129.หลุดพ้น…อิสระ

ตอนที่ 1 หลุดพ้น อิสระ

มีคนมาถามผมว่า เขาอยากจะออกมาใช้ชีวิตปฏิบัติธรรม แต่ก็กลัว…กลัวเบื่อ เนี่ยความเบื่อมันน่ากลัวมาก เขามีเงิน มีใจพร้อมอยากจะออกมาปฏิบัติธรรม แต่มีความกลัว…กลัวเบื่อ กลัวเบื่อก็เรียกว่ากลัวทุกข์ กลัวเงินไม่พอเดี๋ยวป่วย ชีวิตที่มีแต่ความกลัวนี่เป็นทุกข์มาก แต่เราไม่รู้ เขาก็มาขอกำลังใจ จะได้มีกำลังใจที่จะออกมาปฏิบัติธรรม ผมก็ยังไม่ได้ตอบอะไร แต่ถ้าจะตอบตอนนี้ก็คือ กำลังใจที่สำคัญที่สุดก็คือความทุกข์ ถ้ายังมีความทุกข์ไม่พอก็ไม่มีความดิ้นรนจะพ้นทุกข์หรอก ต่อให้พูดยังไง อธิบายยังไง ให้กำลังใจกันขนาดไหน มันก็ทำใจไม่ได้หรอก

ความกลัว” มันมีอำนาจกับชีวิตของเราตั้งแต่เกิด มันพาเราเกิดตายก็เพราะความกลัวนี่แหละ เราอยู่ภายใต้มัน

เหมือนเราทำธุรกิจ เรามีเป้าหมาย เมื่อมีอุปสรรคเราต้องข้ามผ่านมันไปให้ได้ เราปฏิบัติธรรมเพื่อจะพ้นทุกข์ ต้องมีชีวิตที่เหมาะสม แต่มีอุปสรรคคือ “ความกลัว” ต้องข้ามผ่านมันไปให้ได้ ถ้าปล่อยให้อุปสรรคมาเบรกเราเอาไว้ เราก็ไปไหนไม่ได้ เหมือนแม่ชีที่บวชชั่วคราวก็จะมีเงื่อนไขในชีวิตด้านอื่นทางโลกเบรคเราไว้

วันหนึ่งถ้าเราเข้าใจ “ความหลุดพ้น ความเป็นอิสระ” เราจะเข้าใจว่า “โลกนี้ไม่มีความหมายอะไรเลย” อะไรที่เราคิดว่าสำคัญในชีวิต ไม่มีคุณค่าอะไรเลย สิ่งเดียวที่เหลืออยู่ คือ “ความอิสระ

คำพูดมันฟังแล้วก็ตื้นๆ ฟังมาเยอะแล้วคำว่า อิสระ มันรอวันที่เราได้สัมผัสเอง

ธรรมะนี้มันลึกซึ้งมาก เราแต่ละคนปฏิบัติธรรมก็น่าจะมีสภาวะอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตเราบ้าง เราจะสังเกตได้ว่า พอเอามาเล่ามาพูดเนี่ยมันจะจืดมันไม่ลึกซึ้งเหมือนที่เราได้พบได้เห็น ธรรมะมันเป็นแบบนั้น พอเอามาพูดเป็นคำพูดมันก็งั้นๆ ฟังแล้วก็ผ่านๆ เฉยๆ เพราะมันอธิบายไม่ได้ แต่กว่าจะถึงความอิสระได้ เราอาศัยความทุกข์เยอะ

ผมเคยพูดถึงสภาวะที่ทุกข์แบบหลังชนฝา ไม่มีทางออก ไม่มีทางหนี จนปัญญา ความรู้สึกทุกข์ในแบบที่คนในโลกพร้อมจะฆ่าตัวตายได้ คนเราฆ่าตัวตายเพราะไม่มีทางออก รู้สึกหมดทางแล้ว ตายดีกว่า ที่จะได้พ้นทุกข์ แต่นักปฏิบัติธรรมเราไม่ได้ฆ่าตัวตาย เราอดทนที่จะเห็นว่า “ตอนนี้เป็นแบบนี้” เราอดทนที่จะเห็นเฉยๆ ไม่แก้ไข ไม่จัดการ ไม่แทรกแซงอะไรทั้งนั้น เราไม่ฆ่าตัวตาย แล้วทางออกจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เราออก จิตนี้จะหาทางออกจากความทุกข์ด้วยตัวมันเอง ภาษาธรรมะเรียกว่า “หลุดพ้น” จิตนี้จะหลุดพ้นด้วยตัวมันเอง ไม่เกี่ยวกับเรา

