164.วิถีชีวิตใหม่ : 10 กิ่งหรือแก่น

ตอนที่ 1 ไม่มีประนีประนอมกับความเห็นผิด

พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตากรุณาต่อสัตว์โลก แต่ท่านเคยบอกว่ามีสิ่งหนึ่งที่ท่านยอมไม่ได้เลย คือท่านยอมไม่ได้กับ “มิจฉาทิฏฐิ” ของคนแต่ละคน ท่านยอมไม่ได้กับความเห็นผิดของคนแต่ละคน

ถ้าเราเคยศึกษาหรือเคยดูหนังพระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก เราจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าต้องคอยไปต่อกรกับสำนักต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไปโต้วาทีกับพวกพราหมณ์ที่สมัยนั้นเป็นศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย

เวลาพระพุทธเจ้าพูดไปบางคนก็อธิบายออกมาว่า “ฟังคำพูดของท่านแล้ว เหมือนโดนตบหน้า” นี่เป็นคำชมนะ เหมือนถูกตบหน้าให้ตื่นขึ้นมา คำว่าถูกตบหน้านั้นแสดงความรู้สึกว่า คำพูดของพระพุทธเจ้านั้นเหมือนเราโดนแทงจนพรุน แต่กับคนบางจำพวกพระพุทธเจ้าพูดไปแล้วเขาก็โมโห หาว่าไปด่าไปว่าเขา ยิ่งโกรธแค้นพระพุทธเจ้าหนักกว่าเดิม

คนสองคนก็รับข้อมูลเดียวกัน แต่ตอบสนองไม่เหมือนกัน ส่วนพระพุทธเจ้าทำหน้าที่เดียวคือ “พูดความจริง” จะถูกใจไม่ถูกใจใครไม่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า แต่ท่านมีหน้าที่พูดความจริง ท่านมีหน้าที่ล้างความเห็นผิดที่มีอยู่ในหัวใจของคนๆ นั้น

ผมเองก็ทำหน้าที่แบบนั้น ผมไม่สามารถประนีประนอมกับความเห็นผิดได้ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าก็ใช้คำนี้ว่า “เราไม่สามารถประนีประนอมกับความเห็นผิดได้” เราประนีประนอมได้ทุกเรื่องยกเว้นเรื่องนี้ เพราะมันคือต้นขั้วของความผิดพลาดของมวลมนุษยชาติทั้งชีวิต

เพราะฉะนั้น พวกเรานักปฏิบัติธรรมไม่ใช่คิดว่าแค่เราปฏิบัติธรรม รู้สึกตัว รู้ทันจิตไปคิด หันมาดูจิตใจบ่อยๆ แค่นั้น มันไม่ใช่แค่นั้น ระหว่างทางที่เราปฏิบัติธรรมสิ่งสำคัญที่สุดอันนึง คือ เราต้องล้างความเห็นผิดของเราด้วย

เหมือนที่ผมบอกว่า “ร่างกายนี้นั่งอยู่หรือว่าเรานั่งอยู่” เรามีมุมมองใหม่ในการเห็นชีวิตนี้แล้วหรือยัง หรือปฏิบัติไปก็เป็นเรานี่แหละปฏิบัติ เป็นชีวิตของเราเหมือนเดิม เราปฏิบัติธรรมเพื่อจะพ้นจากความเป็นตัวตน แต่ให้ปล่อยความคิดความเชื่อว่ามีเราจริงๆ เป็นเบื้องต้นก่อน ทำไม่ได้

เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าการที่ต้องฟังมุมมองต่างๆ ที่เป็นความเห็นผิดทั้งหลายที่ผมพูดไป 2 วันที่ผ่านมานี้ไม่จำเป็น…จำเป็นมาก เพราะถ้าเรามีทิฏฐิยังไม่ถูกตรง เมื่อตัดสินใจทำอะไรในชีวิตที่ถูกตรงไม่ได้ เราจะเป็นชีวิตที่เก้ๆ กังๆ ค้างๆ คาๆ อยู่อย่างนั้นแหละ

ไม่ต้องคิดว่ามันจริงไหมก็ได้ หลายคนในที่นี้ปฏิบัติธรรมมานานแล้วลองย้อนกลับไปในอดีตของตัวเองจนถึงวันนี้เป็นยังไง ลองพิจารณาด้วยตัวเอง

 

ตอนที่ 2 กิ่งหรือแก่น

เช้านี้ตื่นขึ้นมาเรายังคงเหมือนเดิมไหม เร่งๆ รีบๆ ลืมเนื้อลืมตัว ลืมกายลืมใจ หรือเรามีวิถีชีวิตใหม่แล้ว ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวก็รู้สึก จิตใจตื่นขึ้นมาเป็นยังไงก็รู้ ร่างกายกำลังอยู่ในท่าไหนก็รู้ ได้เริ่มหรือยังกในวิถีชีวิตใหม่

ตอนยืนแปรงฟัน แต่ก่อนเคยคิดไปเรื่อยเปื่อย ได้เปลี่ยนเป็นเห็นร่างกายมันแปรงฟันไหม เห็นร่างกายมันยืนอยู่ไหม เห็นมือที่มันขยับไหม หรือว่ายืนคิดเรื่องอื่นไปเรื่อยเปื่อย

