126.จิตทำหรือเราทำ

ตอนที่ 1 แค่รู้สึกแล้วก็หมดไป

เดินก็แค่รู้สึก มันเกิดการเคลื่อนไหวขึ้นมา ก็เกิดความรู้สึกขึ้นมา…แค่นั้น

ลองดู…ถ้าตั้งเป้าว่าเดี๋ยวจะพยายามรู้สึกทุกก้าวเลย มันจะหนักเลย มันจะแน่น มันจะไม่เป็นธรรมชาติทันที ได้ความรู้สึกตัวไหม?…ได้ แต่ได้ภายใต้อัตตาตัวตน แต่ถ้า “แค่รู้สึก” มันจะเกิดความผ่อนคลาย สบาย เป็นธรรมชาติ มันอาจจะรู้สึกช้า ก็ไม่เป็นไร ตอนที่หลงไป มันจะให้โทษให้ทุกข์เราเอง เป็นข้อดีเป็นบทเรียน ให้ได้เรียนรู้ทุกข์ว่าเป็นยังไง

หัวใจการปฏิบัติธรรม คือ “การไม่ทำอะไร” แล้วก็เป็นแค่คนรู้คนดู อะไรที่กำลังเกิดขึ้นในกายในใจนี้ เป็นแค่พยาน “เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์” หน้าที่เรามีแค่นี้ แล้วจิตนี้จะแสดงปรากฏการณ์มากมาย จิตนี้จะเพ่ง ตั้งใจด้วยตัวมันเอง จิตนี้จะหลงด้วยตัวมันเอง แต่สิ่งที่ไม่ถูกคืออะไร? เราไปเพ่งด้วยตัวเราเอง จิตมันหลงไปคิด เราก็เข้าไปคิดกับมันอย่างเพลิดเพลิน

เคยเป็นไหม? รู้ว่าไม่ควรคิดแต่ก็ยังคิดอยู่นั่นแหละ เข้าไปมะรุมมะตุ้มกับมันอยู่ได้ อันนี้เราทำเอง เพราะฉะนั้น จิตมันทำเอง แม้จะเป็นกิริยาเดียวกัน ถ้าเรารู้อยู่…ไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้าเราไปทำเองล่ะสิ ถึงจะเรียกว่าไม่ถูก เพราะฉะนั้น “เรามีหน้าที่รู้ อย่าเกินจากรู้” แล้วอะไรจะเกิดขึ้นท่าไหนก็ตาม ไม่เป็นไร เราแค่อย่าเป็นไปกับมันก็พอ

อย่างเมื่อวานก็มีคนมาเล่าให้ฟังว่า เพิ่งเห็นว่าตัวเองเนี่ยคอยจัดการ แทรกแซง ควบคุม บังคับ โดยมีเป้าหมายระยะยาว เป้าหมายระยะกลาง และแผนการจัดการตามเป้าหมายนั้นๆ (Long-term plan / Mid-term plan / Action Plan) เนี่ย! “ทำ” ครบเลย คือ แทนที่จะเห็นไตรลักษณ์ ทำย้อนสวนหมด เพราะฉะนั้น เราไม่มีเป้าหมาย คือเราไม่มีแพลน

คำว่า “มีชีวิตแค่ขณะเดียว” กิริยามันคือ “แค่รู้สึกแล้วก็หมดไป” ไม่มีแก่นสารอะไร ไม่มีความเป็นเรา ไม่มีความยั่งยืนถาวรของชีวิตจิตใจนี้ ไม่ต้องต่อมันเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ต้องคอยนึกว่าตอนนี้คือสติสมาธิปัญญา ต่อชีวิตให้มันเป็นเรื่องเป็นราว เหลือแค่ขณะเดียว แล้วหมดไป หมดไป หมดไป ทำแบบนี้แหละ มันไม่เจริญก็เรื่องของมัน

เราแค่รู้สึกแต่ละขณะไป เป็นความอิสระ เป็นความหลุดพ้น ไม่ต้องหาความเจริญมากกว่านี้

 

