163.วิถีชีวิตใหม่ : 9 สติปัฏฐาน 4 … 3 ข้อ Forever

ตอนที่ 1 สติปัฏฐาน 4

สำหรับคนที่ไม่ได้เข้าคอร์สซ้อมรบคราวที่แล้ว เวลาผมพูดซ้อมรบ อาจจะไม่เข้าใจ ซ้อมรบก็คือ หลัก 3 ข้อForever ของผมที่ให้ทุกคนใช้ในชีวิตการปฏิบัติธรรม ข้อแรกคือ “รู้สึกตัว” ข้อ 2 คือ “พ้นจากโลกของความคิดปรุงแต่ง” ข้อ 3 คือ “หันกลับมาดูจิตใจบ่อยๆ” นึกขึ้นได้ก็หันมาดูจิตใจตัวเอง มีอารมณ์ความรู้สึกอะไรก็รู้ ปกติอยู่ก็รู้ ไม่ปกติก็รู้ ทั้งหมดที่เป็นหลัก 3 ข้อง่ายๆ นี้ เรียกยากๆ คือ “การเจริญสติปัฏฐาน 4”

รู้สึกตัว ก็คือ “กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน” มีหลายหมวด แล้วแต่เราเลือกที่จะรู้สึก ถ้าเรานั่งอยู่เราก็รู้ว่าร่างกายนี้กำลังนั่งอยู่ เรียกว่า “อิริยาบถบรรพ” ถ้าเรายืนอยู่เราก็รู้ชัดว่าร่างกายนี้กำลังยืนอยู่ ถ้าเราเดินอยู่ก็รู้ว่าร่างกายนี้กำลังเดินอยู่ ถ้าเรานอนอยู่ก็รู้ว่าร่างกายนี้กำลังนอนอยู่

ถ้าร่างกายกำลังนั่งอยู่แบบนี้และเราหายใจเข้าหายใจออก เราเห็นร่างกายนี้กำลังหายใจเข้า เห็นร่างกายนี้กำลังหายใจออก เรียกว่า “อานาปานสติบรรพ” เป็นการเห็นร่างกายนี้กำลังหายใจเข้า เป็นการเห็นร่างกายนี้กำลังหายใจออก ลมหายใจเข้าออกสั้นก็รู้ว่ามันหายใจเข้าสั้น ลมหายใจเข้ายาวก็รู้ว่ามันหายใจเข้ายาว รู้อย่างที่มันเป็น ไม่ใช่รู้ลม

ต่อมาเรานั่งอยู่แบบนี้ ที่เราคิดว่าเรานั่งนิ่งๆ มันนิ่งจริงไหม เดี๋ยวเราก็ขยับนิดขยับหน่อย เกานี้เก่านั้น บิดนิดบิดหน่อย เรียกว่า คู้ เหยียด เคลื่อนไหว กระพริบตา อ้าปาก เหล่านี้ เรียกว่า “สัมปชัญญะบรรพ

เพราะฉะนั้น รวมลงมาพูดกันสั้นๆ ก็คือ “รู้สึกตัว”

ร่างกายนี้กำลังเป็นยังไงอยู่…รู้ ร่างกายนี้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวก็รู้ ร่างกายนี้กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกก็รู้ ร่างกายนี้กำลังอยู่ในอิริยาบถไหนก็รู้ อิริยาบถที่เรารู้น้อยที่สุดคือตอนนอน นอนกำลังจะนอน มีใครเห็นร่างกายมันกำลังอยู่ในท่านอนไหม หรือมัวแต่คิดว่าจะทำยังไงดีให้นอนหลับ หรือนอนคิดเรื่องนู้นเรื่องนี้ไปเรื่อยจนนอนไม่หลับ

นี่คือการเจริญสติในหมวดที่เกี่ยวกับร่างกาย และย่นย่อลงมาเรียกง่ายๆ ว่า “รู้สึกตัว”

ข้อ 2 “พ้นจากโลกของความคิดปรุงแต่ง” ด้วยวิธีการรู้ทันจิตที่มันไปคิด จิตมันหลงไปคิดก็รู้ทัน หรือเรียกง่ายๆ ว่า “รู้” จิตมีอาการหลงไปออกไป ไปไหนต่อไหน ไปที่ขา ไปที่แขน ไปที่หัว ไปที่หลัง ไปที่ก้น…ก็รู้

