150.เดินทางไกล

ตอนที่ 1 ความเห็นผิดของเราเอง

การปฏิบัติธรรมเหมือนการเดินทางไกล เป็นระยะทางที่เราไม่รู้ว่าไกลเท่าไหร่ แต่เรามีหน้าที่ที่จะรู้จักว่าเราต้องเดินทาง หยุดไม่ได้ ไม่มีวันหยุด ร่างกายของทุกคนกำลังแก่ลงไปเรื่อยๆ กำลังอ่อนลงเรื่อยๆ จิตใจถ้าไม่ได้ฝึกให้มีสติรู้เท่าทันอาการต่างๆ ภายในจิตใจ มันก็จะสะสมแต่ความไม่รู้ สะสมแต่ความหลง สะสมจากความเคยชินเก่าๆ สะสมแต่กิเลส มันก็คืออาการป่วยทางจิตใจ ถ้าเราไม่ฝึกเรียนรู้ที่จะปฏิบัติธรรม กายและใจนี้ก็ป่วยลงไปเรื่อยๆ

ชีวิตเราเหมือนโศกนาฏกรรม มีร่างกายที่เปราะบาง ร่างกายนี้คลุมอยู่ด้วยผิวหนังบางๆ นิดเดียว แค่ผิวมันแห้งมันแตกเราก็ทรมานแล้ว จิตใจนี้เต็มไปด้วยความเห็นผิดว่ามีเราจริงๆ มีเขาจริงๆ มีคนจริงๆ เราก็ต้องทุกข์จากความเห็นผิดนั้น ฉะนั้น ภัยอันตรายตัวจริงหรือทุกข์ที่แท้จริงมันอยู่ติดกับเราเลย

ความคิดที่เราเคยคิดว่าเพราะเรามีนี่ไม่พอ มีนั่นไม่พอ มีเพื่อนไม่ดี มีลูกไม่ดี มีหลานไม่ดี ทำให้เราทุกข์นั่นเป็นผลสืบเนื่องจากต้นตอคือ “ความเห็นผิดของเราเอง” ที่คิดว่ามีเราจริงๆ มีเขาจริงๆ ความทุกข์ที่คนในโลกกำลังทุกข์กันอยู่นี้เป็นความทุกข์ระดับผิวน้ำ เราไปไม่ถึงก้นบึ้งที่สุด ว่าแท้จริงความทุกข์ทั้งหลายเกิดจากความเห็นผิดของตัวเอง

ทุกครั้งที่ความเจ็บป่วยทางร่างกายเกิดขึ้น เรามีหัวใจของนักปฏิบัติธรรมไหม มันกำลังบอกเรา บอกว่าเราประมาทไม่ได้แล้ว มันกำลังเตือนเรา ว่าเราจะหลงเพลิน โง่เหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว เป็นเวลาที่เราต้องเข้าใจความจริงว่าเราจะทำยังไงให้เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ให้ได้หมดความเป็นเจ้าของร่างกายนี้ยังไง ต้องทำยังไง มันไม่ป่วยวันนี้มันจะป่วยวันหน้า วันนี้ป่วยแล้วหาย มันจะป่วยอีก เพราะมันต้องตาย เราจะรับมือกับความเจ็บป่วยทางร่างกายยังไง ผมไม่เห็นทางอื่นนอกจากเราต้องทิ้งร่างกายนี้ให้ได้

ทางเดินนี้ยาวไกล และทางเดินนี้ก็เร่งไม่ได้ด้วย สิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดคือ “เวลา” เวลาเป็นสิ่งเดียวที่เราทุกคนมีเท่ากัน ในวันหนึ่งเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน เราใช้เวลา 24 ชั่วโมงนั้นอย่างไร ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับเราเอง วิบากกรรม ความทุกข์ทั้งหลาย มันจะมาถึงเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ไม่เกี่ยวกับแก่หรือหนุ่มหรือสาว ถ้าวิบากกรรมจะให้ผลมันจะให้ เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรแน่เลย

