127.เหมือนไม่เคยรู้จักมาก่อน

ตอนที่ 1 เหมือนไม่เคยรู้จักมาก่อน

เรื่องราวทั้งหลายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา ฟังจบแล้วก็ทิ้งไป ผ่านไปแล้ว ตอนนี้เหลือแค่รู้สึก มีร่างกายอยู่ก็รู้สึก “ชีวิตที่แท้จริงเหลือแค่รู้สึก” เราใช้สมมติเสร็จแล้วก็ทิ้งสมมติไป เหลือแค่รู้สึก ไม่มีคน ไม่มีใครทั้งนั้น

ชีวิตที่เกี่ยวข้อง พัวพัน ระลึกถึง คน เรื่องราวอะไรต่างๆ นานา เป็นชีวิตที่เป็นทุกข์ แต่ชีวิตที่เหลือแค่รู้สึก เป็นชีวิตที่พ้นทุกข์ ชีวิตที่มีทุกข์เป็นชีวิตของคน เพราะฉะนั้น เราใช้ชีวิตที่พ้นทุกข์ด้วยกิริยาแค่รู้สึก

ผมบอกว่าแค่รู้สึก ผมไม่ได้พูดมากกว่านั้น “อย่ามีเงื่อนไข” กับการรู้สึก “อย่าคาดหวัง” ว่าจะเห็นอะไร “ทิ้งทฤษฎี” ทั้งหมดไป มีบางอย่างเกิดขึ้นก็แค่รู้ ทิ้งความรู้ไปว่ามันจะต้องดับหรือมันจะต้องเปลี่ยนแปลง จะต้องเห็นมัน ทิ้งความรู้เหล่านี้ไปให้หมด

เมื่อไหร่ที่เราคิดถึงอะไรขึ้นมาเป็นคำพูดได้ในขณะนั้นเป้าหมายกำลังเกิดขึ้น คนกำลังเกิดขึ้น ความอยากความต้องการจะเห็นอะไรๆ ที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่ามันดีว่ามันถูกกำลังเกิดขึ้น…รู้ทัน

การปฏิบัติธรรมทั้งหมดแท้จริงแล้วลงมาเหลือ “แค่รู้” ตอนนี้เป็นยังไงก็รู้ เป็นกล้องวงจรปิด ไม่มีความคาดหวังอะไรเลย “หมดหวัง หมดตัวหมดตน หมดทุกข์”

เพราะฉะนั้น วันนี้ขอให้เราทิ้งความรู้ทุกอย่างไป ทิ้งถูกทิ้งผิดไป ทิ้งทุกเป้าหมาย “เหลือแค่รู้สึก” แค่รู้สึก ไม่มีใครได้อะไร ไม่มีใครได้ความรู้อะไร ไม่มีใครต้องได้ความจริงอะไร

เราฟังความรู้ เช่น สภาวะเกิดขึ้นจะต้องดับไป สภาวะอะไรเกิดขึ้นจะต้องเปลี่ยนแปลงไป แล้วเราก็ตั้งหน้าตั้งตาอยากจะเห็นแบบนั้น นี่คือ “ความผิดพลาด” เคยไหมความโกรธเกิดขึ้นเดี๋ยวจะดูมัน…จะได้เห็นมันเปลี่ยนแปลง จะได้เห็นมันดับไป จะได้เจริญวิปัสสนา ทั้งหมดกำลังบอกตัวเองว่า “ฉันจะได้ปฏิบัติธรรม” มีแต่ “เรา” ตลอดทาง

ชีวิตนี้ประกอบด้วยกายและจิต เราดูชีวิตนี้เหมือนเราไม่เคยรู้จักมันมาก่อนเลย แต่ทุกวันนี้ความรู้ทางธรรมมันเยอะ…เรามีเป้า เพราะฉะนั้น ดูชีวิตนี้เหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เราไม่เคยรู้จักมันมาก่อน ให้มันแสดง เราแค่ดู เหมือนเราไปดูสัตว์ในป่า สัตว์แปลกๆ ที่เราไม่เคยรู้จักมันมาก่อน เราจะไม่มีไอเดีย ว่าเราจะเห็นมันเป็นยังไง เราจะคิดไม่ออกเลย เพราะไม่มีใครสอนเรามาก่อน ดูชีวิตตัวเองดูแบบนั้น แล้วเราจะได้เห็นสัตว์ตัวนั้นหรือชีวิตอันนี้ตามความเป็นจริง

