130.ไม่หนีอีกแล้ว

ตอนที่ 1 รู้ทุกข์

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อสุเมโธบวชไปวัดหนองป่าพง มีความทุกข์มาก กำลังคิดว่าอยู่วัดหนองป่าพงมีทุกข์มาก หลวงพ่อชาเดินผ่านมาก็ตะโกนบอกว่า “วัดหนองป่าพงนี่ทุกข์มาก” หลวงพ่อสุเมโธได้ยินก็มีปัญญาเลย “ความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่วัดหนองป่าพง ความทุกข์อยู่ที่ใจเราเอง”

เรามาปฏิบัติธรรม มีจุดประสงค์เพื่อที่จะรู้จักปฏิบัติต่อความทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างถูกต้อง จะมีความทุกข์มากมายเข้ามาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยจนถึงเรื่องใหญ่ ไม่ว่าชีวิตแบบไหน จะเป็นพระ จะเป็นแม่ชี จะเป็นฆราวาส ล้วนมีทุกข์ทั้งนั้น มันอยู่ที่ว่าเรารู้จักจะปฏิบัติต่อทุกข์นั้นอย่างถูกต้องไหม ถ้าเรายังไม่รู้ จะอยู่เพศไหนก็เหมือนกัน

การปฏิบัติต่อทุกข์อย่างถูกต้องคือ “การรู้” รู้ทุกข์นี่คือการปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อทุกข์ ในอริยสัจ 4 ไม่มีคำว่าหนีทุกข์

วิชาแห่งการหนีความทุกข์ เราทำมาตั้งแต่เกิดแล้ว เราเลือกจะมาปฏิบัติธรรมเพื่อจะเรียนรู้วิชาของการรู้ทุกข์ เราต้องการรู้ลงไปจนถึงเห็นว่าโลกนี้มีแต่ความทุกข์ วันนี้เรารู้หรือยังว่าโลกนี้มีแต่ทุกข์…เรายังไม่รู้เราถึงยังหนี ถ้าเรายังหนีได้แปลว่าโลกนี้ยังเหลือช่องว่างของความสุขอยู่ เราคิดว่าเราออกไปจากที่นี่ เราจะได้มีชีวิตอิสระกว่านี้ นั่นคือ “การแสวงหาความสุข” เรายังมีทางหนี

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าไปกับพระอานนท์ที่เมืองเมืองนึง มีแต่ประชาชนไล่ เกลียด ไม่ชอบพระพุทธเจ้า จนพระอานนท์ต้องทูลพระพุทธเจ้าบอกว่า “เราไปกันเถอะ อย่าอยู่ที่นี่เลย ที่นี่เขาไม่ต้อนรับเรา” พระพุทธเจ้าตอบพระอานนท์ว่า “ถ้าเราไปอีกที่นึง แล้วเขาไล่เราอีกละ เราจะทำยังไง เราต้องหนีอีกไหม” พระพุทธเจ้ายืนยันที่จะ “ไม่หนี” ไม่ว่าจะทุกข์เท่าไร ท่านก็ไม่หนี ท่านไม่หนีแต่ท่านไม่ทุกข์ ท่านไม่มีเป้าหมาย ท่านไม่มีเป้าหมายว่าในที่ที่ท่านอยู่นั้นท่านจะต้องได้รับแต่สิ่งที่ดีๆ ท่านไม่เป็นเจ้าของไอเดียอะไรกับชีวิต พอไม่เป็นเจ้าของ มันก็ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นกับไอเดียอะไรที่ตั้งเอาไว้ เพราะถ้ามีไอเดีย ตั้งเป้าหมายอะไรเอาไว้ พอไม่ได้ มันผิดหวัง…ก็ทุกข์

ทุกข์เพราะอะไร? เพราะเรากำลังเป็นเจ้าของอะไรบางอย่างเข้าแล้ว ดูให้ดี…เวลาเราทุกข์เนี่ยเรากำลังเป็นเจ้าของอะไรบางอย่างเข้าแล้ว ความทุกข์มันบีบคั้น บีบคั้นแล้วจิตที่มีอวิชชาก็เข้าไปจับ สร้างตัวตนขึ้นมา รองรับทุกข์นั้น อย่าลืมว่า อิสระในทางพุทธศาสนาคือ ความอิสระจากทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่อิสระที่จะทำอะไรได้ตามที่ใจต้องการ อิสระแบบนั้นจะสนองแต่ความเป็นตัวตน

 

ตอนที่ 2 หลงผิด

เราเคยได้ยินใช่ไหม ปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็ได้ ทำงานไปปฏิบัติธรรมไปก็ได้ ลองนึกดีๆ นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากในประเทศนี้เป็นแบบนี้ เกิดอะไรขึ้น ผมไม่ได้บอกว่าทำไม่ได้นะ… ทำได้ แต่จำนวนมากกำลังหลงผิด หลงผิดแบบไหน ชีวิตเรานี่ดีจริงๆ โลกก็ไม่ช้ำธรรมก็ไม่เสียแบบนี้ ชีวิตเราดี สมบูรณ์ ชอบที่มีชีวิตแบบนี้ได้ แต่สิ่งที่คนเหล่านี้ไม่เห็นเลยว่าการดำเนินชีวิตนั้นกำลังอยู่ภายใต้ความพึงพอใจของอัตตาตัวตน เราอยู่ภายใต้ความยินดีพอใจ…เราไม่เห็น เราทั้งนั้นเลยที่กำลังทำอยู่นะ

