151.ยินดีพอใจ

ตอนที่ 1 อยู่กับรู้

เวลาเราเริ่มนั่ง บางครั้งเรามึนๆ งงๆ ไม่รู้จะทำอะไรดี ไม่รู้จะต้องดูยังไง หรือไม่รู้ว่าจะรู้สึกขนาดไหน ผมมีอุบายง่ายๆ เรานั่งอยู่แบบนี้เราก็สังเกต สำรวจดูร่างกาย มีน้ำหนักอยู่ที่ก้นรู้สึกได้ไหม ขาที่ทับกันอยู่รู้สึกได้ไหม มือที่ประสานกันอยู่หรือวางอยู่ที่ใดที่หนึ่งรู้สึกได้ไหม ตาที่หลับอยู่มันนิ่งเลยไหมหรือมันมีความขยับเขยื้อนของมันอยู่…รู้สึกได้ไหม หายใจเข้าหายใจออกรู้สึกได้ไหม เราสำรวจสิ่งที่มีอยู่แล้ว

เคยขึ้นเครื่องบินไหม พวกแอร์โฮสเตสพูดกันว่า Cross Check Cross Check คือการตรวจสอบว่าทุกอย่างพร้อม เหมือนเราจะนั่งสมาธิทำในรูปแบบ เราก็ตรวจสอบความพร้อมของการรับรู้ความรู้สึกหรือ Sensation ต่างๆ ของเรา พร้อมที่จะรับรู้ไหม เราไม่ต้องทำตลอด เรา Cross Check ไม่นานหรอก เดี๋ยวมันเข้าที่ หลังจากนั้นมันจะเป็นไปเอง ความอยู่กับเนื้อกับตัวจะค่อยๆ เกิดขึ้นเอง เหมือนเราจะขับรถ เราก็เช็คน้ำมัน เช็คไฟ เช็คเกียร์ เช็คเข็มขัด Safety Belt เมื่อพร้อมก็ขับออกไปได้

ตอนนี้เราก็ตรวจสอบร่างกายของเรานิดหน่อย แล้วเดี๋ยว “การเจริญสติปัฏฐาน” ก็จะเกิดขึ้น มีอะไรเกิดขึ้นมันจะรับรู้ได้ รู้สึกได้ไหมถึงความอยู่กับเนื้อกับตัวโดยที่เราไม่ต้องบังคับมันเอาไว้ มันเกิดจากการแค่รับรู้ความรู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้ รับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตใจนี้ รับรู้พฤติกรรมของจิตใจ เช่น มันไปคิดก็รู้ทัน

จิตใจที่ยังมีกิเลส ยังมีอวิชชาก็พร้อมที่จะกระเพื่อมหวั่นไหวไปเหตุปัจจัย มันเป็นสภาพทุกข์ ความทุกข์ตามไล่ล่าเราอยู่ทุกขณะ แต่เราไม่เห็น ความที่จิตนี้ยังกระเพื่อมหวั่นไหวง่ายๆ เป็นความทุกข์

เราตื่นมาทุกวัน เคยสังเกตไหมว่าชีวิตของเราตกอยู่ภายใต้อันตราย เคยรู้สึกกันไหมทุกวันที่เราตื่นขึ้นมานั้น เราไม่รู้เลยว่าวันนี้เราต้องทุกข์อะไรบ้าง ไม่รู้ว่าร่างกายนี้ต้องทุกข์อะไรบ้าง ไม่รู้ว่าจิตใจนี้ต้องทุกข์อะไรบ้าง ไม่รู้ว่าความเป็นเจ้าของกายและจิตนี้ของเราทำให้เราต้องทุกข์อะไรบ้าง เคยเห็นอันตรายของความทุกข์ที่มันตามไล่ล่าเราอยู่แทบจะทุกลมหายใจเลยไหม ถ้าเราเคยเห็นแบบนั้น รู้สึกแบบนั้น นั่นแปลว่าเรากำลังอยู่กับความจริงตลอดเวลา

