ต่อเทียนธรรม 17

A: ตอนได้คำตอบอาจารย์กลับมา ผมก็นั่งพิจารณาคำตอบอาจารย์อยู่นาน
แล้วมันก็ค่อยๆเกิดเป็นบันทึกนี้

ผมเลยตั้งใจทำเป็นบันทึกความเข้าใจในธรรมของผมตอนนี้ เพื่อไว้สอนตนเอง และไว้อ่านทบทวนตัวเองบ่อยๆ

ที่ผ่านมาคำแนะนำของอาจารย์มีประโยชน์มากๆทุกครั้ง และผมรู้สึกได้ว่าเป็นสัมมาทิฐิในเรื่องนั้นๆ

ตอนอ่านคำตอบ2ท่อนแรกก็งงนิดนึงว่าแค่นี้หรอ หรืออาจารย์ยังพิมพ์ไม่จบ

แต่พอผมมานั่งอ่าน2ท่อนแรกหลายๆรอบ แล้วพิจารณาดู ถึงได้เข้าใจว่า
อาจารย์ให้สัมมาทิฐิผมมาแล้ว

คือ ไม่คล้อยตาม ไม่หักหาญ
รู้ทัน ศิลปะ

และที่สำคัญคือ ศึกษาเรียนรู้

ผมเพิ่งเข้าใจคำว่า “ชีวิตการปฏิบัติธรรมเป็นศิลปะ” ที่อาจารย์สอนจริงๆก็วันนี้แหละครับ

หลังจากพิจารณาคำแนะนำของอาจารย์ซ้ำๆ ทั้งๆที่ในธรรมบรรยายอาจารย์ก็อธิบายไว้ชัดเจนดีแล้ว แต่พอเกิดทุกข์กับตัวเองจริงๆถึงจะเข้าใจ

ศาสตร์เกิดจากคิด
ศิลป์เกิดจากรู้และรู้สึก

ผมเรียนมาสายวิทย์ ที่ผ่านมาถูกสอนให้คิด ผมเลยมองอะไรๆในชีวิตเป็นศาสตร์ไปหมดแทบทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องปฏิบัติธรรมก็ยังคิดว่าเป็นศาสตร์

คิดว่าศิลป์มีแค่เรื่องวาดรูป ดนตรี
พอเป็นศาสตร์ มันก็เลยมีต้องแบบนั้นต้องแบบนี้ มันเลยรู้สึกหนักเพราะมีการ “ต้องทำแบบนี้ ต้องคิดแบบนี้” (ไม่ใช่แค่ทำ แค่รู้)

พอมี”ต้องทำ”มันเป็น[ความยึดมั่นถือมั่น] ก็เลยเกิดเราเกิด[ตัวตน]เป็น”เราต้องทำ”

พอมี[ความยึดมั่นถือมั่น]+[ตัวตน]ก็เลยเกิด[ความคิด]เป็น “เราต้องทำยังไง”

พอมี[ความยึดมั่นถือมั่น]+[ตัวตน]+[ความคิด]ก็เลยเกิด[ความอยาก]เป็น “เราต้องทำยังไงเพื่อให้เราดี”

แต่วงจรนี้ไม่มีวันสิ้นสุดเป็นวงจรของความหลง “เราดี”
เลยไม่เคย”ดีจริงๆ”ซักที
เพราะมี”อยากดี”อยู่ด้วยตลอด

และความอยากดี ดีแค่ไหนก็ไม่เคยพอ
ยิ่ง[อยาก]ก็ยิ่งกลับไป[หลงยึดมั่นถือมั่น]
ยิ่ง[หลงยึดมั่นถือมั่น]ก็ยิ่ง[หลงมีตัวตน]
ยิ่ง[หลงมีตัวตน]ก็ยิ่ง[หลงคิด]
ยิ่ง[หลงคิด]ก็ยิ่ง[หลงอยาก]
วนอยู่แบบนี้ เป็นวังวนแห่งทุกข์ ที่ขับเคลื่อนด้วยความอยาก

ยิ่งหลงอยากมาก ก็ยิ่งหลงนานมาก
ยิ่งสร้างกรรมสะสมไปเรื่อยๆ
แล้วกรรมที่เกิดจากความอยากส่วนใหญ่มักจะเป็นกรรมไม่ดี เพราะเกิดจากอัตตาตัวตน
ตัวตนส่วนใหญ่เห็นตัวเองสำคัญกว่า ก็เลยเบียดเบียนผู้อื่น

