “มีกระจกแล้วก็มีฝุ่น แล้วก็คอยเช็ดฝุ่นทุกวัน” เรามัวแต่ทำแบบนั้นคือคอยเช็ดฝุ่นทุกวัน เกิดอะไรขึ้นที่ดูไม่ดี เราตัดทิ้ง ปล่อยวาง จัดการแทรกแซงให้มันดี เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ว่าการปฏิบัติแบบนี้ไม่ได้เรียกว่าการปฏิบัติธรรม เพราะเราไม่ได้เรียนรู้ว่าเมื่อสภาวะใดๆ เกิดขึ้นมันเป็นทุกข์ยังไง เราเอาทิ้งซะก่อน พอเราเอาทิ้งได้ เราก็เลยไม่ได้เรียนรู้ว่า โลกนี้เป็นทุกข์…มันเป็นยังไง กายและจิตนี้เป็นทุกข์…มันเป็นยังไง

ความไม่ยึดติด ความปล่อยวางเกิดขึ้นจากจิตที่มีปัญญาแล้ว คือรู้เท่าทันว่าความจริงของมันนั้นเป็นทุกข์ จิตนี้จะปล่อยของเขาเอง ไม่เกี่ยวกับเรา เพราะฉะนั้น เห็นแบบนี้ เห็นไปในมุมแบบนี้ เรียกว่าการปฏิบัติธรรม

ถ้าให้เราลองคิดง่ายๆ ในห้องนี้ผู้หญิงเยอะให้ลองคิดถึงณเดช คิดถึงณเดช อยากเป็นแฟนณเดช ชอบณเดช แบบนี้ก็บีบคั้นแล้ว ตอนที่เราเป็นแฟนคลับดาราสักคนนึง เป็นยังไง อยากเจอ อยากได้ลายเซ็นต์ มันบีบคั้น ทุกข์นะ แต่พอเราเจอจริงๆ อู้ย ไม่ทุกข์ ได้ความสุขนะ เจอปุ๊บก็กรี๊ดๆๆ เราเห็นแต่สุข เราไม่เห็นว่ามันเป็นทุกข์ ถ้าใครเป็นผู้ชายก็นึกถึงญาญ่าแล้วกันนะ เพราะฉะนั้น เห็นแบบนั้น เห็นว่าจิตใจนี้จะถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา บีบให้ไปทางโน้น บีบให้ไปทางนี้ บีบทั้งวัน

แต่พอเราฟังแบบนี้ แล้วรู้ว่าเพราะยินดียินร้ายเป็นเหตุให้เกิดความอยากความไม่อยาก ไม่ใช่เราเข้าใจผิดอีกนะ ไปทำเป็นซื่อบื้อไม่ยินดีไม่ยินร้ายกับอะไรเลย แบบนี้จะกลายเป็นซอมบี้ขึ้นมาใหม่อีก

เรามีหน้าที่ “แค่รู้ทัน” เมื่อความยินดียินร้ายเกิดขึ้นแล้ว ถ้าไม่ทันก็รู้ความอยากความไม่อยากเกิดขึ้นแล้ว รู้อันไหนก็ได้เท่าที่เราจะรู้ได้ในตอนนั้น ถ้าไม่ทันอีกก็รู้โทสะราคะเกิดขึ้นแล้ว ก็รู้ไปเรื่อยๆ

อย่าไปคาดหวังว่าเราปฏิบัติธรรมแล้วจะไม่โกรธ ไม่หงุดหงิด ไม่อยาก เราคาดหวัง…ซึ่งไม่ควรจะคาดหวัง เราแค่มีหน้าที่รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะนี้ เราทำได้แค่นั้น ส่วนความคาดหวังในแบบที่กล่าวมาเราต้องรอให้อริยมรรคอริยผลเกิด ทำลายสังโยชน์ ทำลายกิเลส จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ทำลายหรอก แค่หลุดพ้นจากมัน หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งหลาย เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบไว้ว่า “เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบัว” คือมันไม่ติด กิเลสทั้งหลายติดกับจิตนี้ไม่ได้แล้ว มันสลัดออกหมดแล้ว

ที่ผมบอกว่าให้เราลองคิดถึงสิ่งที่เราชอบ คนที่เราชอบ คนที่เราเป็นห่วงก็ได้ คนที่เราเกลียดก็ได้ เราจะรู้สึกไหมว่ามันติดเลย มันมีแรงดึงดูดเลย ติดเลย พระอรหันต์นึกถึงอะไร ท่านก็ไม่ติด เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบัว ถ้าติดอะไรอยู่ก็ต้องเป็นทุกข์ มันมีน้ำหนัก มันมีภาระ