ข้อ 3 “หันกลับมาดูจิตใจบ่อยๆ” จิตใจเป็นยังไงก็รู้ มันปกติก็รู้ มันผิดปกติก็รู้ ส่วนใหญ่ผมจะพูดแค่นี้ สติปัฏฐาน 4 ในหมวด “จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน” พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่า เมื่อจิตมีราคะก็รู้ว่ามีราคะ เมื่อจิตไม่มีราคะก็รู้ว่าไม่มีราคะ เมื่อจิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ เมื่อจิตไม่มีโทสะก็รู้ว่าจิตไม่มีโทสะ เมื่อจิตตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตตั้งมั่น เมื่อจิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น

ผมบอกว่าหันกลับมาดูจิตใจบ่อยๆ เมื่อจิตใจนี้เป็นปกติอยู่ก็รู้ว่ามันปกติอยู่ เมื่อมันผิดปกติซะแล้วก็รู้ว่าผิดปกติแล้ว เวลาจิตใจมีราคะมีโทสะ เรียกง่ายๆ ว่า จิตใจนี้ผิดปกติ เวลามันไม่มีราคาไม่มีโทสะ เรียกง่ายๆว่า มันปกติ

แต่ถ้าให้ผมมานั่งพูดสติปัฏฐาน 4 ให้ทุกคนฟังก็คงหลับกันเยอะกว่านี้ และถ้าผมบอกว่าหลักการเจริญสติมีแบบที่ผมอธิบายทั้งหมดเมื่อกี้นี้ พวกเราคงหลับและคราวหน้าคงไม่มาแล้ว

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมให้หลักเอาไว้ “3 ข้อ Forever” เน้นคำว่า “Forever” ด้วย เป็นหลักที่พวกเราทุกคนจะต้องใช้ทั้งชีวิต ไม่ว่าเราจะปฏิบัติดีแค่ไหนแล้วก็ตาม เราก็ยังต้องเจริญสติ

หลักๆ เราก็อยู่ในหมวดของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน พอ 2 อย่างนี้ที่เราคอยเจริญอยู่เรื่อยๆ มันจะขยายไปสู่ “เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน” คือ สุข ทุกข์ เฉยๆ เกิดขึ้นได้ก็รู้ จิตใจมีความสุขก็รู้ จิตใจมีความทุกข์ก็รู้ จิตใจเฉยๆ ก็รู้ มันก็เนื่องกันไป

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน” อยู่ในหมวดที่เราจะเริ่มเข้าใจว่า แต่ละอย่างแต่ละสิ่งแต่ละสภาวะที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้

ถ้ามีคนมาปฏิบัติธรรมใหม่ๆ แล้วฟังผมพูดวันนี้ ก็คงช็อคตาย ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี…ขอฟังอีกที เพราะฉะนั้น ผมจึงบอกให้เริ่มต้นที่ตรงนี้ “รู้สึกตัว จิตมันไหลไปคิดก็รู้ทัน แล้วหันกลับมาดูจิตใจบ่อยๆ จิตใจเป็นยังไงก็รู้” เอาสั้นๆ แค่นี้ แล้วเดี๋ยวการปฏิบัติของเรามันจะค่อยๆ ขยายออกๆ

แล้วพอผมพูดหลัก 3 ข้อเรื่อยๆ มันก็เริ่มเบื่อเพราะมันยาว คอร์สที่แล้วเราเลยย่นย่อเหลือแค่ “ซ้อมรบ” มีหน้าที่ซ้อมรบ

เพราะฉะนั้น เราทุกคนตอนนี้เข้าใจตรงกันนะ เข้าใจด้วยว่าหลัก 3 ข้อสั้นๆ ที่ผมบอกคือ การเจริญสติปัฏฐาน 4 ซึ่งเป็นทางสายเอกทางสายเดียวที่จะนำพาเราทุกคนไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นในที่สุด

 