แต่ถ้าเราไม่เคยเห็น และรู้สึกว่าชีวิตนี้หรือแต่ละวันที่ผ่านไปมีความสุขดี นั่นแปลว่าเรากำลังหนีความจริงอยู่ทั้งวัน เราหนีสำเร็จ เราไปคุยเล่น เราไปดูนี่ไปดูนั่น หาความเพลิดเพลิน ส่งจิตออกนอกไปรับความเพลิดเพลินทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราหนีสำเร็จ แต่เป็นความสำเร็จชั่วคราว ความทุกข์จะกลับมาบดขยี้เราอีก ความรู้สึกทุกข์นั้นจะหนัก เพราะมันสัมพัทธ์กับความสุขที่เราหลงไปได้รับมา เหมือนเราตกตึก หลงสุขมากเท่าไหร่จะต้องทุกข์เป็น Double มากเท่านั้น

แต่ถ้าเรา “รู้” มีความสุขเกิดขึ้น…รู้ ไม่หลงเข้าไปในความสุขนั้น เราจะไม่ต้องตกตึก เมื่อเราอยู่ที่รู้ “อยู่กับรู้” เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น ความทุกข์นั้นจะถูกรู้เหมือนกัน…เท่ากัน “เราจะอยู่ตรงกลาง” เราจะดำเนินชีวิตอยู่ตรงกลาง เราไม่ต้องสุข เราไม่ต้องทุกข์ เราเป็นอิสระจากสุขและทุกข์นั้น

เราฝึกเพื่อจะเข้าถึงอิสรภาพ อิสรภาพเริ่มตั้งแต่วันนี้ เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เริ่มด้วยการอยู่กับรู้

 

ตอนที่ 2 รู้ทันความยินดีพอใจ

วันนี้ผมถามว่าเรารู้สึกตัวกันได้แล้วไหม ร่างกายขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเราก็รู้สึกได้ใช่ไหม จิตใจไปคิดก็รู้ทันได้ วันนี้ผมจะเน้นให้ทุกคนหัดรู้จักเมื่อความยินดีพอใจเกิดขึ้น เมื่อมีการกระทบใดๆ ผ่านเข้ามา แล้วจิตใจมีความยินดีหรือยินร้ายเกิดขึ้น “ให้รู้” ฟังให้ดี! เมื่อมีการกระทบผ่านเข้ามาทางตา ตาเห็นรูปสวย รูปที่ชอบ แล้วพอใจ ให้ “รู้ทันความยินดีพอใจ” นั้น เมื่อมีการกระทบผ่านเข้ามาทางอายตนะใดๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเกิดความยินดี ให้เห็นว่าความยินดีนั้นเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเกิดความยินร้ายก็เห็นว่าความยินร้ายนั้นเกิดขึ้นในใจแล้ว เห็นก่อน เห็นตั้งแต่ตรงนี้เลย

มันไม่ใช่ว่าเราเห็นไม่ได้หรอก แต่เราละเลยที่จะเห็น เราชอบ พอเราชอบ เราก็เข้าไปคลุกกับมันเลย พอเราไม่ชอบ เราก็ชอบเหมือนกัน…ชอบคลุกกับความไม่ชอบนั่นแหละ เกลียดมัน ฉันจะหาเหตุผลทุกอย่าง จะจัดการมัน ความไม่ชอบกลายเป็นความชอบ

เมื่อเรารู้ไม่ทันความยินดียินร้าย สิ่งที่ตามมาคือ “ตัณหา” คือความอยาก พอชอบก็ยินดี ก็อยากให้ความรู้สึกแบบนี้หรืออะไรที่กำลังได้รับรู้อยู่นี้ อยู่ต่ออีกนานๆ ก็ดิ้นรนหาทางที่จะได้รับมันอีก พอยินร้ายก็อยากเหมือนกัน อยากให้มันไปไกลๆ อยากให้มันจบเรื่องนี้สักทีนึง หรืออยากทำร้ายไอ้คนที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ และเมื่อความอยากเกิดขึ้นจะต้องทุกข์ เมื่อความอยากเกิดขึ้นแล้วรู้ไม่ทันความอยาก จะได้รับความทุกข์แน่นอน

ชีวิตของนักปฏิบัติธรรม เรากลัวความอยาก กลัวตัณหา ผมเคยบอกว่าคนไม่ปฏิบัติธรรม เมื่อมีตัณหาหรือความอยากเกิดขึ้น เขาไม่กลัวนะ เขาวิ่งไปสนองมัน ทำตามความอยาก สนองเสร็จก็พอใจมีความสุข จะมีความทุกข์ก็ต่อเมื่อสนองมันไม่ได้ ทำไมคนในโลกถึงคิดได้แค่นั้น เพราะว่าเขาข้ามไปไม่ถึงว่ากายและใจนี้ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา แต่เขายังอยู่ในกรอบของกายและใจนี้คือกู พออยู่ในกรอบนี้ทางเดียวที่จะได้ความสุขคือต้องสนองความอยาก สนองความต้องการของจิตใจนี้