เราหนีความเจ็บป่วยไม่ได้โดยเฉพาะโลกทุกวันนี้ โลกทุกวันนี้ไม่เหมือนสมัยปู่ย่าตายายที่ทำเกษตร แต่ทุกวันนี้เราทำงานออฟฟิศ เข้าโรงงาน มีเวลาทำงาน ทำโอที ทำเกินเวลา เพราะงานมันเยอะ จะป่วยก็ไม่ได้ เป็นหวัดปุ๊บกินยาพาราไว้ก่อน แก้แพ้ตาม อักเสบช่วย ไม่ไหวก็เข้าโรงพยาบาลไปฉีดยา เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเราไปทำงานต่อได้ เพราะฉะนั้น ชีวิตทุกวันนี้ในสังคมและวิถีชีวิตการกินการอยู่ เร่งอัตราความเจ็บป่วยให้กับมนุษย์ทุกวันนี้

เมื่อก่อนเราป่วย เราก็นอนพักฟื้นอยู่บ้าน กินอาหารอ่อนๆ เช็ดตัว กินน้ำอุ่น กินน้ำเกลือ หรืออะไรก็ตามที่คนโบราณเขาทำกัน แล้วก็หาย เราให้ร่างกายจัดการตัวเอง ให้ธรรมชาติบำบัดตัวเอง แต่ทุกวันนี้หมดสิทธิ์

เรามีร่างกาย มีไว้เรียนรู้ อดทนเห็นอาการต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในร่างกาย เห็นอย่างอดทน เมื่อเรารู้จักเห็นมันอย่างอดทน มันเป็นการปฏิบัติธรรมทันที เห็นมันเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องอยู่ด้วยกับมันแค่นั้น ให้มันแสดงความจริงว่ามันเต็มไปด้วยทุกข์ มันเต็มไปด้วยความสกปรก เต็มไปด้วยของเน่าของเสียของเหม็น

เราต้องการจะทิ้งร่างกายนี้ เราต้องเห็นความจริงของมันว่ามันไม่ใช่ของดี เราจะไม่เป็นเจ้าของร่างกายหรือจิตใจนี้ได้ เราต้องเห็นมัน เคยแยกกันออกไหมว่าตอนที่เราไม่เห็นมันกับตอนที่เราเห็นมัน มันคนละความรู้สึก ตอนที่เราเห็นมัน เราจะรู้สึกว่ามันเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มันเป็นสิ่งที่ถูกเห็น มันมีลักษณะแยกออก แต่ถ้าไม่มีลักษณะของความรู้สึกว่ามันถูกแยกออกเป็นอีกสิ่งหนึ่ง นั่นแปลว่าเรากำลังเป็นอยู่กับมัน แม้ว่าตอนนั้นเราจะไม่มีทุกข์กับมัน จิตใจจะปกติดี แต่นั่นคือเรารวมกับมันอยู่ เราไม่ได้เห็นมันเป็นอีกสิ่งหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ต่อไปเราสังเกตแบบนี้ เราจะรู้ว่า “การแยกออกมาเห็น” กับ “การที่เรารวมอยู่กับมัน” มันเป็นยังไง มันไม่ใช่แยกอยู่ตลอดเวลาเพราะเราไม่ได้เข้าฌาน เราแยกอย่างนั้นไม่ได้ตลอดเวลา ฉะนั้น มันจะเดี๋ยวแยกเดี๋ยวรวม แล้วพอรวมก็รู้ว่ารวมไปแล้ว แล้วก็แยกมาใหม่ สลับกันไป เท่าที่เห็นได้ เท่าที่รู้ได้

 

ตอนที่ 2 ทำอะไรโงๆ ซ้ำไปซ้ำมาทั้งชีวิต

หันกลับไปดูจิตใจเป็นยังไง อาการทางจิตใจก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ เป็นอีกสิ่งหนึ่งเหมือนกัน อาการทางจิตใจ ความกระเพื่อมหวั่นไหว ความบีบคั้นที่เกิดจากกิเลสต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นในจิตใจ “เรามีหน้าที่แค่รู้” ไม่มีหน้าที่ละอะไรทั้งนั้น เรามีหน้าที่เรียนรู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริง เรามีหน้าที่เรียนรู้ว่าจิตใจนี้เมื่อมีกิเลสเกิดขึ้นมันทุกข์แบบนี้ เมื่อมีความยึดความติดในร่างกายหรือในบุคคลอื่นๆ สิ่งของอื่นๆ มันทุกข์แบบนี้ เราไม่มีหน้าที่จัดการให้จิตใจนี่มันดี ถ้ามันดีเราจะทิ้งมันไม่ได้ เรามีหน้าที่เรียนรู้ว่าทั้งกายและจิตนี้เป็นทุกข์

