147.อะไรกันแน่

ตอนที่ 1 ชีวิตนี้เป็นของเสมือน

เมื่อเรายินดีพอใจกับการได้รับความสุขผ่านทางร่างกายหรือผ่านทางจิตใจนี้ แล้วเราไม่รู้ว่ามันเป็นแค่สักแต่ว่าสิ่งที่กระทบแล้วรู้สึกขึ้นมา เราจะต้องพบความทุกข์จากความไม่ยินดีไม่พอใจเหมือนกัน

เราเคยได้ยินพระพุทธเจ้าบอกว่า “จงละความยินดีพอใจในโลกออกเสียได้” เมื่อเราละความยินดีพอใจได้ เราก็อัตโนมัติละความไม่ยินดีไม่พอใจได้ วิธีการก็คือ “รู้เท่าทัน” เมื่อความยินดีพอใจหรือความไม่ยินดีไม่พอใจเกิดขึ้น รู้เท่าทันว่ามันเป็นสักแต่ว่าความรู้สึก ไม่ใช่เรา

อย่าลืมว่า “ชีวิตนี้เป็นของเสมือน” อัตภาพในความเป็นมนุษย์นี้เป็นของเสมือน แท้จริงเราไม่ได้เป็นมนุษย์ มันเป็นบทละครหลักในชาตินี้เฉยๆ ที่เรายังต้องเกิดอยู่ ผลพวงจากอัตภาพความเป็นมนุษย์นี้พร้อมกับจิตใจที่มีอวิชชามีกิเลสก็ส่งผลให้เกิดความพอใจไม่พอใจ ส่งผลให้เกิดความเห็นแก่ตัว ส่งผลให้เกิดอะไรๆ อีกมากมายในชีวิตนี้ ถ้ายังมองไม่เห็นก็ไม่เป็นไร ฟังไว้ก่อนว่าชีวิตนี้เป็นของเสมือน

โลกนี้มันโหดร้ายทุกอย่าง การค้าขายเศรษฐกิจทุกอย่างหมุนไปได้ด้วยการรณรงค์กิเลสให้ยั่งยืน รณรงค์ความเป็นอัตตาตัวตนว่ามันมีอยู่จริงๆ เราต้องมีอย่างนั้น เราต้องเป็นอย่างนี้ เราต้องห้ามเหี่ยว เราต้องตึงตลอด ค่านิยมในสังคมหลอกเรามาก เราต้องมีครอบครัวที่ดี เราต้องแต่งงานต้องมีลูก ครอบครัวจะต้องเป็นครอบครัวที่มีความสุข อบอุ่น มันเป็นความคิดของอัตตาตัวตน และมันไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะชีวิตแต่ละคนมีแต่กิเลส มีแต่ความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้น คนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนี้ที่หลอกทุกคนได้ก็คือ “อวิชชา” หลอกให้เราหัวปั่นเดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวสุข

เรามีหน้าที่ “รู้เท่าทัน” สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ถ้าเรายังยินดีพอใจกับอะไรได้ ให้รู้ไว้เลยว่าปัญหากำลังจะเกิดขึ้นแล้ว เพราะความสุขมันจะผ่านไป ความไม่พอใจจะเข้ามา ชีวิตเราทุกคนสะบักสะบอม พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “โลกนี้เต็มไปด้วยทุกข์” แต่ก็ยากเหลือเกินที่จะสอนให้คนคนนึงพ้นทุกข์ได้ มันไม่มีใครช่วยใครได้จริงๆ “เราต้องพึ่งตัวเอง

ความรู้ที่ผมมีนั้นน้อยนิดมาก แต่ก็รู้สึกได้ว่า “ในความเป็นจริงแล้วช่วยใครไม่ได้” ผมนึกถึงว่ากว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมาสักองค์นึงในโลกนี้นั้นไม่ง่าย เพราะคนคนนั้นต้องพร้อมที่จะสอนทุกคน พร้อมที่จะออกเผยแผ่ธรรมะที่จะหาคนเห็นตามได้ยาก เราจะพบว่ามีพระปัจเจกพระพุทธเจ้าเยอะที่ท่านหลุดพ้นแล้วก็จบ ไม่สอนใครต่อ

