138.ฟ้าแลบ

ตอนที่ 1 ฟ้าแลบ

เมื่อเช้าผมตื่นขึ้นมาจะมีสัญญาความจำเก่าๆ เกิดขึ้น สัญญาเรื่องไม่ค่อยดีทั้งนั้น เรื่องของชีวิตตัวเองตั้งแต่วัยรุ่นที่ทำตามกิเลส หลง…หลงชอบไปเที่ยวกับเพื่อน หลงชอบกินเหล้า รถชนจนเกือบตาย ผมว่าชีวิตทุกคนก่อนหน้าที่เราจะมาปฏิบัติธรรม เราก็เคยทำอะไรที่มันผิดพลาดในชีวิต หรือหลง ประเด็นสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ว่าเราหลงติดกับอะไรบ้าง ประเด็นสำคัญที่ผมเห็นคือ “ชีวิตนี้เปราะบาง” ชีวิตเราอยู่ในอันตรายทุกขณะ ทำไมอยู่ในอันตรายทุกขณะ? เพราะชีวิตเราตัดสินใจทำทุกอย่างไปตามกิเลสตัณหา

ทุกวันนี้เราจะเห็นข่าวฆ่ากัน ตีกัน หรือทำร้ายกัน ก็ล้วนอยู่ภายใต้ของกิเลสตัณหาทั้งนั้น จากเรื่องเล็กๆ จนทำเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตจนฆ่ากันได้หรือฆ่าตัวตายก็ได้ ก็ด้วยเพราะเราอยู่ภายใต้กิเลส บีบบังคับให้เราทำแบบนั้น

เพราะฉะนั้น ชีวิตจริงๆ ของพวกเราทุกคนนั้นอันตราย เราโชคดีหรือเรียกว่ามีบุญพอที่การทำตามกิเลสของเรานั้นมันยังไม่หักเหไปจนถึงขั้นที่เรียกว่า “คิดผิดชีวิตเปลี่ยนเลย” อะไรแบบนั้น หรือพูดผิดชีวิตเปลี่ยนเลย ทำผิดครั้งเดียวชีวิตเปลี่ยนเลย เราเรียกว่า โชคดี แต่จริงๆ แล้วยัง “มีบุญหนุนนำ” มากที่ทำให้การใช้ชีวิตผิดๆ ของเราภายใต้โมหะ ภายใต้โทสะ ภายใต้โลภะ นี่ยังไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา

ยิ่งเราปฏิบัติธรรมมากขึ้นเท่าไหร่ เราเห็นกิเลสในใจตัวเองมากเท่าไหร่ เราเห็นโทษเห็นภัยของกิเลสมากเท่าไหร่ เราจะรู้ว่าชีวิตที่ผ่านมานี่มันเหมือนเส้นยาแดงผ่าแปดมาตลอดชีวิตเลย แบบว่ารอดมาได้ยังไงเนี่ยจนถึงวันนี้

เพราะฉะนั้น เราจะปล่อยชีวิตเรากลับไปอยู่ในโลก กลับไปคลุกเคล้ากับกิเลส กลับไปมัวเมากับกิเลสของคนในโลกที่พร้อมจะดึงเราให้ไปร่วมวงกับเขาด้วย เราไม่รู้ว่าจังหวะไหนบุญเราจะหมด เรื่องซวยๆ จะมาถึงเรา

พระพุทธเจ้าถึงได้สอนข้อแรก คือ “ไม่คบคนพาล” คนพาลก็มีแต่กิเลสเยอะ เยอะน้อยต่างกันไป แล้วก็ให้คบกัลยาณมิตร ท่านแนะข้อแรกก่อนเลยคือ เราต้องไม่คบคนพาล แล้วก็ไม่ไปที่อโคจร ผมเห็นแบบนี้แล้วกลับมาดูชีวิตพวกเรา ชีวิตแบบพวกเรานี่แหละยิ่งกว่าประกันชีวิต AIA เลย AIA สู้ไม่ได้ โลกนี้มีอะไรที่น่ากลัวมากกว่าที่เราเห็นได้ เพราะโลกนี้ปกครองด้วยกิเลส คนดีๆ คนนึงพร้อมจะพลิกผันไปทำชั่วได้ทันทีเมื่อกิเลสครอบงำจิตใจ หรือเมื่อโอกาสเกิดขึ้น

แล้วถ้าเราจะคิดถึงชาติหน้า ถ้าเราต้องเกิดอีก เราต้องหลงอีก เราต้องอยู่ภายใต้กิเลสอีก เราไม่รู้ว่าจะรอดถึงวันนี้เหมือนชาตินี้ไหม ชาตินี้ถือเป็น “นาทีทอง” หรือเป็น “ชาติทอง” ชาติทองนี้มีคุณค่ามหาศาลเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตที่ไม่มีที่สิ้นสุดของเรา ถ้าเรายังต้องเกิดอยู่ ชีวิตจิตใจนี้ยังไม่มีที่สิ้นสุด เกิดไม่หยุด

