124.ปรับทัศนคติ

ตอนที่ 1 ปรับทัศนคติ

จิตใจเป็นยังไงรู้ไหม? จิตใจไม่ปกติรู้ไหม? อยากให้มันปกติรู้ไหม? อยากให้มันสงบ อยากให้มันดีรู้ทันไหม?…ทั้งหมดนั้นเป็น “ตัณหา” ความอยาก

เรามีหน้าที่รู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริง ไม่มีหน้าที่แก้ไข จัดการ แทรกแซง จิตใจนี้ให้มันดีอย่างที่เราคิด มันเป็นยังไงก็รู้มันเป็นอย่างนั้น…รู้ตามความเป็นจริง ความเป็นจริงมันจะแสดงว่าสภาวะใดๆ ล้วนไม่เที่ยง ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครคนใดเข้าไปควบคุมจัดการได้

ศาสนาพุทธเราต้องการเห็นตามความเป็นจริงแบบนี้ เพราะฉะนั้น จิตใจเป็นยังไงรู้อย่างที่มันเป็น เราไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพื่อจะเอาดี ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้จิตใจมันดีกว่านี้ ไม่ได้มาปฏิบัติเพื่อจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ไม่ได้มาปฏิบัติเพื่อชีวิตจะมีบุญมากกว่านี้ ทั้งหมดที่พูดไปเป็น “มิจฉาทิฐิ” ภายใต้ความมีอัตตาตัวตน

ชาวพุทธจำนวนมากคิดถึงเรื่องเข้าวัดปฏิบัติธรรม มีจุดมุ่งหมายในใจว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ชีวิตที่ดีกว่านี้ในมุมว่าเราจะโชคดีกว่านี้ เราจะรวยกว่านี้ เราจะพบเจอแต่สิ่งดีๆ กว่านี้ เราเรียกตัวเองเป็นชาวพุทธ แต่เราไม่รู้จักคำว่า “พุทธะ

พุทธศาสนา” เป็นศาสตร์แห่งความรู้ตื่นเบิกบาน ไม่ใช่โง่งมงายภายใต้อัตตาตัวตน เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจให้ถูก เราก้าวเข้ามาในเส้นทางของพระพุทธเจ้า เข้าใจจุดมุ่งหมายให้ถูก เราไม่ได้มาปฏิบัติแบบนี้เพื่อจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ จุดมุ่งหมายของเราตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราเคยคิด สิ่งที่เราเคยคิดทั้งหมดเป็นจุดมุ่งหมายภายใต้อัตตาตัวตน ความเป็นคน ความเป็นเรา เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มต้นจากการปรับทัศนคติใหม่ เข้าใจศาสนาพุทธให้ถูกต้อง

จุดมุ่งหมายของเราคือ การเห็นโลกนี้ตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงในแง่ของไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตามความเป็นจริงในแง่ของ “ทุกขสัจจะ” คือกายและจิตนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆโลกนี้มีแต่ทุกข์ นี่คือจุดมุ่งหมายในการศึกษาความเป็นจริง เข้าใจรอบรู้ในกองทุกข์นี้อย่างแจ่มแจ้ง เมื่อเราเข้าใจกองทุกข์นี้อย่างแจ่มแจ้ง ชีวิตที่เรียกว่ากายและจิตนี้ มันจะดีจะร้ายยังไง มันก็ไม่มีอิทธิพลต่อเราอีกต่อไป ทำให้เราทุกข์ไม่ได้อีก

ถ้าการปฏิบัติธรรมทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ในมุมมองของอัตตาตัวตน พระพุทธเจ้าต้องไม่ตาย ต้องไม่เจ็บ ต้องไม่แก่ ต้องไม่ป่วย ทุกอย่างก็ต้องควบคุมได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราเห็นตามความเป็นจริงจนพ้นจากมันไป จนหมดความยึดมั่นถือมั่นในกายและจิตนี้ว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา

เพราะฉะนั้น เมื่อเรามาปฏิบัติธรรม แล้วใช้ “ชีวิตใหม่” อย่างเช่น บวชเป็นแม่ชีแล้วเราจะมีชีวิตใหม่ คำว่าใหม่เรานึกว่าดี แต่ผมจะเพิ่มให้เข้าใจมากขึ้น “เราจะมีชีวิตในมุมมองใหม่” เราเคยมีแต่มุมมองในเชิงของอัตตาตัวตน ความเป็นเรา นับตั้งแต่วันนี้ เราจะมีมุมมองใหม่ในเชิงของความเป็นเหตุปัจจัย ไม่มีคนหรือใครคนใดมาเกี่ยวข้องในวิถีการทำงานของกายและจิตนี้ เราจะมีมุมมองใหม่เห็นกายและจิตนี้มันทำงานตามความเป็นจริงของมัน เป็นวิธีการมองที่พ้นจากความเป็นอัตตาตัวตน เพราะฉะนั้น ให้มี “การใช้ชีวิตใหม่”เพิ่มเข้าไปเป็นชีวิตที่มีมุมมองใหม่ มุมมองแบบเดิมเป็นมุมมองของคนในโลก คนที่ไม่เข้าใจความจริง

 

ตอนที่ 2 เหนือความกลัว

เมื่อกี้ได้คุยกับคนหนึ่ง เขาก็บอกว่าเขาเป็นคนที่มีความกลัวมาก กลัวทุกอย่าง คิดไปล่วงหน้าจะเป็นอย่างนี้จะเป็นนั้น แต่สุดท้ายต้องเผชิญหน้ากับความจริง แต่โชคดี ไม่เป็นแบบที่เขาคิด ความกลัวก็เลยหายไป แล้วเขาก็ได้บทเรียนว่า การคิดไปล่วงหน้านี่ส่งผลให้เกิดความกลัวความทุกข์ฟรี ประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตทำให้คนแต่ละคนกลัวน้อยลงเพราะอะไร? เราเคยเจอแบบนี้ เราเคยเจออย่างนั้น เราเคยเจออย่างนู้นแล้ว เหมือนเราเข้มแข็งขึ้น เหมือนเรามีชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนเราทุกข์น้อยลง แต่ผมบอกว่านั่นไม่ใช่การปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพื่อเราจะเป็นคนที่ดีขึ้น อาจจะเป็นคนที่กล้ามากขึ้น เราจะเป็นคนที่กลัวน้อยลง การปฏิบัติธรรมคือ เห็นจิตที่มันกลัว เราจะไม่ใช่กล้ามากขึ้นเราจะไม่ใช่กลัวน้อยลง แต่เราอยู่ “เหนือความกลัว” นี่คือการปฏิบัติธรรม

พิจารณาให้ลึกซึ้งว่ามันคนละเรื่องกับที่เราคิด ของที่มันเกือบใช่มันแปลว่าไม่ใช่ จิตก็กลัวตลอด ถ้าไม่เห็นจิตมันกลัว แปลว่าไม่มีสติ…หลง แต่เราเข้าใจการปฏิบัติธรรมว่าเราปฏิบัติแล้วดีทุกอย่าง จิตใจไม่เป็นอะไรเลย นี่เราเข้าใจผิดขนาดนี้ จิตใจถ้ามีเหตุปัจจัย มีเชื้อ มีกิเลสอะไรก็ตาม มันจะแสดงผลลัพธ์แบบนั้น แต่มันจะไม่ใช่ปัญหาถ้าเราเห็นมันอยู่

ถ้าเราเห็นมันอยู่ไม่เข้าไปเป็นกับมัน ในขณะนั้นเราอยู่เหนือมัน ถามว่าเราดีขึ้นเหรอ? เราเก่งเหรอ? …ไม่ใช่…ความกลัวนั้นยังอยู่ แต่เราแค่ไม่เข้าไปเป็นกับมันแค่นั้นเอง