เซนถึงมีคำพูดว่า “เมื่อลูกศิษย์ปรากฏ อาจารย์ถึงจะค่อยปรากฏ” ตัวแทนความเป็นลูกศิษย์คืออะไร คือ “ความพร้อมที่จะยอมทำตามคำสอน” เมื่อความเป็นลูกศิษย์บังเกิดขึ้น ความเป็นอาจารย์ถึงจะค่อยบังเกิดขึ้น ถ้าไม่มีความเป็นลูกศิษย์จริงๆ ปรากฏขึ้น ความเป็นอาจารย์ที่แท้จริงก็จะไม่ปรากฏขึ้นในตัวอาจารย์คนนั้นเหมือนกัน

จะเห็นว่าทุกความเป็นอะไรมันเป็นแค่ของเสมือน มันมีเหตุก็จะมีผลสืบเนื่องกันไป มันไม่ได้อยู่ถาวร ทุกอย่างเป็นแค่ระลอกคลื่นที่ผ่านมา เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป แล้วเดี๋ยวก็เกิดขึ้นใหม่ แล้วก็หมดไป ความเสมือนเหล่านั้นไม่ใช่ชีวิตที่แท้จริงของเรา

 

ตอนที่ 2 ตัวจริงของเรา

ผมอยากให้พวกเราเข้าใจในสิ่งที่ผมพูด “มองชีวิตลงไปให้เห็นว่าชีวิตนี้เป็นของเสมือน” เป็นแค่สิ่งประกอบกันขึ้นมา ร่างกายนี้ประกอบด้วยกรรม ทำกรรมอย่างนี้มาก็ได้ร่างกายอย่างนี้มา จิตใจนี้มีอวิชชาก็ประกอบด้วยกิเลส ก็ได้นิสัยแบบนี้มา แต่ทั้งหมดไม่ใช่เรา “เราเป็นแค่ธาตุรู้ที่บริสุทธิ์เฉยๆ” แล้วเราทุกคนเหมือนกัน อย่าจริงจังกับชีวิตของตัวเอง…ไม่ต้องไปจริงจังมาก ชีวิตคนอื่นก็เหมือนกัน มันไม่ใช่เรื่องจริง มันเป็นเรื่องจริงเหมือนกันแต่ไม่ใช่เรื่องจริง

เพราะฉะนั้น การมีชีวิตในอัตภาพของมนุษย์เนี่ยเราจึงต้องมีศิลปะในการใช้ชีวิตมาก แต่เราต้องรู้ว่าอะไรเป็นเรื่องจริง อะไรไม่ใช่เรื่องจริง ผมไม่รู้จะพูดยังไงนะ มันพูดยาก…มันเหมือนแค่ทุกวันเราเห็นแต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสิ่งที่กำลังอยู่อาศัยคือกายและจิตนี้ มันเป็นแค่ชั่วคราว เป็นสิ่งที่กรรมมันพาเรามาเป็นแบบนี้ มันพาเรามาเกิดแบบนี้ มีอัตภาพของมนุษย์แบบนี้ แล้วเราก็ต้องอยู่ในโรงละคร เช่น บนโลกมนุษย์ใบนี้กับความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ แบบนี้ เราทุกคนก็จะมีบทบาทหน้าที่ต่างๆ กันไป

แต่ปัญหาของเราคือ “เราเอาบทบาทนั้นมาจริงจัง” ถ้าเราเข้าใจลึกซึ้งจริงๆ ว่าชีวิตนี้เป็นแค่ของเสมือน บทบาทต่างๆ เป็นกรรม เราได้มาแล้วเราต้องอยู่กับมัน เราต้องอยู่ในบทบาทนี้ ต้องเจอคนนี้ ต้องทำแบบนี้ ต้องรับผิดชอบแบบนั้น แต่พึงระลึกไว้ว่าทั้งหมดนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราจริงๆ เมื่อไหร่ที่เราจริงจังเข้าไป ให้เรารู้ว่านี่กำลังเกิดมิจฉาทิฐิแล้ว

พวกเราโชคดีตรงที่เรามีเฉลยอยู่แล้วว่า “แท้จริงตัวเราทุกคนเหมือนกันคือ เป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์” ถ้าเรามีอันนี้เตือนใจเราไว้ สิ่งที่เกินจากอันนี้เราก็จะได้รู้ว่าเราเกินจากตัวจริงของเราแล้ว แต่ถ้าเราไม่รู้อันนี้เราก็คลำทาง…นึกออกมั้ยว่าก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นเนี่ย ก็มีคนอยากจะหลุดพ้นมาเยอะแยะในสำนักต่างๆ ลัทธินู้นลัทธินี้ พวกเขาพยายามทำทุกอย่างเพราะเขายังไม่รู้ว่าแท้จริงตัวเขาคืออะไร แต่ตอนนี้เรามีพระพุทธเจ้าบอกเราแล้ว แต่เห็นมั้ยว่าเราไม่ค่อยสนใจ เราละเลยอะไรที่เป็นเป็นแก่นเป็นความจริง เราไปหยิบสารพัดรายละเอียด Detail

