146.ชีวิตเป็นของเสมือน

ตอนที่ 1 รู้จักหลักอย่างหนักแน่น

สังเกตดูว่าตอนนี้เรามีความพยายามจะทำอะไรไหม มีความหวังไหมว่าจะสงบกว่านี้สบายกว่านี้ ลุกลี้ลุกลนไหม จะรู้สึกตัวแบบไหนดี จะรู้ลมแบบไหนดี จะหายใจแบบไหนดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันมักจะมีในตอนเริ่มต้น เรามีหน้าที่รู้ว่าตอนนี้กำลังเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอยู่ในใจ

การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่เพื่อความสุขความสบายความสงบ การปฏิบัติธรรมคือ กำลังรู้สิ่งที่เกิดตรงหน้าตามความเป็นจริง มันดิ้นรนแต่เราไม่เห็น เรามัวแต่จะเอาไงให้มันดี จะทำยังไงมันถึงจะดี ตรงหน้าเนี่ยไม่ดู อยู่ภายใต้มันแล้ว

เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจถูกว่าการปฏิบัติธรรมคือ การเห็นหรือรู้เท่าทันสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกายในใจนี้ตามความเป็นจริง มันเป็นยังไงอยู่ก็รู้มันเป็นอย่างนั้น เลิกที่จะมี Concept มีทฤษฎีว่าจิตต้องเป็นอย่างนี้ จิตต้องเป็นอย่างนั้นถึงจะดี อย่าลืม…สติปัฏฐานสูตรนี่ท่านพูดว่า “จิตตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น” สมาธิเป็นผลจากการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไปทำมันขึ้นมา ไม่ใช่พยายามทำมันขึ้นมา

ผมจะย้ำว่าการปฏิบัติธรรม ชื่อยากๆ นี้แปลง่ายๆ ว่าคือ “การรู้เห็นกายและใจนี้ตามความเป็นจริง” มันกำลังเป็นอะไรอยู่ก็รู้ ไม่ใช่ว่ามันต้องเป็นยังไง

เคยฟังหลวงตามหาบัวเล่าถึงแม่ชีแก้ว เสียงล้ำท่านเคยเจอหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเจอแม่ชีแก้วแล้วบอกว่าถ้าเป็นผู้ชายจะให้บวชเณรและตามไปกับท่าน แต่พอดีเป็นผู้หญิงไปไม่ได้ ท่านบอกแม่ชีแก้วว่าให้เลิกปฏิบัติจนกว่าจะเจอครูบาอาจารย์ ทำไมท่านว่าอย่างนั้นเพราะยังปฏิบัติไม่ถูกแต่หลวงปู่มั่นคงไม่มีเวลาให้ เลยบอกว่าให้เลิกปฏิบัติห้ามปฏิบัติจนกว่าจะเจอครูบาอาจารย์ เนี่ยเราต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่าถ้าเรายังไม่เข้าใจหลักปฏิบัติความขยันนั้นเองจะทำลายเราในที่สุด อะไรก็ไม่สำคัญเท่าต้องรู้จักเส้นทางก่อน รู้จักหลักอย่างหนักแน่น

หลักง่ายๆ ที่ผมบอกเนี่ยพวกเราฟังกันมาเป็นปีเป็น 2 ปี 3 ปี แต่ก็ยังทำเกิน เวลากิเลสมันมาแล้วมันสู้ไม่ไหวมันทุกข์ทนไม่ได้ ทนกับความเห็นผิดของตัวเองไม่ได้ อยากให้มันดี ที่ทนไม่ได้เพราะเราอยากดี เราไม่ได้แค่พอใจกับการได้เรียนรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้าตามความเป็นจริง เราต้องการมากกว่านั้น และนั่นคือปัญหา

 

ตอนที่ 2 ชีวิตนี้เป็นของเสมือน

เราทุกคนรู้จักโรงมหรสพทางวิญญาณของท่านพุทธทาสก็คือ “โรงละครใบใหญ่” โลกนี้เปรียบเสมือนโรงละครใบใหญ่ มีเราเป็นหนึ่งในผู้แสดง ทุกคนอ่านก็เข้าใจ แต่เราก็ยังเป็นตัวละครนั้นเสมอ