จิตใจมีความคิดฟุ้งซ่าน มันไหลไปคิด ไม่มีหน้าที่ห้ามให้มันไม่ไหลไปคิด มีหน้าที่แค่รู้ว่าจิตใจทำงานแบบนี้ รู้ว่าถ้ามันทำเยอะมันไหลเยอะก็จะทุกข์เยอะ รู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่คิดว่าทำไมมันไหลเยอะ ทำไมมันคิดเยอะ

กายและจิตใจนี้แสดงความจริงตลอดเวลา แต่เพราะความโง่ของเราทุกคน เราหนีความจริงทั้งชีวิต เราปกปิดความจริงทั้งชีวิต เก้าอี้นั่งไม่สบายก็ไปซื้อตัวใหม่ให้มันสบายกว่านี้ เราไม่อยากรับรู้ว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์ จิตใจไม่สบายเศร้าซึม ก็ไปฟังเพลง ดูหนัง ไปเที่ยว คุยกับเพื่อน หาอะไรกิน เรารับไม่ได้กับความจริงว่าจิตใจนี้เป็นทุกข์

ชีวิตของมนุษย์มันก็มีแค่นี้แหละ ทำอะไรโง่ๆ ซ้ำไปซ้ำมาทั้งชีวิต แล้วพอถึงวันที่ความทุกข์ถาโถมเข้ามาก็ตีโพยตีพายร้องให้คนนั้นช่วยร้องให้คนนี้ช่วย เราไม่เคยวิเคราะห์ว่าถ้ามีคนช่วยเราได้ครั้งหนึ่ง แล้วครั้งต่อไปถ้าเกิดขึ้นอีกเขาจะช่วยเราได้ไหม แล้วถ้าเกิดขึ้นอีกเขาจะช่วยเราได้ไหม ไม่เคยคิดได้เองว่าต้องช่วยตัวเอง

ผมเคยบอกแม่ผมว่าดูป๊าเป็นตัวอย่าง ดูว่าเขาทุกข์แค่ไหน เขาต้องนอนอยู่บนเตียงโรงพยาบาลไปไหนไม่ได้ เมื่อถึงวาระนั้นไม่มีใครจะช่วยแม่ได้ ไม่มีใครไปด้วย เราจะตายไปคนเดียว เราพร้อมหรือยัง อาศัยบุญกุศลของตัวเองต้องทำตั้งแต่วันนี้ เพราะฉะนั้น ชีวิตของผมและทุกคนที่อยู่รอบข้างผมจะได้รับแต่ความจริง ผมไม่หลอกใครไปวันๆ

ถ้ามีชีวิตและรู้สึกทุกข์นั่นคือของจริง นั่นคือเรื่องจริง เราอยู่กับความฝันมานานแล้วที่เข้าใจว่าชีวิตนี้มีความสุข ถึงเวลาเจอความจริง

 

ตอนที่ 3 เดินทางไกล

คอยรู้ทันจิตใจเป็นยังไง ความรู้สึกทางร่างกายเป็น Background จิตใจสงบก็รู้สงบแล้ว เคลิ้มก็รู้ว่ากำลังเคลิ้มแล้ว รู้ทัน มีหน้าที่แค่นั้น เราค่อยๆ ฝึก ฝึกง่ายๆ แค่นี้ ไม่ต้องหวังอะไร ไม่ต้องหวังความก้าวหน้าอะไรทั้งนั้น อย่าลืมที่ผมบอกตั้งแต่แรกว่ามันคือ “การเดินทางไกล

