136.เข้าใจ “ทุกข์” กันหรือยัง

ตอนที่ 1 หน้าที่ที่ถูกต้องคืออะไร

อย่าลืมว่าเราแค่นั่ง…แค่นั่งด้วยหน้าที่ของชีวิต หน้าที่แท้จริงของชีวิตเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้เพราะเราเกิดมาก็ไม่มีใครสอนเรา พ่อแม่ก็สอนแต่ให้เราส่งจิตออกนอก สอนแต่ความเป็นอัตตาตัวตนให้กับเรา สอนให้เราเป็นเจ้าของสิ่งนั้นสิ่งนี้ สอนว่าเราต้องประสบความสำเร็จในชีวิต สอนว่าเราต้องไม่เสียเปรียบคนอื่น สอนว่าเราต้องไม่โง่ในทางโลก สอนสารพัดทุกอย่างเพื่อเสริมอัตตาตัวตนนี้ให้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ แต่พ่อแม่ก็สอนเราเท่าที่ท่านรู้ ไม่ได้มีใจหวังร้ายอะไร ก็คิดว่าดีที่สุดแล้วเพราะถูกสอนมาแบบนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจึงเกิดมามีชีวิตที่ไม่เคยรู้จักหน้าที่ที่แท้จริง

เมื่อเราไม่รู้จักหน้าที่ที่แท้จริง เราจึงทำผิดหน้าที่ พอเรามีชีวิตที่ทำผิดหน้าที่ ชีวิตที่เหลืออยู่ก็เป็นชีวิตที่บิดเบี้ยว ชีวิตแบบนั้นจึงเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์

เพราะฉะนั้น เราถอยกลับมารู้จักหน้าที่ที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่ หน้าที่แท้จริงของการได้ชีวิตนี้มา หน้าที่แท้จริงของการเกิดมาในครั้งนี้ รู้จักหน้าที่ที่ถูกต้องนั้น แล้วใช้ชีวิตบนหน้าที่ที่ถูกต้องนั้น

หน้าที่ที่ถูกต้องนั้นคืออะไร? “ใช้ชีวิตอย่างไม่ลืมเนื้อลืมตัว มีหน้าที่รู้ทันจิตใจ” สมมติเราทำหน้าที่นี้ตั้งแต่เกิด มันจะเป็นความเคยชิน มันจะเป็นนิสัยจนเป็นสันดานของเราเลย เราจะไม่รู้สึกเลยว่าการไม่ลืมเนื้อลืมตัว การรู้สึกตัวหรือการรู้ทันจิตใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นเป็นสิ่งที่ต้องทำ มันไม่มีความรู้สึกว่าต้องทำ มันเป็นความรู้สึกเดียวกับเราหายใจ ต้องทำไหม? ลองคิดดูนะ ลองตั้งใจหายใจเข้า ออก เข้า ออก จะแน่นเลย ทำไม? เพราะมันทำ หายใจทั้งชีวิตไม่เคยแน่นเลย พอบอกให้ตั้งใจหายใจแล้วก็แน่นเลย แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นบอกว่า ลมหายใจเป็นยังไง เราก็รู้อยู่ รู้ได้ มันยาวหรือมันสั้น ก็เรื่องของมัน แล้วก็รู้อยู่ มันจะหยุดหายใจ มันก็เรื่องของมัน ก็รู้อยู่

คำว่า “รู้อยู่ คือ ไม่ได้ทำอะไร” จิตใจเป็นยังไงก็รู้อยู่ ไม่ได้ทำอะไรมัน ร่างกายเป็นยังไงก็รู้อยู่ ไม่ได้ทำอะไรมัน แล้วพอเรารู้อยู่จนเป็นนิสัย มันจะมีการทำอะไรไหม จะมีความรู้สึกต้องทำอะไรไหม เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำอะไรที่มันเกินจากรู้ นั่นคือผิด นั่นคือตัวตน นั่นคือส่วนเกิน

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความหายนะอยู่ที่นั่น เพราะมันคืออัตตา