เรามีคำสอนว่าต้องรู้สึกตัว เราเลยมีเป้าหมายว่าเราต้องรู้สึกตัว พอเรานึกขึ้นได้ว่าต้องรู้สึกตัว เราก็จะ “พยายามจะรู้สึกตัว” ต่อ ความผิดพลาดก็เกิดขึ้น “เรา” เกิดขึ้นแล้วทันที เพราะเราจะเอาความรู้สึกตัว เพราะเราว่านี่ดี ฉะนั้น“ทิ้งของดีไปซ เหลือแต่ความจริง ตอนนี้เป็นยังไง? ตอนนี้รู้สึกตัวขึ้นมา ตอนนี้หลงไปคิด ตอนนี้รู้ทันขึ้นมา ตอนนี้หลงไปคิด ตอนนี้รู้ทันขึ้นมา ตอนนี้หลงไปดู ตอนนี้รู้ทันขึ้นมา นี่คือความจริง ไม่ใช่เอาสิ่งที่ดี อะไรจะดีแค่ไหน ถ้าเอาไว้ต้องทุกข์

ไม่มีใครสอนเจ้าชายสิทธัตถะว่าชีวิตนี้เป็นยังไง ท่านไม่มีอะไรในหัวที่จะคาดเดาล่วงหน้าได้ ท่านเฝ้าดู ท่านเฝ้าดูชีวิตนี้โดยไม่มีข้อสรุปอะไรเลยก่อนหน้านั้น พวกเราก็ปฏิบัติแบบนั้น

เมื่อเราแค่รู้สึกไปเรื่อยๆ จนจิตใจนี้สรุปความจริงขึ้นมา ความรู้ทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าสรุปไว้ ครูบาอาจารย์สอนไว้ มันค่อยเป็นสิ่งที่เทียบเคียงเฉยๆ ว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นตรงตามที่พระพุทธเจ้าบอกเอาไว้

 

ตอนที่ 2 “เรา”

เวลาปฏิบัติธรรมผมบอกว่า “เหลือแค่รู้สึก แค่รู้ทันอะไรกำลังจะเกิดขึ้น” ปราศจากข้อสรุปใดๆ ก่อนหน้านั้น ไม่มีเราเป็นนักปฏิบัติธรรม ไม่มีเราต้องการปฏิบัติธรรม “เป็นเพียงหน้าที่ของชีวิต” เหมือนมีหน้าที่หายใจ ไม่ต้องคาดหวังว่าเซลล์จะได้ออกซิเจนเท่าไหร่ เม็ดเลือดแดงจะได้ออกซิเจนกี่เปอร์เซ็นต์  ออกซิเจนจะไปทั่วร่างกายไหม เราไม่เคยคาดหวังแบบนั้น เราแค่หายใจ เราหายใจทั้งชีวิตจนเรารู้ได้ว่ามีความจริงอันหนึ่งว่าถ้าเราไม่หายใจเราจะตาย ความจริงจะแสดงออกมาให้เรารู้เอง ขอแค่ทำหน้าที่หายใจไป

เพราะฉะนั้น เราปฏิบัติธรรม แต่ไม่ต้องเป็นนักปฏิบัติธรรม ไม่ต้องเป็นอะไรทั้งนั้น เป็นชีวิตที่ได้ทำหน้าที่ที่ถูกต้อง “แค่รู้สึกและรู้ทัน” พ้นทุกข์ตอนนี้เลย

ปัญหาของนักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก เช่น เราฟังว่ารู้สึกตัวนี้มันดี เรานึกขึ้นได้ปุ๊บ รู้สึกตัวปุ๊บ เราจะต่อเลย จำอันนี้ไว้ “เรา” นี่แหละจะรู้สึกตัว เข้าใจว่าความรู้สึกตัวเป็นความจริงแต่จิตที่หลงไม่ใช่ความจริงหรอ เป็นความจริงทั้งคู่ ธรรมชาติจิตเป็นแบบนั้นเดี๋ยวรู้เดี๋ยวหลง แต่เราจะเอาอย่างเดียว นี่คือ “ความอยาก นี่คือ “ตัณหา” จึงเกิดการประคองควบคุม เพื่อจะเอาแต่ของดีๆ ทั้งหมดนั่นคือ “เรา

จริงๆ แล้วปฏิบัติธรรม มันไม่มีหรอกว่าดีหรือไม่ดี ปฏิบัติเข้าไปจริงๆ จะรู้ว่า “มันมีแค่รู้ หรือไม่รู้” เพราะชีวิตเราเหลือแค่รู้สึก

ทันทีที่จิตไปพัวพันกับคนกับบางสิ่งกับเรื่องราวจะเกิดทุกข์ ดีหรือไม่ดีไหม? เรามีหน้าที่แค่รู้ว่า ถ้าจิตเป็นแบบนี้เกิดคนเกิดทุกข์ แล้วถ้าเกิดคนเกิดทุกข์เอาไหม? ไม่เอา ก็ต้องกลับมาอยู่โหมดอะไร? “แค่รู้สึก” เราไม่ต้องไปจัดการที่จะหยุดความคิดหรือไปคิดเรื่องนั้นให้มันจบสิ้น…ภาษาชาวบ้านเรียกว่า คิดให้มันแตกหักเลย จะได้จบๆ ไป จะได้ไม่ต้องคิดแล้ว อันนี้คือกับดัก เพราะมันไม่มีวันจบ จะยิ่งทำให้ “จิตอ่อน” ไปเรื่อยๆ จนออกจากความคิดไม่ได้

อันนี้คือผมบอกไว้ก่อน แต่พวกเราลองดูเอง คิดให้แตกหัก ดูซิว่ามันจบจริงไหม จะได้มีประสบการณ์ทุกข์ด้วยตัวเอง จะได้รู้จักคำว่าจิตมันอ่อนเป็นยังไง มีประสบการณ์ผิดด้วยตัวเอง มีประสบการณ์ทุกข์ด้วยตัวเอง แล้วมันจะเป็นบทเรียน ไม่ใช่ไม่ดี ผมบอกแล้วว่าสำหรับผมดีทั้งนั้น มันจะเป็นบทเรียน มันคุ้มค่า ให้เราเห็นคุณค่าของคำว่าแค่รู้สึก ว่ามันมีประโยชน์ มีคุณูปการกับชีวิตเราขนาดไหน

หลวงพ่อเทียนเคยพูดกับท่านเขมานันทะว่า “คนพวกนี้มาทำอะไรกัน” ซึ่งคนพวกนั้นก็กำลังมานั่งขยับมือตามที่หลวงพ่อสอนนั่นแหละ ที่หลวงพ่อถามแบบนี้ตามความเข้าใจผม พวกเขามาปฏิบัติธรรมเพราะหวังจะได้อะไรบางอย่าง เขาเริ่มด้วยความเป็นตัวเรา ทำไปทั้งหมดก็เพื่อตัวเรา เขาไม่รู้จักว่าชีวิตมีแค่หน้าที่แบบนี้ มาทำหน้าที่เฉยๆ ไม่ใช่มาเป็นนักปฏิบัติ มาทำหน้าที่

 

ตอนที่ 3 เห็นตามเป็นจริง ไม่ใช่เห็นตามทฤษฎี

พระพุทธเจ้าสร้างศาสนาขึ้นมา ท่านออกแบบชีวิตให้กับพระภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่อยู่ภายในศาสนาพุทธนี้ ท่านดีไซน์ไว้ให้หมดแล้ว เพราะฉะนั้น ชีวิตที่เหลือก็คือ “ทำหน้าที่” ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องออกแบบชีวิตตัวเองว่าจะต้องเป็นยังไง เหลือแค่ใช้ชีวิต ตามหน้าที่ ทุกวันเหมือนกัน เห็นไหมพระไม่มีวันหยุดให้แบ่งแยกชีวิตว่าวันนี้จะไปพักผ่อน ไปเที่ยว