มีเป้าหมายเดียวที่เรายังไม่รู้จัก เลยไม่ต้องคาดหวัง คือ “อิสรภาพจากทุกสิ่งทุกอย่าง” แม้ความเป็นพระอริยบุคคลในชั้นไหนๆ ก็ไม่มีความสำคัญอะไร เมื่อเรายังไม่ถึงอิสรภาพอย่างสมบูรณ์ ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่แท้จริง อะไรจะวิเศษขนาดไหน ก็ไม่มีอะไร เรายังทุกข์อยู่ เรายังคงต้องเดินทางไกลต่อไป

พวกเราเคยได้ยินครูบาอาจารย์พูดว่า “นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตาอยู่แล้ว” เราไม่เห็นเอง มันเหมือนใกล้แต่ไกล ถ้าเราเคยได้ยินหรือเคยอ่านปฏิจจสมุปบาท มันก็เหมือนการเดินทางไกลในวงจรนี้ ไปดับกองไฟในแต่ละจุดแต่ละขั้น ดับไปจนถึงอวิชชา ก็หมดงานหมดธุระ เพราะฉะนั้น มันเป็นการเดินทางไกล ใช้เวลา

เราอาจจะเคยได้ยินครูบาอาจารย์พูดถึงภูมิธรรมขั้นต่างๆ ของพระอริยะ อย่างพระอนาคามีเป็นบุคคลที่ละความยินดีพอใจในกามราคะได้ แต่เราไปอ่านสังโยชน์ที่เหลือของพระอนาคามีก็มีรูปราคะอรูปราคะ มันก็คือความยินดีพอใจในรูป ความยินดีพอใจในอรูป เราก็แปลกันต่อว่าเป็นรูปฌาน อรูปฌาน แต่ถ้าเราไปอ่านก็มีหลายความเห็นอีก มีความเห็นบางอันว่าเป็นความพอใจในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสในระดับละเอียด เช่น เรามีลูก ต่อให้ลูกเราเลวร้ายยังไง ขี้เหร่ยังไง สกปรกยังไง เราก็รักลูกเรา มันไม่เกี่ยวกับลูกเราต้องสวยต้องดีต้องหล่อ เรายังพอใจกับลูกเราเสมอ

เพราะฉะนั้น ดูๆ แล้วเนี่ยผมเลยบอกว่ามันเป็นการเดินทางไกลที่จริงๆ เรามีเป้าหมายเดียวคือ “ดับอวิชชาให้ได้” หมดสิ้นความเห็นผิด ไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งคิดว่าตัวเองก้าวหน้าแล้วขั้นไหนแล้ว มันเป็นเรื่องน่าเบื่อ เรื่องที่ไม่มีใครรู้จริงยกเว้นพระพุทธเจ้า

ความเห็นผิดตัวเดียวก็ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายทางจิตใจ ก่อให้เกิดการปรุงแต่งมากมายทางจิตใจ เป็นการปรุงแต่งที่ประกอบด้วยกิเลส เพราะฉะนั้น เส้นทางนี้ยาวไกล เราไม่ต้องไปสรุปอะไรกับการเดินทางบนเส้นทางนี้ สิ่งที่เราต้องทำมีหน้าที่รู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริง มีกิเลสอยู่ก็รู้ ยังมีทุกข์เหลืออยู่ก็รู้ ยังมีงานต้องทำอยู่ก็รู้ แค่นี้ก็พอ แล้วถ้าปล่อยจิตใจหลงฟุ้งซ่านแล้วไม่รู้ ความทุกข์จะมาคอยสะกิดเราเอง

การเดินทางไกลจะสั้นลง ถ้าเรารู้จักใช้เวลาแต่ละวันให้มันคุ้มค่า เราต้องหมั่นเตือนตัวเอง

 

ตอนที่ 4 ปลุกสัมมาทิฏฐิขึ้นมา

ถ้าเราไม่เคยเห็นชีวิตเป็นทุกข์ ลองสังเกตเวลาจิตใจนี้มีความบีบคั้น อยากจะไปทำอะไร แล้วอย่าทำ ดูมันทุกข์ขนาดไหน

