139.หัวใจการปฏิบัติ…เราทั้งนั้น

ตอนที่ 1 หัวใจการปฏิบัติ

สังเกตไหมพอเราเริ่มนั่งสมาธิ เราก็จะปรับเปลี่ยนอะไรนิดนึง มีความรู้สึกว่าจะทำอะไรสักหน่อยนึง ถ้าเป็นแบบนี้เราก็รู้ทัน มันบังคับไม่ได้ ทำไมเราพยายามปรับเปลี่ยนอะไร เพราะพอมันเข้าไปรับรู้สภาวะ มันรู้สึกว่าไม่ดี มันจำได้ว่าควรจะเป็นแบบนั้นจะดีกว่า นี่คือความเป็นเรา

ในสติปัฏฐาน 4 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรียกง่ายๆว่า ดูจิต พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “จิตมีราคะก็ให้รู้ว่ามีราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่าจิตเป็นมหัคคตะ จิตตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น”

บางทีเราอยากได้ความตั้งมั่น เพราะเราฟังมาเยอะ เวลานั่งสมาธิปฏิบัติธรรมก็อยากจะทำให้จิตมันตั้งมั่น แต่ในสติปัฏฐาน 4 ท่านบอกว่า “จิตตั้งมั่นก็ให้รู้ว่าจิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น” ในกิริยาทุกอย่างเลย ทุกสภาวะที่กำลังเกิดขึ้นในจิตนี้ เราทำหน้าที่เดียวคือ “รู้” พระพุทธเจ้าท่านบอกชัดอยู่แล้ว

แต่พวกเราทำเกินจากรู้ตลอด เรารับไม่ได้กับจิตที่ไม่ดี เรารับไม่ได้ก็ที่ฟุ้งซ่าน แค่รู้นี้มันไม่ยาก ทุกคนรู้ได้ แต่แค่รู้อย่างเดียวเลย อย่าเกินน่ะ ทำกันไม่ค่อยได้ เพราะอะไร? เบื้องลึกคือ ความเป็นเรานี่แหละ พอมีเราขึ้นมา มันอยากได้ของดีๆ อย่างเดียว ของไม่ดีมันทนไม่ได้ อดทนไม่ได้ ฉะนั้น ผมถึงบอกว่า “รู้จักที่จะรู้ทันเมื่อความเป็นเราเกิดขึ้นแล้ว

เวลาเราอยากจะเปลี่ยนแปลงจัดการอะไร…ใครอยาก? ก็คือ “เรา” เพราะฉะนั้น “รู้ทัน” ว่าความเป็นเราเกิดขึ้นแล้ว อยากจะไปเถียงใคร ทะเลาะกับใคร เอาชนะใคร ให้รู้ว่าความเป็นเราเกิดขึ้นแล้ว ความยึดมั่นเกิดขึ้นแล้ว เรียนรู้ไปเรื่อยๆ

จิตที่มีอวิชา มันรับรู้อะไรปุ๊บมันยึดเลย ภาระเกิดขึ้นแล้วทันที แล้วเราก็มีหน้าที่ได้แค่ “รู้ทัน” เพราะเราห้ามให้จิตไม่ไปยึดอะไรไม่ได้ มันทำตามเหตุปัจจัย มันมีเหตุอยู่ มันก็จะยึด มันไปรับรู้แล้วก็จะยึด หน้าที่เราก็มีได้อย่างเดียว “ได้แค่รู้

สิ่งที่ผมพูดเกี่ยวกับการรู้สึกถึงภาระทางใจ รู้สึกถึงความยึด รู้สึกถึงความเป็นเรา เป็นสิ่งที่ค่อนข้างละเอียด ใครยังรู้ไม่ได้ ยังเห็นไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร เรารู้สิ่งที่เรารู้ได้ตอนนี้…อะไรก็ได้