เหลือแค่ทำหน้าที่ ใช้ชีวิต ดูจิตดูใจ มันเป็นยังไงก็รู้ มันเกิดขึ้นก็รู้ สภาวะใดๆ เกิดขึ้นก็รู้ มันยังอยู่ก็รู้ มันไม่ดับไปก็รู้ มันดับไปแล้วก็รู้ ไม่มีเงื่อนไขอะไรทั้งนั้นว่าต้องดูปุ๊บต้องดับปั๊บ…ไม่ต้อง มันไม่ดับก็ไม่ดับ

เราต้องการเห็นตามความเป็นจริง ไม่ใช่เห็นตามทฤษฎี ถ้าความเป็นจริงตรงหน้าเป็นแบบนี้ก็รู้เป็นแบบนี้ จิตมีคุณภาพเท่านี้เห็นได้แบบนี้ก็เป็นแบบนี้ พอฝึกไปฝึกไปสมาธิมากขึ้นก็จะเห็นได้ละเอียดขึ้นเห็นได้ลึกซึ้งขึ้น…เห็นความจริงตรงนี้ก็เป็นแบบนี้ แม้ว่ามันจะไม่เหมือนเดิม แต่มันเท่ากันตรงมันเป็นความจริงในขณะนั้นๆ ตามเหตุตามปัจจัยที่จะเห็นได้…ตรงนี้ละเอียดนะ

แต่เพราะเรามีทฤษฎีเยอะ พอมันไม่เป๊ะอย่างที่เราฟังมาเนี่ยเราว่ามันไม่ถูก ทิ้งไปซะ เหมือนเราเห็นตามความเป็นจริงเห็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ จนวันนึงเกิดมรรคเกิดผลขึ้นมา ได้เห็นตามความเป็นจริงแบบขั้นสูงสุด ถามว่าที่เราเคยเห็นตามความเป็นจริงก่อนหน้านั้นผิดไหม? ไม่ได้ผิดอะไร ก็เห็นได้แค่นั้นตอนนั้น

หัวใจคืออะไร? “เห็นตามความเป็นจริงไปเรื่อยๆ” ไม่ต้องสรุปอะไรทั้งนั้น พวกทฤษฎีเยอะคิดมาก…ลำบาก ค่อยๆ ฝึกไป ไม่ต้องเอาถูกเอาผิด ถ้ายังรู้ปัจจุบันธรรมอยู่ ไม่ได้หลงในโลกความคิดปรุงแต่งทั้งวี่ทั้งวัน ไม่ต้องเดือดร้อนอะไรทั้งนั้น

เราต้องการความก้าวหน้า ความเดือดร้อนมันถึงมาหา มันก็คือความอยากนั่นแหละ สารพัดอยากไม่อยาก เต็มไปหมด แค่รู้ปัจจุบันไปเรื่อยๆ ไม่มีความอยากอะไรเลย มันเลยไม่มีทุกข์ ไม่มีเรา เพราะไม่มีอยาก

 

ตอนที่ 4 ไร้แก่นสาร ไร้สาระ

คนขี้โมโหทั้งหลาย ขี้หงุดหงิดทั้งหลาย ขี้โกรธทั้งหลาย เมื่ออารมณ์แบบนั้นเกิดขึ้นในใจ ให้ “ทิ้ง” เหตุทิ้งผล ทิ้งเรื่องราว ทิ้งถูกทิ้งผิด ทิ้งไอ้คนที่ทำให้เราโกรธซะ แล้ว “เห็นอาการ” ในจิตใจที่กำลังแสดงอยู่ ดูมันก่อน เอาเรื่องทีหลัง จะโกรธทั้งที ให้เห็นความจริงซะหน่อยจะได้ไม่ขาดทุน ทิ้งความเป็นคนไปก่อน เห็นอาการเข้าไปตรงๆ

