141.ไม่เลิกที่จะรู้

ตอนที่ 1 มีสติให้มาก

ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาพระพุทธเจ้าได้สอนให้ภิกษุอยู่อาศัยอย่างวิเวกสันโดษ อาศัยโคนไม้ อาศัยเรือนว่าง เหล่านี้คือวิถีชีวิตของนักปฏิบัติธรรม ครูบาอาจารย์ในอดีตตั้งแต่หลวงปู่มั่นลงมาท่านก็อาศัยถ้ำ อาศัยเงื้อมผา อาศัยเข้าป่า พวกเราอาจจะคิดว่า อาศัยความอดทนมากจึงจะบรรลุธรรมได้

ความอดทนก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมเห็นว่าเหตุปัจจัยอันสำคัญมากที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เรามีชีวิตที่วิเวกสันโดษอยู่คนเดียว อาศัยโคนไม้เรือนว่างเป็นที่พักอาศัย อาศัยป่าเป็นที่พักอาศัย ส่งผลให้เกิดสิ่งสำคัญมากที่สุดที่ทำให้การปฏิบัติธรรมนั้นสามารถถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เหตุปัจจัยนั้นคือ “สติ

พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้พระใส่รองเท้า พอไม่ใส่รองเท้าแล้วเป็นยังไง ต้องเดินอย่างระมัดระวัง ทุกย่างก้าวต้องมีสติ แต่พอเราใส่รองเท้าเป็นยังไง ฉับๆๆๆ เราไม่ต้องกลัวเลยว่าพื้นจะมีอะไร เครื่องอำนวยความสะดวกสบายทุกอย่างในชีวิตเราเป็นไปเพื่อความขาดสติ สบาย สะดวกสบายแปลได้ว่าขาดสติ แปลได้ว่าสติไม่ค่อยเจริญ มีแต่เสื่อมลง เพราะมันปลอดภัย

ถ้าเราไปนอนในป่าในถ้ำ ก่อนจะล้มตัวลงนอน เราต้องเช็คหมดทุกอย่างว่า มีสัตว์มีพิษไหม มีอะไรไหม ระแวดระวัง เพราะฉะนั้น ชีวิตแบบนั้นเป็นชีวิตที่ประกอบด้วยสติที่จะมีชีวิตให้รอดไปอยู่ทุกๆ วันตลอดเวลา การที่ใช้ชีวิตแบบนั้นเป็นชีวิตที่จะไม่ห่วงอะไรแล้ว ไม่ห่วงใครทั้งนั้นแล้ว เพราะอะไร ชีวิตเราตรงหน้ายังจะไม่รอดเลย…ประมาณนั้น มันจะสนใจเข้ามาที่ตัวเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติธรรมและไม่ได้ไปอยู่แบบนั้น เราไม่ได้เข้มแข็งขนาดที่จะไปอยู่ในป่าได้ ขอให้เราเข้าใจว่าเราเอง “ต้องอาศัยการมีสตินี้ให้มาก” จะหยิบจะจับจะทำอะไรประกอบด้วยสติ รู้อยู่ สิ่งแวดล้อมเราไม่ได้เอื้ออำนวยขนาดให้ไม่อยากมีสติก็ต้องมี สิ่งแวดล้อมเราไม่ได้บีบบังคับให้เรามีโอกาสเกิดสติตามธรรมชาติขนาดนั้น เพราะว่าเดี๋ยวนี้อยู่สบาย

ผมอยากจะฝากตรงนี้ไว้ว่า เมื่อเรามีที่อยู่ อาหารการกิน อะไรต่างๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญกับชีวิตเราพอสมควรแล้ว อย่าใช้ชีวิตให้มันสบายมากกว่านั้น มันไม่ได้ช่วยอะไร มีแต่ช่วยทำให้สตินั้นอ่อนลงไปเรื่อยๆ สมมติว่าเรามีหมอ มียารักษาโรคที่พร้อมมูล เราจะกินไม่เลือก แต่ถ้าเราไม่มียารักษาโรค ไม่มีหมอ ชีวิตเราจะเปลี่ยนเลย เราไม่อยากป่วย เราจะกินสิ่งที่ต้องกิน ไม่ใช่กินสิ่งที่อยากกิน เพราะฉะนั้น “ชีวิตที่ขาด” เป็นเหตุปัจจัยให้การทำอะไรของเราประกอบด้วยสติมากขึ้น

เพราะฉะนั้น เราเข้าใจให้ถูกว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่ชีวิตเราขาด การปฏิบัติธรรมจะอาศัยความอดทน ไม่ใช่สบายมากนัก นั่นก็เป็นไปเพื่อให้เรามีสติมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพื่อเป็นคนอดทนเก่ง ถ้าเราเข้าใจผิด มันก็จะกลายเป็นอดทนได้ สู้ได้ทุกอย่าง ก็กูเก่งนั่นแหละ มันกลายเป็นกูเก่ง กูทำได้ กูทนได้ พอกูเก่งก็ไปว่าคนอื่นเขาว่าทำไมทำไม่ได้ ทำไมแค่นี้ทนไม่ได้ เป็นนักปฏิบัติต้องทนได้ มันไปซะอย่างนั้นแทน มันไม่ใช่เรื่องของทนได้ทนไม่ได้ เก่งหรือไม่เก่ง มันเป็นเรื่องของ “สติ

