143.ลึกซึ้ง

ตอนที่ 1 สิ่งที่เราต้องสนใจคือวิธีปฏิบัติ

เราไม่ต้องพยายามจะรู้ เราแค่รู้ บางครั้งตอนเริ่มนั่งสมาธิมันมึนๆ งงๆ ฟุ้งๆ ก็รู้เป็นอย่างนั้น ไม่ต้องพยายามจะทำอะไร ไม่ใช่ต้องพยายามก่อนแล้วค่อยไม่พยายาม ธรรมะนี้พูดกันตรงๆ บอกว่าแค่รู้ก็คือแค่รู้ ไม่ต้องแปลว่ามีนัยยะอื่นใดที่แอบแฝงอยู่ บางทีพวกเราคิดมากว่าต้องทำอย่างนี้ก่อนถึงจะแค่รู้ได้ ง่ายกว่านั้นคือถ้ามันยังรู้ไม่ได้ ก็แค่รู้ว่ามันยังรู้ไม่ได้ นี่มันง่ายขนาดนั้นเลย

ผมเห็นพวกเรานักปฏิบัติธรรมจำนวนมากชอบไปฟังธรรมประเภทที่เรียกว่าลึกซึ้ง สวยหรู คำว่าลึกซึ้งคือมีนัยยะว่าฟังไม่รู้เรื่อง ทำไมลึกซึ้งถึงแปลว่าฟังไม่รู้เรื่อง เพราะถ้าฟังรู้เรื่อง เราจะรู้ว่าไม่ใช่ลึกซึ้ง เราจะเห็นหรือเข้าใจได้ว่ามันเป็นอย่างนั้นแหละ

การที่เราเคยไปฟังธรรมะที่เรารู้สึกว่าลึกซึ้ง นั่นเพราะเรายังไม่เห็นอย่างนั้น พอยังไม่เคยเห็น มันก็เลยไม่เข้าใจ เมื่อยังไม่เข้าใจก็แปลเท่ๆ ว่าคือลึกซึ้ง แต่พวกเรามีนิสัยประหลาดอันนึงคือ อะไรที่บอกว่าดูงดงามสวยหรูลึกซึ้งเนี่ยชอบฟัง ฟังไม่รู้เรื่องก็ชอบฟัง เพลิดเพลินในการได้ยินได้ฟังธรรมะแบบนั้น แต่ไม่รู้ว่าเพลิดเพลิน ไม่รู้ว่าชอบ

สมัยก่อนที่ผมปฏิบัติธรรม เพื่อนผมบอกว่าหนังสือเซนเล่มนี้ดีมากเลย ผมก็ไปอ่าน อ่านซักพักนึง…ไม่รู้เรื่อง มันดูเท่ๆ เวลาอ่าน อาจารย์ถามศิษย์ตอบ…ว่าง หรืออะไรก็ว่าไป แต่อ่านแบบรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ที่รู้บ้างนี่คือเป็นการคิดตาม แล้วคาดเดาว่า อ๋อ สงสัยเป็นอย่างนี้ แต่จริงๆ คือไม่รู้เรื่อง แล้วผมก็วาง เลิกอ่าน

สมัยก่อนผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับเซนหลายเล่ม แล้วสิ่งที่ผมพบก็คือว่ามันมีแต่ธรรมะที่สวยหรู ธรรมะที่ดูลึกซึ้ง ธรรมะที่อ่านดูแล้วเจ๋งอ่ะ แต่ไม่มีวิธีปฏิบัติ ผมไม่เอาแบบนั้น ผมต้องการวิธีปฏิบัติ เสียเวลา ไปอ่านสิ่งที่ตัวเองไม่รู้เรื่อง แล้วหวังว่าจะรู้เรื่องสักวันหนึ่งด้วยการอ่านหรือการฟังธรรมะที่ลึกซึ้งนั้น เข้าใจผิดอย่างรุนแรง