ตอนที่ 2 หลักต้องแม่นมากกกกก

มีร่างกายที่กำลังนั่งอยู่รู้ไหม เป็นเรานั่ง หรือว่าเราเห็นร่างกายนี้มันนั่งอยู่ ต่อไปนี้เราจะต้องสังเกตตัวเองว่า เราถูกร่างกายและจิตใจนี้กลืนกินเราเข้าไปเป็นสิ่งเดียวกับมันแล้วหรือยัง เช่น มันเป็นเรานั่งอยู่ หรือว่าเราเห็นร่างกายนี้มันนั่งอยู่ หรือที่ผมถามอีกคำหนึ่งว่า “ตอนนี้ยังมีสิ่งที่ถูกรู้อยู่ไหม” การที่เราเห็นร่างกายนี้กำลังนั่งอยู่ ร่างกายนี้กำลังถูกรู้อยู่ เราเป็นคนรู้ว่าร่างกายนี้กำลังนั่งอยู่ เพราะฉะนั้น ต่อไปเรารู้จักที่จะถามตัวเอง เตือนสติตัวเองว่า ตอนนี้ยังมีสิ่งที่ถูกรู้อยู่ไหม ถ้าไม่มีแปลว่าเราถูกกลืนกินรวมเข้าไปกับร่างกายและจิตใจนี้เรียบร้อยแล้ว เป็นเราแล้ว

ผมพูดบ่อยๆ เวลาเดินจงกรม เห็นไหมว่าร่างกายมันเดินอยู่ พวกเราบางคนไม่เคยฟังผมเท่าไหร่เดินก็เป็นเราเดิน ถามว่า “รู้สึกตัวไหม” ก็ตอบว่า “รู้สึกตัว มีใครไม่รู้สึกตัว นี่ก็เดินอยู่นะ” ผมถามว่า “จิตใจเป็นยังไง” ตอบว่า “โอ้ว สบาย” ถามว่า “เป็นธรรมชาติไหม” ตอบว่า “เป็น…สบายธรรมชาติ” แต่ในความเป็นจริงคือ มีเราล้วนๆ

ทบทวนสิ่งที่ตัวเองเคยทำมา เราเคยเห็นร่างกายนี้เป็นสิ่งที่ถูกรู้ไหม เรารู้สึกตัว หรือเราเห็นว่ามีความรู้สึกตัวเกิดขึ้นที่ร่างกายนี้

เคยสังเกตคำสอนหลวงพ่อเทียนไหม เวลาขยับมือ 14 จังหวะท่านบอก “เคลื่อน แล้วก็รู้สึก หยุด แล้วก็รู้สึก” คือมีอาการเคลื่อนขึ้นมาก่อน แล้วค่อยรู้สึกว่ามีอาการคลื่นแล้ว พอหยุดมีลักษณะอาการของอาการหยุด แล้วค่อยรู้สึก

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมนั้นหลักต้องแม่น ผมพูดมาตลอดว่า หลักต้องแม่นแต่ก็ไม่มีใครได้ยิน ผมเลยบอกว่า “หลักต้องแม่นมากกกกกก” คนจะได้ได้ยิน ผมไม่สอนสิ่งที่เกือบถูก

เราลองหายใจเข้าลึกๆ เห็นร่างกายมันเขยื้อนไหม เห็นร่างกายมันหายใจไหม เห็นไหมว่าร่างกายนี้ “ถูกเราเห็นอีกทีนึง

มีคำที่จะคอยเตือนสติตัวเองได้หลายแบบ เช่น กายตอนนี้เป็นยังไงอยู่รู้ไหม จิตใจตอนนี้เป็นยังไงอยู่รู้ไหม แล้วก็รู้อย่างที่มันเป็นนั่นแหละ ไม่ต้องทำอะไร

ถ้าเราปฏิบัติถูกแบบที่ผมบอกนี้จะพบเจอผลการปฏิบัติได้ไม่นาน บางคนก็เกิดวิปัสสนาญาณในคอร์สเลย บางคนก็ใช้เวลาสักเดือนนึง บางคนก็ 2 เดือน 3 เดือน แล้วแต่ แต่ไม่นาน ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีคุณสมบัติข้อนึงก็คือ “ไม่เนิ่นช้า” ไม่ใช่ปฏิบัติไปไม่รู้กี่ปีก็เหมือนเดิม ไม่มีความจริงอะไรที่เปิดเผยตัวมาบ้างเลย มีความเข้าใจในการปฏิบัติมากขึ้นบ้างเลย ยังคงงงๆ มึนๆ อยู่