เพราะฉะนั้น ทางสายเอก ทางสายเดียวของพระพุทธเจ้าจึงชื่อว่า “สติปัฏฐาน 4” ทางปฏิบัติเพื่อไปถึงซึ่งความหลุดพ้น ไปถึงซึ่งอิสรภาพ มีสติ รู้อยู่ในกาย รู้อยู่ในใจ อะไรกำลังเกิดขึ้นก็รู้อยู่ ไม่ต้องสงสัยอะไรมาก ไม่ต้องสงสัยว่านี่ดีหรือยัง ที่รู้นี้รู้ถูกไหม ตั้งมั่นหรือยัง ให้เอาหลักไว้คือ มีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง รู้ได้เท่าไหนก็เท่านั้น

 

ตอนที่ 2 เจริญสัมมาทิฏฐิ

เมื่อวานมีคนเล่าให้ฟังว่า โกรธแสนโกรธ ก็รู้โกรธ รู้โกรธแต่ก็โกรธด้วย มันคล้ายๆ เดี๋ยวเห็นเดี๋ยวเป็น เดี๋ยวเห็นเดี๋ยวเป็น แต่ไม่ได้ทำอะไร อดทนที่จะเห็นมันอย่างนั้น เป็นก็เห็นว่าเป็นแล้ว เห็นแยกกันออกมาได้ ก็เห็นว่าแยกกันออกมาได้ แล้วเดี๋ยวก็เห็นว่าเป็นอีกแล้ว…ก็เห็นตามความเป็นจริงแบบนั้น แล้วอยู่ดีๆ ก็หลุดออกจากสิ่งใดๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่เมื่อกี้นี้

พอหลุดก็เข้าใจว่าความอิสระเป็นยังไง ผมถึงบอกว่าความหลุดพ้น ความอิสระเป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้ ไม่ใช่ต้องรอบรรลุธรรม มันจะลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะเห็นว่าไม่ได้ทำอะไร ก็แค่มีสติ รู้สิ่งที่กำลังอยู่ตรงหน้าตามความเป็นจริง แล้วอะไรๆ มันเกิดขึ้นเอง

บางทีเราฟังว่าควรจะต้องมีสติไว ต้องเห็นเร็วกว่านี้ เห็นแบบนี้ช้าไป เราก็เดือดร้อนแล้ว แหม่ปฏิบัติมาตั้งนาน ยังเห็นช้าอยู่ อยากจะเห็นเร็วกว่านี้ นั่นคือจุดที่เริ่มพลาดทันที ตัวเราเกิดขึ้นแล้ว มันมีตัวเราคอยจะปฏิบัติธรรมตลอดเวลา เพราะความมีตัวเรานั่นแหละที่อยากจะได้สิ่งที่ดีๆ รู้ให้ทันความเป็นตัวเรา ต่อให้มันดีได้ มันก็เป็นกูนั่นแหละเก่ง

ถ้าการพัฒนาทางจิตวิญญาณเป็นไปด้วยความรู้สึกว่า เราไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากรู้ตามความเป็นจริงเฉยๆ นั่นถึงเรียกว่าความเจริญ เจริญอะไร “เจริญสัมมาทิฏฐิ” ว่าแท้จริงแล้วไม่มีใครทั้งนั้น เมื่อมีเหตุอย่างนี้ผลก็เป็นอย่างนี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา เราไม่ได้ทำให้มันได้ดีขนาดนี้ มันจึงไม่มีกูเก่ง เพราะกูไม่ได้ทำอะไรเลย ความเป็นกูเก่งเลยมีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ให้อยู่กับธรรมชาติแห่งการรู้ตามความเป็นจริง อะไรเกิดขึ้น เราก็รู้ มันจะไม่มีโอกาสของความรู้สึกว่ากูเก่ง เพราะมันไม่มีเหตุแบบนั้น

เราปฏิบัติธรรมบนเส้นทางของอนัตตา เราอยู่บนกิริยาที่เป็นตัวจริงของเราคือ “รู้” เมื่อมันหลงไปก็รู้ รู้เท่าที่รู้ได้ ไม่ต้องเป็นคนเก่ง แค่เป็นคนที่ไม่เลิกที่จะรู้ ก็พอแล้ว

 

ตอนที่ 3 ไม่แน่

สังเกตความรู้สึกตัว สังเกตความรู้สึกทางใจ ความสงบทางใจ มันเหมือนหรือต่างกัน ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันเหมือนเดิมเลยไหม รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ อย่าจมลงไปในนั้น

อย่าลืมว่า เราอย่าเงื่อนไขกับการนั่งว่าต้องนั่งนิ่ง ห้ามขยับ ความเคลื่อนไหวนั้นเองเป็นเครื่องระลึกรู้ เป็นตัวสัมปชัญญะ มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นแล้ว โยกๆ หายใจนิดหน่อยๆ ก็รู้ได้ “สติปัฏฐาน 4 กาย เวทนา จิต ธรรม” เป็นฐานที่ตั้งเพื่อให้เกิดการระลึกรู้ อย่าไปตั้งเงื่อนไขกับมัน