เรามีหน้าที่สนใจที่จะอ่านจะฟังเพื่อหาวิธีปฏิบัติ ไม่ใช่เพลินกับการฟังอะไรที่ดูดี หรือฟังผลลัพธ์ของการปฏิบัติธรรม มันเป็นสิ่งที่เราเข้าใจไม่ได้ด้วยการคิด จนกว่าวันหนึ่งเราจะเข้าถึงสัจธรรมเห็นว่าโลกนี้ว่างจากความเป็นสัตว์ตัวตนบุคคลเราเขาด้วยตัวเราเอง โดยไม่ใช่การเทียบเคียง วันนั้นเราจึงจะค่อยเข้าใจเซน อย่าเพิ่งรีบคิดว่าอ่านเซนแล้วเข้าใจเลย ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด เพราะถ้าเข้าใจผิดก็ไปทำจิตให้มันว่าง…มันคนละว่างกัน

เพราะฉะนั้น พวกเรานักปฏิบัติธรรมต้องรู้ว่าสิ่งที่เราต้องสนใจคือ “วิธีปฏิบัติ” วิธีปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าให้ไว้แล้วคือ “สติปัฏฐาน 4” และมีคำๆ นึงที่ผมไม่รู้ว่าพวกเราเคยได้ยินกันไหม เป็นคำที่น่าสนใจที่พระพุทธเจ้าก็เน้นย้ำเหมือนกันคือคำว่า “ยถาภูตญาณ หรือยถาภูตญาณทัสสนะ“ยถาภูตญาณ คือ การเห็นอย่างที่มันเป็น“วิปัสสนาญาณ คือ เห็นตามความเป็นจริง” แล้วถ้าเราปฏิบัติเป็นปฏิบัติถูก เราจะรู้ว่าเรามีหน้าที่แค่ “รู้อย่างที่มันเป็น เห็นตามความเป็นจริง” เหมือนที่ผมสอนบ่อยๆ ผมไม่เคยรู้ภาษาบาลีหรอก ก็เพิ่งมารู้เหมือนกันว่ามันคือยถาภูตญาณทัสสนะ มันคือวิปัสสนาญาณ ที่พระพุทธเจ้าพร่ำสอนเรานักปฏิบัติธรรมมานานแล้ว

เพราะฉะนั้น สนใจวิธีปฏิบัติที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าให้มาก เข้าใจหลักการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าสอนให้ลึกซึ้ง แล้วเราจะค่อยๆ ลดละเลิกอะไรที่มันไม่ใช่ทางไปเรื่อยๆ

ธรรมะหลายอย่างที่เราเคยได้ยินได้ฟังครูบาอาจารย์เทศน์ ผมพูดจริงๆ ว่าเราได้แต่ฟัง แล้วเราก็ได้แต่เข้าใจตามความคิดตัวเอง มันจะเข้าใจจริงๆ ต่อเมื่อเราเห็นเอง

เพราะฉะนั้น ผมเลยเน้นย้ำว่า ผลลัพธ์ทางการปฏิบัติต่าง ๆ สภาวะทั้งหลายที่เราได้ยินได้ฟังมา…จริงๆ มันไม่ค่อยมีความสำคัญกับเราหรอก สิ่งสำคัญคือ “การปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ” ทางดำเนินไปบนเส้นทางนี้ ว่าเรายังอยู่ในเส้นทางไหม เราหลุดออกจากหลักไหม

 

ตอนที่ 2 จะพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร

เราฟังธรรมะที่สอนว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เราเห็นคนอื่นเราก็ว่าเขายึด ก็บอกเขาว่าอย่าไปยึดสิ แต่จริงๆ แล้วเราเองก็ยึดเหมือนกัน ตราบใดที่เรายังไม่บริสุทธิ์หลุดพ้น อวิชชายังมีอยู่ ความยึดก็มีอยู่ทุกคนนั่นแหละ เพียงแต่ว่าความยึดถือจะค่อยๆ ลดลง จากยึดหยาบๆ ก็ไปยึดในความละเอียดแทน แล้วทางที่เราจะพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นได้ทำยังไง

