144.เกิดที่ไหน

ตอนที่ 1 วัดจิตวัดใจ

สังเกตว่าเรามีความพยายามจะทำอะไรไหม ขึ้นชื่อว่าจะนั่งสมาธิแล้วส่งผลให้เราเกิดความพยายามจะทำอะไรไหม เราไม่ต้องทำอะไร รับรู้ปัจจุบันขณะว่าเป็นยังไงนี่เรียกการปฏิบัติธรรม เมื่อมีความรู้สึกอยากจะทำอะไรก็รับรู้ว่ามีความอยากจะทำอะไรเกิดขึ้น สังเกตเห็นความอยากนั้นมันใช่เราไหม หรือมันเป็นอีกสิ่งหนึ่ง

อย่าลืมที่จะสังเกตจิตใจตัวเอง จิตใจเป็นยังไงอยู่รู้ไหม เราหมั่นทำหน้าที่ 3 ข้อ คือ รู้สึกตัว พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง หันกลับมาดูใจว่าจิตใจเป็นยังไงก็รู้ ถ้าเราไม่ทำหน้าที่อันนี้ จิตใจจะล่องลอย บางครั้งมันลอยแบบเหมือนรู้สึกตัวอยู่ มันไม่เชิงฟุ้งซ่าน แต่มันลอยๆ ออกไปหน่อย เราจะประมาทคิดว่าเราก็รู้สึกตัวอยู่ แต่ลองดู ลองหันกลับมาดูจิตใจ ถ้าเรารู้สึกได้ว่ามันหนักแน่นกว่าเมื่อกี้นี้ นั่นแปลว่าเมื่อกี้มันออกไปหน่อย

หน้าที่แบบนี้ต้องทำอยู่ตลอด ทำอยู่เนืองๆ เรียกว่าซ้อมรบอยู่เนืองๆ ไม่ประมาท นอกจากมันจะช่วยให้จิตใจนี้เกิดสมาธิตั้งมั่นแล้ว การที่เราซ้อมรบอยู่เรื่อยๆ มันก็เกิดเป็นความเคยชินใหม่ในการใช้ชีวิต แทนที่เวลาเราอยู่ว่างๆ เราก็จะไปคิดนู่นคิดนี่ หาอะไรทำไปเรื่อย ก็เปลี่ยนมามีหน้าที่แบบนี้

หลวงปู่ฝั้นเคยวิสัชนาธรรมกับในหลวงรัชกาลที่ 9 หลวงปู่ฝั้นสอนท่านว่า “วัด ก็คือ รู้จักวัดใจตัวเอง” วัดใจตัวเองตอนนี้มีกิเลสมากน้อยแค่ไหน ห่างไกลจากกิเลสมากน้อยแค่ไหน หรือมีอะไรอยู่ในใจก็วัดจิตวัดใจตัวเอง ท่านสอนว่า การรู้จักวัดจิตวัดใจตัวเองอยู่เนืองๆ นี่แหละ เขาเรียกว่า “ไปถูกวัด” ซึ่งก็คือเรื่องของการที่ผมบอกให้เรารู้จักหันกลับมาดูจิตใจบ่อยๆ นี่คือการปฏิบัติธรรม ต้องไม่ลืมหน้าที่นี้

 

ตอนที่ 2 เกิดที่ไหน

ในการปฏิบัติธรรมนั้นอย่าลืมหลัก หลักที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติธรรมคือ “การรู้ตามความเป็นจริง” เมื่อความรู้สึกตัวเกิดขึ้นก็รู้ตามความเป็นจริง เมื่อจิตไปคิดก็รู้ตามความเป็นจริง

แต่พวกเรานักปฏิบัติธรรมมีปัญหาอย่างนึงที่ผมว่าเป็นกันทุกคนคือ เมื่ออะไรเกิดขึ้นในกายในใจ เช่น เจ็บป่วย หรือโกรธ หรืออยาก แล้วพอบอกว่า รู้ อะไรเกิดขึ้นก็ให้รู้ แต่รู้แล้วก็ยังอยากอยู่ รู้แล้วก็ยังโกรธอยู่ รู้แล้วก็ยังทุกข์อยู่ สาเหตุก็คือที่รู้นั้น ยังไม่ตรงตามความเป็นจริงเท่าไหร่