เคยสังเกตไหมว่าเวลาเรานั่ง แล้วจิตมันฟุ้งซ่าน แล้วเราพยายามจะให้มันไม่ฟุ้งซ่าน มันจะไม่เคยหายฟุ้งซ่านเลย เพราะความพยายามจะทำอะไรตลอดเวลานั้นไม่ใช่ทางแก้ สิ่งที่ตรงข้ามกับความฟุ้งซ่านคือ สมาธิ “สัมมาสมาธิ” จะเกิดได้ต้องมี “สัมมาสติ” สัมมาสติจะเกิดได้เราต้องฝึกที่จะมีสติบ่อยๆ มีสติรู้อะไรกำลังเกิดขึ้นในกายในใจนี้…ก็รู้

ไม่ว่าอะไรก็ตามที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีกำลังเกิดขึ้น เราก็มีหน้าที่เดียวคือ “รู้” เพราะอาการที่เรียกว่ารู้นี่คือสติ และเมื่อสติอัตโนมัติเกิดขึ้นก็จะเป็นสัมมาสติ เมื่อเป็นสัมมาสติมันก็เป็นสัมมาสมาธิไปพร้อมกันเลยนั่นแหละ สัมมาสมาธิเกิดขึ้นก็จะรู้สึกถึงความอยู่กับเนื้อกับตัวเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้บังคับมันเอาไว้ แล้วเมื่อนั้นความฟุ้งซ่านก็จะดับไป

หลักปฏิบัติธรรมของเราทุกคนต้องแม่น นี่คือ “หัวใจ” เราจะไม่หลุดออกจากเส้นทางแห่งการรู้ตามความเป็นจริง แล้วระหว่างทางศิลปะเทคนิคอุบายต่างๆ เหล่านี้มันจะเกิดขึ้นผ่านประสบการณ์ของเราเอง

ศิลปะ” เป็นสิ่งที่ต้องรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปถามใคร ไม่ใช่เรื่องที่จะให้ใครบอก แต่ละคนมีศิลปะเทคนิคอุบายไม่เหมือนกัน ดีกับเขาอาจจะไม่ดีกับเรา เรามีหน้าที่แค่เดินทางบนเส้นทางที่เรียกว่าหลัก แล้วศิลปะไปหาเอาข้างหน้า หาเอาเอง ไม่ใช่คอยหาจากคนอื่น ไม่อย่างนั้นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าจะต้องตัวติดกับพระพุทธเจ้าตลอดเวลา ไปไหนไม่ได้ มัวแต่ถาม

 

ตอนที่ 2 เราทั้งนั้น

คำถามของนักปฏิบัติส่วนใหญ่เต็มไปด้วย “เรา” มันมีแต่เราอยากจะดีกว่านี้ มันเลยถาม ลองสังเกตดูเราถามเพราะเราอยากดีกว่านี้ใช่ไหม รู้สึกไม่ก้าวหน้า…ต้องไปถามหน่อยติดอะไรไหม ให้ทำยังไงต่อ จะไปต่อมากกว่านี้ยังไงดี? ใครอยากจะไปต่อ ใครอยากจะไปมากกว่านี้ “มันเราทั้งนั้น

ความรู้สึกในตอนที่เรายังไม่มีความอยากจะถาม ตอนที่เราแค่รู้สึก แค่รู้ แค่มีสติรู้ไปเรื่อยๆ ต่างกันไหม ทำไมมันมีบางช่วงที่เราฝึกตามหลักไปได้เรื่อยๆ แล้วทำไมมีบางช่วงที่อยากถาม อยากก้าวหน้า อะไรที่มันต่างกันไป? สิ่งที่ต่างไปก็คือ มีส่วนเกินของ “ตัณหา” เกิดขึ้น มี “ความเป็นเรา” เกิดขึ้น แล้วเราก็ไม่รู้

เราอดทนไม่พอที่จะไม่ก้าวหน้าก็ได้ ทนได้ไหมที่จะไม่ก้าวหน้าก็ได้ แต่จะทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริงไปเรื่อยๆ ไม่ก้าวหน้าก็ได้ อดทนได้ไหม? ผมทนได้ ผมจะแพ้กิเลสกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ผมก็ทนได้ ผมไม่หาวิธีการจะชนะมัน เพราะผมรู้ว่าชนะมันไม่ได้ “ได้แค่รู้