เพราะฉะนั้น ชาตินี้เปรียบเสมือนเสี้ยววินาทีเดียวในชีวิตของเราเหมือน “ฟ้าแลบ” แวบเดียว อยู่ที่เราจะใช้แสงสว่างนั้นยังไงกับชีวิตนี้

 

ตอนที่ 2 รู้ทันกำลังเป็นเจ้าของอะไรไหม

ชีวิตแห่งความเป็นคน ชีวิตที่รู้สึกมีเรามีเขาบนพื้นฐานของอวิชา ภายใต้ความยึดมั่นถือมั่น เป็นชีวิตที่หนัก…ชีวิตที่หนักนั้นเป็นทุกข์ เป็นชีวิตที่ไม่มีความอิสระ พระพุทธเจ้าบอกว่า “เราเป็นผู้แบกของหนักพาไป” ของหนัก ก็คือ “ขันธ์ 5. ลำพังขันธ์ 5 นี้ท่านก็ว่าแบกของหนักแล้ว คิดดูว่าเราแบกอะไรอีกนอกจากขันธ์ 5 เราแบกสมมติในโลกอีกเยอะแยะเลย คนรอบข้างสารพัด มันจะหนักขนาดไหน

ผมสอนทุกคนให้ “รู้ทัน” เมื่อความเป็นเรานี้เกิดขึ้นแล้ว สังเกตไหมความคิดเกิดขึ้น สัญญาเกิดขึ้น ความยึดก็เกิดขึ้นเลย ความยึดเกิดขึ้นความเป็นเราก็เกิดขึ้นทันที ความเป็นเราเกิดขึ้นความหนักก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ผมบอกให้ทุกคนสังเกตว่า “เรากำลังเป็นเจ้าของอะไรไหม” หรือสังเกตว่า “มีตัวเราเกิดขึ้นตอนไหน

เมื่อเรารู้ทันว่าตัวเราเกิดขึ้นแล้ว ความเป็นเจ้าของอะไรๆ เกิดขึ้นแล้ว เราจะรู้สึกถึงความผ่อนคลาย จากภาระนั้นทันที และนั่นคือ “ความอิสระเบื้องต้น” อิสระจากความเป็นเรา เมื่ออิสระจากความเป็นเราแล้ว เราก็ไม่ต้องกังวลกับสิ่งอื่น เพราะสิ่งที่เรายึดเหนียวแน่นที่สุดก็คือ “ความเป็นเรา” ความมีเราจริงๆ

ความเป็นเรานี้มันเกิดขึ้นบ่อยอยู่แล้ว สังเกตได้ทั้งวัน ความเป็นเจ้าของรูปธรรมนามธรรม เป็นเจ้าของอารมณ์แล้ว ถ้าโกรธขึ้นมาแล้วจะเอาเรื่องเลย เนี่ยเป็นเจ้าของอารมณ์แล้ว เป็นเจ้าของความคิดแล้ว ถ้าอยู่กับคนเยอะๆ แบบนี้ก็จะเกิดความคิดกูความคิดมึง ความคิดกูดีกว่ามึง…เหล่านี้เราไม่ต้องเห็น เรากำลังเป็นเจ้าของความคิดแล้ว กำลังมีมานะทิฏฐิแล้ว หนักไหม? เวลาเป็นเจ้าของความคิดหนักไหม? มีความเห็นว่าต้องอย่างนี้หนักไหม? ถามตัวเอง เหนื่อยไหม? เป็นภาระไหม? มีความสุขไหม?

ลองฝึกที่จะรู้ทันความเป็นเจ้าของอะไรๆ ที่เกิดขึ้นทั้งวัน อันไหนรู้แล้วมันหลุด ก็จะรู้ได้ถึงความอิสระชั่วครู่ อันไหนรู้แล้วไม่หลุด มันยังยึดอยู่ก็เรียนรู้ไปว่าเมื่อจิตยังยึดอยู่ ยังมีสังโยชน์แบบนี้แบบนั้นอยู่ มันยังยึดแบบนี้อยู่ ก็ทุกข์แบบนี้ ก็เรียนรู้ไปว่าตราบใดที่ยังทำลายสังโยชน์อาสวะกิเลสทั้งหลายไม่ได้จะต้องทุกข์แบบนี้