แต่สำหรับเรานักปฏิบัติธรรม เราเลยขอบเขตของการเห็นว่ากายและใจนี้เป็นของเราไปแล้ว เรามีสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นว่า กายและใจนี้ไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้น เมื่อกิเลส ตัณหา ความอยากเกิดขึ้นในใจ เราจะรู้สึกว่าเราต้องเป็นทาสมันอีกแล้ว มันบีบคั้นเราอีกแล้ว ความรู้สึกถูกบีบคั้นจากกิเลสในใจที่ยังมีอยู่นั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เรารู้สึกว่าเป็นทุกข์อย่างยิ่งเพราะเรารู้ว่าการสนองกิเลสนั้นไม่มีวันสิ้นสุด มันเหลือทางเดียวคือ เราต้องหมดความอยาก เรามีปัญญาพอที่จะรู้ว่าไม่มีทางอื่น เราทำได้แค่ “เจริญสติปัฏฐาน 4” ไปเรื่อยๆ จนกว่าธรรมชาติของมรรคทั้ง 8 เจริญขึ้นอย่างเต็มที่จนทำลายสังโยชน์ อาสวะกิเลสทั้งหลายลงไป จึงหมดความอยากได้ มันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเราได้

เพราะฉะนั้น เมื่อต้นเหตุของความทุกข์นั้นยังมีอยู่ แล้วเราก็รู้ว่าเราบังคับอะไรไม่ได้ เราได้แต่ “อดทน” ที่จะรู้ตามความเป็นจริง เจริญมรรคมีองค์ 8 ไปเรื่อยๆ เท่านั้น และอดทนรอ ไม่ว่ากิเลสจะมาเยี่ยมเยียนเรากี่ครั้งต่อกี่ครั้ง และเราก็ทำอะไรมันไม่ได้นอกจาก “แค่รู้” นั่นเป็นความอดทนอย่างยิ่งของพวกเรานักปฏิบัติธรรม “เราไม่หนี” เพราะเรารู้ว่าหนีไม่ได้ “เราไม่สู้” เพราะเรารู้ว่าสู้ไม่ได้เหมือนกัน เราเหลือทางเส้นเดียว ชีวิตที่ไม่มีทางเลือกอื่น ก่อนจะไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันเป็นทุกข์อย่างยิ่ง บนเส้นทางนี้เราต้องใช้ความอดทนมาก

 

ตอนที่ 3 เมื่อความอยากเกิดขึ้น…เป็นทุกข์

เวลากระทบอะไรที่ยินดีพอใจ แล้วต้องแค่รู้ ไม่เข้าไปเป็น ไม่เข้าไปอิน ไม่เข้าไปหลงความสุขนั้น รู้สึกยังไง…เพลียเลยใช่ไหม ทำไมชีวิตมันจืดชืดขนาดนี้ การที่นักบวชถือศีล 8 จะเห็นได้ว่ามีข้อที่พระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้เราฟังเพลงหรืออะไรก็ตามที่มันดูรื่นเริงบันเทิงใจ แค่ข้อเดียวก็แทบฆ่ากันแล้ว แต่ถ้าไม่สำคัญพระพุทธเจ้าไม่บัญญัติเอาไว้ เพราะเวลาเพลิดเพลินนี่มันไม่มีสติ มันเพลิดเพลินนาน เสียเวลาเป็นชั่วโมงหลายชั่วโมง บางทีเป็นวัน เห็นไหมว่ายุคนี้เด็กติดเกมกันไม่นอน เอาปืนมาฆ่าพ่อฆ่าแม่ตัวเองยังได้ ถ้าไปด่าไปว่าให้เลิกเล่นเกม ความเพลิดเพลิน ความยินดีพอใจมันร้ายกาจขนาดนั้น