ผมถึงเคยบอกว่า ถ้าเราปฏิบัติธรรมเป็น เราจะไม่รู้สึกเราว่าเราปฏิบัติดี มันมีแค่ว่า “รู้หรือไม่รู้” แค่นั้น มันรู้สึกแค่นั้น เราจะไม่รู้สึกว่า อุ้ย! ชีวิตเราดีจังเลย ชีวิตนี้มีแต่ทุกข์จะดียังไง…มันดีได้ยังไงชีวิตที่มีแต่ทุกข์ ชีวิตดีจังเลยนี่มันเหมือนเราหยิบขี้มาดม แล้วก็บอกว่าหอมจัง ทำไมหอมได้? เพราะมันเห็นผิดไง หลงผิดไง

เคยได้ยินครูบาอาจารย์พูดใช่ไหมว่า “โลกนี้มันไม่มีอะไรน่าเอาน่าเป็นทั้งนั้นแหละ” เห็นถูกเป็นแบบนี้ มันถึงหมดความดิ้นรน แสวงหาที่จะได้ความสุข เพราะรู้ว่าไม่มี

ผมเคยเห็นจิตที่เป็นทุกข์บีบคั้นมาก บีบคั้นให้ความรู้สึกทุกข์ในเชิงของ “ความไม่มีคุณค่า” เป็น Useless Person เป็นคนไม่มีประโยชน์ ไร้ตัวตน เป็น Nobody อวิชชาจะสร้างทุกข์แบบนั้นให้เราอย่างมหาศาล

ทันทีที่เราตกจากการเป็นผู้รู้ สภาพทุกข์แบบนั้นจะพาให้เราคิด คิดไปทางไหน? ทางมีตัวตน ทางสนองให้เกิดตัวตนในมุมของเป็นคนมีประโยชน์ มีคุณค่า อวิชชาบีบเราขนาดนั้น เรากำลังฝึกที่จะไร้ตัวตน มันบีบให้เรามีตัวตนขึ้นมา เรายังไม่ต้องไปทำจริงๆ หรอก แค่คิดปุ๊บเนี่ย คลายความทุกข์เลย เพราะอะไร เพราะตกหลุมมันแล้ว Self (อัตตา,ตัวตน) เกิดขึ้นแล้วตามที่มันต้องการ มันพอใจแล้ว พอมันพอใจมันก็เลิกบีบเรา

อวิชชามันโหดร้าย มันไม่ยอมให้เราเป็นผู้รู้อย่างเดียว แล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ด้วย เราเลยต้องอดทน ไม่หนีและก็ไม่สู้ เพราะฉะนั้น กิริยาของการไม่หนี เป็นกิริยาสำคัญมากของนักปฏิบัติธรรมทุกคน

 

ตอนที่ 3 ไม่หนีอีกแล้ว

ในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะตัดสินใจนั่งใต้ต้นโพธิ์ แล้วบอกกับตัวเองว่าจะไม่ลุกขึ้นอีกจนกว่าจะตรัสรู้ พวกเราทุกคนคงรู้เรื่องประวัติอันนี้อยู่แล้ว เราก็แปลไปในเชิงเป็นบารมีหลายอย่างที่ท่านมี

แต่สำหรับผม นัยยะตรงนี้ท่านกำลังบอกเราทุกคนว่า ท่านจะไม่หนีอีกแล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น กิเลสอะไรก็ตามที่เข้ามาล่อลวงท่านในคืนนั้น เราคงจำเรื่องราวได้ว่ามีกิเลสหลายอย่างเข้ามาล่อลวง แต่ท่านยืนยันว่าท่านจะไม่หนีอีกแล้ว ด้วยจิตใจที่ตั้งมั่นที่จะไม่หนีอีกแล้ว ท่านจึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และนี่เป็นทางเดินของครูบาอาจารย์ทุกองค์จะต้องถึงจุดที่ไม่หนีอีกแล้ว

ในฐานะพวกเรานักปฏิบัติธรรม เมื่อเราได้เข้าใจปฏิปทาที่สำคัญของการไม่หนีอีกแล้ว เราทุกคนต้องค่อยๆ สั่งสมปฏิปทาแบบนี้ให้มันเป็นนิสัยใหม่ ให้เป็นความเคยชินใหม่ ที่เราจะไม่หนีอีกแล้ว

