149.ทำผล

ตอนที่ 1 ใส่ใจจะเห็นอาการ

เวลาที่เรามานั่งสมาธิเดินจงกรม มันไม่ค่อยจะมีกิเลสที่มาบีบคั้นอะไรเราเท่าไหร่ กิเลสมันมาตอนที่เราอยู่คนเดียว มาตอนที่เราไม่รู้จะทำอะไรดี กิเลสตัวที่บีบคั้นให้เราดิ้นรนจะหาอะไรทำ แล้วเราก็มักจะเป็นทาสของมันทันที คือ “มันเบื่อ” มันอยากได้รับอะไรก็ได้ที่รู้สึกว่าได้รับ มันหิวอารมณ์ อยากได้รับความรู้สึกแปลกใหม่จากตอนนี้ แต่เราไม่ค่อยเห็น เราเป็นเลย แล้วบางทีเราก็หลงผิดไปว่าไม่มีอะไร…ไม่มีอะไรให้ดู จิตใจไม่มีอะไร…มีเบื่ออยู่เห็นๆ แต่ไม่เห็น มีความดิ้นรนบีบคั้นให้เกิดความอยากจะไปทำอะไร “มันมีอยู่แต่ไม่เห็น”

เพราะฉะนั้น ตรงนี้ฟังให้ดี เมื่อไหร่ที่จิตใจมีความรู้สึกว่าจะหาอะไรทำ เห็นมันลงไปว่า “ดิ้นรนแล้ว จิตใจมันหิว มันผิดปกติแล้ว” เหมือนเราจับตัวอะไรสักตัวนึงอยู่ในกรงแล้วมันก็ดิ้นขลักๆๆ อยากจะออกไปข้างนอก ให้เราเห็นอาการนั้น ถ้าเราเรียกชื่อสภาวะนั้นไม่ถูกก็ไม่เป็นไร แต่ให้เห็นอาการแบบนั้นของจิตใจ มันไม่ปกติแล้ว

จริงๆ แล้วจิตใจมันก็แสดงอาการอะไรแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ทั้งวันนั่นแหละ แต่พอเป็นอาการแบบเบาบางเราไม่ค่อยใส่ใจที่จะเห็นมัน เราจะตามไปสักพักนึงจนเรารู้สึกว่า โอ้ย ไม่มีความสุขเลย เบื่อจังเลย…คำว่าเบื่อจังเนี่ยมันจะมาตอนที่ตามไปแล้วมันหาความสุขไม่ได้ พอหาความสุขไม่ได้ปุ๊บจะเกิดความทุกข์ที่ชัดเจนขึ้นคือ เบื่อจัง เศร้าจัง หดหู่จัง ชื่อมันถึงค่อยมาเพราะอาการมันแรงขึ้น

เพราะฉะนั้น เห็นตั้งแต่ตอนที่มันกำลังเกิดอาการเบาๆ บางๆ ฝึกที่จะสังเกต ใส่ใจที่จะเห็นอาการที่มันเริ่มๆ กระตุกๆ ตะกุกตะกัก ไม่รู้จะเรียกอะไรดี เหมือนเราจับตัวอะไรอยู่ในกรงแล้วมันสั่นอยู่ในกรงนั้น เห็นอาการนั้น พอเห็นปุ๊บสิ่งที่เราพลาดกันลำดับต่อไปคือ อยากจะให้มันสงบ อยากจะให้มันไม่เป็นแบบนี้ อยากจะให้มันไม่ฟุ้งซ่าน เราก็จะเริ่มทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อจะแก้ไขจิตใจที่กำลังสร้างทุกข์ให้เราแบบนี้ แล้วเราก็ทำผิดอีกจนได้

เพราะฉะนั้น แค่รู้ว่าตอนนี้มันเป็นแบบนี้ มันกำลังแสดงอาการแบบนี้ ส่วนเราจะนั่งสมาธิหรือจะเดินจงกรมในระหว่างนั้นก็เป็นไปเพียงแค่ “หน้าที่” ไม่ใช่เพื่อจะแก้ไขอาการทางจิตใจ

 

