158.วิถีชีวิตใหม่ : 4 เพลิน

ตอนที่ 1 เพื่อจะคน หรือพ้นคน

การเดินจงกรม เราก็เดินอย่างเป็นธรรมชาติ เดินท่าที่เราถนัดที่สุด ที่เพิ่มเติมคือหันเหความสนใจมาที่ร่างกายและจิตใจ แต่ก่อนเราเดินคิดเรื่อยเปื่อย เดินมองโน่นมองนี่ แล้วก็คิดเพ้อเจ้อไปเรื่อย ตอนนี้เราก็เดินมองโน่นมองนี่เหมือนเดิม แต่รู้สึกอยู่ที่ร่างกาย รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในร่างกาย รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในจิตใจ เช่น เราเดินเท้ากระทบพื้นอยู่รู้สึกไหม การรู้สึกนั้นไม่ได้เป็นไปด้วยความเพ่งจ้อง ไม่ได้เป็นไปด้วยความตั้งใจ ไม่ได้เป็นไปด้วยความที่รู้สึกว่าไม่อยากหลง เราแค่มีในใจเอาไว้ว่า ชีวิตของเรานี้ เราจะหันเหความสนใจมาที่ความรู้สึกทั้งร่างกายและจิตใจที่กำลังเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็รู้ทันขึ้นมา แล้วหลังจากนั้นมันจะรู้ได้เท่าไหร่ก็ตามนั้น รู้เท่าที่รู้ได้ เราจะมีความรู้สึกว่า ชีวิตเราเหลือแค่รู้ ไม่ใช่เราคอยทำอะไรให้ดีกว่านี้

การเดินของเราก็เหมือนการนั่ง เดินๆ กำลังรู้สึกอยู่ เดี๋ยวอีกแป๊บหลงไปแล้ว ลืม…ไม่รู้แล้ว แล้วพอรู้ทันขึ้นมามันก็รู้ รู้อีกแป๊บหลงอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ชีวิตการปฏิบัติธรรมของเราทั้งในรูปแบบและในชีวิตประจำวัน จึงเหลือแค่รู้ แล้วก็ไม่รู้ แล้วก็รู้ไอ้ที่ไม่รู้นั่นแหละ ไม่มีการทำอะไรทั้งนั้น

อยากทำอะไรต้องเป็นคน ถ้าจะปฏิบัติธรรมให้เป็นคนไม่ต้องปฏิบัติธรรม เสียเวลา ปฏิบัติยิ่งตัวตนมากขึ้น เพิ่มความเป็นตัวตนในอีกรูปแบบหนึ่งเฉยๆ เช่น จะต้องเป็นคนไม่ยึดมั่นถือมั่น จะต้องเป็นคนที่ไม่ยึดติดกับอะไร จะต้องเป็นคนปล่อยวาง ก็ได้เป็นคนประเภทนึงเฉยๆ แต่เป็นคนเหมือนเดิม

การทำแบบนั้นมันรู้สึกดี มันก็เลยนึกว่าใช่ เพราะเหมือนเราดีขึ้น เนี่ย!…เราดีขึ้น! ที่ผมพยายามจะอธิบายมันลึกซึ้งมาก ถ้าเราไม่เข้าใจสัจธรรมอันสูงสุด เราไม่รู้หรอกว่าอะไรมันผิด เวลามีคนมาถามผม เดินแล้วจิตมันเป็นอย่างนี้ จิตมันหนัก จิตมันแน่น จิตมันเป็นปรากฏการณ์นั้นนี้ คำตอบผมอย่างเดียว คือ“ก็แค่รู้” จะให้ผมทำอะไร ไปแก้จิตใจไหม แก้ทำไมอ่ะ…ก็จิตนี้ไม่ใช่เรา ภาษาจีนเขาเรียกว่า เจียะป้าบ่อสื่อ ถ้าเราแก้ให้มันดีได้อย่างที่เราคิด เราจะอยากแก้อีก เพราะเราอยากได้แบบที่เราคิดว่าดี เราปฏิบัติธรรมเพื่อจะเป็นคนอีกคนนึงเฉยๆ ไม่ได้เพื่อจะพ้นจากคน

