142.เขตอภัยทาน

ตอนที่ 1 เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสติได้มากที่สุดหรือยัง

เรานั่งอย่างไม่ต้องมีความคาดหวังว่าจะเป็นยังไง เราแค่นั่งรับรู้ความรู้สึกในแต่ละขณะ ไม่มีอะไรต้องมากกว่านั้น ความที่เราต้องการจะได้รับอะไรที่มากกว่าสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ นั่นคือ “ความเป็นเราหรือความเป็นตัวเรา” เมื่อความเป็นเราเกิดขึ้นความยึดมั่นถือมั่นในบางสิ่งจะเกิดขึ้น เมื่อเกิดความยึดมั่นถือมั่นก็เกิดความไม่เป็นอิสระ ความไม่เป็นอิสระก็เป็นความทุกข์ เพราะกำลังมีเราแบกความรู้สึก แบกความหวัง นั่นเป็นความทุกข์

นักบวชมีเวลาที่จะได้อยู่กับตัวเอง ไม่ต้องประกอบอาชีพหาเลี้ยงชีพ ไม่ต้องมีห่วง คิดพะวงกังวลในแต่ละวัน ก็เพื่อจะเห็นในแต่ละปัจจุบันขณะที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อจะมีเวลาสังเกตสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละขณะ เมื่อเรามีความสังเกตเราจะเริ่มมีความเข้าใจความจริงจนเกิดปัญญาขึ้นมา นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมชีวิตของนักบวชจึงเป็นชีวิตที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม ทำไมชีวิตของนักบวชถึงเป็นชีวิตที่เอื้อต่อการมีสติ “เพราะเรามีเวลา” เรามีเวลาที่จะเรียนรู้สิ่งที่คนในโลกลืม

คนที่อยู่ในโลกก็สนใจแต่สิ่งข้างนอก ลืมกายลืมใจตัวเอง ลืมเรียนรู้ว่ามันทำงานยังไง พอไม่ได้เรียนรู้มัน เราก็ทำตามมัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือเราเป็นทาสมัน การที่ “เราเป็นทาสมัน” กับ “เราเห็นมัน” เราอยู่คนละตำแหน่งกันเลย

จะมีรูปแบบอะไรก็ตามในการใช้ชีวิต แต่ความสำคัญคือ ถ้าเป็นรูปแบบที่ก่อให้เกิดสติได้มากที่สุดนั่นก็จะเป็นรูปแบบชีวิตที่เหมาะสมที่สุด มันไม่เกี่ยวกับว่าเราจะอยู่ในสมมติอะไร สำคัญคือเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสติได้มากที่สุดหรือยัง

อย่างบ้านเรามีทีวี ถ้าเราเปิดทีวีทั้งวัน เราก็ส่งออกไปดูทีวีทั้งวัน มันก็ไม่เอื้อต่อการเจริญสติต่อการมีสติ เริ่มแรกเราก็ปิดทีวีซะ ทำสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสติ ถ้าชอบเปิดเพลงฟัง เราก็ปิดซะ มันก็ทำให้เอื้อต่อการมีสติ เพราะฉะนั้น เราค่อยๆ จัดชีวิตให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการมีสติเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันนึงเราก็จะมาถึงชีวิตที่เรียกว่า “สมณะ” เป็นชีวิตที่เข้มข้นที่สุด ที่จะเอื้อให้เกิดการมีสติ

นักบวชก็มาถึงจุดสูงสุดของการใช้ชีวิต ที่เหลือเป็นการเจริญสติ รู้เท่าที่รู้ได้ แล้วใช้ชีวิต…ใช้ชีวิตไปตามปกติ ตามหน้าที่ อะไรก็ตามที่เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความหลงความฟุ้งซ่าน เราก็ไม่ทำ เราหมั่นเตือนตัวเอง ถ้าทุกคนเตือนตัวเอง สิ่งแวดล้อมก็จะเหมาะสมต่อการเจริญสติ

เราทุกคนเตือนตัวเอง ดูตัวเอง ระวังรักษาตัวเอง แล้วทุกอย่างจะดีเอง ถ้าแต่ละคนรู้หน้าที่ ทุกอย่างจะดีเอง มันจะไม่ต้องมีการให้ใครมาควบคุมใคร จะไม่ต้องมีการสร้างกฎระเบียบละเอียดซับซ้อนมากมาย เพียงแค่เราทุกคนรู้จักหน้าที่ของตัวเอง