ตอนที่ 2 โดนทัก

นักปฏิบัติธรรมบางคนเจอครูบาอาจารย์ทักทำนองเหมือนว่าเราปฏิบัติไม่ดี เอากลับมาคิดเป็นวัน เป็นคืน เป็นเดือน จะทำยังไงดี จะได้ปฏิบัติถูก มันจะคิดมากแบบนั้น ปฏิบัติถูกคือ ไม่ต้องคิด จะถูกเลย กำลังติดแล้ว กำลังกังวลแล้ว กำลังไม่เป็นอิสระแล้ว อยากปฏิบัติถูก แค่รู้สึกร่างกายในตอนนี้เลย หลุดพ้นจากความคิดอารมณ์ทั้งหลาย จะอยู่ในทางทันที จะถูกทันที เนี่ย สอนตัวเองไว้ เราต้องเจอความทุกข์กันอีกมากในทุกรูปแบบ

เหมือนมีคนถามหลวงพ่อองค์นึงว่า จิตไม่ตั้งมั่นจะทำยังไง? ต้องทำสมาธิไหม? ต้องไปนั่งสมาธิเพิ่มขึ้นไหม? ต้องทำอะไรไหม? เนี่ยทั้งหมดคือ มันอยากจะทำ อย่างเดียว

หลวงพ่อท่านนั้นตอบว่า มันทำไม่ได้ “ให้คอยรู้ทันจิต” จิตมันออกไปแล้วรู้ จิตมันออกไปแล้วรู้ แล้วพอจิตมันออกไปแล้วรู้ “มันจะตั้งมั่นเอง” เนี่ยเราต้องเข้าใจแบบนี้ว่า “ทำอะไรไม่ได้” แต่ถ้ามันยังไม่ถูก ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี “ให้สร้างเหตุไปเรื่อยๆ” วันนึงมันพอ มันเต็ม มันก็ถูกเองแหละ ถ้ามันยังไม่เต็ม มันก็ไม่ถูก…แต่จริงๆ มันไม่ใช่ไม่ถูกนะ มันแค่ไม่เต็มเลยเฉยๆ แต่พอโดนทักว่ามันยังไม่เต็ม มันก็เลยเหมือนไม่ถูก แล้วเราก็มากลุ้มใจว่าเราทำอะไรผิด จะไปทำอะไรอีกอย่างนึงเพิ่มอีก…วุ่นวาย เพราะฉะนั้น “หลักต้องแม่น”

ถ้ามันยังไม่ดี “ก็ตอนนี้เราทำได้แค่นี้”…พูดง่ายๆ ก็มันได้แค่นี้ ยิ่งเกิดความดิ้นรนมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งผิดมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น ยอมรับจะไม่ดีก็ได้ ก็ตอนนี้ได้แค่นี้ ไม่เห็นแปลกเลย ใครๆ ก็ไม่ดีทั้งนั้น คนที่ดีที่สุดมีคนเดียว คือ พระอรหันต์ นอกนั้นก็ไม่ดีทั้งนั้นแหละ ยังไม่สมบูรณ์นั่นแหละ ก็มีเรื่องให้ติให้บอกได้ตลอด  เพราะฉะนั้น เข้าใจแบบนี้ ไม่ใช่โดนทักทีนึง ก็นึกว่าผิดทั้งชีวิตเลยที่ทำมา…ไม่ใช่แบบนั้น

ข้อสำคัญที่ดีที่สุดของการโดนทักทายมา คือ มันทำให้เราทุกข์ นี่แหละคือแบบฝึกหัดที่ดีที่สุด พอทุกข์แล้วมันติด พอติดแล้วมันจะรู้จักหาทางพ้นทุกข์ มันจะรู้จักคำว่าแค่รู้สึก ก็ตอนนี้แหละ จะเข้าใจว่าทำอะไรไม่ได้ ก็ตอนนี้แหละ

ผมเคยได้ยินมีคนไปบอกกูรูดังๆ คนนึงว่า คำสอนของท่านนี่ทำให้ดิฉันสับสน กูรูคนนั้นตอบว่า การทำให้ทุกคนสับสนคือหน้าที่ของผม คำศัพท์สมัยนี้เขาเรียกว่า ย้อนแย้ง สับสนแล้วเป็นไง…ทุกข์ “แต่ทางออกคือทางเข้า” อยากจะออกต้องรู้จักทุกข์ การเห็นจิตใจอยู่เนืองๆ จะเป็นการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ เพราะเราไม่ลืม