เราจะเข้าใจว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงใช้คำว่าหลุดพ้น ทำไมถึงใช้คำว่าอิสระ ทำไมถึงบอกว่าไม่มีอะไรมาปรุงแต่งจิตนี้ได้อีกต่อไป เราจะเห็นว่ามันเป็นแบบนั้น เราจะเข้าใจว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “พ้นทุกข์ ไม่ใช่ได้ความสุข” มันพ้นจากเครื่องร้อยรัดพันธนาการทั้งหลายทั้งสิ้น พ้นจากความยึดมั่นถือมั่น หลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านจึงเรียกว่า “พ้นทุกข์

จิตนี้เหมือนมีอะไรเกาะติดอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่เคยรู้ เรารู้ไม่ได้จนกว่ามันจะหลุดออก เราถึงรู้ว่าเมื่อกี้ติด เพราะมันติดอยู่อย่างแนบเนียน เหมือนลักษณะผิวหนังเรามีน้ำมัน เราไม่รู้หรอก พอเอาสบู่ถู เราถึงได้รู้ว่า อ๋อ เมื่อกี้มีความมัน มันมีความแตกต่าง

เราปฏิบัติธรรมเพื่อวันนึงเราจะทำลายอวิชาได้ ทำลายความเห็นผิดได้ อันนี้เป็นภาษา จริงๆ ไม่ได้ทำลายอะไรเลย คำที่ตรงที่สุดคือ “มันแค่หลุดพ้น

จิตใจที่เรียนรู้ความจริงไปเรื่อยๆ มันเรียนรู้ความจริงไปเรื่อยๆ เหมือนมันได้กินอาหาร มันเติบโตขึ้น มันกว้างขวางขึ้น แล้วมันก็ “สลัดตัว” มันออกมาจากสิ่งต่างๆ ที่ปกคลุมมันเอาไว้อยู่ มันเป็นเหมือนการเติบโตของจิตวิญญาณ จนมันแหวกสิ่งต่างๆ ที่ปกคลุมมันเอาไว้ ออกไปสู่ “ความอิสระ” แค่นั้น

เราจะพบว่าสิ่งต่างๆ ที่จิตนี้เคยเข้าไปเกี่ยวพันให้คุณค่าให้ความหมาย มีผลมีอิทธิพล สร้างทุกข์สร้างสุขให้กับเรา กลับกลายเป็นไม่มีความหมายอะไรเลย สิ่งที่เป็นสาระสิ่งเดียวคือ “ลักษณะของจิตที่เป็นอิสระ” จะทำได้ไหม…ทำไม่ได้ เพราะมันทำเอง เราปฏิบัติแทบตาย เราใช้คำว่า “เรา” ปฏิบัติแทบตาย แต่คนหลุดพ้นกับไม่ใช่เรา “เป็นจิต” ฟังแล้วมันตลก แต่มันก็เป็นอย่างนั้น แต่แม้ว่ามันจะเป็นแบบนี้ มันก็เนื่องมาด้วยเรา

ชีวิตเราหลังจากนั้นก็จะเป็นชีวิตที่อิสระ ไม่ใช่อิสระจะไปทำอะไรก็ได้ เป็นอิสระที่จะไม่ทำอะไรตามความบีบคั้นอีกแล้ว เพราะไม่มีอะไรบีบคั้นอีกแล้ว

 

ตอนที่ 2 บรมสุข

ชีวิตการปฏิบัติธรรมมีแต่ทุกข์ เห็นแต่ทุกข์ กายกับจิตนี้แสดงแต่ทุกข์ แต่จำเป็น เพราะเราอาศัยทุกข์เพื่อจะพ้นทุกข์ ชีวิตการปฏิบัติธรรมที่มีทุกข์เป็นเหมือนรางวัล เป็นเหมือนของขวัญ ถ้าไม่มีทุกข์จิตจะหลุดพ้นจากอะไร…มันต้องทุกข์ ถ้าเราปฏิบัติธรรมแล้วทุกข์ถือว่าเราโชคดี

เราไม่ใช่ต้องวิ่งหาความทุกข์ เราเห็นกายและจิตนี้เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ยังไง มันแสดงความเปลี่ยนแปลง บีบคั้น ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ เราอาศัยร่างกายที่ทุกข์ๆ นี่แหละ เห็นว่าบังคับมันไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ อยากจะรักษาให้มันดีก็ไม่ได้ มันไม่หาย ทุกข์เข้าไป แต่ทุกข์แบบนักปฏิบัติธรรมคือ “รู้จักปฏิบัติต่อทุกข์อย่างถูกต้อง คือ แค่รู้” ไม่ใช่ไปฆ่าตัวตาย