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะนั่งหรือจะเดิน หรือในชีวิตประจำวัน เมื่อจิตใจเป็นยังไงแล้วอยากจะแก้ไขให้มันเป็นอย่างที่เราคิดว่าดี ให้เตือนตัวเองไว้ว่า เจียะป้าบ่อสื่อ แปลว่า พวกกินอิ่มแล้วไม่มีงานทำ หาเรื่อง

 

ตอนที่ 2 มีหน้าที่แค่เรียนรู้

เวลาเราเดินจงกรมยังมีความคิดไหมว่าเดินยังไงถึงจะถูก พวกเราต้องพ้นไปจากความคิดแบบนี้ อย่าลืมว่าเรารู้ปัจจุบัน รู้เหตุรู้ปัจจัย ไม่ใช่เรื่องของเดินถูกหรือผิด มันเป็นเรื่องของการเรียนรู้ว่าเดินอย่างนี้แล้วเป็นยังไง ถ้าเดินอย่างนั้นแล้วเป็นยังไง เป็นเรื่องของเหตุผล เรามีหน้าที่แค่เรียนรู้ เช่น สมมุติเราอยากจะลองเดินแบบเพ่งดู เราจะได้ผลลัพธ์อันหนึ่ง เราก็จะเรียนรู้ว่า ถ้าเดินด้วยจิตใจแบบนี้ มันจะเป็นแบบนี้ ถ้าเดินเป็นธรรมชาติแบบที่เราเดินอยู่ เราก็จะได้ผลอีกแบบหนึ่ง ก็เรียนรู้ว่ามันเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้น มันไม่มีถูกผิดถ้าเรารู้จักหลักปฏิบัติว่าเรามีหน้าที่อะไร ตัวจริงของเราคือแค่รู้ ผลจะเป็นยังไงก็แค่รู้ ถ้าเข้าใจหลักอันนี้ได้ มันปรับใช้ได้กับทุกอิริยาบถ ทุกสิ่งที่เราทำและถ้าเราเข้าใจแล้ว ผมก็ไม่ต้องพูดแล้ว

จิตใจเรามีความสุขขึ้นมาแล้วก็รู้ มีใครไม่รู้ไหม ไม่ใช่ห้ามมีความสุข แต่มีความสุขขึ้นมาก็รู้ จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงก็รู้ มันเกิดขึ้นเราก็รู้ ไม่ใช่ห้ามมันเกิดขึ้น ไม่ใช่ต้องเป็นคนขรึม

มองออกไปลืมตัวแล้วก็รู้ รู้ว่าไหลออกไปแล้ว ไม่ใช่ห้ามไหล เวลาตาเห็นรูป มันก็วูบออกไปเป็นธรรมชาติ เราไม่ใช่ไปบังคับให้มันไม่ไป แต่มันวูบออกไปแล้วก็รู้ เรียนรู้ว่ามันทำงานของมันเอง มีตามีหู มันก็ดูมันก็ฟังของมันเอง

ถ้าเป็นเมื่อก่อนมีเสียงเครื่องจักรดังแบบนี้ เราก็อาจจะไปด่าเครื่องจักร แต่นักปฏิบัติธรรมเรามีวิถีชีวิตใหม่ เมื่อหูมันไปฟัง รู้ทันว่าหูมันไปฟังแล้ว รู้อยู่ที่ตัวเอง นี่คือวิถีชีวิตใหม่ จิตใจมีความไม่พอใจ ไม่ชอบ ก็รู้ทันที่จิตใจเรา

