123.ด้วยความระลึกถึงหลวงพ่อคำเขียน

ตอนที่ 1 ขาดความต่อเนื่องเพราะอะไร

เราจะเห็นได้ว่า เราปฏิบัติจากเมื่อวานนี้ต่อมาถึงวันนี้ จะมีโมเมนตัมสืบเนื่องมา พอนั่งปุ๊บก็ไม่นาน ก็เข้าที่ รู้กายรู้ใจตามเป็นจริง แต่ความสำคัญตอนนี้ของพวกเรา ไม่ใช่ปัญหาเรื่องว่า รู้หลักหรือยัง พวกเรารู้แล้ว รู้แล้วว่าการปฏิบัติมีแค่นี้แหละ หลักปฏิบัติมีแค่นี้แหละ แต่สิ่งที่เราขาดคือ “ความต่อเนื่อง” ทั้งวันตั้งแต่เราตื่นขึ้นมาที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบ เราหมั่นระลึกขึ้นมาได้ไหมว่า ตอนนี้เห็นกายเป็นยังไง เห็นจิตใจเป็นยังไง เรามีความระลึกขึ้นมาได้บ่อยแค่ไหนเวลาที่อยู่นอกรูปแบบ

เมื่อไหร่ที่เราหาความสุข ความต่อเนื่องก็ขาดไปเลย หมดไป ถ้าเราแต่มัวหา ร้องหาว่า เดี๋ยวจะไปทำอะไรดี ความต่อเนื่องก็ขาดไป

ผมถึงบอกว่าสถานปฏิบัติธรรมเป็นสถานที่ในอุดมคติคือ เราไม่ต้องคิดอะไรเยอะ มีคนดูแลให้ทุกอย่าง เราไม่ต้องคอยคิด คอยหา ว่าจะต้องทำอะไร เพราะฉะนั้น เราอย่าให้โอกาสนั้นเสียไป โดยไปคิดเรื่องไร้สาระอย่างอื่นแทน เช่น หาเรื่องทะเลาะกับคนอื่น โทรศัพท์ไปทะเลาะกับคนอื่น

ทำไมเราทำแบบนั้น “เราคิดว่าเป็นเราจริงๆ” เราคิดถึงความสัมพันธ์บางอย่าง ในฐานะของความเป็นคน เป็นสมมติอันหนึ่ง เมื่อเราคิดเป็นจริงเป็นจัง ความรู้สึกต่างๆ ก็เกิดขึ้น เท่ากับเรากำลังเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความเป็นเราขึ้นมา ของความเป็นเขาขึ้นมา นั่นคือ “ความเห็นผิด” แต่เราอยู่กับมัน เรายินดีที่จะอยู่กับความเห็นผิดนั้น เสริมสร้างความเป็นตัวเราให้มันหนักแน่นขึ้น แต่เราหนีไม่พ้น เพราะเรามีอวิชชา มีกิเลส เพราะฉะนั้น เวลาที่กิเลสมาครอบงำจิตใจแล้ว เราต้องอาศัยอุบายบางอย่างช่วย เช่น คิดถึงความตายเลย กำลังจะตายพรุ่งนี้จะทะเลาะกันไหม จะเอาเรื่องอีกไหม อุบายใช้เวลาคับขัน เวลาถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว ถ้าเรารู้จักว่า นี่เป็นความเห็นผิด เราก็จะรู้จักถอนตัว แต่ก็ต้องมีเครื่องมือนิดหน่อยในการช่วยการถอนตัว ถ้าถอนตัวเองไม่ขึ้นต้องใช้ความคิดช่วยหน่อย

เพราะการปฏิบัติธรรมนี่เราจำเป็นต้องใช้จิตใจที่ปกติธรรมดา เพื่อจะเห็นกายและจิตตามเป็นจริงได้ อะไรก็ตามที่มันกำลังเสริมสร้างความเป็นตัวเรา ความเป็นสมมตินั้นๆ ในฐานะนักปฏิบัติธรรมนี้ “ต้องรู้ทัน ไม่ทำตามมัน

นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากเป็นคนดี แต่ดีนี่ยังไม่พ้นตัวเรา ไม่ใช่คำว่าดีนี่ไม่ดี ดีก็ดี แต่ให้ดีแบบไม่มีตัวเรา ให้ดีบนพื้นฐานของปัญญา ไม่ใช่ดีบนพื้นฐานของตัวตน

เพราะฉะนั้น เราต้องสังเกตว่า อะไรบ้างที่มันทำให้ความต่อเนื่องนี้มันขาดไป ทิฏฐิ ความคิด สัญญา ความจำได้หมายรู้ ในเชิงของการสนับสนุนความเป็นตัวตนนั้นจะทำให้ความต่อเนื่องในการเห็นสภาวะต่างๆ ตามเป็นจริงนั้นขาดไป แล้วถ้าเรารู้ไม่ทันก็จะขาดไปนานเลย

 

ตอนที่ 2 กำลังใจ

วิธีปฏิบัติมันไม่ยากหรอก แต่การปฏิบัติให้มันต่อเนื่อง…มันยาก อาศัยบารมีมาก ที่จะไม่หลงไม่เผลอไปในความเคยชินเก่าๆ ทั้งทางความคิด ทิฏฐิ มานะ การกระทำ ต้องใช้พละกำลังมากที่จะทวนกระแสของความเป็นเรา ที่ว่าถ้าเป็นเราต้องทำนี่ ถ้าเป็นเราต้องคิดอย่างนี้