ถ้ามีใครถามเราว่าเรากลัวเหรอ? คำตอบของนักปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ไม่ใช่เรากลัว จิตมันกลัว แล้วเราที่กำลังเห็นจิตมันกลัวมีอะไร?…ไม่มีอะไรบรรจุอยู่ในนั้นได้ เป็นได้แค่อย่างเดียวคือ “กิริยารู้”

 

ตอนที่ 3 ซ้อมรบ

ตอนนี้มีร่างกายกำลังนั่งอยู่ ร่างกายใช่ของเราไหม? ร่างกายนี้ถูกรู้ได้ไหม? สังเกตไหมว่าเมื่อเรารู้ร่างกายนี้มันนั่งอยู่ สักพักเดียวความสงบของจิตใจก็เกิดขึ้น เกิดเองและความสงบนั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้เหมือนกัน ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น อย่าลืม…อย่าลืมจะเห็นอิริยาบถของร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนนี้อยู่เนืองๆ ให้มีความประณีตในการที่จะเห็นกายและใจของตัวเองนี้อยู่เนืองๆ บางทีเราไม่ประณีตเราก็คิดว่าเห็นแล้ว เราประณีตอีกสักหน่อยนึง เหมือนบางคนบอกว่าเห็นความอยากไหม? ตอบว่าเห็นแล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่เห็น มันก็ยังอยากอยู่ ยังไม่เลิกสิ่งที่อยากจะทำ

ถ้าเราเห็นความอยากจริงๆ มันจะเกิดการถอนตัวขึ้นไม่มากก็น้อย จากสิ่งที่เรากำลังถูกบีบคั้นให้ไปทำ ให้ไปคิด จะไปทำอะไรก็ตาม ให้ไปพูด ถ้าเราเห็นความอยากจริงๆ มันจะเกิดการถอนตัวออกมาไม่มากก็น้อย ต้องมีบ้าง เพราะฉะนั้น ตรงนี้สังเกตด้วย

เมื่อเห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น มันก็เกิดการหลุดออก การหลุดออกมันก็เป็นอิสระขึ้น จะเป็นความรู้สึกที่แตกต่างหลังจากที่กิเลสนั้นถูกเห็น แต่ถ้าไม่มีความรู้สึกหลุดออกมาเลย นั่นแปลว่าการเห็นนั้นก็เหมือนกันเห็นอยู่ในน้ำ เรายังไม่ขึ้นมาบนฝั่ง ถ้าแบบนั้นทำไง?…ไม่ต้องไปดูแล้ว รู้สึกตัวให้มาก แปลว่าสมาธิมันไม่พอ จิตยังไม่พร้อม กลับมาซ้อมรบ

ซ้อมรบยังไง? …มีร่างกายก็รู้สึกมันยืน มันเดิน มันนั่ง มันนอน ก็รู้สึก เห็น…เห็นด้วยความรู้สึก มีความคิดก็รู้ทันไม่เข้าไปในความคิดปรุงแต่ง มีจิตใจก็หันกลับมาดูจิตใจเป็นยังไง ปกติก็รู้ปกติ ผิดปกติหน่อยๆ ก็รู้มันผิดปกติหน่อยๆ อย่างตอนนี้หันกลับไปดูความรู้สึกทางจิตใจตัวเอง จะพบว่ามันปกติ มันไม่มีทุกข์ มันมีอยู่แล้ว

การปฏิบัติหรือซ้อมรบเป็นสิ่งที่เราทำทั้งวัน เพื่อให้มีจิตที่พร้อมจะไปเจริญวิปัสสนา เห็นตามความเป็นจริง เพราะมันบังคับไม่ได้ จะเห็นตามความเป็นจริงตอนไหน?  มันชอบเห็นตอนทีเผลอ เหมือนข้าศึกศัตรูมันซุ่มโจมตีเรามันมาทีเผลอ แต่ถ้าเราซ้อมรบพร้อมเสมออยู่เราจะไม่พ่ายแพ้ต่อมัน แล้วถ้าเราไม่พ่ายแพ้ต่อมัน ไม่เพียงแต่เราปกป้องบ้านเมืองได้ เราจะมีความชำนาญในการออกรบมากขึ้น ในทางปฏิบัติธรรมเรียกว่า เราจะมีศิลปะในการปฏิบัติธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์ที่หล่อหลอมความเป็นศิลปะนี้ขึ้นมา ทุกคนจะต้องผ่านมันไปได้ด้วยตัวเอง สอนกันไม่ได้