จะทุกข์แสนสาหัสแค่ไหน “ให้อดทน” อดทนอยู่กับมันให้ได้ แต่ธรรมชาติของเราทุกคนจะหนี จะหาทางแก้ ไม่มีใครหรอกอดทนได้ 100% ตามทฤษฎีที่ผมพูด ไม่แปลกอะไร ปกติ แต่จะถึงวันนึงที่เราจะเหมือนหมาจนตรอก หลังชนฝา จนปัญญา มันหมดแรงดิ้นแล้ว แปลว่า “เป็นกลาง” และนั่นคือ “ประตูสู่ความหลุดพ้น

อย่าลืมว่าเราต้องผ่านอุโมงค์มืดนี้ไปก่อน แล้วเราจะพบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ มันคุ้มเกินคุ้ม มันไม่ใช่ความสุข พระพุทธเจ้าไม่เรียกว่ามันเป็นความสุข พระพุทธเจ้าเรียกว่า “เป็นบรมสุข

วันที่เรารู้จักสภาพจิตใจที่ปกติ เราก็ว้าวแล้ว อ๋อ จิตใจที่ไม่ดิ้นรน ไม่บีบคั้น เป็นแบบนี้ มีความสุขแล้ว แต่มันยังไม่อิสระ มันยังมีอาสวะกิเลสปกคลุมเหนียวเนื้อตัว แต่เราไม่รู้ มันบางๆ เพราะฉะนั้น บรมสุขจึงเป็นสิ่งที่อธิบายยาก มันเหมือนจิตใจที่เคยสกปรกมอมแมมมีอะไรไม่รู้เต็มไปหมดเล็กๆ น้อยๆ แล้ววันนึงไม่มี

เราเคยอยากได้ความสุขเล็กๆ น้อยๆ มั้ย อยากกินนี่ไปกินหน่อย อยากคุยกับคนนี้ไปคุยหน่อย เราคิดว่า ชีวิตนี่ดีเนาะ มีเพื่อนดี มีเงินไปหาอาหารดีๆ ที่เราชอบกินได้ ไม่ใช่กิเลสนักหนาหนิ นิดหน่อย…ธรรมชาติ แถมเป็นชีวิตที่มีความสุขด้วย ชีวิตเราดีจะตาย แต่เมื่อความรู้สึกแบบนั้นมันหมดไป “สิ่งที่เคยมี…ไม่มี” สิ่งที่เคยมีคือ “ความบีบคั้น” อยากได้รับความสุขจากคนจากสิ่งของจากอาหารเครื่องดื่ม คำพูดอะไรต่างๆ นานา ความอยากได้ความสุขแบบนั้นไม่มีแล้ว…ฟังดูแล้ว…มันเป็นความสุขหรออันนี้ เหมือนชีวิตจะจืดชืดมากเลย หลวงพ่อเทียนก็ใช้คำว่า “จืด” นั่นแหละ มันจืดไปหมด แต่แปลก…ความจืดที่ไม่มีอะไรบีบคั้น แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ถูกเรียกว่า “บรมสุข” ถ้าจะให้อธิบายว่าเป็นบรมสุขได้ยังไง เพราะมันเป็นความอิสระ “อิสระจากทุกสิ่งทุกอย่าง

เราฟังๆ แล้วก็ถือเป็นบันเทิงธรรม ไม่ต้องไปคิดจินตนาการจะเป็นยังไง คิดเอาไม่ได้ หมดสิทธิ์คิด เล่าให้เป็นกำลังใจว่าความอิสระหลุดพ้นแบบที่พระพุทธเจ้าบอกนั้นมันมีอยู่ มันรอวันที่เราจะไปค้นพบมัน มันรอวันที่เราจะได้รู้จักมัน ด้วยการปฏิบัติแบบที่ผมสอนทุกคนนี่แหละ “รู้อย่างที่มันเป็น เห็นตามความเป็นจริง” อะไรก็ได้

 

ตอนที่3 แค่รู้ ไม่เลือก

เรานั่งอยู่ตอนนี้ มีความคิดจะเอาอะไรไหม จะเอารู้ไหม ไม่เอาหลงไหม มีอะไรดีกว่าอะไรไหม สภาวะตอนนี้ไม่ดี…จะแก้ไขไหม ถ้าการปฏิบัติของเรามีเพียง “แค่รู้อย่างที่มัน เป็นเห็นตามความเป็นจริง” นั่นเรากำลังอยู่ในทางที่สั้นที่สุดแล้ว