แต่ถ้าเราปฏิบัติถูก ยิ่งปฏิบัติยิ่งมั่นใจ มั่นใจในตัวเองเลย แต่ละคนที่มาบอกผมเนี่ย เพราะมันเป็นผลที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ต้องเชื่อใคร เมื่อปฏิบัติแล้วเห็นผลด้วยตัวเองในระยะเวลาสั้น มันมีกำลังใจ มันยิ่งแน่วแน่

แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถูก พอปฏิบัติไปมันก็ท้อแท้ งงๆ มึนๆ เอ…มันผิดรึเปล่านะ ถูกหรือยัง เนี่ยเรียกว่า ยังไม่มีหลักที่ถูกต้อง ก็เป็นแบบนี้

ตอนนี้จิตใจเป็นยังไงรู้ไหม ไปคิดอยู่หรือเปล่า ให้เรารู้เท่าทันจิตใจ รู้เท่าทันร่างกาย หลักที่หลวงพ่อเทียนสอนก็มีแค่ประมาณนี้เหมือนกัน “รู้สึกตัว รู้ทันจิตที่มันไหลไปคิด”แล้วอีกอย่างที่ผมเพิ่งกลับมาอ่านเจอก็คือหลวงพ่อเทียนบอกว่า “สภาพปกติ มันมีอยู่กับเราทุกคนอยู่แล้ว รู้จักมัน” ทั้งหมดที่หลวงพ่อเทียนสอนก็คือ “สติปัฏฐาน 4” เหมือนกัน

ผมจึงบอกว่าอะไรที่มันไม่ใช่สติปัฏฐาน 4 มันไม่ใช่ทาง อย่าไปโดนใครหลอกให้ทำนี่ทำโน่น ที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน 4 แล้วคิดว่าเป็นทางลัด ถ้ามีลัดกว่านี้ พระพุทธเจ้าบอกแล้ว

 

ตอนที่ 3 รู้อย่างที่มันเป็น เห็นตามเป็นจริง

มะนาวเกลือเปรี้ยวเค็ม ชุ่มคอ สงสัยลูกศิษย์จะให้บรรยายทั้งคืน เห็นไหมจิตใจเป็นยังไง…รู้อย่างนี้ จิตใจมีความสุขแล้วก็รู้ ไม่ใช่ห้ามมีความสุข ความสุขเกิดขึ้นในใจแล้วก็รู้ มันง่ายๆ แค่นี้เอง

ถ้าความสุขเกิดขึ้นในใจแล้วไม่รู้ กิเลสชื่อว่า “ราคะ” จะแทรกเข้ามา เกิดความชอบ จะอยากได้อีก เกิดตัณหาต่ออีก อยากได้ความสุขอีก มันอยู่ที่เรารู้ทันตอนไหน ก็รู้ตอนนั้น แล้วเดี๋ยวมันงวดเข้างวดเข้าไปถึงต้นต่อเอง ไม่ต้องรีบรู้ให้ไว รู้ให้เร็ว รู้ให้ถึงที่ต้นตอ หลักการคือ “รู้เท่าที่รู้ได้” แล้วเดี๋ยวมันงวดเข้าเอง

แวบไปคิดก็รู้ เห็นมั้ยว่ามันแวบไปคิดได้ง่ายๆ บางคนเห็นมันกำลังจะออกไปก็รู้แล้ว พอมันตั้งท่าจะออกไปก็รู้แล้ว เห็นอาการของมัน เนี่ยรู้มันเป็นแบบนี้

พวกเรานั่งตอนนี้ ฝึกแบบที่ผมพูดไปเมื่อกี้นี้ทั้งหมด ทำความเข้าใจด้วยการปฏิบัติ รู้ได้ไหมเวลาลืมร่างกายไปแล้ว มันต้องลืมไปก่อน แล้วก็…อุ้ย ลืมไปแล้ว ไม่ใช่ไม่ให้ลืม