การรู้ตรงตามความเป็นจริง ในมุมหนึ่งก็คือมันเป็นความเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมันคืออะไรกันแน่ ผมจะให้มุมมองอันนี้กับทุกคน เช่น ร่างกายมีความเจ็บป่วย มีความปวด มีความเมื่อย มีความรู้สึกอะไรที่มันไม่สบายกาย แล้วเราก็รู้ แต่เราก็ทุกข์ด้วย เราต้องหัดมองตามความเป็นจริงลงไป เช่น ความเจ็บป่วย ความปวด ความเมื่อย ความทรมานต่างๆ เกิดขึ้นที่ไหน พิจารณาลงไป ดูลงไป อ๋อ เกิดขึ้นที่กาย กายนี้ใช่ของเราไหม เราดูลงไปที่ร่างกาย ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ร่างกายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ เป็นอีกสิ่งหนึ่งเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ความไม่สบายกาย ความเจ็บปวดต่างๆ อยู่ที่กาย ไม่ได้อยู่เรา จริงๆ แล้วกระบวนการอย่างนี้มันเกิดขึ้นแป๊บเดียว แต่ผมขยายความให้ทุกคนฟัง พอเราเห็นตามความเป็นจริงแบบนั้นว่ามันอยู่ที่กาย ไม่ได้อยู่ที่เรา มันหลุดแล้ว ไปลองดูเถอะ “เราเป็นคนรู้” แต่ผมต้องแยกมุมมองละเอียดอย่างนี้สักหน่อยเพื่อให้พวกเราเกิดศิลปะในการเห็นตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้น เพื่อให้มันตรงตามความเป็นจริง จริงๆ การปฏิบัติก็จะไปได้ดีขึ้น

เหมือนความอยากเกิดขึ้นที่ใจ อยากไปกินนี่อยากไปกินนั่น อยากฟังนี่อยากฟังนั่น พอเกิดความอยากปุ๊บ เราก็เข้าไปรับความอยากนั้นทันที เป็นเราอยาก พอเป็นเราอยากแล้วบอกว่ารู้ว่าอยากเนี่ยมันก็ยังอยากอยู่นั่นแหละ

เพิ่มมุมมองการเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตามความเป็นจริง จริงๆ ซักหน่อยว่า ความอยากเกิดขึ้นที่ไหน? สังเกตลงไป เกิดขึ้นที่จิต จิตใช่ของเราไหม ถามตัวเอง จิตก็ไม่ใช่ของเรา จิตก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ เมื่อเราเห็นตรงตามความเป็นจริงแบบนี้ มันก็แยกออก แยกออกมาจากการเข้าไปรับเข้าไปติดกับอารมณ์ความรู้สึกใดๆ ที่เกิดขึ้นในใจ

สังเกตให้ดีนะว่า เราไม่ใช่ไปจับมันแยกออก เราไม่ใช่ไปละอารมณ์ เราอาศัยกันเห็นตามความเป็นจริง แล้วมันแยกออกเอง มันไม่เข้าไปรับไปติดกับอารมณ์นั้นเอง เพราะฉะนั้น หัวใจหลักที่ผมบอกว่า รู้ตามความเป็นจริง นี่คือหลักการปฏิบัติธรรม

มุมมองที่ผมบอกนี้ ให้ทุกคนเอาไปลองดู จริงๆ ก็ไม่มีใครมาบอกผมหรอก ทุกอย่างที่ผมสอนพวกเราทุกคน ศิลปะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตัวผม ผมใช้เวลาเยอะ แล้วมันเกิดขึ้นเอง มุมมองในการสังเกตต่างๆ มันค่อยๆ หล่อหลอม ค่อยๆ เกิดขึ้น ใช้เวลา

เราเคยสังเกตกันไหมว่าเมื่อเราอยากอะไร เช่น อยากจะไปกินเค้กที่ร้านนี้เท่านั้น มันก็เกิดการบีบคั้น เราก็จะเห็นความอยาก แต่มันก็อยากอยู่เหมือนเดิม เราก็คิดว่าไม่เป็นไรมั้งแค่กินเค้ก ก็เหมือนเราเดินไปเปิดตู้เย็นกินอะไรที่เราอยากกิน เพียงแต่เปลี่ยนที่กินเฉยๆ เนี่ยกิเลสเล็กน้อยเราก็มักจะไม่ใช่ละวาง แต่เป็นละเว้น เราละเว้นว่าช่างมันเถอะนิดหน่อย ไม่เป็นไร

มีมุมมองที่น่าสนใจก็คือ เราคิดว่าความอยากที่เกิดขึ้นนี้มันเป็นเราอยาก เราอยากกินเค้ก…พวกเราค่อยๆ คิดตามมา เราอยากกินเค้กจริงๆ ใช่ไหม คนที่ได้กินเค้กคือใคร คนที่ได้สัมผัสเค้กคือใคร? คือร่างกายนี้ คือลิ้น คือกระเพาะอาหาร แล้วความอยากเกิดขึ้นที่ไหน? ที่จิตใจ มันมีความอยาก มันถูกบีบคั้น แต่เราไม่เห็น เราเลยต้องเป็นทาสของความอยากอีกทีนึง

