133.ใช้ปัญญาให้มาก

ตอนที่ 1 หมดความยึด…หมดความหมาย

เวลาคนในโลกมองพวกเรานักปฏิบัติธรรม ก็คงงงเหมือนกันว่าวันๆ เรามานั่งทำอะไรแบบนี้ เคยสงสัยตัวเองไหมมานั่งทำอะไรกัน วันๆ ทำเหมือนเดิม ทุกวัน มันก็เหมือนเรื่องตลกเหมือนกัน แต่ให้เราเลิก เราก็เลิกไม่ได้ ถ้าไม่ให้เราทำแบบนี้ เราก็ไม่รู้จะไปทำอะไรที่ดีกว่านี้

ในจิตใจของพวกเรา ไม่มีอะไรมีประโยชน์หรือมีสาระที่จะดึงดูดเราให้กลับไปทำสิ่งต่างๆ ในโลก ถึงแม้การนั่ง การเดิน การใช้ชีวิตที่น่าเบื่อแบบนี้ มันจะน่าเบื่อขนาดไหนก็ตาม แต่โลกดึงดูดเรากลับไปไม่ได้…มันเป็นเรื่องน่าแปลก

เหมือนที่คนสมัยก่อนเขาพูดว่า “อย่าไปเจอสมณโคดมเด็ดขาด เพราะท่านมีมนตราเปลี่ยนใจ” เหมือนมีไสยศาสตร์แบบนั้น ในความเป็นจริงมนตราของท่านคือ “ความจริง” ไม่ใช่ไสยศาสตร์ ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อะไร ท่านชี้ให้เราเห็นความจริง เราหนีไม่พ้นความจริง ยกเว้นว่า เราจะหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ เราถึงจะไม่เห็นความจริง แต่พวกเราอยู่ในจุดที่หลอกตัวเองไม่ได้แล้ว ใครชวนเรากลับไปหลงโลกนี้ มันไม่เชื่อแล้ว ไม่หลงกลแล้ว ถ้าจะมาบอกว่าโลกดีอย่างนั้นโลกดีอย่างนี้ ความสุขแบบนั้นแบบนี้ดี เราไม่หลงเชื่อแบบนั้นแล้ว

พอชีวิตเรามีการตระหนักรู้แบบนั้น ต่อให้เราจะหลงไปในกิเลสบ้าง หลงไปในความหลงบ้าง หลงไปในอะไรต่างๆ บ้าง มันไม่นานหรอก เราจะเลิกบ้าแล้วก็กลับมานั่ง เดิน ใช้ชีวิตอย่างน่าเบื่อต่อไป โลกมันหลอกเราได้ไม่นาน ไม่เหมือนเมื่อก่อนนี้

โลกจะหลอกเราได้สั้นลง สั้นลง สั้นลงไปเรื่อยๆ โลกนี้ไร้แก่นสาร ไร้สาระ รวมความว่า “ความยึดมั่นถือมั่นใดๆ ในโลกนี้ ล้วนไร้สาระ” มันมีความหมายเพราะมีความยึด ถ้าหมดความยึด ใดๆ ในโลกก็หมดความหมาย

มันมีคุณค่า เพราะมีคนยึด ถ้าไม่มีใครยึด มันก็หมดคุณค่า

ทุกอย่างก็มีอยู่ เก้อๆ อย่างนั้น มีอยู่เหมือนเดิม คำว่าไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย หมายความว่า มันไม่มีคุณค่าหรือความหมายต่อใจ แต่ยังมีคุณสมบัติตามธรรมชาติของมันอยู่เหมือนเดิม มันมีคุณสมบัติเท่าที่เป็นตามธรรมชาติของมันแค่นั้น

 

ตอนที่ 2 ภัยของวัฏฏะ

เรานั่งปฏิบัติธรรม เดินปฏิบัติธรรม ใช้ชีวิตปฏิบัติธรรม ก็เพื่อวันหนึ่ง เราจะเข้าถึง “จิตที่เป็นอิสระ” จิตที่สลัดตัวออกจากขันธุ์ทั้งหมดที่ยึดได้