ตอนเดินมาที่หอธรรม เห็นร่างกายมันเดินไหม

ตอนยืนคุยกับคนอื่น เห็นร่างกายมันยืนไหม

ขึ้นมากราบพระ เห็นร่างกายมันคุกเข่า มันก้มลง…เห็นไหม

จิตใจเป็นยังไงรู้อยู่ไหม มันมีอาการเคลื่อนไหวเป็นแปลงยังไงรู้อยู่ไหม เราหัดสังเกตพฤติกรรมของมัน มันไม่อยู่นิ่งหรอก

เวลามีความปวดเมื่อยเกิดขึ้น ความเจ็บปวดเกิดขึ้นหรือความเจ็บป่วยเกิดขึ้น เคยเห็นมันเป็นอีกสิ่งหนึ่งไหม แรกๆ เราจะจมเข้าไปก่อน แล้วพอมีสติเห็นมันขึ้นมา มันจะเกิดการถอดถอนตัวออกมา มันจะเกิดพฤติกรรมแบบนั้นที่เรารู้สึกได้ว่ามีการถอยออกมา ถอนออกมา แยกออกมา…ลองดู

เหมือนบางคนคิดว่าเวลาปวดปุ๊บ ห้ามขยับ ผมไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมขยับ แต่ผมเห็นอาการที่เรียกว่าความปวดเมื่อยนั้นแสดงอาการเปลี่ยนแปลง พอขยับมันก็ไม่ได้หายหมดแต่เปลี่ยนเป็นอีกแบบนึง พอวางมันนิ่งอยู่กับที่มันก็เป็นอีกแบบนึง ให้เราสังเกตว่าพฤติกรรมของการปวดมันก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

หัวใจสำคัญของการปฏิบัติธรรมที่เราทุกคนต้องเข้าใจจำไว้ให้แม่น มันคือ การเรียนรู้ทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกายและใจนี้ตามความเป็นจริง ถ้าเรารู้หลักอันนี้เราจะรู้ว่า ทำอะไรก็ได้ ไม่ใช่ต้องนั่งห้ามขยับ ต้องให้ความปวดหายไปถึงจะปฏิบัติดี

เราต้องเข้าใจหัวใจการปฏิบัติธรรมให้แม่น เราเข้าใจแก่นอันเดียวเนี่ยเราจะพลิกแพลงการปฏิบัติได้ทุกรูปแบบไร้กระบวนท่า แล้วเราจะไม่ไปติดอยู่กับกิ่งก้านสาขาเปลือก อุบาย เราจะไม่ตกหล่มแบบนั้น

เหมือนมีหลวงพี่ท่านนึงเล่าว่า ท่านปฏิบัติดีมากในพรรษาที่แล้ว ผมฟังแล้วก็พูดไม่ออก เพราะว่าท่านหลุดออกจากแก่น แต่หลังจากที่ท่านได้พิจารณา ท่านก็มาเล่าให้ฟังว่า ท่านไปอยู่ที่กิ่งไม้ แล้วก็ไต่อยู่ที่กิ่งนั่นแหละ ไต่จนสุดกิ่งก็นึกว่าสุดยอดแล้ว เนี่ยท่านเปรียบเทียบได้ดี ท่านบอกว่า ท่านวนอยู่ที่กิ่งอยู่นั่นแหละ

เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจแก่น แล้วถ้าเราจะไปเล่นอยู่ที่กิ่งบ้าง เราก็รู้ว่านี่เรียกกิ่ง เราจะวนมาที่กะพี้ มาที่เปลือกบ้าง เราก็รู้ว่าตอนนี้เราอยู่ที่กะพี้ อยู่ที่เปลือก ถ้าเรารู้อะไรเป็นอะไร เราทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นแหละ

แต่เวลาที่ผมต้องบอก ต้องเตือนแรงๆ เพราะมันคิดว่ากิ่งเป็นแก่น แต่ถ้ารู้แล้ว จะเป็นไปโหนกิ่งเล่นก็ไม่เป็นไรหรอก ก็รู้ว่าโหนเล่นอยู่ แต่รู้ว่าไม่ใช่แก่น

เหมือนเวลาเราปฏิบัติธรรมบางทีเราต้องทำสมถะเพ่งในอารมณ์อันเดียว พักจิตพักใจ แต่รู้ว่านี้เป็นสมถะ เราจะใช้อุบายอะไร ก็รู้ว่าเป็นอุบาย ไม่ได้เข้าใจว่านี่เป็นแก่น

เราจะนั่งไม่ขยับเลย ฝึกความอดทนเล่นก็ได้ ถ้ารู้ว่ามันไม่ใช่แก่น ถ้าเรารู้จักอะไรเป็นอะไรเนี่ย มันก็ได้หมด

ความปวดความเมื่อยมันก็เป็นเพียงสักว่าความรู้สึกอันหนึ่ง ก่อนจะปวดจะเมื่อยเราก็มีความรู้สึกใช่ไหมว่ามันมีอาการบางอย่างเกิดขึ้น มันก็อยู่ในประเภทเดียวกัน ก็สักว่าเป็นความรู้สึกอันหนึ่งที่เกิดขึ้น เราลองใช้มุมมองแบบนี้ เราจะถอดถอนออกมาจากความปวดได้ง่ายขึ้น

 

03-12-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/9vnC2dZn_hQ

คอร์สปฏิบัติธรรมวิถีชีวิตใหม่ 30 พย – 4 ธค 2562

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://lin.ee/hHJprqr

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
https://camouflagetalk.podbean.com/