พอสร้างเหตุ คือกรรมไม่ดีไว้
ก็ต้องมีผลคือ ทุกข์(ทุกข์ทนยาก)

และเพราะมีตัวตนมันเลยไม่ใช่”แค่สภาพทุกข์” แต่เป็น”เราทุกข์”

ถ้าสร้างเหตุคือกรรมดีไว้
ก็ต้องมีผลคือ สุข(ทุกข์ทนง่าย)
และเพราะมีตัวตนมันเลยไม่ใช่”แค่สภาพสุข” แต่เป็น “เราสุข”

แต่วังวนนี้ไม่มีทางพบ “ดีจริงๆ” หรือ “สุขที่แท้จริง” หรือ “ที่สุดแห่งทุกข์”

ตลอดสายนี้มีแต่หลง
คิดแค่ไหนก็ไม่มีทางพบทางออก
เพราะในความคิดมีความอยาก มีความยึดมั่นถือมั่น มีตัวตน
มันช่วยกันพาให้วนต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด

มันต้องเป็นเส้นใหม่ ที่มีที่จุดสิ้นสุด ที่ไม่ใช่วังวนให้วนต่อไปไม่สิ้นสุด

พระพุทธองค์มาเฉลยข้อสอบแล้วว่า”เราไม่ใช่ตัวตนนี้”
แต่เรายังมีความหลงยึดมั่นถือมั่นอยู่ว่าเราเป็นตัวตนนี้
เพราะมีความยึดมั่นในตัวตนนี้ ก็เลยมี”เราทุกข์”

ถ้าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ก็จะต้องเห็นให้ได้ว่า”เราไม่ใช่ตัวตนนี้จริงๆ”
เห็นเหมือนที่พระพุทธองค์ทรงเห็น
จะเห็นแบบนั้นได้ พระพุทธองค์ ได้บอกวิธีฝึก วิธีปฏิบัติไว้ให้แล้ว คือสติปัฏฐาน4

อาจารย์นำมาสอนต่อทำให้เข้าใจและจำง่ายขึ้นเป็นหลัก3ข้อ
“ให้รู้สึกตัว”
“ไปให้พ้นจากความคิดปรุงแต่ง”
“กลับมาเห็นความรู้สึกในใจบ่อยๆ”

ให้อยู่กับ”แค่รู้” เพราะ”แค่รู้”
ไม่มีอยาก ไม่มียึด ไม่มีตัวตน ไม่มีคิด
เพราะ4ตัวนี้จะพาไปวังวน
ยิ่งมี4ตัวนี้ทางยิ่งไกล และยิ่งทุกข์

อาจารย์เน้นให้ฝึกสติ และมองอะไรๆในโลกให้เห็นไตรลักษณ์
เพราะเห็นไตรลักษณ์บ่อยๆ จะคลายความยึดมั่นถือมั่น
ความยึดมั่นถือมั่นคลาย ตัวตนก็คลาย
ตัวตนคลาย ทุกข์ก็คลาย

อาจารย์เน้นให้มีวินัยในหน้าที่
ฝึกสติทั้งในรูปแบบ และชีวิตประจำวัน
เพราะสติจะได้มีกำลัง ถ้าสติไม่มีกำลัง จะเห็นเฉยๆไม่ได้ จะเข้าไปเป็นทุกข์เป็นสุข
ถ้าสติมีกำลัง จะเห็นไตรลักษณ์ได้ เกิดญาณเห็นสภาวะธรรมตามความเป็นจริง
ส่วนนิรามิสสุขเป็นแค่ของแถม

อาจารย์เตือนไม่ให้หลงสุข หลงสภาวะธรรม ที่พบในการปฏิบัติ เพราะคือการมีตัวตน
และคอยชี้ให้รู้ทันความยินดี ยินร้าย เพราะมันแนบเนียนมาก หลงได้แบบไม่รู้ตัว
ถ้ามีสติรู้เท่าทันพวกนี้จะปลอดภัยจากวิปัสสนูปกิเลส