 

ตอนที่ 3 ไม่มีอะไรผิด ถ้าจิตมันทำเอง

คนนิสัยชอบเพ่ง จิตใจจะเพ่งเอง เราไม่ต้องช่วยมันเพ่ง จิตใจมันเพ่งเองก็เรื่องของมัน มันอึดอัดแน่นขึ้นมาก็รู้เป็นแบบนั้น จิตใจก็หลงเองอีก ฟุ้งซ่านเอง เราก็รู้ทัน เราก็อย่าเข้าไปคิดกับมัน ถ้าเราเข้าไปคิดกับมัน เราก็ผิดพลาดตรงนั้น จิตแสดงอาการเดียวกันไม่ว่าเพ่งหรือเผลอ ไม่มีอะไรผิด ถ้าจิตมันทำเอง ที่ผิดคือเราไปทำมัน เราไม่ใช่แค่รู้

บางคนฟังมาว่าเพ่งก็ไม่ดี เผลอก็ไม่ดี เหมาเลยว่าไม่ดี! แยกให้ละเอียดแล้ว เข้าใจให้ถูก ถ้ามันทำเอง ไม่มีอะไรไม่ดีก็เรื่องของมัน ที่ไม่ดีคือเราไปทำกับมัน

ถ้าวันไหนเกิดฟิตปฏิบัติขึ้นมา แล้วคิดว่า ฉันจะรู้สึกตัว ให้เปลี่ยนใหม่เป็น ฉันจะไม่เล่นโทรศัพท์ ฉันจะไม่เล่น iPad เอาอันนี้แทน ฉันจะนั่งเฉยๆ ฉันจะไม่ออกไปไหน เอาอันนี้แทน

จิตมันเบื่อก็รู้มันเบื่อ เนี่ย มันจะชอบส่งออกไปดูนู่นดูนี่ รู้ทัน มันอยู่กับตัวเองไม่ได้

เห็นความต่างของการเดินไปเรื่อยๆ กับเริ่มแรกที่เมื่อกี้เดินไหม เดินไปเดินมาชักหลงเยอะ เนี่ยธรรมชาติเป็นแบบนี้ ถ้าเรารู้ตัวตลอดเราจะเป็นซอมบี้แทน

แต่บางคนอาจจะรู้สึกว่า เราก็รู้สึกว่าเรารู้ตัวตลอดนะ เรียกว่า มีสติตามรักษาจิตอยู่เนืองๆ เมื่อมันถี่เข้า มันก็เหมือนรู้สึกตลอด แต่ในความเป็นจริงเราจะสังเกตเห็นได้ว่า เดี๋ยวมันก็ส่งไปดู เดี๋ยวมันก็ส่งไปฟัง ออกไปคิดหน่อยๆ คืออย่างละนิดอย่างละหน่อยแล้วเราก็รู้ มันก็เลยเหมือนตลอด แต่จริงๆ มีส่งออกไหม?…มี เว้นแต่เราไม่เห็นมันส่งออก มันถึงจะเป็นปัญหา มันออกไปแล้วเราไม่รู้ เราก็คิดว่าเรารู้ตัวอยู่ มันออกไปหน่อยนึงแล้วก็ไม่รู้ว่าอย่างนี้เรียกออกไป แต่จะว่าไปมันก็ไม่ใช่ปัญหาเหมือนกัน “มันก็รู้เท่าที่จะรู้ได้” การปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรซีเรียส อะไรก็ดีทั้งนั้นสำหรับผม

 

ตอนที่ 4 จุลโสดาบัน

เราปฏิบัติธรรมวันหนึ่งเราจะเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน ความเป็นพระโสดาบันก็ทำลายสังโยชน์ 3 ข้อ “สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