เคยได้ยินไหมว่าบางคนไป “ยึดความไม่ยึด” เพราะว่าเข้าใจผิด พอบอกว่ายึดถือไม่ดี งั้นกูไม่ยึด…กูไม่ยึดอะไรเลย ผมถึงบอกว่า เราไม่ใช่ไม่ยึด เราพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น

ธรรมะมันละเอียดประณีต มันไม่ใช่การทำอะไรตรงๆ ถ้าบอกว่ายึดไม่ดี ถ้าอย่างนั้นกูไม่ยึด มันไม่ได้ซื่อบื้อแบบนั้น ความพ้นจากการยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราเห็นกายและจิตนี้เป็นทุกข์ เห็นไหมว่าสร้างเหตุอย่างหนึ่งผลอีกอย่างหนึ่งเกิด เราไม่ไปทำอะไรมันตรงๆ พวกเราปฏิบัติธรรมกันมานาน จะรู้ว่ามีคนเข้าใจผิดแบบที่ผมพูดเยอะ

ขั้นแรกเราจะเห็นกายนี้เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ล้วนๆ มีวันหนึ่งผมนั่งกินไก่ย่างอยู่ ผมก็นั่งกินไปเรื่อย อยู่ดีๆ สติเกิด ถ้านึกถึงหนังเรื่อง The Matrix หรือหนังจีน ก็คล้ายๆ เหมือนวิญญาณออกจากร่าง แต่มันไม่ถึงขนาดนั้นหรอก มันคล้ายๆ สัมมาสติเกิด ก็เกิดการแยกออกมา เห็นร่างกายนี้มันกำลังนั่งกินอยู่ ความรู้สึกตอนนั้นที่เห็นร่างกายนี้ที่สะอาดสะอ้านพึ่งอาบน้ำเสร็จแต่งตัวเสื้อเชิ้ตอย่างดี แต่การเห็นนั้นทำให้เห็นร่างกายนี้รู้สึกว่าน่าสมเพช เห็นร่างกายที่กำลังกินไก่ย่างเป็นชีวิตที่น่าสมเพช ทุเรศ เป็นของไม่ดี เหมือนเราเห็นหมากำลังกินกระดูก…มีความรู้สึกแบบนั้น นี่หรือร่างกายหรือชีวิตที่เรารักมาก เคยเห็นเป็นแบบนั้นกันไหม ที่ว่าหล่อว่าสวยสะอาดหอม เคยรู้สึกแบบนั้นไหม ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นตัวน่าทุเรศทุรัง มันเกิดมาแล้วก็ใช้ทรัพยากรเปลืองมาก กินๆๆๆๆ

เราเห็นตามความเป็นจริงแบบนั้นว่าชีวิตนี้มันมีแต่ทุกข์ มีแต่ของไม่ดี เราจะอาศัยเห็นตามความเป็นจริงแบบนั้นได้ต้องมี “สติ” เมื่อสัมมาสติเกิด สัมมาสมาธิก็เกิด สัมมาญาณก็เกิด สัมมาญาณคือการเห็นตามความเป็นจริง

พอเราระลึกถึงหรือเห็นร่างกายนี้เป็นของไม่สวยไม่งาม ไม่ดีน่าสมเพช ความรู้สึกที่เราจะปรนเปรอร่างกายนี้ด้วยความสุขนานาชนิดก็ไม่มีความหมาย เพราะสิ่งที่จะถูกปรนเปรอนั้นเป็นสิ่งที่ทุเรศทุรังไม่มีคุณค่ากับเรา มันไม่ใช่ของดี

การที่เราจะเห็นความจริงแบบนี้ได้ ก็ด้วยการอาศัยการปฏิบัติ ยิ่งปฏิบัติมากเข้าๆ จะยิ่งรู้สึกว่าพระพุทธเจ้านี่สุดยอด สุดยอดยังไง ยึดมั่นถือมั่นก็เลยทุกข์ แต่ไม่ใช่ไม่ไปยึด เราต้องเห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งที่ยึดอยู่นี้มันเป็นทุกข์ มันเป็นของไม่ดี มันไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร แล้วมันจึงพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นเอง

สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อะไรต่างๆ มันจะเกิดเอง อัตโนมัติ อย่างที่ผมเล่าว่า ผมนั่งกินไก่ย่างอยู่ สิ่งต่างๆ ก็เกิดเองได้ ไม่ได้นั่งสมาธิปฏิบัติธรรม

 

ตอนที่ 3 รู้อย่างที่มันเป็น เห็นตามความเป็นจริง

การปฏิบัติธรรมนั้นให้เรารู้เท่าที่รู้ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่ยอมรู้เท่าที่รู้ได้ สิ่งที่เกินจากนั้นคือความเป็นเรา และนั่นไม่ใช่ทาง เรารู้ได้ถี่ขึ้นแต่มันเป็นเรารู้ เราอยากรู้ เพราะว่ารู้นี่มันดี…มันดีแต่เกิน เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะเอาดี เราปฏิบัติเพื่อจะเห็นตามความเป็นจริงว่าไม่มีเรา

ค่อยๆ ใช้ชีวิตไป รู้เท่าที่รู้ได้ อยู่บนหลักนี้เอาไว้คือ “รู้อย่างที่มันเป็น เห็นตามความเป็นจริง” หลักง่ายๆ ที่มีหลักฐานด้วย มีภาษาบาลีด้วยคือ ยถาภูตญาน วิปัสสนาญาณ ผมไม่ได้พูดเอาเอง

เราทำแค่นี้ ที่ผมเปรยตั้งแต่ต้นว่าเราฟังธรรมะเยอะๆ เช่น เห็นร่างกายนี้เป็นอสุภะ เห็นเป็นของสกปรกของเน่าหรืออะไรก็ว่าไป ความอยากจะได้เห็นอย่างนั้น หรืออะไรพวกนั้นน่ะลดๆ ลงบ้าง เอาเวลามาสร้างเหตุ รู้อย่างที่มันเป็น เห็นตามความเป็นจริงให้มาก แล้วเดี๋ยวความจริงทั้งหลายจะเปิดเผยออกมาเอง มันจะแสดงออกมาให้ดูเองเมื่อถึงเวลา

เรารู้อย่างผู้ที่ตื่นรู้ ไม่รู้แบบรู้เคลิ้ม กิริยารู้คือความเป็นพุทธะ รู้ ตื่น เบิกบาน กิริยานี้มันบริสุทธิ์ เติมแต่งอะไรเข้าไปไม่ได้ หาว่ามันอยู่ไหนก็ไม่เจอ จะให้จับมันก็จับไม่ได้ มันเป็นเพียงธรรมชาติรู้ที่บริสุทธิ์แค่นั้น

รู้อยู่ เห็นอยู่ ก็เหมือนกัน ถ้าปราศจากกิริยารู้อยู่เห็นอยู่แล้วก็คือ หลง

ในชีวิตประจำวันเราทุกคนอาศัยการทำในรูปแบบ เพื่อที่จะรู้จัก คำว่ารู้จักก็คือรู้นั่นแหละ รู้จักว่ามีอะไรกำลังเกิดขึ้นในกายในใจนี้ ฝึกที่จะรู้อยู่เห็นอยู่กับอะไรๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในกายในใจนี้ แล้ววันหนึ่งเราจะได้มีโอกาสที่สติอัตโนมัติหรือสัมมาสติจะเกิดขึ้นได้ เกิดขึ้นเอง แล้วเมื่อสัมมาสติเกิด สัมมาสมาธิเกิดทันที และเมื่อจิตใจตั้งมั่นมีสัมมาสมาธิก็จะเห็นตามความเป็นจริงได้เรียกว่า สัมมาญาณ และเมื่อทุกอย่างพร้อมสัมมาวิมุตติก็จะเกิดขึ้น

เริ่มจากฝึกแค่นิดเดียวแค่นี้แหละ เรื่องต้องฝึกมีแค่นิดเดียว เรื่องใหญ่จะเกิดขึ้น แต่เป็นผล ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องสนใจจะไปทำ ไปแสวงหา ไปพยายามจะให้เป็นแบบนั้น

 

10-10-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/puiIa-ktyUw

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S