เพราะฉะนั้น ที่เราหวังจะหมดความโกรธ หมดกิเลส สิ้นกิเลส ดับกิเลสตามที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ เราต้องรับรู้ว่า เรากำลังต้องเดินทางไกล ต้องใช้เวลา มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อาศัยความเสียสละชีวิตของเรา เพื่อทำงานนี้ งานที่จะนำเราไปสู่ความหลุดพ้น ไม่ใช่งานเล่นๆ

เราปฏิบัติธรรมด้วยการรู้เท่าทันความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในจิตนี้ มันติดก็รู้ว่ามันติด อย่าไปสร้างภาพว่ามันไม่ติด เราหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันจะเนียน เรานึกว่าเราไม่ติดจริงๆ ติดก็เรียนรู้ว่ามันติด แล้วมันเป็นยังไง มันทุกข์แบบไหน มันบีบคั้นยังไง เรียนรู้จนเห็นโทษของมัน เห็นโทษเห็นภัยของมัน จิตใจจะมีปัญญาแล้วจะปล่อยวางเอง ไม่ใช่ไปจัดการไปยุ่งย่ามกับมัน

 

ตอนที่ 2 เริ่มใหม่

เวลาที่เรามีเวทนาเกิดขึ้น แรกๆ เราก็เห็นมันได้ เห็นอาการของความเจ็บความปวด เห็นเฉยๆ ได้ เห็นลีลาอาการพฤติกรรมของมันได้ แต่พอนั่งนานไปความปวดความเมื่อยมันหนักขึ้นเรื่อยๆ เราเห็นไม่ได้แล้ว เราเข้าไปเป็นแล้ว ต้องขยับ ปรับเปลี่ยน เพราะการเข้าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นไม่ใช่ทางแล้ว ให้ “เริ่มใหม่

เหมือนเรานั่งแล้วจะหลับ เราก็ต้องปลุกให้มันตื่นขึ้นมา “เริ่มใหม่” ไม่ใช่อดทนเป็นวัวเป็นควายนั่งไปเรื่อย เราไม่ได้เข้าฌาน เราทนไม่ได้หรอก คนเข้าฌานเขาเอาจิตไปอยู่อีกที่นึงได้ ส่วนเราไม่บังคับ เราเห็นตามความเป็นจริง

ถ้าใครเคยเข้าคอร์สหลวงพ่อมหาดิเรกเนี่ยจะรู้เลยว่า เวลานั่งแบบนี้ท่านให้เปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 5 นาที ท่านต้องการให้ทุกคนตื่น ตื่นอยู่ตลอด ไม่เคลิ้ม ไม่หลับ

ท่าทางที่จะทำให้เราตื่นคือ “ตั้งกายตรง” เชิดๆ เข้าไว้มันจะไม่ค่อยหลับ ความง่วงเหงาหาวนอนก็เป็นนิวรณ์ เราจะสังเกตว่าถ้าเรานั่งแล้วไม่เคลิ้มจากเดิมที่เคยเคลิ้ม เราลองดูว่ามันเปลี่ยนไปได้ยังไง มันเปลี่ยนไปได้เพราะว่าเรามีสติที่ตั้งมั่นที่จะดูจิตใจนี้อยู่ตลอด เราเลยไม่ตกเป็นเหยื่อของมัน

ที่ผมบอกว่าให้ตื่น ให้ตื่น มันจะเป็นการบังคับเราไปในตัว ว่าเราต้องหาทางจะทำยังไง วิธีไหน พอเราเริ่มรู้ว่าเมื่อจิตมันสงบปุ๊บ มันจะเคลิ้ม เราก็ต้องรู้ทันมันก่อน เราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อมัน ก็กลายเป็นว่าเราต้องดูจิตอยู่ตลอดเลย มันก็เลยกลายเป็นการปฏิบัติเข้มไปในตัวอัตโนมัติ เราต้องรู้จิตอยู่ตลอดเลยว่ามันเป็นยังไง ปฏิบัติเข้มคือแบบนี้ ไม่ใช่ไปลำบากเข้าป่าเข้าดง ปฏิบัติเข้มอยู่ที่จิตนี้

พอเราเข้าใจแก่น เราจะรู้หมด เรารู้หมดอะไรถูกอะไรผิด อะไรใช่อะไรไม่ใช่ การปฏิบัติอยู่ตรงไหนกันแน่

 

03-12-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/t8sY5UxkxpY

คอร์สปฏิบัติธรรมวิถีชีวิตใหม่ 30 พย – 4 ธค 2562

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://lin.ee/hHJprqr

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
https://camouflagetalk.podbean.com/