ชีวิตพวกเราเมื่อก่อนนี้มีความอยากเกิดขึ้น แล้วพอไม่ได้ทำตามที่อยาก ก็จะรู้สึกทุกข์ แต่พอได้ทำตามที่อยากแล้วสุขสบายใจ แต่ชีวิตนักปฏิบัติธรรมนี่แค่จิตใจมีความอยาก มีความบีบคั้น มีความดิ้นรนให้อยู่เฉยไม่ได้ นี่เรารู้สึกแล้วว่าเป็นทุกข์ คนมีปัญญาเขาเห็นแบบนี้ เขาเห็นว่าตราบใดที่จิตใจนี้ยังถูกบีบคั้นได้ ยังมีตัณหาความอยากอยู่ ยังมีความดิ้นรนอยู่ ชีวิตนี้เป็นทุกข์แสนสาหัส แล้วก็รู้จักคิดว่าจะทำยังไงถึงจะทำให้หมดความอยากนี้ไปได้ หมดตัณหาไปได้ หมดความดิ้นรนนี้ไปได้ ไม่ใช่คิดว่าจะทำยังไงถึงจะสนองความอยากนี้ได้ นั่นเป็นวิถีชีวิตของคนโง่ที่คิดแบบนั้น เขาไม่เข้าใจว่านี่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวงในชีวิตเราเลย เรามัวแต่สนองทำตามเพื่อให้หายทุกข์ไปชั่วครั้งชั่วคราว แล้วมันก็มาใหม่ แล้วมันก็มาใหม่อีก จะว่าไปมนุษย์นี่เป็นคนฉลาดแต่ดูอีกทีก็โง่

พวกเรามีบุญ มีบารมี มีปัญญาพอที่จะอยู่บนเส้นทางนี้ อยู่บนเส้นทางของการที่ไม่เป็นเจ้าของร่างกายและจิตใจนี้ อยู่บนเส้นทางของความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เรามีปณิธานอันนี้เอาไว้ในใจ อย่าลืม ทุกวันถามตัวเองว่าร่างกายนี่มันใช่ตัวเราไหม มันใช่เราไหม หรือมันเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ถูกรู้ อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด จิตใจใช่เราไหม หรือเราเป็นคนที่เห็นมันอยู่ การเตือนตัวเอง สอนตัวเอง ค่อยๆ ปลุกสัมมาทิฏฐิขึ้นมา

เราสังเกตทุกวัน เราทำอะไรอยู่ จิตใจเปลี่ยนแปลง จิตใจเป็นยังไงอยู่เรารู้ไหม ถ้าเรามีความเคยชินใหม่ที่จะไม่ลืมกายไม่ลืมใจอยู่ เห็นมันอยู่ มันเปลี่ยนแปลงก็รู้อยู่ นั่นใช้ได้แล้ว

เส้นทางนี้เนี่ยจะว่าโหดมันก็โหด มันโหดตรงที่ว่าเราเร่งอะไรไม่ได้เลย เพราะถ้าเราประมาท เวลาที่เรามีอยู่มันไม่หวนกลับ มันไม่ให้โอกาสใหม่

เวลาของแต่ละชีวิตมีจำกัด มันโหดตรงนี้แหละ ไม่ใช่บอกว่าเดี๋ยวเราไปเร่งเอาตอนปลายทาง นี่คือวิธีคิดแบบคนในโลก เหมือนไปอ่านหนังสือตอนใกล้สอบ เราทำอย่างนั้นมาทั้งชีวิตแล้ว

เส้นทางนี้เหมือนการปลูกต้นไม้ ต้องใช้เวลา ผลไม้ลูกนี้ออกหน้านี้ ผลไม้ชนิดนั้นออกหน้านั้น มันมีหน้าของมัน เราต้องรอ! เรียกว่า ผลไม้ตามฤดูกาล เป็นวิถีธรรมชาติ การปฏิบัติธรรมเป็นวิถีธรรมชาติเหมือนกัน ถ้าเรามัวแต่ร่ำไร เราก็เสียโอกาส

 

09-11-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/U75Vt8-6MK8

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
https://camouflagetalk.podbean.com/