เหมือนที่เจ้าชายสิทธัตถะนั่งใต้ต้นโพธิ์ ก่อนจะตรัสรู้ ก็มีกิเลสมา กิเลสก็มายั่วยุท่าน ให้ท่านทำอะไรสักอย่าง ท่านบอกว่า “ท่านไม่สู้ การต่อสู้กับกิเลสเป็นการเพิ่มกำลังกิเลส การไปทำอะไรต่อกิเลสจะเป็นการยิ่งเพิ่มกำลังของมันมากขึ้น” ท่านรู้หนทางว่า ท่านมีหน้าที่แค่เฝ้าดู รู้ว่ากิเลสกำลังเกิดขึ้นอยู่ ท่านไม่ต้องทำอะไรมัน จนสุดท้ายกิเลสที่แสดงเป็นตัวคนมันก็ทำท่าเซ็ง มันก็เลิกไป ไม่กวนแล้ว ในทางสภาวะธรรมเรียกว่า “มันจะดับไปเอง ถ้าเราไม่ยุ่งกับมัน”

แต่ในเส้นทางเดินแห่งการรู้นี้ แน่นอนว่าเราต้องมีพลาดพลั้ง สู้บ้างหนีบ้างตามบ้าง…สารพัด ตรงนี้แหละที่จะก่อให้เกิดศิลปะขึ้น ศิลปะที่เราจะอยู่รอดบนเส้นทางแห่งการรู้ตามความเป็นจริง แต่แม้ว่าเราจะไม่รู้อะไรเลยในศิลปะ ขอให้มีหลักเอาไว้ เราไม่ต้องชาญฉลาดที่จะรู้เทคนิคอุบายสารพัดวิธี หรือต้องรู้ทุกอย่างที่เราคิดว่าต้องรู้ ไม่ต้องกังวลขนาดนั้น อย่างเดียวที่เราต้องรู้คือ “หลักที่ว่า รู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริง รู้เท่าที่รู้ได้” ไม่ต้องเพอร์เฟค

เคยฟังครูบาอาจารย์เล่าว่า ท่านเห็นว่าจิตนี้มีอะไรหุ้มอยู่ เหมือนอยู่ในคุก พอเห็นแบบนั้นก็อยากจะออก รู้แล้วว่าตัวเองติดคุกมานาน รีบเร่งหาทางทำยังไงจะพ้นทุกข์ พ้นจากเปลือกหุ้ม ความรีบเร่งนั้นเองทำให้หลงทำผิด เพราะเต็มไปด้วยตัณหา

ผมถึงบอกว่า สังเกตให้ดีว่าความเป็นเรามันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จะพูดจะทำอะไร มันสนองความเป็นเรา สนองกิเลสทั้งฝ่ายดีทั้งฝ่ายชั่ว จิตใจมันแสวงหาสิ่งที่สนองความเป็นเราตลอดเวลา สนองความมีอยู่จริงๆ ของเราตลอดเวลา

สนองกิเลสแห่งความเป็นเราในฝ่ายชั่วก็จะเห็นง่าย เตือนง่าย แต่สนองกิเลสในการกระทำที่ดูดีเนี่ยเตือนยาก เหมือนที่ผมบอกทุกคนว่า ไม่ให้ใครสอน เพราะเมื่อขึ้นหลังเสือแล้วมันลงลำบาก ถ้าอัตตายังเยอะอยู่ มันก็ยิ่งสนองความเป็นตัวเรา หนักมาก มันถึงมี “วิปัสสนูปกิเลส” ที่ทำให้คนชอบสอน เคยมีตัวอย่างคนติดวิปัสสนูแล้วไปสอนต้นไม้ ถามเขาว่าทำไมไปสอนต้นไป เขาบอกว่าเผื่อเทวดาเฝ้าต้นไม้ฟังอยู่ มีธรรมะอะไรก็อยากพูด มันเป็นการกระทำที่ดูดีอ่ะ เตือนยาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดีกว่า คือ ไม่ต้องทำ พร้อมก่อนค่อยสอน