พอเราได้เห็นความจริงของอาการนั้นๆ มันเปลี่ยนแปลง มันดับไป เราจะเลิกเอาเรื่องไอ้คนนั้น ทำไม?เพราะความสุขจากการมีปัญญามันเกิดขึ้นแทนที่

เพราะฉะนั้น เราใช้ชีวิตแค่รู้สึก และเมื่อมีอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นในใจ ทำอย่างที่ผมบอก “ทิ้งเหตุทิ้งผล ทิ้งเรื่องราว ทิ้งไอ้คนๆนั้นไปก่อน” “เข้มแข็ง เห็นอาการอารมณ์ต่างๆ ในใจก่อน” เห็นจนมันแสดงความจริงก่อน รับรองว่าการปฏิบัติของทุกคนจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ปัญญาอันนึงที่กำลังเกิดขึ้นตอนเราเห็นอารมณ์แบบนั้น กำลังเปลี่ยนแปลง หรือดับไป เพราะเราจะเกิดความเข้าใจอันนึงว่า “อารมณ์ใดๆ นั้นมันช่างไร้แก่นสารเหลือเกิน” พอเราเห็นอะไรมันไร้แก่นสาร มันก็เหมือนเป็นอะไรที่มันไร้สาระ เหมือนเราเห็นคนบ้ากำลังทำอะไรเราก็ไม่โกรธมันหรอก เพราะเรารู้ว่ามันบ้า

อารมณ์ต่างๆ พอเราได้เห็นว่า “มันไร้แก่นสาร ไร้สาระ” เราก็ไม่เอาเรื่องเอาราว เอามาโกรธจริงๆ แต่เพราะเราไม่เห็นความจริงว่ามันไร้แก่นสาร อารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น มันเลยเป็นเหมือนของดี ของจริงที่เราต้องเชื่อแบบนั้น เพราะฉะนั้น เราจะล้างความเห็นผิดได้ ก็ด้วย “การเห็นตามความเป็นจริง

บางทีเราเผลอไปคิด แล้วก็…อุ้ย! ต้องรู้สึกตัว แล้วมันก็จะแน่นขึ้นมา เนี่ย! จิตมันทำอัตโนมัติ แล้วจะทำยังไง? เราก็แค่ “รู้ทัน” เพราะมันแน่นแล้ว ไม่ต้องทำอะไร ก็แค่รู้สึกต่อไป แล้วเดี๋ยวก็หลงอีก หรือบางคนก็อาจจะแน่นอีกเพราะพอรู้สึกขึ้นมาปุ๊บมันก็อยากจะรู้สึกตัวอีก ปฏิบัติไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันชินเองว่า เออ…มันห้ามไม่ได้อ่ะ มันเรียนรู้เอง มันก็เลิกบ้าแล้ว เออ! หลงก็ได้แล้วก็รู้ หลงก็ได้แล้วก็รู้ ไม่มีเอาผิดเอาถูกอะไรทั้งนั้น

บางคนมีสภาวะที่เราไม่แน่ใจว่า เอ..เราผิดรึเปล่า แล้วเราก็เก็บไว้ดูก่อน พอเวลาผ่านไปสภาวะที่เราจะเก็บไว้ดูก่อนนั้น มันก็จบ มันก็หมด มันอยู่ไม่นาน ไม่มีแก่นสารเหมือนกัน แต่ตอนที่เราร้อนใจ…ผิดหรือถูก ผิดหรือถูก จะไปถามครูบาอาจารย์…ที่พวกเราถามกันเยอะๆ เนี่ยคือมันเอาผิดเอาถูกตลอดเวลา

ค่อยๆ เรียนรู้ไป จะรู้ว่าอะไรๆ ในโลกนี้ก็ไร้แก่นสารทั้งนั้น มันไร้แก่นสารเพราะว่ามันไม่มีความเป็นตัวเป็นตนอะไรเลย ทุกสิ่งล้วนน่าเบื่อ เพราะมันไร้แก่นสาร

 

28-07-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/xo1wxWTLJ6Y

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S