ฝึกที่จะรู้เท่าทันความเป็นเรา ฝึกที่จะรู้แบบที่ผมสอนไปทุกอย่างนั่นแหละ แค่รู้นี่แหละความเข้าใจความลึกซึ้งในความจริงในสัจธรรม เช่น ชีวิตนี้มันเป็นของเสมือน จะเกิดขึ้น มีวันนึงผมกำลังเตรียมเข้านอน นอนลงไปก็เกิดความรู้สึกว่า “ชีวิตนี้เป็นของเสมือน” โลกนี้เป็นของเสมือน เรากำลังอยู่ในโรงละครใบใหญ่ มันไม่ใช่เราจริงๆ เราเหมือนนักแสดงที่ตื่นมาเราก็ไปกองถ่ายเพื่อแสดงละคร บทบาทนี้บทบาทนั้น วันนี้เล่นเป็นแม่พรุ่งนี้เล่นเป็นลูกมะรืนนี้เล่นเป็นเมีย

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ พบมนุษย์ มีบทบาทอย่างหนึ่งคือบทบาทของความเป็นมนุษย์ แล้วเราก็แยกย่อยการแสดงบทบาทต่างๆ ในภพมนุษย์ออกไปอีกทั้งชีวิตของเรา การที่เรามาสวมเข้ากับร่างกายและจิตใจนี้ เหมือนเราเปลี่ยนเสื้อผ้า แสดงบทบาทนั้นแสดงบทบาทนี้ทุกวัน เวลาเราเปลี่ยนเสื้อผ้าแสดงบทบาทนั้นแสดงบทบาทนี้ เราไม่เคยเป็นเจ้าของเสื้อผ้า แต่ด้วยอวิชชาอันยาวนานของเรา ร่างกายและจิตใจนี้ที่เปรียบเสมือนเสื้อผ้ามันกลายเป็นของเรา แท้จริงเราไม่ใช่ร่างกายและจิตใจนี้ เราแค่กำลังเล่นละคร เพราะฉะนั้น เราอย่าหลงบทบาทในละคร

ผมพยายามจะอธิบายสิ่งที่ผมเข้าใจ แต่ก็อธิบายยาก เราเป็นแค่ปรากฏการณ์ที่ปรากฏขึ้นมาในรูปแบบในบทบาทตามกรรมแต่แท้จริงเราไม่ใช่สิ่งๆนั้น

ผมอยากให้เข้าใจว่าความเป็นชีวิตนี้ของเรา ที่เราคิดว่าเป็นเรา มันเป็นแค่เสื้อผ้าอาภรณ์ มันไม่ใช่เราจริงๆ เราเป็นคนที่กำลังเห็นชีวิตนี้ดำเนินไปตามกรรมที่เราได้เกิดมาแล้ว เพราะฉะนั้น เส้นทางของการปฏิบัติธรรมมันจึงไม่ใช่ว่าเราจะเอาดี เราไม่ได้เป็นนักปฏิบัติธรรม เราเป็นแค่คนเห็นชีวิตนี้ตามความเป็นจริง

การเกิดมาเป็นมนุษย์มันก็เหมือนอุจจาระก้อนนึง เรามีกรรมถึงยังต้องเกิดอยู่ เราไม่ได้มีหน้าที่เป็นเจ้าของอุจจาระก้อนนั้น เรามีหน้าที่แค่อยู่กับมัน เห็นมัน ไม่ได้มีหน้าที่เป็นเจ้าของมัน ไม่มีหน้าที่ต้องไปทำอะไรกับมัน

พวกเราโชคดีมากแล้วที่เกิดมาในยุคที่มีคำสอนของพระพุทธเจ้า เราไม่ต้องคลำไม่ต้องคิดเอาเอง มีเฉลยอยู่แล้ว เหมือนที่ผมพูดบ่อยๆ เรามีเฉลยแล้วว่า “เราเป็นแค่ธาตุรู้ ธรรมธาตุ” ทำหน้าที่ให้ตรงกับความเป็นจริงของเรา อย่าทำเกินจากนั้น

ปฏิบัติแบบที่ผมบอกแบบนี้ ใช้เวลา ใช้ทั้งชีวิต ความรู้ความเข้าใจในความจริงในแบบที่ไม่ใช่การคิดเปรียบเทียบมันจะค่อยๆ เกิดขึ้นกับเรา เหมือนผมพยายามอธิบายเรื่องของชีวิตนี้เป็นของเสมือน หรือท่านพุทธทาสพยายามทำโรงมหรสพทางวิญญาณขึ้นมา ความเข้าใจจากการคิดตามกับความเข้าใจจากความรู้สึกเห็นด้วยตัวเองจริงๆ มันไม่เหมือนกัน