เราไปฟังคำสอน จิตต้องเป็นอย่างงั้น จิตต้องเป็นอย่างนี้ ให้มันเป็นอย่างนั้น ให้มันเป็นอย่างนี้ “เราจะทำ” ทำได้ด้วย แล้วก็นั่นแหละ…หายนะ เต็มไปด้วยตัวตน ยิ่งทำได้ก็ยิ่งเพิ่มอัตตาตัวตนเข้าไปอีก แหม! ทำได้แบบครูบาอาจารย์บอกเปี๊ยบเลย พอทำได้เขาก็ชมเราว่าเราเก่งอีก ไปกันใหญ่เลย “ไปกันใหญ่”…ใหญ่จริงๆ กว่าจะรู้อีกทีอัตตาก็ใหญ่ตามไปกันใหญ่เลย

 

ตอนที่ 2 ปราศจากความหวัง

มีแค่รู้ ไม่มีการทำอะไรทั้งนั้น หลายคนสงสัย เอ! แล้วทำในรูปแบบนี้ทำหรือเปล่า? ทำในรูปแบบเป็นแค่รูปแบบ เดินจงกรมเรียกว่าเดิน นั่งสมาธิเรียกว่านั่ง ขยับมือก็เรียกว่าเคลื่อนไหว ชีวิตเรามีไหม? ยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหว ยืนเดินนั่งนอนเคลื่อนไหวก็ให้รู้ ไม่ได้ให้ทำอะไร การอยู่ในรูปแบบมันก็เป็นอิริยาบถเหล่านี้แหละ เพียงแต่อยู่นานหน่อยในอิริยาบถแบบนี้ แล้วหน้าที่คืออะไร? “รู้ ไม่ได้ทำอะไร” มันเคลื่อนก็รู้ มันเป็นยังไงก็รู้ การปฏิบัติธรรมมันจึงอยู่ได้ในทุกสถานการณ์ทั้งในรูปแบบทั้งนอกรูปแบบ ไร้รอยต่อ

เรามีหน้าที่ที่ถูกต้องในการที่เราได้ชีวิตนี้มาแล้ว มีหน้าที่แค่นั้นเอง เหมือนถ้าเราหายใจ เราจะไม่ตาย เรามีหน้าที่หายใจ อย่าหยุดหายใจแล้วกัน ที่ผมเคยบอกเราไม่ต้องหวัง เวลาเราหายใจเราไม่ได้หวังอะไรเลย ชีวิตมันก็มีต่อของมันได้เอง ไม่ต้องหวังว่าถ้าฉันหายใจเข้าแล้วชีวิตฉันจะอยู่ต่อได้อีกหน่อยนึง เราไม่ได้หวังอะไร

ให้พวกเราเข้าใจให้ถูกต้อง การปฏิบัติธรรมลึกลงไปที่สุด คือ เราได้มีโอกาสใช้ชีวิตนี้บนหน้าที่ที่ถูกต้อง แค่นั้น ปราศจากความหวังใดๆ แม้เพียงน้อยนิดก็ไม่มี การที่เราเรียกว่าปฏิบัติธรรมเพื่อจะถึงซึ่งความหลุดพ้นนั้น มันจะเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่จะเกิดเอง ไม่เกี่ยวกับเราเลย ยิ่งเราหวังยิ่งช้า เพราะมันไปขัดกระบวนการตามธรรมชาติ มันเป็นส่วนเกิน ขัดขวาง

พระพุทธเจ้าถึงได้เคยตรัสไว้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราบัญญัติธรรมวินัยขึ้นมา บัญญัติศาสนาพุทธขึ้นมา ศาสนานี้จะอยู่ได้นาน แต่ผู้ที่ถึงธรรมนั้นจะน้อยลง เพราะบัญญัติเหล่านั้นมันพาให้เราขัดขาตัวเอง มีขาก็มีประโยชน์ใช่ไหม เดินได้แต่มันชอบไปขัดกัน เดินแล้วล้ม เดินแล้วล้ม

ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติธรรมที่แท้จริง เราต้องมีหัวใจเหลือแค่การใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง แค่นั้น อย่างตอนนี้เรานั่งอยู่ มีอะไรที่กำลังถูกรู้ได้อยู่ ก็รู้แค่นั้น เพราะกิริยาของการปฏิบัติธรรม คือ “รู้อย่างที่มันเป็น เห็นตามความเป็นจริง”

นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากคำถามเยอะ เช่น รู้อย่างที่มันเป็น…นี่รู้ถูกหรือยัง? เห็นตามเป็นจริง…นี่เห็นถูกหรือยัง? เห็นจริงหรือยัง? เพราะฉะนั้น เลยต้องกำกับลงไปอีกว่า “รู้เท่าที่รู้ได้ เห็นเท่าที่เห็นได้” ความเป็นจริงตอนนั้นโชว์แค่ไหน เห็นได้แค่นั้นก็เอาแค่นั้น การขวนขวายที่จะเห็นลึกซึ้งกว่านั้นมากกว่านั้น นั่นคือ “อัตตาตัวตน” เป็นเพราะเราอ่านมามาก ฟังมามาก กลัวผิด กลัวยังไม่เห็น…สารพัด! ปฏิบัติธรรมภายใต้อัตตาตัวตน ภายใต้ความกลัว ไม่เรียกว่า ปฏิบัติธรรม

 

ตอนที่ 3 เห็นได้แค่ไหน แค่นั้น

พวกเราใช้ “ขณิกสมาธิ” ก็มีกำลังนิดหน่อย เหมือนคนอยู่ริมตลิ่ง…อยู่บนฝั่งเหมือนกันนะแต่ริมตลิ่ง พร้อมที่จะแหย่ขาลงไปในน้ำเสมอ เรียกว่าอารมณ์อะไรเกิดขึ้นก็เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวเป็น เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวเป็น สลับกันอยู่อย่างนั้น แต่ด้วยความที่มันเร็วมากมันเลยเหมือนทำไมเป็นตลอดเลยนะ! แต่จริงๆ มันมีเห็นบ้าง สลับๆ กันไป

แล้วเรามีหน้าที่อะไร? “เห็นตามความเป็นจริง” ว่าตอนนี้เห็น ตอนนี้เป็น ตอนนี้เห็น ตอนนี้เป็น หรือแม้กระทั่งว่าตอนนี้มันเป็นยังไง ก็เห็นมันเป็นอย่างนั้น เห็นทุกข์อยู่แล้วก็เป็นทุกข์ด้วย มีความรู้สึกทุกข์ด้วย อารมณ์มันอยู่ในสภาพไหน เราก็เห็นมันอยู่ตรงๆ อย่างนั้นแหละ ไม่ต้องไปคิดว่า เอ! ผิดรึป่าว เอ! อันนี้เราสมาธิไม่พอหรือเปล่า อะไรอย่างนั้น ไม่ต้องไปกังวลขนาดนั้น

คำว่า “เป็น” แบบผิดๆ เนี่ยมันคือหมายความว่า เราลองนึกถึงสมัยที่เรายังไม่ปฏิบัติธรรม แล้วเมื่อมันโกรธเราก็โกรธเต็มตัวเลย ไม่ลืมหูลืมตาเลย เป็นกูโกรธนี่แหละ อยู่ในเรื่องในราวนั้นไม่เลิก มันเชื่อจริงๆ เลยว่า มันเป็นเราโกรธ ไม่ใช่จิตมันโกรธ อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็น มันไม่รู้เรื่องเลยว่าเป็นเรื่องของจิตที่มันมีกิเลสแล้วมันก็เลยโกรธ แล้วเราก็ยังติดกับจิตอยู่ เราก็เลยรู้สึกโกรธไปด้วย เนี่ยนักปฏิบัติธรรมก็จะเห็นแบบนั้น