จุดมุ่งหมายที่เรานักบวชอยู่ที่นี่ ใช้ชีวิตแบบนี้ ก็เป็นไปเพื่อ “ความหลุดพ้น” เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่นำเราไปสู่ความพัวพัน พันธะ ความเป็นเรา ความเป็นเขา ความเป็นเจ้าของ “เราต้องรู้ รู้ทัน” ไม่ได้เข้าไปอยู่กับความรู้สึกที่มันส่งเสริมให้เกิดความเป็นเรามากขึ้น เกิดความเป็นเขามากขึ้น เรามีหน้าที่รู้ทัน

 

ตอนที่ 2 อภัยทาน

เราเคยได้ยินหรือแม้กระทั่งเคยเห็นเวลาไปวัดไหม เขาติดป้ายไว้ว่า “เขตอภัยทาน” เวลานึกถึงป้ายว่าเขตอภัยทานเรานึกถึงอะไร ผมนึกถึงอันแรกคือห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามจับปลา แต่วันนี้ผมเข้าใจว่ามันมีความหมายมากกว่านั้น มันมีอานิสงส์มากกว่านั้น

เขตอภัยทานมักอยู่ในวัด เพราะวัดเป็นสถานที่ที่คนอยู่เยอะ พอมากคนก็มากความ มีแต่เรื่อง แล้วคงเป็นทุกวัดนั่นแหละถึงมีเขตอภัยทานทุกวัดเลย มันเป็นธรรมชาติ…ธรรมชาติของอัตตาตัวตนที่ทุกคนมี มันก็นำไปสู่การมีเรื่อง เพราะฉะนั้น จึงอยากให้ทุกคนที่อยู่ในวัดให้อภัยกัน เลยตั้งเป็นเขตอภัยทานซะเลย

ถ้าเราพูดในความหมายแค่นี้ มันก็ดูพื้นๆ นะว่าอภัยทาน แต่เราก็ยังโกรธอ่ะ…ไม่พอใจ และคิดว่าเป็นธรรมะที่ไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ ไม่ใช่การปฏิบัติ แต่ผมคิดว่า “อภัยทานเป็นธรรมะที่มีอานิสงส์มาก” เพราะอะไร? เรากำลังมุ่งไปสู่ความหลุดพ้น เวลาเราให้อภัยใคร…หลุดพ้นไหม เราโกรธใครแล้วเราให้อภัยเขาได้…หลุดพ้นจากความโกรธไหม ใครโกรธเราแล้วเราไปขอโทษเขา โดยที่แม้ว่าเราจะไม่ผิดก็ตาม เราก็ไม่ต้องติดบ่วงกรรม เรียกว่า “หลุดพ้น” ขอโทษไปเขาจะได้สบายใจ ทั้งเราทั้งเขาก็หลุดพ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการลดละซึ่งอัตตาตัวตนทิฐิมานะ

ผลของอภัยทานนี้นำไปสู่สิ่งที่เราพยายามฝึกกันอยู่นี่แหละ แต่ถ้าเราไม่รู้จักขอโทษ ไม่รู้จักให้อภัย แล้วเราอยู่ด้วยกันจะเป็นยังไง เก็บไว้ในใจ อย่าให้ถึงทีกูบ้าง เนี่ยจะคิดแบบนี้ กูไม่ยุ่งกับมึงแล้ว อย่ามายุ่งกับกูนะ เป็นยังไง หลุดหรือติด? เห็นหน้าปุ๊บไม่ปกติแล้ว หลุดหรือติด? ธรรมอันใดที่เป็นสาเหตุให้เกิดการติด ก็ต้องละเสีย ไม่ใช่บอกว่าจะเจริญสติให้หลุดพ้น แต่ใจมีแต่เรื่องติดขัดตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น เข้าใจเรื่องของอภัยทานให้ลึกซึ้ง มันมีอานิสงส์มาก จิตใจที่เต็มไปด้วยความไม่ชอบ ด้วยความอคติ ด้วยทิฏฐิ ด้วยความจำแต่เรื่องไม่ดี ไม่มีประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่น

เคยมีคนไม่พอใจผม ทั้งที่ผมก็ไม่รู้ว่าผมทำอะไรที่ไม่ถูก ผมก็ไปขอโทษเขา ผมบอกเขาว่าผมไม่รู้ว่าผมทำอะไรไม่ดี แต่ใจผมนั้นไม่เคยคิดไม่ดี แต่ถ้าทำให้เข้าใจผิดผมก็ขอโทษ พวกเราหัดทำแบบนี้ ชีวิตในการปฏิบัติธรรมของเราและเขาก็จะดีขึ้น เพราะมันจะไม่ติดกับอะไร