ถ้าเราคิดว่าต้องเป็นอย่างนี้จะดีกว่าอย่างนั้น นั่นคือ “เรา” เราคิดว่ามีเราจริงๆ เราถึงเลือก เราเป็นแค่อะไร… “ธรรมธาตุ ธาตุรู้” ธาตุรู้ชื่อมันบอกอยู่แล้วว่า “มันแค่รู้ มันไม่เลือก” มันหลงไปก็รู้ นี่คือหน้าที่ของธาตุรู้ มันหลงไปก็รู้ มันรู้อยู่ก็รู้ เท่ากัน

จิตมันสบายก็รู้ จิตมันอึดอัดก็รู้ ไม่มีอะไรดีกว่าอะไรเลย ถ้าเรายังคิดว่าสบายดีกว่าอึดอัดนี่ลำบากแล้ว

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเป็นการแค่ใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง ผมไม่อยากใช้คำว่าปฏิบัติเลย พอใช้คำว่าปฏิบัติแล้วมันคิดว่าต้องทำอะไรที่มันดีๆ ผมอยากให้ใช้แค่ว่า “เป็นการใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง” ถูกต้องเป็นยังไง…คือ “อะไรกำลังเกิดขึ้นก็รู้อยู่” แค่นั้น แค่นั้นจริงๆ

ชีวิตการปฏิบัติธรรมของผมก็ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้นเลย เพราะจริงๆ ผมทำไม่เป็นสักอย่าง ให้แค่รู้นี่ผมทำได้ ทำยากกว่านั้นทำไม่ได้ ทำไม่เป็น

คุณสมบัติที่สำคัญคือ “ไม่ทำหน้าที่เกินจากรู้” แล้วก็ “อดทน” อดทนที่จะไม่แก้ไข แทรกแซง จัดการ ตามความอยากของเรา

เราหลายคนฝึกแบบนี้รู้สึกว่าไม่ก้าวหน้า ไม่มีอะไรเลย กี่ปีๆ ก็รู้สึกเหมือนเดิม ยังโกรธเหมือนเดิม ยังทุกข์เหมือนเดิม มันเหมือนเราเติบโต…จิตใจ จิตวิญญาณนี้มันจะเติบโต จนแหวกสิ่งห่อหุ้มทั้งหลาย สลัดคืนความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลาย จนเป็นอิสระ

เหมือนตอนผมเรียนภาษาจีน ครั้งแรกที่ผมไปเรียน รู้สึก โอ้โห…พูดได้ก้าวหน้ามากเลย จากนั้นไปเรียนอีกครั้งนึงเป็นเวลา 1 ปี เรียนจนท้อ รู้สึกไม่ก้าวหน้า มาเรียนทำไม เสียเวลา อยากกลับบ้าน แต่พอเราได้พูดคุยการค้ากับคนจีนที่เราต้องไป ปรากฏว่าเขาฟังได้รู้เรื่องมาก พูดได้ปร๋อแบบที่เราไม่คิดมาก่อนว่าเราจะพูดได้ เนี่ย! เราไม่รู้หรอกว่าจริงๆ มันกำลังเจริญอยู่ มันกำลังเติบโตอยู่ เพียงแต่ว่ามันทีละนิด ทีละนิด ทีละนิด โดยที่เราจับไม่ได้ จนถึงวันหนึ่งวันที่เราต้องออกรบ ไปคุยกับคนจีนแล้วถึงรู้ว่านี่ก็ดีขึ้นเยอะเลย

เพราะฉะนั้น อดทน “อดทนที่จะทำหน้าที่ง่ายๆ แค่นี้แหละ” อย่าเลิก อย่าเลิกการใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง แล้ววันนึงเราจะได้รู้จักความอิสระที่แท้จริง

ความสงบในศาสนาพุทธไม่ใช่ความสงบของพราหมณ์ ความสงบของศาสนาพุทธคือ “ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”

จิตเป็นยังไง…รู้อยู่ กำลังรู้อยู่ นี่เรียก “ความสงบ

จิตหลงไปคิด…รู้ขึ้นมา ไม่เข้าไปเป็นกับมัน นี่เรียก “ความสงบ

จิตกลับมารู้สึกตัว…รู้อยู่ ว่าความรู้สึกตัวเกิดขึ้นแล้ว นี่เรียกว่า “ความสงบ

 

04-08-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/oHY99wlci5k

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S