ตอนที่ 2 ทำผล

หลวงพ่อเทียนสอนไม่ต้องไปสนใจสติ สมาธิ หรือคำศัพท์อะไรพวกนี้ แค่เรารู้สึกตัวอยู่ มันก็เป็นสติเป็นสมาธิแล้ว ผมก็พูดแบบนั้นตั้งแต่คลิปแรกๆ แต่อย่างที่ว่ามันง่ายจนไม่น่าเชื่อถือ คนจำนวนมากที่ศึกษาปริยัติมาก็รับไม่ได้

เราลองดูว่าชีวิตการปฏิบัติธรรมของเราที่เราเคยฟังปริยัติมามากมาย เช่น ชีวิตของเรานั้นจริงๆ แล้วคือดินน้ำลมไฟ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณประกอบกันขึ้นมา พร้อมด้วยมิจฉาทิฏฐิมีความเป็นเราเป็นเจ้าของร่างกายและจิตใจนี้ แล้วเราก็ถูกสอนมาว่าให้รู้จักแยกออกเป็นส่วนๆ จะพบว่ามันไม่มีเราอยู่ที่ไหนเลย จนมาถึงตอนนี้ลองพิจารณาดูว่าสิ่งที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ด้วยกิริยาเดียวคือ “แค่รู้” แล้วเราค้นพบว่ามันก็เป็นการแยกส่วน แต่ละส่วนที่เราเคยได้เรียนมาได้ฟังมา เราได้รับรู้ด้วยตัวเราเองว่า อ๋อ อันนี้เป็นอันนี้ อันนี้เป็นอันนี้ มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นผลของการที่เราเข้าใจวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคือ “แค่รู้อย่างที่มันเป็น” แล้วเราจะได้ผลลัพธ์ เช่น มันเป็นสัญญา มันเป็นสังขาร มันเป็นเวทนา มันเป็นความคิด มันเป็นนี่เป็นนั่น จนละเอียดก็คือว่าเป็นแค่อาการๆ หนึ่งเกิดขึ้น ไม่มีชื่อ แล้วก็ไม่มีเราอยู่ในนั้น กระบวนการของการเรียนรู้มันก็จะเกิดผลลัพธ์คือความรู้ที่เรียกว่า ปริยัติ ซึ่งเกิดเอง

แต่ทุกวันนี้เรามีความรู้เยอะ ฟังมากจนลืมหน้าที่ตัวเอง ลืมว่าเรามีหน้าที่แค่ไหน ความฟุ้งเฟ้อในความรู้ทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังมากลายเป็นอุปสรรค โดยเฉพาะคำสอนที่บอกว่า รู้อย่างนี้ถึงจะดี รู้แบบนี้ถึงจะถูก รู้แบบนั้นเรียกว่าเก่ง อะไรก็ว่าไป แล้วเราอยากได้แบบนั้นทันที เราทุกคนเคยเป็น ผมก็เคยเป็น เป็นแบบนั้นก็ทุกข์

แม้กระทั่งบางคนได้ยินคำสอน สักว่ารู้ สักว่าเห็น โลกนี้ว่าง มาบอกผมว่ากำลังฝึกอย่างนี้ เห็นโต๊ะสักว่าเห็นไม่ให้มันเป็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้สักว่าเห็นไม่ให้มันเป็นเก้าอี้ มันจะได้ว่างจากความหมาย ….บ้าเลย เนี่ยเราจะเอาผล เราเดาๆ ผลเอาว่ามันน่าจะเป็นอย่างนี้มั้ง เราก็จะทำแบบนี้แหละ เราทำเกิน เพราะฟังเยอะแล้วก็ทำเกิน เกินจากหน้าที่ที่เราทำได้ คือ “แค่รู้อย่างที่มันเป็น” เราจะเอาแบบที่นึกว่าเป็นธรรมะขั้นสูงต้องอย่างนี้ แล้วเราก็จะทำอย่างนี้

คำว่า “สักว่า” นี้ เปรียบกับคำที่บริสุทธิ์ที่สุดอีกความหมายหนึ่งคือ “มันเป็นกิริยาจิต” มันเป็นกิริยาของพระอรหันต์ ที่พวกเราสักว่าสักว่ากัน มันก็สักว่าเหมือนกัน แต่มันยังไม่บริสุทธิ์เท่าพระอรหันต์ แล้วมันทำไม่ได้ เอาไว้วันหนึ่งพวกเราจะเข้าใจว่าสภาพนั้นมันทำไม่ได้ มันเป็นสภาพที่จิตใจนั้นมันบริสุทธิ์ แล้วความรู้สึกว่าเป็นแค่กิริยา มันจะเกิดขึ้น อธิบายไม่ได้ อธิบายเต็มที่ได้ก็คือรู้สึกว่ามันบริสุทธิ์ มันไม่มีความบีบคั้นอะไรในการรับรู้สิ่งใดๆ