ไม่ว่าสภาวะอะไรจะเกิดขึ้นเรายังคงเห็นจิตใจตัวเองอยู่ ตากระทบรูป หูได้ยินเสียง การสัมผัส ลิ้นรับรส ธรรมารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น จิตใจเป็นยังไง… เรารู้อยู่

อารมณ์ความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้นทางจิตใจ บางทีเราอาจจะต้องสอนตัวเองสักนิดนึงว่า มันเป็นเพียงสักว่าอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช่เรา เราจะเริ่มรู้จักการห่างออกมาจากมัน เราจะเริ่มรู้ได้ว่าความไม่เป็นเจ้าของอารมณ์ความรู้สึกใดๆ นั้นเป็นยังไง

ความหงุดหงิด รำคาญใจ ไม่พอใจเกิดขึ้น บางทีเราเห็น…เห็นแต่มันเป็นไปด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อมันเป็นไปด้วยแล้ว บางทีเราต้องสอนตัวเองหน่อย เหล่านี้เป็นศิลปะ

 

ตอนที่ 4 ศาสตร์ของพุทธเจ้า

ศาสตร์ทุกศาสตร์ในโลกนี้ ที่สอนให้เราพัฒนาชีวิต เพื่อจะมีชีวิตที่ดีขึ้น มีหัวใจสำคัญอันนึงเหมือนกัน คือเราเป็นเจ้าของกายและจิตนี้ ชีวิตนี้เป็นของเรา แต่ศาสตร์ของพุทธเจ้าจะทำให้ชีวิตเราทุกคนดีขึ้น แต่มีหัวใจที่ตรงกันข้ามกับศาสตร์ทุกศาสตร์ในโลกนี้ ชีวิตเราจะดีขึ้นด้วยการไม่เป็นเจ้าของอะไรทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก่อนเราจะปฏิบัติธรรมเข้าใจหัวใจอันนี้ให้ได้ก่อน

ตัวเราที่แท้จริงมีแค่รู้…เป็นแค่ธาตุรู้…ไม่ได้มีคุณสมบัติจะเป็นเจ้าของอะไรทั้งนั้น เราจะกลับคืนสู่ธรรมชาติที่อธิบายไม่ได้ เหนือคำพูด ความสุขอย่างเดียวของนักปฏิบัติธรรม คือความเป็นอิสระ ความสุขอื่นใดในใจที่เราเคยมีความสุขกับการสัมผัส ลิ้มรส ได้ยิน ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้แสดงความสุขเลย มันเป็นแค่เวทนาเฉยๆ แต่มีความสุขอีกอย่างหนึ่ง ที่เราจะได้สัมผัส คือความสุขในระนาบที่เรียกว่าความ “อิสระ” หลุดร่อน ออกจากการยึดติดอะไรๆ อยู่

ตอนมันติดอยู่เราไม่รู้หรอก มันติดจนชิน เราจะรู้ตอนที่มันหลุดออก แล้วเราจะได้พบความสุขแบบใหม่ ความสุขแบบนั้นรอวันที่เราจะค้นพบมัน รอเราอยู่เสมอ แล้วเราจะเข้าใจความแตกต่างระหว่าง ความสุขจากความอิสระกับความสุขที่เต็มไปด้วยความบีบคั้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างงั้น เราเรียกว่า ความทุกข์

 

14-07-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/mtHUtnxXuL4

ฟังรวมคลิปเสียงธรรมได้ที่ https://goo.gl/RDZFMI

5 ช่องทางติดตามข่าวสาร
1) YouTube: https://goo.gl/in9S5v

2) Facebook : https://www.facebook.com/SookGuySookJai

3) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

4) Podcast: Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S

5) website : https://camouflagetalk.com/