แต่ถ้าเรามองลงไปอีก…ก่อนที่เราจะไปทำตามความอยากนั้น พิจารณาลงไป เห็นลงไปว่าความอยากนี้เกิดขึ้นที่ไหน? เกิดขึ้นที่จิต แล้วเราเข้าไปรับความบีบคั้นนั้นทีหลัง พอเราเข้าไปรับความบีบคั้นนั้นในจิตใจแล้วเราไม่เห็น มันเลยถูกรวบยอดไปทันทีว่า “เราอยากกินเค้ก

แต่เมื่อเรารู้จักแยก…การแยกคือการเห็นชีวิตนี้แหละตามความเป็นจริง สิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นเมื่อเราไปกินเค้ก เค้กอยู่ที่ไหน? อยู่คู่กับกาย ความอยากที่เกิดขึ้นอยู่ที่ไหน? อยู่คู่กับจิต เราอยู่ที่ไหน? เราเป็นคนรู้ แล้วไหงกลายเป็นเราอยากกินเค้กซะงั้น เพราะเราไม่ได้เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตามความเป็นจริง

ฝึกที่จะเห็นแบบนี้ เมื่อมีกิเลสหรือความบีบคั้นใดๆ เกิดขึ้นในจิตใจ หรือความเจ็บปวดใดๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย ถามตัวเองก็ได้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่กาย แล้วกายใช่ของเราไหม มันอยู่ที่จิต แล้วจิตมันเป็นเราไหม

 

ตอนที่ 3 มีเวลา

เราอาศัยชีวิตทั้งชีวิตในการปฏิบัติธรรม เป็นงานประณีต มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นงานอดิเรก เราต้องใช้ทั้งกำลังกายและกำลังใจทั้งชีวิต เพื่อจะให้เกิดสิ่งๆ หนึ่งที่สอนกันไม่ได้ ซื้อหาไม่ได้ เข้าใจด้วยความคิดไม่ได้ มันคือศิลปะในการเห็นตามความเป็นจริง

สิ่งที่ผมสอนทุกคนเป็นประสบการณ์ของผม ทุกคนได้ยินได้ฟังก็เหมือนผมให้เครื่องมือในการแกะสลักงานชิ้นหนึ่ง แล้วผมบอกหลักการแกะสลักว่าทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ แต่เราทุกคนจะเกิดความชำนาญเกิดศิลปะขึ้นมาได้ต้องอาศัยความทุ่มเท อาศัยเวลา อาศัยอีกหลายอย่างที่รวมเรียกว่าศิลปะ

ความสำคัญในการปฏิบัติธรรม การเข้าถึงความจริง มันไม่ใช่การนั่งฟังเทศน์ แต่มันคือ การมีเวลา ใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง สังเกตตัวเอง อยู่กับตัวเอง

ศิลปะต่างๆ ความเข้าใจความจริงต่างๆ จะเกิดขึ้นจากการที่เรามีเวลาที่จะเห็นตัวเอง ครูบาอาจารย์เป็นแค่กำลังใจ การเทศน์ก็เป็นกำลังใจ เมื่อพวกเราได้ฟังเทศน์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคืออะไร รู้สึกมีกำลังใช่ไหม เกิดความชุ่มชื้นในจิตใจใช่ไหม นั่นคือกำลังใจ กำลังใจแปลเป็นภาษาบาลีก็คือสมาธิ แต่มันยังไม่ใช่ความจริง ความจริงเป็นสิ่งที่เราต้องเจอเอง

ประสบการณ์ในชีวิตผมที่เคยได้ยินได้ฟังธรรมะของครูบาอาจารย์ในอดีต ผมว่าอันนึงที่สมัยนี้ขาด…ไม่ใช่ขาดหรอกเรียกว่าเกินดีกว่า คือเราชอบวิ่งไล่ล่าหาครูบาอาจารย์ องค์เดียวไม่พอต้องไปหลายองค์ ต้องฟังหลายองค์ แต่เท่าที่ดูครูบาอาจารย์ที่ประสบความสำเร็จท่านมีครูบาอาจารย์องค์เดียว แล้วก็แน่วแน่กับเส้นทางนั้น เลยไม่สับสน ไม่ฟุ้งซ่าน

แต่ก่อนผมก็เหมือนพวกเรานั่นแหละ นักท่องอินเทอร์เน็ต ฟังธรรมของทุกคน แต่ผมก็กลับมาตายที่หลวงพ่อเทียนทุกทีนั่นแหละ

วันนี้ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง เรามีหน้าที่ซ้อมรบ แล้วก็เห็นตามความเป็นจริง เห็นลงไปจริงๆ ว่าอะไรที่กำลังเกิดขึ้นนั้นมันเกิดที่ไหน ที่ๆ มันเกิดขึ้นใช่เราไหม ศิลปะนี้ผมคิดว่าเราใช้ได้ทั้งชีวิตการปฏิบัติธรรมของเรา

 

13-10-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/-Y4jPWofmPs

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S