ถ้าย้อนคิดกลับไป เราก็จะรู้ว่าสิ่งที่เราได้ทำมาทั้งหมด เราได้ทำดีที่สุดแล้ว เราขอโทษเขาแล้วเขาจะไม่หายโกรธเรา ก็เป็นเรื่องของเขาแล้ว ไม่เกี่ยวกับเราแล้ว เราทำดีที่สุดแล้ว แต่ไม่ใช่ไปขอโทษแบบ…ชั้นขอโทษนะเธอ ให้มันเป็นการขอโทษที่เต็มไปด้วยการให้อภัยจริงๆ มันไม่คิดอะไร เป็นการขอโทษที่เต็มไปด้วยความเมตตา

เพราะฉะนั้น เราอยู่ด้วยกัน ให้เรามีใจที่เป็นอภัยทาน การอยู่ร่วมกันก็จะสบายขึ้น ไม่มีใครร้ายกาจหรอก ส่วนใหญ่เป็นความเข้าใจผิดกันทั้งนั้น คุยกัน ให้อภัยกัน เข้าใจกัน จบ ลดมานะทิฏฐิอัตตาลง คุยกันจบแล้ว

เพราะฉะนั้น ประเด็นสำคัญที่ผมอยากให้ทุกคนรับทราบก็คือ อภัยทานไม่ใช่ธรรมะพื้นฐาน มันมีอานิสงส์มาก เพราะเมื่อให้อภัยใครแล้ว มันเป็นความรู้สึกแห่งความหลุดพ้น ไม่ใช่ความติดความยึด

 

ตอนที่ 3 ใครทำให้เนิ่นช้า

เราจะเห็นว่าการนั่งของเราตอนนี้กับตอนแรกไม่เหมือนกัน เราจะสังเกตได้ว่าเรา “ไม่ได้ทำอะไร” เราจะสังเกตได้ว่าสิ่งที่ต่างไปก็คือ “ได้ฟังธรรม” จิตใจก็สงบระงับ ความรู้เนื้อรู้ตัวก็เข้มแข็งขึ้น เราต้องเห็นมันเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย เห็นทุกสิ่งที่กำลังผ่านเข้ามาในชีวิตเราลงไปในมุมของเหตุและปัจจัย ไม่เกี่ยวกับเรา

มันดี เราก็มีหน้าที่แค่รู้ว่ามันดี เวลามันไม่ดี อยากจะให้มันดี ก็รู้ว่ามันมีความดิ้นรนแล้ว พอดิ้นรนแล้วเรามั่นคงในหลักไหม ถ้าดิ้นรนแล้วลืมหลัก ก็จะตามมันไป หาทางทำให้มันดีกว่านี้ หรือดิ้นรนแล้วก็รู้ว่ามีความดิ้นรนเกิดขึ้น อาจจะเกิดการพิจารณาต่อว่าทำไมดิ้นรน อ๋อ เราอยากสงบมากกว่านี้ เราอยากจะนั่งแล้วรู้สึกดีกว่านี้ พิจารณาลงไปต่อ อ๋อ มีเราเกิดขึ้นแล้ว พอมันรู้เห็นหรือเรียกว่าสาวกลับไปเจอตอเจอต้นเหตุ พอมันรู้แล้วมันก็ละอัตโนมัติ มันเข้าใจแล้ว เรียกว่า “เป็นการละด้วยปัญญา” พอมีปัญญาเข้าใจตามความเป็นจริงแล้ว มันละด้วยตัวเอง มันก็เลิกดิ้นรน มันเข้าใจว่า อ๋อ นี่มันเรานี่หว่า

แต่ถ้าเราลืมหลัก ความดิ้นรนเกิดขึ้น ความอยากเกิดขึ้น ก็ทำตามความอยากไป ยิ่งทุกข์หนัก ทุกข์หนักอีกยาว จนกว่าจะมีสติรู้เรื่องอีกทีว่า อ้าว นี่ทำตามความอยากอยู่ แต่ถ้าพิจารณาแบบที่ผมบอกมันแป๊บเดียว จบแล้ว แล้วเราจะเข้าใจว่า ความเป็นเรานี่มันร้ายกาจจริงๆ มันพาเราทำทุกอย่าง

ผมถึงบอกว่าการปฏิบัติธรรมที่มันช้านั้นไม่มีใครทำให้เราช้าหรอก เรานั่นแหละทำเอง ความเป็นเรานี่แหละมันคอยขัดขาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เมื่อความเป็นเราเกิดขึ้น อย่าลืม เรามีหน้าที่ “รู้ทัน” ถ้าเราเห็นความเป็นเราได้บ่อยๆ เราจะไม่ตกเป็นทาสมัน เราจะเลิกขัดขาตัวเอง ถ้าเราไม่เห็น มันก็ขัดขาตัวเองอยู่นั่นแหละ เพราะสิ่งที่เราทำนี่มันดี มันมองเห็นยาก ว่ามันขัดขาตัวเองอยู่