ทุกวันที่กำลังจะผ่านไปในชีวิตเรา เราเคยรู้สึกไหมว่า พรุ่งนี้ หรืออีกชั่วโมงนึงข้างหน้า หรือคืนนี้มันก็ไม่แน่ว่าจะเป็นยังไง จะเกิดอะไรขึ้นกับเรา เคยรู้สึกกันไหม ถ้าเราไม่เคยรู้สึก นั่นแปลว่าเราประมาทในชีวิต ถ้าเราไม่เคยรู้สึกว่ามันไม่แน่จะเกิดอะไรขึ้น นั่นแปลว่าเรารู้สึกว่ามันแน่ เราจึงวางใจ

ความรู้สึกของจิตใจของเราที่รู้สึกถึงความแน่นอน มันจะเป็นชีวิตที่อยู่ในอนาคต เป็นชีวิตที่มีความหวัง เรามีความหวังแปลว่ามันแน่ใช่ไหม ถ้ามันไม่แน่จะไม่มีความหวังหรอก แล้วพอมันหวังแต่ความจริงมันไม่แน่ มันเลยผิดหวัง

ชีวิตมนุษย์เราต้องผ่านประสบการณ์ไม่รู้กี่ 10 ปี อาจจะผ่านไป 50 60 70 ปี ถึงจะค่อยเริ่มปลงกับชีวิตว่า เออ มันไม่แน่ เราใช้ประสบการณ์ของตัวเองทั้งชีวิต กว่าจะรู้จะเข้าใจชีวิต…หมดเวลาแล้ว ใกล้ตายเต็มทีแล้ว

เพราะฉะนั้น วันนี้เรามีโอกาสเข้าใจคำสอนพระพุทธเจ้า ความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง มันคือความไม่แน่ เราเรียนรู้มันตั้งแต่วันนี้ ไม่ต้องรอผิดหวังก่อน ค่อยเข้าใจ เข้าใจมันตั้งแต่วันนี้ เรียนรู้ตั้งแต่วันนี้ เรียกว่า เรามีแต้มต่อเยอะเทียบกับคนที่ไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย

คนในโลกเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ แล้วก็ใช้ชีวิตอย่างไม่รู้ จนเมื่อความผิดหวังมาถึงตัว ความทุกข์มาถึงตัว ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนคลื่นที่ซัดมาที่หาดทราย ซัดครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่เคยหยุด ถึงจะได้เริ่มเข้าใจว่าความจริงของชีวิตเป็นยังไง เพราะฉะนั้น คนเราถ้ามีปัญญาไม่พอที่จะรู้หน้าที่ของชีวิต ก็ต้องอาศัยความทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นคนสอน ความสุขความสบายไม่เคยช่วยอะไรให้ใครฉลาดขึ้นเลย

อย่าลืมว่า เวลาเรานั่ง หันกลับมาดูจิตใจเราบ้างเป็นยังไง มันทุกข์มันสุข มันงงๆ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ไม่รู้เป็นยังไง ก็ต้องรู้ ถ้าเราไม่รู้อยู่ นั่นแปลว่าเรากำลังหลงแล้ว

เวลาเราหันกลับมาดูจิตใจว่าเป็นยังไง สังเกตไหมว่ามันกลับมาที่เนื้อที่ตัว มันมีกำลัง อย่าลืม…อย่าลืมพื้นฐานซ้อมรบ หันกลับมาดูจิตใจเป็นยังไง บางทีดูแล้วไม่มีอะไร ไม่มีอะไรก็ไม่มีอะไร ปกติ แล้วก็ผ่านไป ไม่ต้องไปจ้องค้างเอาไว้

ฝึกให้เป็นนิสัย ถ้าเราไม่คอยดูกายดูใจอยู่ มันก็หลงไปคิดฟุ้งซ่าน หรือว่าไม่รู้ว่ากำลังเป็นอะไรอยู่ ไม่รู้เรื่อง เรียกว่า มึนๆ ลักษณะไม่รู้เรื่องอะไร มึนๆ แบบนี้ เรียกว่า โมหะ

เพราะฉะนั้น มันเป็นยังไงก็รู้ กายใจเป็นยังไงก็รู้อยู่ ย่อๆ เหลือแค่นี้แหละ

เวลาเราตั้งใจขึ้นมานิดนึง มันก็จะแน่นขึ้นมา ก็เป็นสิ่งที่ให้เรารู้ รู้เหตุรู้ปัจจัย ไม่ใช่ต้องแก้ไขอะไร บังคับไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องของเรา รู้อย่างที่มันเป็นแค่นั้น

 

06-10-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/ftOfIuzvWpI

ฟังรวมคลิปเสียงธรรมได้ที่ https://goo.gl/RDZFMI

5 ช่องทางติดตามข่าวสาร
1) YouTube: https://goo.gl/in9S5v

2) Facebook : https://www.facebook.com/SookGuySookJai

3) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

4) Podcast: Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S

5) website : https://camouflagetalk.com/