พวกเราบางคนเคยไปเข้าคอร์สหลวงพ่อมหาดิเรก แล้วก็เดินจงกรมใต้ร่มไม้ เดินไปสักพักพระอาทิตย์เปลี่ยนที่ เงาร่มไม้ก็เปลี่ยนที่ หลวงพ่อมหาดิเรกเดินผ่านมา ท่านเรียกให้กลับมาเดินที่เดิม ไม่ให้เปลี่ยนไปตามร่มไม้ คนนั้นก็เซ็ง ทำไมต้องทำแบบนี้ เราเห็นแล้วก็อาจจะดูว่าไร้เหตุผล ต้องทำขนาดนั้นเลยเหรอ แต่ถ้าเรายังไม่เห็นความไม่พอใจ ไม่ชอบใจในจิตใจนี้ได้ ก็จำเป็นจะต้องโดนบังคับ เมื่อความไม่พอใจ ความไม่ชอบใจเกิดขึ้นแล้ว ฝึกที่จะเห็นมันให้ได้ ไม่ใช่หนีมัน ไม่ใช่เอาแต่ที่เราพอใจ เอาแต่ที่เราชอบใจ เราไม่สามารถพอใจและชอบใจได้กับทุกวันของชีวิตเรา เราต้องอยู่ได้ในทุกสถานการณ์

 

ตอนที่ 3 เพลิน

เวลาเดินจงกรม ตอนเราหยุดหัวท้ายจงกรมเกิดผลอะไรขึ้น เราก็เรียนรู้ว่า อ๋อ ถ้าหยุดแบบนี้ มันรู้สึกแบบนี้ ถ้าเราเดินไม่หยุดเลย เราก็รับรู้ เรียนรู้ได้ว่ามันเป็นยังไง ฟุ้งซ่าน เพลิน ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ก็เรียนรู้ แล้วเราจะรู้ได้ว่าเราต้องทำแบบไหน ทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ เรียนรู้เหตุและปัจจัย

บางคนชอบเดินไปเดินกลับ เดินปึ๊บปั๊บ ปึ๊บปั๊บ ผมเคยทำแบบนั้นเหมือนกัน คิดมันส์ไปเลย แต่บางทีก็ไม่มีความคิดอะไรมาก แต่สิ่งที่แนบเนียนไปกว่านั้นคืออะไร “มันเพลิน” เดินแล้วก็เพลินสบาย ถ้ามีใครบอกให้หยุดล่ะก็ จิตใจมันจะต่อต้านเลยเพราะขัดจังหวะ คำว่าขัดจังหวะเบื้องหลังคืออะไร คือมันเพลินอยู่ เหมือนเวลาเรากำลังนอนกำลังเคลิ้ม แล้วมีคนมาปลุกเราอ่ะ หงุดหงิด เสียอารมณ์ แต่เรามักจะบอกว่ากำลังสมาธิดีเลย เบา สบาย

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของความตื่น ความตื่นมันไม่เพลิน ถ้าตื่นรู้อยู่เนี่ยอะไรก็ได้ จะหยุดก็ได้ถ้าให้หยุด จะไม่รู้สึกขัดใจ ไม่รู้สึกขัดจังหวะ แต่ถ้าเราเพลิน เราจะรู้สึกโดนขัดจังหวะ

เราเคยฟังคำสอน เช่น ชีวิตมีเพียงขณะเดียว รู้ปัจจุบันขณะ แต่เวลาเดิน เราบอกขอยาวๆ พอจะให้หยุดนี่มันเสียจังหวะ ชีวิตเราเริ่มใหม่ทุกขณะ เราไม่ได้อยู่กับอดีต แต่ถ้าเราเดินกำลังเพลินเลย…ต้องหยุดอีกแล้ว เนี่ย! คืออยู่กับอดีต…ติดใจ

 

01-12-2562

Camouflage

YouTube : https://youtu.be/9uv7641X1Q8

คอร์สปฏิบัติธรรมวิถีชีวิตใหม่ 30 พย – 4 ธค 2562

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://lin.ee/hHJprqr

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
https://camouflagetalk.podbean.com/