ไม่ว่าจะเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิล้วนต้องเห็นตามความเป็นจริงเหมือนกัน อุปจารสมาธิอาจจะให้สิ่งแวดล้อมในการเห็นอีกแบบหนึ่ง ขณิกสมาธิก็ให้สิ่งแวดล้อมในการเห็นอีกแบบหนึ่ง เห็นแบบคนจนกับคนรวย มันเห็นไม่ค่อยเหมือนกัน คนจนขี่จักรยานไปบนถนนมองซ้ายมองขวา ลมตีหน้าขี้ฝุ่นเข้าตาจมูกปาก…นี่รู้แบบคนจน รู้แบบคนรวยเขานั่งเบนซ์ดูไปเรื่อยๆ แต่ก็เห็นเหมือนกัน เห็นตามความเป็นจริงว่ามันเป็นยังไง “เห็นได้แค่ไหน…แค่นั้น” จะไปเอาอะไรมาก อย่ามีเงื่อนไขเยอะ ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา

หัวใจสำคัญคือ “สัมมาทิฏฐิ” มีมุมมองที่ถูกต้อง เห็นกายเห็นจิตอย่างที่มันเป็น แต่รายละเอียดมันจะเป็นยังไงก็ตามเรื่องตามราวของเหตุปัจจัย เช่น เรื่องของกำลังของสมาธิที่มีอยู่ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะมีกำลังสมาธิมากหรือน้อย คือ “มันต้องเห็นตามความเป็นจริง ไม่ดัดแปลง แก้ไข แทรกแซง จัดการ ยุ่มย่ามกับมัน”

 

ตอนที่ 4 เข้าใจทุกข์กันหรือยัง?

มีตัวอย่างของเวลาครูบาอาจารย์เล่า ก่อนที่ท่านจะบรรลุอริยมรรคอริยผลท่านจะพูดว่า “นิพพานอยู่ฟากตาย” ทำไมท่านพูดว่านิพพานอยู่ฟากตาย แปลว่าท่านต้องรู้สึกว่ามันต้องอดทนมาก ทำไมต้องอดทน แปลว่ามันทุกข์ใช่ไหม แปลว่าสภาพก่อนหน้าที่จะข้ามไปนิพพานได้มันต้องทุกข์ทรมานแทบตาย แปลว่าท่านรู้สึกทุกข์เหมือนกันใช่ไหม ท่านถึงอธิบายได้ว่านิพพานอยู่ฟากตาย พูดทุกองค์นะ “ไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นธรรม” ภาษาพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า “ถึงที่สุดแห่งทุกข์” ใช่ไหม ที่สุดแห่งทุกข์ มันคล้ายๆ ทุกข์ถึงที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้สึกเนี่ยอธิบายไม่ได้ว่ามันทุกข์

แต่พวกเราเวลาฟังธรรมกันเราชอบไปฟังผลว่า ว่าง สว่าง สบาย อิสระ เหมือนไม่มีทุกข์เลยในการปฏิบัติธรรม พอมีทุกข์ขึ้นมาทีนึงนึกว่าผิดทุกทีเลย เนี่ยโลกมันกลับตาลปัตรนะ

การปฏิบัติธรรมเนี่ยครูบาอาจารย์ตั้งแต่ยุคหลวงปู่มั่นลงมานี่ ท่านยกทุกข์ขึ้นมา เรียกว่า เป็นแม่เป็นพ่อเลยที่จะพาเราข้ามห้วงทุกข์นี้ไปได้ ถ้าเราปฏิบัติธรรมแล้วมีแต่สุขสบายว่างสว่าง…หายนะ! บอกเลยว่าหายนะ

ชีวิตเรามีแต่ทุกข์ พอเรารู้จักการปฏิบัติธรรม เรามารู้สึกตัว รู้จักพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง รู้จักจิตใจที่เป็นปกติ เรารู้สึกมีความสุขขึ้นเยอะ นั่นเพราะอะไร เพราะจิตใจนี้เริ่มมีสมาธิ จิตใจนี้มันเริ่มสงบ มันไม่เคยเป็นแบบนี้ มันเลยรู้สึกมีความสุข แต่ถ้ายังติดอยู่แค่นั้น…เจ๊ง