บางทีเสียงข้างนอกเกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งเสียงผมเกิดขึ้น เราจะสังเกตได้ว่าจิตมันก็วิ่งมาฟัง มาที่หู เราบังคับไม่ได้ จิตมันจะวิ่งไปฟังเสียงข้างนอกที่ดังขึ้นมา และในขณะต่อไปบางทีจิตก็ให้ความสนใจกับเสียงนั้น เราเคยเห็นไหมว่ามันต่างกัน จิตวิ่งมาฟังเป็นขณะหนึ่ง จิตเกิดอาการสนใจเสียงนั้นเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นอีกขณะหนึ่ง ความที่จิตสนใจนั้นแสดงความเป็นทุกข์ รู้สึกได้ไหม มันบีบคั้น ให้เราเห็นแบบนี้ การปฏิบัติจริงๆ เลย คือ เห็นแบบนี้

เมื่อมีเสียงภายนอก บางทีหูก็ไปฟัง แล้วเสียงถ้าเสียงมันเปลี่ยนไป เช่น มันเบาลง เกิดความสงสัยขึ้นทันที แวบทันทีว่าทำไมมันเบาลง เราก็รู้ว่าความสงสัยเกิดขึ้นแล้ว เห็นทันไหม ปฏิบัติธรรมแบบนี้ “รู้อย่างที่มันเป็น เห็นตามความเป็นจริง

บางคนมีเวทนาทางร่างกายเด่นขึ้นมา จิตจะไปสนใจเรื่องนั้น เราก็รู้ว่าจิตมันพุ่งไปสนใจที่เวทนาแล้ว มันจดจ่อดูอยู่ที่อาการความปวดเมื่อยนั้น เราก็รู้ว่ามันทำแบบนั้นอยู่

พอมีความรู้สึกทางร่างกาย เช่น หายใจเข้าลึกแล้วมันเด่นขึ้นมา เราก็รู้สึกถึงการเห็นร่างกายนี้กำลังเคลื่อนอยู่ จะเห็นว่าการรับรู้มันสลับไปสลับมา ตามแต่ว่าอะไรมันเด่นขึ้นมา จิตไปสนใจอะไรเราก็ “รู้ตาม

ตอนนี้จิตไปไหนรู้ไหม จะสังเกตว่าถ้าเรารู้อยู่แบบนี้เราจะไม่ค่อยเข้าไปในความคิดปรุงแต่งอะไร เพราะมันถูกรู้ทันหมด เราจะเห็นแค่จิตมันไปคิด แต่ไม่ถึงกับเข้าไปเกิดเรื่องราวเนื้อหา ไม่ได้เข้าไปคิดกับมัน

ลักษณะที่ผมกำลังพาทุกคนปฏิบัตินี้ เรียกว่า เรากำลังอยู่ในสภาวะที่พร้อมจะ “รู้เท่าทัน” ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังปรากฏขึ้นในกายในใจนี้

รู้สึกถึง “ความเข้มแข็ง องอาจ” ของความเป็นนักปฏิบัติธรรมของเราไหม เนี่ยคือคุณสมบัติของธรรมะที่ถูกต้อง คือ ไม่เนิ่นช้า

ร่างกายกำลังหายใจแบบไหน รู้อยู่ไหม เมื่อเวทนาเกิดขึ้น ความเจ็บปวดเกิดขึ้น เราก็ดูลงไป มันมีดีกรีเท่าเดิมตลอดเวลาเลยไหม เจ็บมากขึ้นตลอดเวลาเลยไหม หรือมันมีผ่อนลง แล้วมันก็มากใหม่ แล้วมันก็ผ่อนลงใหม่ เราจะเห็นความไม่เที่ยงของมัน ความเปลี่ยนแปลงของมัน แล้วถ้าทนไม่ไหว เราก็ขยับ พอเราขยับตัว แล้วสบายขึ้น เราก็เห็นว่า อ่อ มีเหตุแบบนี้ ผลก็เป็นแบบนี้

 

02-12-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/ZDVQOoKvCAU

คอร์สปฏิบัติธรรมวิถีชีวิตใหม่ 30 พย – 4 ธค 2562

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://lin.ee/hHJprqr

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
https://camouflagetalk.podbean.com/