ผมจึงย้ำตลอดว่า ไม่ต้องรีบเข้าใจอะไรด้วยความคิด ธรรมะลึกซึ้งทั้งหลาย…พูดจริงๆ นะฟังไปก็ไลฟ์บอย  ถ้าเราจะคิดว่าฟังแล้วเราจะเข้าใจจริงๆ มันไม่มีทางที่จะเป็นอย่างนั้นได้เลย ถ้าฟังแล้วคิดว่าจะเข้าใจได้จากความคิดเนี่ยมันก็ไลฟ์บอย…ไม่มีประโยชน์ ฟังให้มันเป็นกำลังใจก็โอเค

แก่นหลักๆ ของพวกเราทุกคนคือ การรู้หน้าที่ที่จะใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง บนหลักปฏิบัติธรรมที่เป็นเนื้อแท้เป็นแก่นจริงๆ และอดทน เสียสละชีวิตนี้ให้กับการทำหน้าที่นี้ แล้วความเข้าใจทุกอย่างที่เรียกว่า “สัจธรรม” ในแต่ละแง่มุมจะค่อยๆ เปิดเผยออกมา ให้เราได้เห็นได้เข้าใจได้รู้สึกเอง

 

ตอนที่ 3 นักปฏิบัติธรรม

การเห็นตามความเป็นจริงในเชิง เช่น สิ่งๆ หนึ่งที่กำลังเห็นอยู่เป็นสิ่งที่ถูกรู้ บางทีมันก็แยกออกชัด บางทีมันก็ไม่ค่อยแยก ถ้าเรามีความหวังหรือตั้งไว้ว่ามันต้องแยกออกได้ชัดๆ เราจะดิ้นรน ความเป็นนักปฏิบัติธรรมจะเกิดขึ้นอีกแล้ว เราอยากให้มันดี ถ้าเป็นอย่างนี้ถึงจะถูก เป็นอย่างนี้ไม่ถูก

ถ้าเรายังไม่ยอมที่จะทำหน้าที่ “แค่รู้อย่างที่มันเป็น รู้เท่าที่รู้ได้ เห็นเท่าที่เห็นได้” เราจะเป็นคนบ้าที่มีชื่อว่า “นักปฏิบัติธรรม

อดทนที่จะแค่รู้” จะมีใครหรือครูบาอาจารย์ท่านใดบอกว่าเรายังไม่ดีก็ได้ไม่เป็นไร แต่ยังยืนหยัดที่จะทำหน้าที่แค่รู้

ยังไม่ต้องเชื่อผม 100 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ แต่ไปลองสังเกตดูเวลาที่มันทำนอกเหนือหรือเกินจากแค่รู้ มันทุกข์ไหม มันรู้สึกมีความเป็นเราขึ้นมาไหม มีกูนี่แหละจะทำให้มันดีมีไหม มันใช่รู้ตามความเป็นจริงไหม พิสูจน์ด้วยตัวเอง ไม่ต้องเชื่อ

สมมติวันนี้มีคนบอกเราว่าจิตไม่ตั้งมั่นนะ ลองถามตัวเองทุกคนเลย ดิ้นรนทันทีเลยใช่ไหม ทำไงดีล่ะจิตไม่ตั้งมั่น รีบเลย…รู้สึกตัวหายใจฮึดฮัดๆ อ่อ ต้องรู้เร็วกว่านี้ ต้องเห็นความคิดให้เร็วกว่านี้ ทำไงดีไม่ฟุ้งซ่าน ทำไงดีให้อยู่กับเนื้อกับตัว ทันทีที่เราถูกทักแบบนั้นเราจะเป็นคนบ้าทันที

แต่ถ้าเราเป็นคนมีหลัก หน้าที่ของเราคืออะไร จิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ เสร็จแล้ว! แล้วก็รู้เท่าที่รู้ได้ไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวตอนมันตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวขึ้นมาเราก็รู้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่มันตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น ปัญหาคือรู้ไหม ปัญหาคือยอมแค่จะรู้ได้ไหม