ลองย้อนกลับไปคิดว่าที่ตัวเองปฏิบัติธรรมมา เราหยิบสารพัดรายละเอียด Detail ที่เราพยายามจะทำนี่ทำนั่น ต้องสร้างบารมีอย่างนี้อย่างนั้น มันไม่ใช่ไม่มีผลนะ มันมีผล แต่อย่างที่บอกว่าเราต้องเข้าใจแก่นก่อน พอเราเข้าใจแก่นแล้ว เราจะรู้แล้วว่าDetail ต่างๆ เนี่ยทำแล้วเป็นยังไง ได้ผลยังไง มันจะไม่หลงทาง เหมือนมีเข็มทิศแล้ว แล้วเราก็เดินทาง เราจะแวะเด็ดดอกไม้ แวะกินข้าว แวะอะไรหน่อยแต่มันไม่หลงทาง

แต่ที่พวกเราหรือนักปฏิบัติจำนวนมากทำกันคือ “ไม่มีเข็มทิศ” แล้วก็แวะนู่นแวะนี่ไปเรื่อย แล้วก็นึกว่า เอ อันนี้ก่อนมั้งแล้วก็ค่อยไปอันนู้น หรือเอ…อันนู้นก่อนแล้วอันนี้แล้วอันนั้นต่อ มันก็จะสะเปะสะปะแบบนั้น การปฏิบัติธรรมมันเลยกลายเป็นของยาก เป็นของที่รู้สึกว่าเราไม่เข้าใจ ทำยังไง

 

ตอนที่ 3 รู้เท่าที่รู้ได้

ผมถึงบอกว่า เรารู้เท่าที่รู้ได้ ความสามารถในการเรียนรู้ของจิตใจตอนนั้นมีแค่ไหนเอาแค่นั้น ไม่ต้อง Perfect เพราะเราต้องเข้าใจคำว่า “อนัตตา” คือมันสั่งไม่ได้ บังคับควบคุมไม่ได้ อยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็ทำไม่ได้ แล้วถ้าเมื่อไหร่เราทำได้นั่นคือ ทางตัน หรือ Dead End เราจะไม่เข้าใจความจริงเลยว่าทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือ “อนัตตา

เหมือนที่ผมเคยเล่าให้ฟังเรื่องของพระอนุรุทธะ ท่านมีทิพยจักษุเห็นการเกิดดับ ตามประวัติท่านก็สามารถเห็นในลัดนิ้วมือเดียวจิตเกิดดับถึงแสนโกฏิขณะ แต่ท่านก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ท่านต้องไปถามพระสารีบุตร พระสารีบุตรบอกว่าให้ละธรรม 3 อย่าง โดยสรุป 3 อย่างนั้นก็คือว่ามันมีความรู้สึกเป็นเรานี่แหละเห็น เรานี่แหละจิตตั้งมั่น ทำไมเรายังไม่บรรลุธรรม เราทำได้ทุกอย่างแล้วหนิ จิตเราก็ตั้งมั่นแล้ว เราก็เห็นเกิดดับได้ตั้งเยอะ…ผมถึงบอกว่าอะไรกันแน่

เราเคยพิจารณากันไหมว่า “อะไรกันแน่คือการปฏิบัติธรรม” เราพลาดตั้งแต่ต้น เราพลาดตั้งแต่เราไม่รู้จักที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราเป็นแค่ธาตุรู้ เราเป็นแค่พุทธะ แล้วเราก็หลงลืมมันไป เราไม่ยอมแค่รู้ เราเลยเป็นนักปฏิบัติธรรม ชีวิตของนักปฏิบัติธรรมเลยเกิดขึ้น

แต่ถ้าเราเข้าใจตัวจริงของเรา เราเข้าใจอนัตตา เราเข้าใจว่าโลกนี้เป็นไปตามเหตุปัจจัย เราจะเป็นแค่คนดูว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงไหม มันเปลี่ยนแปลงจริงไหม หรือมันกำลังเป็นยังไงอยู่ก็ได้