พอเราปฏิบัติธรรมไปเรื่อย จิตใจมีกำลังตั้งมั่นขึ้นมา ทีนี้จะเริ่มเกิดอะไรขึ้น เราจะเห็นตามความเป็นจริงคือ “เห็นทุกข์” ทีนี่แหละโศกนาฏกรรมจะเกิดขึ้น เห็นแต่ทุกข์ทั้งวันทั้งคืน จนกว่าจะมีความสุขอีกทีนู่น…เป็นพระอรหันต์ ก่อนหน้านั้นเราจะเห็นทุกข์ไปเรื่อยๆ

กระบวนการตามธรรมชาติมันมีอยู่ เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เห็นตามความเป็นจริงคือ เห็นมันเป็นทุกข์ มันเลยเบื่อหน่าย ถ้าเห็นเป็นสุข มันไม่เบื่อหรอก มันชอบ…ก็คาอยู่ตรงนั้นแหละ ติดอยู่ตรงนั้นแหละ ไปไหนไม่ได้

เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ใครเป็นคนหลุดพ้น พระพุทธเจ้าบอก จิตนี้หลุดพ้นด้วยตัวมันเอง ไม่ใช่เป็นการคิดโยงใยหาเหตุหาผล… ไม่ใช่… เห็นจิตนี่แหละมันหลุดพ้นด้วยตัวมันเอง เห็นแล้วก็มาบอก แค่นั้นเอง บอกตรงๆ ไม่ใช่ต้องไปคิดซับซ้อนอะไร ก็พูดตามที่เห็นแค่นั้นเอง ไม่ได้โยงทฤษฎีนู่นนี่นั่นสารพัดมา จิตมันแสดงอย่างนั้นก็เห็นอย่างนั้นก็บอกอย่างนั้น ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา พูดกันตรงๆ ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนลึกลับ

ตั้งแต่หลวงปู่มั่นลงมา ท่านยกทุกข์ขึ้นมาเป็นพ่อเป็นแม่ในการปฏิบัติธรรม หลวงปู่เทสก์ท่านพูดไว้ชัดเจน “ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม“อริยสัจ 4 คือ การรู้แจ้งในกองทุกข์ทั้งปวงนี้” เนื้อหาทั้งหลายมุ่งตรงไปสู่การเห็นทุกข์ การเข้าใจแจ่มแจ้งในกองทุกข์นี้

เราปฏิบัติธรรมกันมา ถามตัวเองกันสักหน่อยว่า “เราเข้าใจทุกข์กันหรือยัง” หรือเราสบาย มีความสุขชีวิตดี๊ดี

การที่เราไม่เอาทุกข์ คือ เราไม่เอาธรรม การที่เราหนีทุกข์ คือ หนีธรรม การที่เราปฏิเสธทุกข์ คือ ปฏิเสธธรรม การที่เราปฏิเสธการติดความทุกข์ คือ เราปฏิเสธความหลุดพ้น

เวลามันหลุดพ้น มันหลุดพ้นจากทุกข์ ถ้าไม่มีทุกข์มันจะหลุดพ้นจากอะไร มันจะแสดงความหลุดพ้นได้ยังไง เรารู้สึกมันหลุดพ้นเพราะมันมีทุกข์ มันติดทุกข์อยู่

เพราะฉะนั้น เราแค่ตั้งหน้าตั้งตาใช้ชีวิตบนหน้าที่ถูกต้องไปเรื่อยๆ แค่นั้น แล้วถ้ามีโอกาสที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง เราก็จะเลือกวิถีชีวิตแบบนั้น เรามีหน้าที่แค่สร้างสิ่งแวดล้อมหรือให้โอกาสในการมีวิถีชีวิตที่ถูกต้องแค่นั้น เราไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้น สิ่งแวดล้อมที่จะมีโอกาสเห็นตามความเป็นจริง สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยในการเห็นตามความเป็นจริงได้ คือ “สิ่งแวดล้อมที่วิเวกสันโดษ” เราให้โอกาสตัวเองแบบนั้น ที่เหลือก็แค่ใช้ชีวิต

 

25-08-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/8su3DjMv5D4

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S