แต่ด้วยความที่เราอยากก้าวหน้า อยากจะขั้นสูง อยากจะพัฒนา คิดเอาเองว่าจะทำให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ ไม่เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติขัดเกลา ธรรมชาติของเหตุปัจจัย มันจะเป็นไปของมันเอง เรามีหน้าที่ “แค่รู้ รู้เท่าที่รู้ได้

เหมือนเราฟังหรืออ่านธรรมะของท่านพุทธทาส เราจะรู้เลยว่าท่านพุทธทาสจะสอนเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นมากที่สุด ผมอ่านปุ๊บผมก็จะทำไงดีให้มันไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ผมโชคดีที่ผมทำไม่ได้ สมัยก่อนผมไม่รู้จักวิธีปฏิบัติว่าปฏิบัติยังไง แต่รู้จากการอ่านมาแล้วว่าต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นถึงจะไม่ทุกข์ พยายามจะไม่ยึด แต่มันทำไม่ได้ ก็ยังโกรธเหมือนเดิม ยังบ้าเหมือนเดิม ก็เลยเลิกไป เพราะทำไม่ได้

แต่บางคนทำได้ คนที่จิตใจมีกิเลสเบาบางเขาก็ทำได้นะ เขาก็ เออ ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ไม่ยึดมั่นถือมั่น แบบนี้เรียกว่า “ทำผล” ไม่ใช่สร้างเหตุ ที่ผมเคยพูดสมัยก่อนว่าการทำแบบนี้ คือการเอาสีขาวมาป้ายทับสีดำเอาไว้ ทีนี้ต้องลำบากเพราะต้องลอกทั้งสีขาวลอกทั้งสีดำออก

จะเห็นว่ากว่าจะมาถึงเส้นทางนี้มันไม่ง่าย มันต้องมีความหนักแน่น ความมั่นใจ ความไม่ไขว่เขวว่าหน้าที่ที่แท้จริงของเราในการปฏิบัติธรรมนั้นมีเพียง “แค่รู้” ทางล่อลวงที่ให้เราไปมันมีเยอะ ทางดูสวยๆ งามๆ ทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น เป็นคนที่ปกปิดด้วยสีขาวมากๆ ก็ต้องค่อยๆ ให้มันลอกออก แค่รู้ไปเรื่อยๆ มันจะค่อยๆ ลอกออกโดยธรรมชาติของมันเอง แล้วสีดำจะโผล่ขึ้นมา แล้วเราจะค่อยๆ รู้มันไป ไม่เพิ่มเติมสีดำเข้าไป แล้วธรรมชาติจะขัดเกลาจนมันบริสุทธิ์ด้วยตัวมันเอง

ถึงบอกว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเราจะเห็นตัวเองนี่แหละเลวที่สุด เลวร้ายที่สุดก็ตัวเรานี่แหละ เหล่านักปฏิบัติธรรมถ้าเรามีชีวิตใช้ชีวิต แล้วเราก็เห็นแต่คนอื่นเลวเนี่ย ต้องพิจารณาตัวเอง เราตัดสินคนอื่นได้เพราะเรามีมานะมีทิฏฐิ ในขณะที่เราตัดสินอะไรใคร จิตใจเราไม่ปกติหรอก เราไม่เห็นตัวเองแล้วตอนนั้น คนที่กำลังเลวอยู่คือตัวเอง ไม่เห็น เห็นแต่คนอื่น

พระพุทธเจ้าบอกว่าท่านไม่เห็นโทษเห็นภัยอะไรที่ร้ายแรงที่สุดเท่า “มิจฉาทิฏฐิ” คือความเห็นผิดว่ามีตัวเราจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าตัวเราเกิดขึ้นแล้วเราไม่เห็น นั่นคือโทษภัยที่ร้ายแรงที่สุด ต่อให้คนอื่นจะชั่วขนาดไหน ถ้าเราไม่เห็นตัวเอง ก็เป็นโทษภัยที่ร้ายแรงที่สุด

 

02-11-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/6ccY0m4hrSs

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
https://camouflagetalk.podbean.com/