แต่เมื่อเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ รู้ทัน ไม่หลงเข้าไปในความสุข จะมีความสุขชนิดใหม่เกิดขึ้น เป็นความสุขที่อิสระจากความบีบคั้นให้เราต้องไปทำอะไร หรือให้เราต้องไปหลงความสุขนั้นๆ ความเพลิดเพลินนั้นๆ ถ้าเราหัดเห็นให้ได้ว่าความสุขที่เรียกว่าความสุขนั้น แท้จริงมันคือความบีบคั้น เราจะรู้ว่ามันเป็นทุกข์ ส่วนการรู้อยู่โดยที่ไม่หลงเพลิดเพลินเข้าไปนั้นกลับกลายเป็นความสุข ทีนี้ชีวิตเราจะเปลี่ยน เราจะไม่เห็นอะไรๆ ในโลกนี้มีความสุขเลย ทุกอย่างล้วนน่าเบื่อ

เคยไหมฟังเพลงแล้วคิดว่าจะผ่อนคลายหน่อย ฟังเพลงแต่ใจก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีความสุขแบบที่คิดเอาไว้ หูก็ได้ยินเพลงที่ชอบอยู่แต่ใจไม่ได้มีความสุข ลองสังเกตดูแบบนั้น มันไม่ใช่ทุกครั้งหรอกที่เราไขว่คว้าหาความสุขแล้วเราจะได้ และเมื่อมันไม่ได้ สิ่งที่เราจะได้คือ ความทุกข์แทน ถ้าเรารู้ไม่ทันอีกว่าความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว เราจะทุกข์ซ้ำไปอีกจากความดิ้นรนที่จะได้ความสุขให้ได้ ก็เลยเปลี่ยนเพลง หาเพลงใหม่

พวกเราลองไปสังเกตนะ เมื่อไหร่ที่ความอยากเกิดขึ้นเป็นทุกข์มาก คนในโลกเห็นยาก พออยากปุ๊บก็วิ่งไปสนองเลย อย่าว่าแต่คนในโลกเลย คนปฏิบัติธรรมที่ไม่ได้ถูกจำกัดไม่ให้ออกไปไหนไม่ให้ทำอะไร พออยากปุ๊บก็ไปเลย ไปง่าย ไม่มีใครห้าม ไม่มีใครว่า เขาเลยไม่เห็นโทษของความอยาก ไม่รู้ว่าความอยากนี้เป็นทุกข์มาก คิดว่าสนองให้มันสักทีนึง จะได้จบๆ ไป จะได้ปฏิบัติธรรมต่อ แต่มันไม่จบ

นักบวชก็มีโอกาสเห็นง่าย เพราะว่าโดนจำกัดไม่ให้ไปไหน ไม่ให้ทำอะไร เราจะเห็นโทษของความอยากชัดเจน เวลาความอยากเกิดขึ้นนี่กลัวเลย ข้างนึงก็สนองไม่ได้ ข้างนึงก็ตกเป็นทาสมันเพราะว่ารู้เฉยๆ ก็ไม่ได้เหมือนกัน เรียกว่าหันไปทางไหนก็มีแต่ทุกข์ ทางเดียวที่จะรอดจากความอยากนี้ได้ คือต้องรู้ทันความยินดีพอใจเกิดขึ้นแล้ว เราจะเข้มงวดตัวเองขึ้น

แล้วจะรู้ทันความยินดีพอใจให้ทันได้ยังไง ปัญหาถัดมาจะเป็นอันนั้น นั่นแปลว่า เราต้องมีสติมีสมาธิที่ดีพอสมควร ที่เมื่อกระทบแล้วเกิดความยินดีขึ้น เราเห็น รู้ทันได้ แล้วเราจะมีสติสมาธิที่ดีขึ้นได้ยังไง เราต้องเลิกทำสิ่งที่ไม่ต้องทำ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ฟุ้งซ่าน คิดนู่นคิดนี่ พอสิ่งแวดล้อมเหมาะสม สติสมาธิมันมาเอง มันเพิ่มขึ้น เพราะเราไม่รู้จะทำอะไร เราไม่รู้จะไปเพลิดเพลินกับอะไร มันก็ต้องมาอยู่กับตัว พอมันอยู่กับตัว สติสมาธิมันก็เพิ่มขึ้นเอง อย่างที่ผมบอกว่า การที่เราอยากเร่งความเพียร ไม่ใช่เราไปทำเอาเอง ไม่ใช่เราไปเร่งเอาเอง เราแค่ปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเกิดสติสมาธิ ให้มันเข้มงวด นั่นคือหน้าที่เรา เราทำได้แค่นั้น ที่เหลือให้เป็นเรื่องธรรมชาติ

 

16-11-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/e_SMHgPJSBQ

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
https://camouflagetalk.podbean.com/