เหมือนคำว่า “รู้สึกตัว” ท่านเขมานันทะเคยพูดว่าความรู้สึกตัวที่หลวงพ่อเทียนสอน มันเป็นปัญหาของตัวมันเอง แต่เป็นปัญหาที่มีโอกาสสิ้นสุด ความหมายก็คือ พอเรารู้ว่าความรู้สึกตัวดี ก็เกิดกูจะเอา กูจะรู้สึกตัว มันก็เป็นความเพ่ง รู้สึกแบบไม่ให้พลาด ก็เพ่งเลย ก็เป็นการจะเอาความรู้สึกตัว เพราะมันดี

เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจว่า ความรู้สึกตัว มันเป็นแค่ทางผ่าน เป็นเส้นทางที่เราต้องเดินอยู่ แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเอาๆ ไว้

เราขยับมือ เคลื่อนก็รู้สึก ไม่ใช่เอามือ เราเพียงแค่อาศัยกายและจิต หรือความเคลื่อนไหวเป็นฐานที่ตั้งแห่งความรู้สึกตัว เป็นฐานที่ตั้งแห่งการระลึกรู้ เมื่อมีการระลึกรู้อะไรอยู่ มันจะเป็นสภาพที่พ้นจากความคิดปรุงแต่งทั้งปวงทันที เพราะฉะนั้น กลับไปที่ง่ายกว่านั้นคือ “เหลือแค่รู้สึก แล้วก็รู้ทัน

 

ตอนที่ 4 อดทน และสันโดษ

เวลาจิตใจมีความหนัก มีความแน่น มีความรู้สึก อารมณ์ สภาพบางอย่างที่เป็นทุกข์ เบื้องหลังมันคือมีความเป็นเราอยู่ในนั้น “อดทน”…อดทนที่จะไม่เข้าไปคิดในเรื่องราว หรือความรู้สึก หรืออารมณ์เหล่านั้นที่ยังอยู่ อดทนที่จะอยู่กับมัน รับรู้ถึงความมีอยู่ของมันเฉยๆ อารมณ์ ความรู้สึกหรืออะไรก็ตาม มันก็เปรียบเสมือนคลื่นที่ซัดเข้าฝั่ง มันจะค่อยๆ เบาลง เบาลง เบาลงแล้วก็หมดไป

เพียงแค่อดทนที่จะไม่เพิ่มเหตุของการมีอยู่ของมัน ด้วยการคิดไปกับมัน อดทนที่จะเป็นคนที่ไร้ตัวตน อดทนที่จะไม่มีเราเข้าไปรับความรู้สึกเหล่านั้น อดทนที่จะไม่สร้างความเป็นเราขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เรามัวสร้างน้ำเป็นน้ำแข็ง สร้างเสร็จมันก็ละลาย มันละลายเสร็จเราก็สร้างใหม่ แล้วมันก็จะละลายอีก อาชีพขายน้ำแข็งเรียกว่าเป็นอาชีพอะไรรู้ไหม เรียกว่าเป็นอาชีพปั้นน้ำเป็นตัว มันไม่มีอยู่จริง เราทำมันขึ้นมา ทุกวันนี้คนในโลกนี้ทำอาชีพขายน้ำแข็งกันทั้งโลก เราปั้นน้ำเป็นตัวกันทุกวัน

คุณสมบัติอีกอันหนึ่งที่ผมบอกหลายครั้งคือ “ความสันโดษ” ความสันโดษคือความพอใจกับสิ่งที่เราได้รับแล้ว สิ่งที่เรามีแล้ว หรือสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในตอนนี้ การที่เราเรียกร้องที่อยากจะได้อะไรมากกว่าในตอนนี้นั่นคือ ความไม่สันโดษ ความไม่สันโดษจะส่งผลให้เกิดความดิ้นรน ความอยาก ความผิดปกติของจิตใจ เบื้องหลังคือ “ความเป็นเราเกิดขึ้น

ไม่มีใครจะสามารถมีชีวิตที่ดีที่สุดอย่างที่ตัวเองต้องการได้ เราแต่ละคนมีชีวิตที่ต่างกัน เราแต่ละคนมีอารมณ์ความรู้สึกในรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เรามีเหมือนกันได้คือ “คุณธรรม” คุณธรรมที่เราจะใช้ในชีวิตของเรา เช่น ความสันโดษ

แต่ละคนมีความอยากไม่เท่ากัน มีความต้องการไม่เท่ากัน มีความหวังไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เรามีเหมือนกันได้คือ ความรู้สึกสันโดษในจิตใจ

ความสันโดษจะเกิดขึ้นได้โดยที่เรารู้จักที่จะรู้ทันความไม่สันโดษ

 

10-10-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/_FskemV7RU8

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S