สักกายทิฏฐิ” คือ ทำลายความเห็นผิดว่ามีตัวเราจริงๆ มีเราจริงๆ มีเขาจริงๆ มีความเป็นสัตว์ตัวตนบุคคลเราเขาจริงๆ

เมื่อทำลายความเห็นผิด คือได้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว จึงหมดความสงสัยในพระรัตนตรัย ก็ทำลายสังโยชน์ในข้อ “วิจิกิจฉา

รู้จักเส้นทางของการนำไปสู่การเห็นตามความเป็นจริงจึงทำลายสังโยชน์ข้อ “สีลัพพตปรามาส” รู้เส้นทางแล้ว เราจะพ้นจากความเชื่อทั้งหลายที่เราเคยเชื่อ พ้นเองจะรู้สึกได้เอง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรากำลังปฏิบัติธรรมอยู่นี่คือ เรากำลังเห็นตามความเป็นจริง เห็นกายอย่างที่กาย เป็น เห็นจิตอย่างที่จิตเป็น ไม่มีเราอยู่ในกายในใจนี้ เรากำลังดำเนินความเห็นที่ถูกต้องไปสู่ความเป็นพระโสดาบัน

เมื่อเราค่อยๆ เห็นความจริงไปทีละนิดทีละหน่อย เห็นตามพระพุทธเจ้าสอนได้ มันก็เกิดความมั่นคงในพระรัตนตรัยขึ้น เพราะเราเห็นตามได้จริง เขาถึงเรียก คนอย่างพวกเราที่กำลังเดินอยู่บนเส้นทางนี้ว่า “จุลโสดาบัน” คือเรากำลังมีคุณสมบัติของพระโสดาบันอยู่แล้ว จะว่าไปจริงๆ พวกเราคือคนพิเศษมากกว่าคนในโลกเยอะ

พระพุทธเจ้าก็เคยเทศน์ไว้ว่า การให้ทานกับนักปฏิบัติธรรมหรือผู้ที่อยู่ในฐานะลักษณะจุลโสดาบันนี่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ยังไม่ต้องถึงกับพระอริยะนะ ท่านว่ามีผลมากมีอานิสงส์มากมหาศาล เพราะฉะนั้น เราสร้างคุณธรรมสร้างคุณสมบัติอะไร เราก็มีสมมติในชื่อๆ นั้น เหมือนเรามีหิริโอตัปปะ ความละอายชั่วกลัวบาปเป็นคุณสมบัติ เราก็มีสมมติของจิตใจที่เป็นเทวดา เราเห็นตามความเป็นจริง เราก็มีคุณสมบัติของความเป็นพระโสดาบัน

การเดินก็เป็นแบบนี้แหละ คือเดินก็แค่เดิน เคยเดินคิดนู่นคิดนี่ ไม่รู้ว่ามีหน้าที่ที่จะต้องรู้สึกตัว รู้ทันว่าจิตหลงไปแล้ว ก็เดินหลงคิดไปเรื่อยเหมือนที่เราทำมาตั้งแต่เด็ก…ทำทุกคน แต่ก็แค่เปลี่ยนนิดเดียวว่า อ้อ! มีหน้าที่เดินปกติเหมือนเดิม ให้มันหลงเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่เพิ่มเติมคือรู้ทัน พอมันหลงไปก็รู้ มันหลงไป เข้าไปกับมันก็รู้ แล้วก็รู้เท่าที่รู้ได้ มีกำกับอันนี้ด้วย

รับรองถ้าเราทำแบบนี้ทุกวัน แล้วก็เลิกเรื่องฟุ้งซ่าน มันจะรู้ถี่ขึ้น ไอ้ที่เราอยากเร็ว มันจะเร็วขึ้น มันจะเป็นเองให้ดูเลย ผมว่าทุกคนก็สัมผัสแล้ว สัมผัสแล้วว่ามันเป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้น เราต้องการแค่ความสม่ำเสมอ แล้วก็ลดละเลิกกิจกรรมที่ไม่จำเป็น กิจกรรมที่นำไปสู่ความฟุ้งซ่าน…ไปเรื่อยๆ แค่นั้น

 

27-07-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/9UUM7o9uC8Y

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S