เมื่อเราปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ ปฏิบัติให้มันลึกซึ้ง เราจะรู้จักว่า แค่สอนตัวเองนี่ก็เหนื่อยแล้ว เราจะเห็นกิเลส อัตตา ทิฏฐิ มานะ ความเทียบเขาเทียบเราที่ตัวเองมี แล้วถ้าเราเห็นตัวเองมากๆ เราจะไม่อยากสอนคนอื่นหรอก เพราะตัวเองก็จะเอาไม่รอดอยู่แล้ว เราจะรู้สึกแบบนี้

 

ตอนที่ 3 ค้นพบได้ด้วยตัวเอง

ความเจริญก้าวหน้าของทุกคน ไม่เกี่ยวกับว่าเราถูกสอนมาก เกี่ยวกับว่าเรามีเวลาที่จะดูตัวเองให้มาก เพราะเหตุแห่งความเจริญไม่ได้อยู่ที่การฟังคำสอนทั้งวันทุกวัน มันอยู่ที่ตัวเราเอง มีเวลาสังเกตตัวเอง แต่นักปฏิบัติธรรมเราเข้าใจผิดกันมาก ว่าจะต้องฟังเทศน์ทุกวัน ต้องมีคนคอยแนะนำตลอดเวลา ติดนี่ต้องมีคนบอก ติดนั่นต้องมีคนแนะ นี่เป็นความเข้าใจผิดขั้นร้ายแรง การที่เราเข้าใจแบบนั้นผมเคยบอกไว้ว่าเราจะเป็นลูกแหง่ตลอดชีวิต

การเดินทางบนเส้นทางนี้คือ การผ่านประสบการณ์ประจักษ์แจ้งความจริงด้วยตัวเอง ไม่ใช่เรื่องของการฟังใครบอก คนไทยก็พูดว่าเราต้องมีประสบการณ์ประจักษ์แจ้งความจริงด้วยตัวเอง คนฝรั่งก็บอกว่า Discovery คือ เส้นทางของการค้นพบ ค้นพบสิ่งที่เราไม่เคยเห็น สิ่งที่เราไม่เคยเจอด้วยตัวเอง

เวลาในพรรษามีคนมาถามผมว่า จะไปที่ไหน หรือจะไปเข้าคอร์สที่ไหน ผมถึงมักจะแนะนำว่า “ไปที่ที่อยู่คนเดียว มีหลักปฏิบัติ แล้วก็อยู่กับตัวเอง เพราะนั่นคืออาจารย์ตัวจริงของเรา”

เหมือนเราปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ เราเห็นตามความเป็นจริงว่าทุกสิ่งตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราจะได้ค้นพบและได้เห็นด้วยตัวเอง จนกระทั่งแม้ว่าจิตหลุดพ้น เราก็จะมีประสบการณ์ค้นพบสภาพที่จิตหลุดพ้นนั้นเป็นยังไงด้วยตัวเอง

อิสรภาพบนเส้นทางนี้จะเป็นสิ่งที่เราค้นพบ รู้สึก สัมผัสได้ด้วยตัวเอง แล้วมันเกิดขึ้นได้ก็ด้วยเพราะว่าเรามีเวลาที่จะอยู่กับตัวเอง สังเกตสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ใช่เรื่องของการให้ใครคอยบอกเราตลอดเวลา

 

ตอนที่ 4 เติบโตจากความทุกข์

อาจารย์ครูบาอาจารย์ก็เหมือนพ่อแม่เรา พ่อแม่เราเลี้ยงเราให้เราเป็นคนที่เข้มแข็ง ให้เราวิ่งแล้วล้ม เดินแล้วหกล้ม จนกว่าเราจะเดินได้ พ่อแม่ต้องยอมอดทนที่จะเห็นลูกตัวเองเจ็บ ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน จะคอยประคบประหงมบอกตลอดไม่ให้ผิดเลยนั้นไม่ได้ หลายครั้งต้องให้ลูกศิษย์ทุกข์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องอดทนแบบนั้น

แต่ลูกศิษย์ก็ชอบอาจารย์ใจดี เอาใจประคบประหงม บอกอะไรทุกอย่าง มันก็เหมือนพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบไม่ให้โต เป็นเด็กตลอด เราได้ครูบาอาจารย์ที่เข้มงวด ก็ถือเป็นโชคดีของเรา เราจะเติบโตโดยธรรมชาติของการเข้มงวดนั้นเอง