คนในโลกก็ไม่เห็นว่าชีวิตเป็นของน่ากลัว คนที่ยังอยู่ในโลกไม่เคยเห็นภัยของวัฏฏะ ไม่เคยเห็นภัยของการเกิด ไม่เคยเห็นความน่ากลัวของจิตที่ยังต้องเกิดอยู่ ยิ่งเราปฏิบัติธรรม เราจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงคำว่า “ภัยของวัฏฏะ” ความน่ากลัวของการเกิด การเกิดพร้อมด้วยจิตที่มีอวิชชา ที่เต็มไปด้วยกิเลส เต็มไปด้วยความกลัว เต็มไปด้วยความกังวล เต็มไปด้วยความหวัง…น่ากลัวมาก เป็นจิตที่ทุกข์มาก แต่คนในโลกก็เห็นไม่ได้ เพราะเขาหนี เกิดอะไรขึ้นปุ๊บเขาหนีไปทำอย่างอื่น สนองต่อความกลัว ความกังวล ความหวังนั้นด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เพราะฉะนั้น ภัยของวัฏฏะ ความน่ากลัวของการเกิดมา มันจึงเข้าไปในใจเขาไม่ได้

แม้กระทั่งเข้าไปในใจของนักปฏิบัติธรรมที่ปฏิบัติผิดก็ยังไม่ได้เลย เพราะการปฏิบัติธรรมที่ผิดก็จะหนีเหมือนกัน หนีเข้าไปในความสงบ ทำจิตให้มันสงบ ทำจิตให้มันว่าง ทำจิตให้มันสบาย ทำจิตให้มันดี ทั้งหมดนี้คือ “การหนี” แล้วการปฏิบัติธรรมก็เลยพบแต่ความสุข แต่ไม่ได้เห็นทุกข์ ไม่ได้เห็นความจริง

เมื่อไม่ได้เห็นตามความเป็นจริง ก็ไม่มีวันเข้าใจความน่ากลัวของการเกิดมา เพราะเราไม่ได้เห็นจิตอย่างลึกซึ้ง ไม่ได้เห็นจิตว่ามันเป็นทุกข์ด้วยตัวมันเองอย่างลึกซึ้ง เขาได้แต่ฟังครูบาอาจารย์พูดว่า การเกิดแล้วไม่ดี การเกิดมาแล้วเป็นทุกข์ ฟังๆ ไปงั้นแหละ มันไม่ได้เข้าใจด้วยตัวเอง ลึกๆ มันไม่อยากทุกข์ก็เลยมาปฏิบัติธรรม แต่จริงๆ อยากได้ความสุข มันซ้อนเข้าไปอีก คิดว่าชีวิตจะดีกว่านี้

ถ้าเราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราจะไม่เป็นเจ้าของชีวิตนี้ ชีวิตนี้จะดีหรือไม่ดี เป็นไปตามกรรม ไม่ใช่มาปฏิบัติให้ชีวิตนี้ดี

พอเราฟังกันอย่างนี้ เราจะเห็นว่าเพื่อนหรือคนที่เรารู้จักที่ปฏิบัติธรรมอยู่นั้น มีคนปฏิบัติผิดมีเยอะ ทำไมปฏิบัติผิด “เพราะเข้าใจผิด” เพราะยังไม่รู้เลยว่าปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร ยังไม่รู้หัวใจของการปฏิบัติธรรมนั้นมันคืออะไรกันแน่

ถ้าเราปฏิบัติได้ถูกต้อง เราจะเห็นแต่ทุกข์ เห็นแต่โทษของชีวิตนี้ เราจึงจะเข้าใจภัยของวัฏฏะ ความน่ากลัวของการเกิด

พวกเราเคยเห็นผู้ใหญ่ในชีวิตเราตอนเขาใกล้จะตายมั้ย เรารู้สึกว่าผู้ใหญ่คนนั้นทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ทำประโยชน์ได้ดีที่สุดแล้ว ชีวิตสมบูรณ์แบบ ทำทุกอย่างที่ทางโลกยกย่องว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี ครบถ้วน ตายตาหลับแล้ว ชีวิตที่เกิดมานี้มีคุณค่าไม่เสียหลาย

ในทางโลกชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ แต่ในทางธรรม การมีสติเห็นชีวิตนี้เป็นทุกข์ การเกิดมาครั้งนี้จึงไม่เป็นหมัน การเกิดมาครั้งนี้จึงมีคุณค่าจริงๆ

เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เรายังไม่เคยมีสติเห็นความจริงของชีวิตว่าแท้จริงมีแต่ทุกข์ ต่อให้เราประสบความสำเร็จมากมายขนาดไหนในโลก มีคนสรรเสริญยกย่องเราขนาดไหนในโลก ชีวิตเราก็ยังเป็นหมันอยู่ดี เพราะมันไม่ได้ฉลาดขึ้นทางจิตวิญญาณเลย ตรงกันข้ามกลับพอกพูนอัตตาตัวตนมากขึ้นอีก

 