เพราะฉะนั้น อย่าลืมว่า เราทิ้งชีวิตทางโลกมาเพื่อปฏิบัติธรรมเพื่อจะพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อหนีความทุกข์ เราทำทุกอย่างเพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมเพราะเราต้องการความพ้นทุกข์ อย่าลืมอันนี้ เราจะพ้นทุกข์ได้ เราต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์

เขาพูดว่า “นิพพานอยู่ฟากตาย” เป็นการเปรียบเทียบให้รู้ว่ามันทุกข์มาก ต้องอดทนมาก ทุกข์ปางตายเป็นการเปรียบเทียบให้เห็น เพราะฉะนั้น ถ้าเราหนีทุกข์ปางตาย เราจะข้ามฟากไปนิพพานได้ยังไง เราอยากนิพพานแต่เราหนีมัน มันเป็นความสับสนในตัวเอง

บางคนอาจจะคิดว่า อุ้ย! ยังไม่ถึงเวลาของฉันหรอก ทุกข์อันนี้ขอข้ามไปก่อน…ไม่ไหว ใครจะรู้เหรอว่าเรายังไม่ถึงคิวนั้น เราอาจจะถึงคิวนั้นที่ทุกข์อันนี้ก็ได้ใครจะรู้ อย่าประเมินตัวเองต่ำเกินไป

เราอย่าถูกความทุกข์หรือความบีบคั้นล่อหลอกให้เราสร้าง Self ขึ้นมา สร้างตัวตนขึ้นมาด้วยการทำตามมัน หรือด้วยการจะไปจัดการมันสักอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นสู้หรือหนี  นึกออกไหม… “สู้กับหนี” มันเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกันนะ แต่ทั้ง 2 อันคือ “ตัวตน” เราตกหลุมมัน

บางคนบอกว่า ฉันสู้กิเลสได้ นั่นก็ตัวตน ไม่ใช่เก่งหรอกก็โง่อีกแบบนึงแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้น มีแค่รู้ ต้องใช้ความอดทนมากที่จะแค่รู้

 

ตอนที่ 4 ขอแค่ครั้งเดียว

อะไรก็ตามที่พันธนาการเราอยู่ไม่ว่าจะเป็น เป้าหมาย ไอเดีย อนาคต ความคาดหวัง ทิ้งมันไปให้หมด พันธนาการเหล่านั้นทำให้เราทุกข์

“อยู่กับที่นี่ เดี๋ยวนี้ อยู่กับรู้ มีแต่รู้ มีแค่รู้” อย่าโดนล่อลวง อย่าโดนหลอก เราไม่รู้อนาคตหรอก แต่สิ่งที่เรารู้อย่างหนึ่งคือ อนาคตมักไม่เป็นแบบที่เราคิดเสมอ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวล อนาคตมันไม่เคยเหมือนที่เราคิดไว้เลย

ถ้าเรามีความไม่ชอบ ไม่พอใจ มีความทุกข์ เราไม่ใช่คิดว่าเราจะหนีมันยังไง สิ่งที่เราต้องคิดก็คือว่า เราจะเห็นมันยังไง ทำไมเรายังเห็นมันไม่ได้ ทำไมเรายังเป็นทุกข์อยู่ ถามตัวเองจะเห็นมันยังไง ทางออกคือทางเข้า ชีวิตเราไม่เคยทุกข์เท่านี้มาก่อน ใช้ให้เป็นประโยชน์ซะเดี๋ยวนี้เลย

ผมขอแค่ครั้งเดียว…ขอแค่ครั้งเดียวที่จะเห็นความไม่พอใจ ความทุกข์ ความบีบคั้นทั้งหลาย ขอแค่ครั้งเดียว เห็นให้ได้ “ทิ้งเหตุทิ้งผล ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไปก่อน…เห็นมัน” มันจะนานแค่ไหนก็จะเห็นมัน ดูสิเป็นยังไง

ถ้าถึงจังหวะที่เราเห็นมันได้จริงๆ เราจะหลุดออกจากความทุกข์นั้นทันที…ทันทีเลย ปลิดทิ้งไม่ค้างคา เหมือนสมัยที่เราเคยโกรธคนอื่น เวลาผ่านไป ค่อยๆ จางไปหายไป ค่อยๆ หายไป เอ้อ! ไม่เป็นไรแล้ว แต่จริงๆ ก็ยังเหลือนิดๆ แต่ถ้าเราเห็นความทุกข์เป็น เห็นจริงๆ จะปลิดทิ้ง

ขอให้มีประสบการณ์สักครั้งหนึ่ง “อดทน” เราจะเข้าใจการปฏิบัติธรรมจริงๆ เราฝึกมาทั้งหมดทั้งชีวิตของเราก็เพื่อจะเห็นให้เป็นแบบนี้ อุตส่าห์ฝึกมาทั้งชีวิต เพราะฉะนั้น “อย่าหนี” เราจะใช้สรรพกำลังทั้งหมดที่เราฝึกมาเพื่อจะเห็นตามความเป็นจริงให้ได้

 

21-08-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/dCi6NLswe-8

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S