ผมจะย้อนกลับไปที่สติปัฏฐานสูตรเหมือนเดิม พระพุทธเจ้าบอกว่า “จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ จิตมีโทสะให้รู้ว่ามีโทสะ จิตตั้งมั่นให้รู้ว่าจิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่นให้รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น” นัยยะคือ รู้อะไรได้ก็รู้อันนั้นแหละ มันแสดงความจริงเท่ากัน ไม่ใช่รู้อย่างที่อยากจะรู้

ธรรมะพระพุทธเจ้านี้ง่ายกว่าที่เราคิดมาก แต่เพราะเราคิดมากมันเลยไม่ง่าย

เมื่อก่อนตอนที่พวกเราเริ่มสนใจปฏิบัติธรรม มักจะมีคำถามที่พบบ่อยมาก คือ พอเริ่มปฏิบัติธรรมปุ๊บ คนที่บ้านก็บอกว่าปฏิบัติธรรมยังไงยังโกรธอยู่ คนถามก็อยากให้เราเป็นพระอนาคามีเลยในวันแรก คนปฏิบัติก็บ้าพอกันเดือดร้อนว่าเรายังโกรธอยู่ทำยังไงดี พอโกรธมาปุ๊บก็…ต้องไม่โกรธ ไม่โกรธ…สารพัดที่จะทำ เราโกรธได้ แล้วก็รู้ว่าตอนนี้มีความโกรธเกิดขึ้น โทสะเกิดขึ้นในใจแล้ว แต่เราแค่ไม่ให้มันล้นออกมาภายนอกแค่นั้น

นักปฏิบัติธรรมที่เข้าใจหลักที่แท้จริงจะรู้ว่าเราเป็นคนที่กำลังรู้ทุกสิ่ง…แม้กระทั่งกิเลสนั้นตามความเป็นจริง เราฝึกที่จะเป็นคนที่เห็นกายและใจนี้ตามความเป็นจริง เราไม่ได้ฝึกที่จะเป็นคนดี แต่การที่เราเห็นกายและใจตามความเป็นจริงแล้วเราก็ไม่ให้มันล้นออกมาผิดศีลผิดธรรม เราก็ได้ผลลัพธ์ที่กลายเป็นคนดี เป็นคนดีที่ฉลาด เป็นคนดีที่มีปัญญา แล้วก็ปฏิบัติแบบนี้ไปนั่นแหละ โลภะ โทสะ ราคะมันจะลดลงไปเอง ไม่ต้องทำอะไรมันเลย

สิ่งที่ยากเย็นที่สุดในชีวิตเรามันจะลดไปเอง สติที่ไวขึ้นจะไวขึ้นเอง อย่าไปคิดว่าปฏิบัติวันนี้มะรืนนี้จะไวแล้ว ตามตำรากล่าวว่า บุคคลที่มีสติไวขึ้นคือพระสกิทาคามี บุคคลที่กิเลสเริ่มลดลงคือพระสกิทาคา เพราะฉะนั้น เลิกหวังอะไรลมๆ แร้งๆ แบบนั้น ว่าฉันจะต้องก้าวหน้าต้องเจริญ ให้ทุกอย่างมันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เกิดจากการที่เราสร้างเหตุแบบนี้ แล้วให้ผลมันเกิดเอง และเราก็มีหน้าที่แค่รู้ว่ามีผลแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว เรายังคงมีหน้าที่เดิม

การปฏิบัติกับที่พวกเราปฏิบัติเนี่ยเขาเรียกว่า “ใช้ปัญญานำสมาธิ” ปัญญาคือ การที่เรารู้อย่างที่มันเป็น เห็นตามความเป็นจริงนี่แหละ แล้วผลลัพธ์คือสมาธิ เหตุคือปัญญา เพราะฉะนั้น ทำหน้าที่สร้างเหตุ ส่วนสมาธิจะเกิดหรือไม่เกิดเป็นเรื่องของมัน ไม่ต้องเดือดร้อนให้มาก ถ้าอยากให้สมาธิเกิดตลอดต้องไปฝึกเข้าฌานจะได้สมาธิแบบที่อยากได้ ได้ตลอดนานทั้งวัน

เพราะฉะนั้น ผมย้ำว่าศาสนาพุทธนี้คือ ศาสนาที่จะเห็นโลกนี้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ศาสนาของสมาธิ แต่ก็ต้องอาศัยสมาธิ

 

27-10-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/X5XU9OL2c7I

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S