อย่างเราฟังมาว่าเราต้องมีสัมมาสมาธิ แล้วก็จะมีสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ หรือมีสมาธิก็จะเกิดการเจริญวิปัสสนาได้ มันสำคัญแต่มันจะค่อยๆ เป็นเองจากการรู้เท่าที่รู้ได้นี่แหละ แล้วพอทุกอย่างมีสัดส่วนที่พอเหมาะ เช่น มีสมาธิพอดีที่เห็นเห็นไตรลักษณ์ สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดเอง

เมื่อก่อนที่เราเพิ่งเรียนรู้เรื่องการปฏิบัติธรรม เราก็นึกว่าต้องเข้าฌานให้ได้ เพราะพอมีฌานแล้วก็จะมีสมาธิที่จะได้ไปต่อได้ แต่ถ้าเรารอบคอบสักนิดนึง เราก็ต้องศึกษามากขึ้นว่า อ๋อ เขามีแบบสุขวิปัสสกะด้วย คือ “ใช้ปัญญานำสมาธิ” แล้วพวกปัญญานำสมาธิก็แปลว่าไม่ค่อยมีสมาธิ แต่ทำไมหลุดพ้นได้ ทำไมไม่ต้องมีสมาธิเท่าเข้าฌาน คนที่เข้าฌานได้ก็มีสมาธิตลอด เดี๋ยวสมาธิตกก็ไปทำใหม่ ทำไมไม่หลุดพ้นเลย เพราะว่ามันรอทุกอย่างกลมกล่อมเป็นสัดส่วนที่พอดี เป็นสัดส่วนที่เราไม่รู้ด้วยว่าคำว่าพอดีตรงนี้มันคืออะไร แต่ธรรมชาติมันรู้ แล้วก็ไม่เกี่ยวกับเรา

เพราะฉะนั้น เวลาเราฟังธรรมแล้วคิดว่าสิ่งนี้ก็สำคัญ สิ่งนั้นก็สำคัญ เช่น สมาธิสำคัญ หรืออันนี้อันนั้นสำคัญๆๆๆๆ ใช่! สำคัญทุกอย่างเลย ผมไม่ได้บอกว่าไม่สำคัญนะ สำคัญหมดทุกอย่าง แต่หน้าที่เราคืออะไร หลักคืออะไร ถ้าเราแม่นๆ ตรงนี้ เข้าใจหลักให้มันแม่นๆ ตรงนี้ สิ่งที่สำคัญทั้งหมดนั้นมันเป็นผล หน้าที่เราคือ “ทำหน้าที่แค่รู้โดยปราศจากความหวัง รู้เท่าที่รู้ได้” รู้เท่าที่รู้ได้นี่มันเป็นรู้ที่บริสุทธิ์ มันปราศจากตัณหา

แต่ปัญหาจริงๆ ของพวกเราเองคือ เราทนไม่ได้กับการให้เราแค่รู้…รู้แค่นี้หรอ…มันก็ยังมีกิเลสอยู่นะ โกรธมันก็ยังโกรธอยู่ ไม่เห็นจะมีอะไรพัฒนาเลย ปัญหามันอยู่ที่เราเดือดร้อน

ลองดูแบบไม่เดือดร้อน ทำแบบไม่ต้องหวังจะบรรลุธรรมด้วย ไม่ต้องหวังว่าจะก้าวหน้า ไม่ต้องหวังว่ากิเลสจะหายไป ไม่ต้องหวังว่าจะรู้เร็วๆ รู้ไวๆ ประโยคเดียว “รู้เท่าที่รู้ได้

สิ่งที่เราต้องทำมีแค่ใช้ชีวิตที่วิเวกสันโดษ ไม่ไปเที่ยว ไปเล่น ไปทำอะไรฟุ้งซ่าน แล้วที่เหลือก็คือ รู้เท่าที่รู้ได้ มันเป็นอย่างนี้ก็รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้

ที่ผมเน้นสอนอย่างนี้ก็เพราะว่าบรรยากาศการฟังธรรมในแวดวงนักปฏิบัติธรรมเนี่ยมันเยอะ มันเฝอ บรรยากาศมันครอบคลุมไปด้วยว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนั้น จนเราลืมหลักว่า จริงๆ แล้วเราทำได้แค่ไหน หน้าที่เราจริงๆ มันคือแค่ไหน หน้าที่เราที่เป็นตัวจริงของเรา ไม่ใช่เราที่เป็น “เราจะเป็นนักปฏิบัติธรรม”

 

27-10-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/CAUqZ3piRXs

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
https://camouflagetalk.podbean.com/