ตอนที่ 3 ใช้ปัญญาให้มาก

ถ้าเรารู้สึกว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรม รู้สึกว่าวันนี้เราปฏิบัติธรรมดี นั่นแปลว่า เราไม่ได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราเป็นนักปฏิบัติธรรมอยู่ เราไม่ได้เป็นแค่คนเห็นทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงนั้นมันไม่แยกว่าดีหรือไม่ดี ความจริงเป็นยังไงก็เห็นอย่างนั้น นี่คือการเห็นตามความเป็นจริง

ลองมองดูคนที่เรารู้จักที่กำลังปฏิบัติธรรมอยู่ เขาปฏิบัติธรรมแบบนี้หรือเปล่า เขาพุ่งตรงไปที่การเห็นตามความเป็นจริงหรือเปล่า หรือเขาทำอะไรอยู่

เราอยู่บนเส้นทางนี้ เราแต่ละคนใช้บุญมาก ใช้บารมีมาก แล้วก็ใช้ปัญญามาก ที่จะรู้จักแยกแยะ ในศาสนาของพระสมณโคดมนี้ ท่านเป็นปัญญาธิกะ เราอยู่ในศาสนาของท่าน เพราะฉะนั้น เราใช้ปัญญาให้มาก งมงายให้มันน้อยๆ ไม่มีเลยยิ่งดี

ผมเห็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักปฏิบัติธรรมเนิ่นช้า คือ เราเต็มไปด้วยความเชื่อและความงมงาย เราแยกแยะคำสอนอันไหนถูก อันไหนผิดไม่ได้

ท่านเว่ยหล่างเคยพูดว่า “การปฏิบัติธรรมมีเส้นทางเดียว” ไม่ใช่ว่าไปทำอันนั้นก่อน แล้วค่อยมาทำอันนี้ มันมีทางเดียวคือ “ไม่ทำอะไร รู้อย่างที่มันเป็น”

เราต้องเข้าใจหัวใจของการปฏิบัติธรรมจริงๆ พอเราเข้าใจจริงๆ เราจะไม่เขว สมมติ เราลองคิดดูว่า ตอนนี้ถ้าพวกเราไม่มีผม ไม่มีคลิป แล้วเราก็ไปปฏิบัติธรรมด้วยตัวเราเอง เราจะเขวไหม เราเซไหม เราแยกแยะได้ไหม ถ้าไม่ได้ นั่นแปลว่า เรายังไม่มีหลัก ชีวิตที่ไม่มีหลักเป็นชีวิตที่พึ่งตัวเองไม่ได้

ผมโชคดีอย่างหนึ่ง ผมเข้ามาปฏิบัติธรรมด้วยความที่ไม่ค่อยรู้อะไร ผมจึงสงสัยคำสอน ผมไม่งมงาย แต่ผมไม่ใช่ก้าวร้าว ผมสงสัยได้ วิเคราะห์ได้ แล้วถ้ามันไม่ใช่ ผมก็แค่ไม่ทำตาม ไม่เชื่อแค่นั้นเอง แต่ไม่มีความคิดร้ายอะไร

เพราะฉะนั้น เราเข้มแข็งให้มาก “ความกลัว ความเชื่อ ความงมงาย” คือ อุปสรรค

ผมมีหลักว่า “ห้ามจัดการแทรกแซงแก้ไขจิตใจนี้” ผมถือว่าการกระทำที่เรียกว่าจัดการ แทรกแซง แก้ไขจิตนี้เป็นการกระทำที่ผิดในการปฏิบัติธรรมที่จะเห็นตามความเป็นจริงได…ผมไม่ทำ ใครสอนให้ทำ ผมไม่เชื่อ ผมถือว่าไม่ใช่ทาง

เมื่อความทุกข์ถึงที่สุดมาถึงผม ผมก็ยังคงยึดหลักนี้ ไม่จัดการ ไม่แทรกแซง ไม่แก้ไข มันอยู่ในสันดานผมไปแล้ว เพราะผมทำแบบนี้ตลอดชีวิตการปฏิบัติธรรม จะไม่มีอะไรมาหลอกให้ผมจัดการแทรกแซงหรือแก้ไขได้ เพราะในจิตผมนี้มันถือว่าเป็นเรื่องที่ผิด…ไม่ถูก จะหลอกผมไม่ได้

และเมื่อเราไม่หนี ไม่จัดการ ไม่แทรกแซง ไม่แก้ไข อย่างที่ผมบอก “จิตนี้จะแก้ทุกข์ด้วยตัวมันเอง” ขั้นสูงสุดก็คือ “มันจะหลุดพ้นด้วยตัวมันเอง” เพราะเราไม่ยุ่งกับมัน

เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าการปฏิบัติธรรมนั้นมีอะไรมากมายหลายขั้นตอน…ไม่มี มันมีแค่นี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าสอนคนหลายประเภทก็เพราะว่ามีธรรมหลายระดับ หมายความว่า ถ้ายังเป็นฆราวาสที่อยากอยู่ในโลก ก็บอกให้ถือศีล 5 ทำทานบ้าง อย่างนี้เรียกว่า ธรรมะคนละระดับ แต่ถ้าระดับปฏิบัติแล้วมันก็มีแค่นี้

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของคนจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ชาวพุทธจำนวนมากยังไม่ได้ปฏิบัติธรรม เขาเข้าวัด ทำทาน ทำบุญ เขาหวังว่าชีวิตเขาจะดีกว่านี้ ก็เลยนั่งสมาธิหน่อย อยากให้จิตใจสงบบ้าง นั่นไม่ใช่การปฏิบัติธรรม การสอนอะไรง่ายๆ แบบนั้นจะได้คนเยอะ ไม่ใช่คนจำนวนน้อย คนจำนวนน้อยในศาสนาพุทธคือ คนปฏิบัติธรรมจริงๆ

เราคงเคยได้ยินประวัติสาวกอย่างท่านพาหิยะเถระ พระพุทธเจ้าสอนว่า “เธอจงเห็น ก็สักว่าเห็น เธอได้ยิน ก็สักว่าได้ยิน” ก็เห็นตามความเป็นจริงนั่นแหละ ท่านจูฬปันถกะเถระเป็นคนโง่ความจำไม่ค่อยดี เพราะมีประวัติว่า ชาติหนึ่งเคยฉลาดมาก แล้วก็ชอบไปต่อว่าพระว่าทำไมโง่ ตัวท่านเองก็เลยมีกรรมโง่แบบนั้น พระพุทธเจ้าก็ให้เอาผ้าสีขาวไปขยี้ ไปถู ท่านถูไปถูมา ก็เห็นผ้ามันหมองดำขึ้นมา ก็เลยเข้าใจ อนิจจัง เนี่ยเห็นไหม การปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรเยิ่นเย้อหลายขั้นตอน คือมันตรงไปที่การเห็นตามความเป็นจริง ไม่ต้องไปทำอะไรนู่นนี่นั่นสารพัดก่อน ที่เราคิดว่ากว่าจะมาเข้าใจจุดที่สอนแบบนี้มันเป็นเรื่องยาก มันไม่ใช่

อะไรที่หล่อหลอมพวกเราให้เลือกชีวิตที่จะมาปฏิบัติธรรมทั้งชีวิต เพราะเราทำทานมาเหรอ เพราะเราถือศีลมาเหรอ สิ่งที่ทำให้เราเลือกที่จะมาอยู่บนเส้นทางนี้ หัวใจจริงๆ คืออะไร? หัวใจจริงๆ คือ เราเห็นความเป็นจริงของโลกนี้ว่ามันก็แค่นั้น ชีวิตนี้มันก็แค่นั้น มีเงิน มีแฟน มีรถ มีบ้านแล้ว มีทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ก็ยังค้นไม่พบความสุขสักทีนึง มันเกิดจากเราเข้าใจความจริงในทางโลกแล้ว เราถึงเลือกที่จะมาเข้าใจความจริงสูงสุดของชีวิตที่จะปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เราต้องไปทำอะไรก่อน ไม่ใช่ต้องไปทำทานเยอะๆ ก่อน ถือศีลมาอย่างหนักหน่วงก่อน ไม่ใช่แบบนั้น “เราอาศัยความเข้าใจชีวิต”

พระอรหันต์จนๆ มีเยอะแยะ คำว่า จนๆ หมายความว่า อยู่แบบจน ๆ เรียกว่าท่านไม่ค่อยได้ทำทานมา ท่านก็อยู่แบบจนๆ แต่ท่านก็เป็นพระอรหันต์ บางองค์ท่านทำทานมาเยอะ เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วก็รวยด้วย รวยคือหมายความว่า อยู่ก็สบาย ที่อยู่ อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เรียกว่ามีทานมาก่อน

เพราะฉะนั้น ทั้งหมดเป็นเรื่องของความเข้าใจ…ปัญญา “ใช้ปัญญาให้มาก” ส่วนวิธีปฏิบัติ…เริ่มต้นก็เท่านี้แหละ จนสุดท้ายก็เท่านี้เหมือนกัน

 

24-08-2563

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/VakI7_Jjnbk

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S