ทุกคนจะเป็นดอกบัวที่จะเติบโตจากความทุกข์ ดอกบัวเติบโตจากโคลนตม ก็เปรียบเสมือนเราเติบโตขึ้นจากความทุกข์ เพราะฉะนั้น เราต้องภูมิใจที่การใช้ชีวิตของเราบนเส้นทางนี้ยังมีครูบาอาจารย์ที่ให้ทุกข์กับเรา ไม่มีใครอยากเป็นต้นเหตุทำให้คนอื่นทุกข์หรอก มันมีแต่เขาเกลียดกับเสมอตัวแค่นั้น แต่ในฐานะครูบาอาจารย์ต้องทำ การตามใจกันนั้นสบายใจทุกฝ่าย มันสบายใจแต่ไม่มีความเจริญ

ผมมีมุมของการใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับการปฏิบัติธรรมที่น่าสนใจที่อยากให้พวกเราสังเกตตัวเอง เรากำลังมีชีวิตที่ชุ่มไปด้วยความสุขไหม? ชีวิตที่แห้งแล้งสักหน่อย แห้งผากสักหน่อย จะเป็นชีวิตที่เหมาะสมกับการปฏิบัติธรรมมากกว่าชีวิตที่ชุ่มไปด้วยความสุข มันทำให้เราเห็นอะไรๆ ในจิตนี้ง่าย ชีวิตที่ชุ่มไปด้วยความสุขเนี่ยเวลาไปถามจะไม่ค่อยอยากได้อะไร เฉยๆ เหมือนเป็นคนไม่ค่อยมีกิเลสเลย ก็เธอมีเต็มซะขนาดนั้นจะเอาตรงไหนอีก จะเอาอีกเหรอ ลองขาดดูสิ แห้งๆ สักหน่อยจะเห็นอะไรชัด

Safety Zone Comfort Zone เป็นปราการด่านสำคัญที่รักษาตัวตนนี้เอาไว้อย่างดี เคยเป็นกันไหมใครอย่ามาล้ำเส้นฉัน เส้นนี้เต็มไปด้วยความคิด ทิฎฐิ ความเชื่อ กฎเกณฑ์ที่ตัวเองสร้างขึ้นมา…ตัวเราทั้งนั้น

หลายปีก่อนผมเคยเขียนบทความเรื่อง “ชีวิตที่มีหลักการและหลักยึด” ลองไปสังเกตดูคนไหนหลักการเยอะๆ จะทุกข์เพราะสิ่งนั้น คนไหนมีเงื่อนไขในชีวิตเยอะๆ จะทุกข์เพราะสิ่งนั้น ทำไมทุกข์? ก็เพราะมีเรานั่นแหละไปสร้างมันขึ้นมา

หมั่นรู้ทันว่า ตัวเราปรากฏขึ้นมาบนโลกนี้อีกแล้ว รับรองดูกันไม่ทันเลย ขึ้นตลอด พอเราเหลือแค่รู้สึก พ้นจากโลกของความคิดปรุงแต่งทั้งปวง ตัวเราก็หายไป… “เหลือแค่รู้สึก” พอเราเห็น เราก็พอจะเข้าใจความจริงได้จากการเทียบเคียงว่า แท้จริงความเป็นเรานี่ไม่มี เพราะมันมีเมื่อมีความคิดเกิดขึ้น พอไม่มีความคิดปรุงแต่งอะไรมันไม่มีความเป็นเรา ลักษณะแบบนี้มันเป็นการเห็นตามความเป็นจริงด้วยการเทียบเคียง จนวันหนึ่งเราจะเห็นจริงๆ เลยโดยไม่ต้องเทียบเคียง มันจะเห็นความจริงเลยว่า โลกนี้ว่างจากความเป็นสัตว์ตัวตนบุคคลเราเขาโดยไม่ต้องเทียบเคียง

 

05-10-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/UBIxNoMUTMU

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S