มันไม่ใช่เรื่องที่เราบังคับได้ อยากจะให้มันไม่ยึดแล้วมันก็ไม่ยึดได้ ถ้าสั่งได้แบบนั้นก็สั่งให้เป็นพระอรหันต์เลย แต่มันทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขอให้เป็นบทเรียน เรียนรู้ไป แล้วเราจะพบว่าการเรียนรู้กายและใจนี้จะเป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข เพราะจิตใจเต็มไปด้วยกิเลส มันจะเป็นสุขได้ยังไง เต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น เต็มไปด้วยอวิชชา

การเรียนรู้มันจะเห็นทุกข์เห็นโทษ เหล่านี้คือกำลังใจให้เราไม่เลิกปฏิบัติธรรม ให้เราเลิกไม่ได้ อยากเลิกก็เลิกไม่ได้ เพราะรู้ว่าถ้าเลิกมันจะทุกข์แบบนี้ จะหนีไปสุดหล้าฟ้าเขียวก็ต้องทุกข์แบบนี้ มันเลยไม่เลิก เป็นไฟท์บังคับ

 

ตอนที่ 3 ศิลปะแห่งการพ้นทุกข์

เราเดินๆ เห็นไหมว่าเดี๋ยวก็คิด คิดเสร็จก็เข้าไปยึด มันก็เป็นกระบวนการที่ผมบอกนั่นแหละ เพราะฉะนั้น “รู้ทัน” ทำได้อย่างเดียวคือ รู้ทัน ค่อยๆ รู้ทัน ไปเรื่อยๆ

เราใช้ชีวิต เรามีหน้าที่รู้กายรู้ใจนี้ตามความเป็นจริงไปเรื่อยๆ ไม่ต้องทำอะไร เรียนรู้สิ่งๆ หนึ่งตามความเป็นจริง เมื่อเกิดความยึดเข้าไปในสิ่งๆ นั้น เรียกว่า “จมน้ำแล้ว” รู้ทันขึ้นมาปุ๊บ…ไม่หลุด จมน้ำแล้ว ทำยังไงต่อ มี 2 แบบคือ อดทนรู้อยู่เฉยๆ หรือสอนตัวเองนิดนึงว่า อารมณ์หรือสิ่งใดๆ ที่กำลังติดอยู่นั้นไม่ใช่เรา มันเป็นแค่สิ่งอีกสิ่งหนึ่งแค่นั้น ที่ถูกรู้ เราเป็นคนรู้มันอยู่ สอนตัวเองนิดนึงก็ได้

วิธีการปฏิบัติธรรมที่เราฟังกันเยอะแยะ สุดท้ายทั้งหมดมันถูกเอามาปรับใช้อย่างเป็นศิลปะ มันไม่ใช่เป๊ะๆ มันคือ “ศิลปะแห่งความพ้นทุกข์” นี่คือศาสนาพุทธ เป็นศิลปะแห่งความพ้นทุกข์ที่อยู่ภายใต้หลัก “รู้อย่างที่มันเป็น เห็นตามความเป็นจริง

ผมเคยบอกว่า ผมไม่ใช่คนปฏิบัติธรรมเก่ง ก็ห่วยๆ เหมือนทุกคนนั่นแหละ ถ้าเราถอยชีวิตกลับไปเรื่อยๆ เหมือนที่ผมเคยบอกว่า ชาติก่อนท่านพาหิยะก็ช้าที่สุดในกลุ่ม เพื่อนๆ บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว ตัวท่านเองไม่รอด สุดท้ายตาย ก็ไม่ได้เป็นอะไร แต่ชาติถัดมากลายเป็นเอตทัคคะทางด้านบรรลุเร็วที่สุด เพราะฉะนั้น เราไปเอาอะไรกับเร็วกับช้า มันเป็นเรื่องเงื่อนเวลาในจุดๆ หนึ่งของชีวิตแค่นั้นเอง เรื่องสำคัญคือ “เรื่องของเหตุปัจจัย” ไม่ใช่ว่าใครเก่งกว่าใคร

เราปฏิบัติธรรม เราก็ล้มๆ ลุกๆ ผลุบๆ โผล่ๆ ดีๆ แย่ๆ บ้างตามความคิดของเราที่เราจะประเมินตัวเอง มันก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้อยู่ในชีวิตที่ถูกต้อง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลชีวิตการปฏิบัติธรรมทั้งชีวิต นั่นคือ “วิเวกสันโดษ” เราจัดการสิ่งแวดล้อมในชีวิตที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรมทำให้ดีที่สุดแล้ว ที่เหลือก็เป็นศิลปะของการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ต้องดีตลอด ไม่ว่าดีหรือร้าย มันคือการเรียนรู้ แล้วการเรียนรู้ชีวิต นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม ไม่ว่ามันจะดีหรือไม่ดีก็ตาม เราได้ปฏิบัติธรรมแล้ว

 

22-09-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/xpcEGcdbaus

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S