ขั้นแรกอาจารย์สอนให้มองว่าการปฏิบัติธรรมเป็นศิลปะ

พอพิจารณาแล้วผมเข้าใจว่า
คำนี้คำเดียวช่วยให้อะไรๆเบาขึ้นเยอะ

เพราะมองแบบนี้เราอยู่กับ “แค่รู้ แค่รู้สึก แค่เรียนรู้ แค่ทำหน้าที่”
4อย่างนี้ตรงกันข้ามกับ “คิด อยาก ยึดมั่น ตัวตน” มันเบากว่าเยอะเลย

ขั้นถัดมาอาจารย์สอนให้มองว่าการปฏิบัติธรรมเป็น”การศึกษา”

เมื่อกิเลสมาอาจารย์สอนให้ไม่คล้อยตาม ไม่หักหาญ
แต่ให้ รู้ทัน ให้ยอมรับ และศึกษามัน

เรามีหน้าที่ศึกษาดูว่ามันเป็นยังไง แต่ก็ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับมัน

การศึกษาหรือ “รู้” นี้ มันไม่มี ดีไม่ดี ถูกหรือผิด ทั้งหมดเป็นการเรียนรู้
เพราะมีหลงถึงมีรู้

พอมองแบบนี้ ผมพบว่าเวลากิเลสมาก็ทุกข์น้อยลงด้วย เพราะช่วยให้ไม่หลงเข้าไปเป็น

อาจารย์ให้ศึกษาเรียนรู้ว่าความสุขที่ได้จากการทำตามกิเลส มันอยู่ตรงไหน

เวลาเป็นทาสกิเลส รู้สึกยังไง ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ให้เรียนรู้ว่ามันใช่ความสุขจริงมั้ย

ถ้าพบว่า จริงๆแล้วมันเป็นทุกข์ไม่ใช่ความสุข จะค่อยๆลด และละเลิกได้มากขึ้น

ซึ่งเรื่องนี้ผมพบแล้วว่ามันเทียบไม่ได้เลยกับนิรามิสสุขที่ได้สัมผัสในระหว่างปฏิบัติ เพราะสุขนี้ไม่มีความอยากเลย

อาจารย์บอกว่าทุกอย่างนี้ผมจะต้องผ่านประสปการณ์ด้วยตัวผมเองไม่ใช่แค่ฟัง

เรื่องนี้ผมเข้าใจแล้วครับ อาจารย์ช่วยได้แค่บอกทาง และให้คำแนะนำที่เหมาะสม

เกือบทุกครั้งผมต้องโดนกิเลสเล่นงานจนทุกข์ก่อนถึงจะสำนึก ถึงแม้จะได้ยินได้ฟังมาแล้ว

แต่เพราะได้ยินได้ฟัง ถึงได้สำนึก ได้รู้ว่าโดนอะไรเข้าไป จะแก้ไขปรับปรุงรับมือยังไง

หลักที่อาจารย์ให้มารวมถึงสัมมาทิฐิอีกเยอะมาก ผมจะเอาใช้เรียนรู้กับทุกข์ครับ

ผมเข้าใจที่อาจารย์เปรียบว่าเหมือนปล้องไม้ไผ่แล้วครับ

ปฏิบัติธรรมไม่ใช่ได้หลักมาแล้วจะชนะม้วนเดียวจบ แบบนั้นมันเป็นศาสตร์ ไม่ใช่แบบนั้น

มันเป็นศิลปะผมต้องค่อยๆขัดเกลากันไป ทีละปล้องๆ ทีละเรื่องๆ ทำเหตุให้ดีให้สม่ำเสมอ

พอได้หลักมาแล้ว ก็ทำเหตุให้ดี
ทำหน้าที่ให้สม่ำเสมอ
อย่าไปหวังผล มันมีแพ้ มีชนะ
มีได้ผล มีไม่ได้ผลเป็นธรรมดา
เพราะสะสมกิเลสมาหลายชาติ
เหตุปัจจัยมีนับไม่ถ้วน

แพ้ก็กลับมาที่หลักแล้วเริ่มใหม่
มีหน้าที่สร้างเหตุที่ดีต่อไป เพราะเส้นทางนี้มีที่สิ้นสุด

เป็นเส้นทางที่พระพุทธองค์บอก
เป็นเส้นทางที่ผมศรัทธา
และเริ่มได้รับผลจากการปฏิบัติแล้ว ไม่นานเลย

ขอบคุณครับอาจารย์

Camouflage: สาธุ