ถ้าเราไม่ได้พระพุทธเจ้า ไม่ได้ครูบาอาจารย์ คอยเตือนสติเรา เราจะคิดไม่ออกเลย ถึงคิดออกก็ไม่มีกำลังใจพอที่จะทวนกระแสแบบนั้น เพราะมันยาก มันฝืนความเชื่อทั้งหมดของตัวเองทั้งชีวิต

เพราะฉะนั้น เราประพฤติปฏิบัติธรรม เราเรียนหลักให้แม่น แล้วอาศัยกัลยาณมิตร คือ ครูบาอาจารย์ อาศัยกำลังใจอันเข้มแข็งของตัวเอง ที่จะข้ามผ่านอะไรก็ตามที่กำลังสนับสนุนไอเดียของความเป็นคน เป็นตัวเรา เป็นของเรา

กำลังใจเราไม่พอ เราต้องอาศัยกำลังใจจากเพื่อนกัลยาณมิตร จากครูบาอาจารย์

10 ปีก่อนผมเคยไปวัดป่าสุคะโต ไปกับเพื่อนๆ ไปปฏิบัติธรรม 5 วัน ไปถึงรุ่งเช้าก็อยากไปกราบหลวงพ่อคำเขียน พวกเราก็เดินตามหาท่านอยู่ตรงไหน ท่านก็ไปวัดข้างๆ ไปงานศพพระรูปหนึ่ง ท่านก็เดินทักชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลาย ทักมาเรื่อยๆ เราก็ยืนรอกับเพื่อนๆ รู้ว่าท่านจะเดินมาตรงนี้ไปดักรอไว้ก่อน ท่านเดินมาถึงพวกเราก็ยกมือไหว้ ท่านก็เอามือผมไปจับเลยแล้วพูดว่า “โอ๊ย…รอมาตั้งนาน โตเป็นหนุ่มขนาดนี้เพิ่งจะมา” ตอนนั้นผมเป็นหนุ่มเกือบจะ 30 แล้ว เนี่ย!…กำลังใจ เจอกันครั้งแรกก็ได้กำลังใจเลย

หลวงพ่อคำเขียนก็สอนปฏิบัติธรรม สอนง่ายๆ ง่ายมากเลย แต่ความง่ายๆ นั่นน่ะ มันนี้มันลึกซึ้งมาก บางทีเราฟังเพลินๆ เมื่อนำมาปฏิบัติจริงๆ น่ะ มันลึกซึ้ง เหมือนที่ท่านเคยเล่าว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งมาหาท่านบอกว่า โอ๊ยหลวงพ่อ หนูทุกข์มากเลย ทุกข์เหลือเกิน หลวงพ่อก็รีบถามเลย “ใครทุกข์” ผู้หญิงตอบ “หนูทุกข์” หลวงพ่อถามอีก “ใครทุกข์” ผู้หญิงตอบอีก “หนูทุกข์” หลวงพ่อก็ถามอีก “ตกลงใครทุกข์” ผู้หญิงก็ตอบว่า “จิตเป็นทุกข์” หลวงพ่อตอบว่า “นี่สิเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ”

เห็นจิตเป็นทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ เราไปคว้ามันมาเป็นของเรา เราก็ทุกข์สิ แต่ถ้าเราเห็นอาการ เห็นจิตมีอาการแบบนี้ เรียกว่า เราเห็น ไม่ใช่เราเป็น เห็นจิตไปยึดไปสร้างความเป็นตัวเป็นตน สร้างถูกสร้างผิดขึ้นมา สร้างความเห็น จนเกิดอารมณ์ เกิดโทสะ เกิดโลภะ เห็นมันเป็นแบบนี้ “ถอนตัวขึ้นมาเห็น”

ในชีวิตประจำวันเรา “กระทบ” แล้วก็ “กระเทือน” แล้วก็ “คว้า” จับมาเป็นของเรา แล้วเดี๋ยว “รู้ทัน” ขึ้นมา “ถอนตัว” ออกมา จาก “เป็น” กลายเป็น “เห็น

เป็นนี่เรียกว่าหลง เห็นนี่เรียกว่าตื่น” เพราะฉะนั้น มันต้อง “เป็นแล้วก็เห็น เป็นแล้วก็เห็น” ไม่ใช่เห็นตลอดเวลา ไม่มีเป็นเลย ถ้าแบบนี้จะเรียกว่าเพ่ง ไม่มีหลงเลย

 

ตอนที่ 3 ใช้ชีวิตในมุมมองใหม่

ผมเคยพูดหลายครั้งว่า “เราใช้ชีวิตในมุมมองใหม่” ใช้ชีวิตในมุมมองที่จะถอดถอนความเป็นตัวตนนี้ ถอดถอนความเห็นผิด ว่ามีเรา มีเค้า ด้วยมุมมองของการเห็นตามเป็นจริงในเชิงของไตรลักษณ์ ใช้ชีวิตในมุมมองอันใหญ่ อันใหม่ ไม่ใช่ใช้ชีวิตในมุมมองของความหลงผิดเหมือนเดิม แล้วก็ตอบสนองความหลงผิดนั้น ด้วยความคิดเป็นจริงเป็นจังซะด้วย นั่นคือชีวิตเก่า ชีวิตที่ยังไม่มีความรู้ของความจริงที่พระพุทธเจ้าฝากเราเอาไว้

ถ้าเราใช้มุมมองใหม่อันนี้ ในทุกกิจกรรมของชีวิตเรา ความรู้เนื้อรู้ตัว ความต่อเนื่อง ในการปฏิบัติธรรม มันจะค่อยๆ เกิดขึ้น สัญญาที่เคยวิปลาส ทิฏฐิที่เคยวิปลาส มันจะค่อยๆ ไม่วิปลาส เพราะเราเกิดมุมมองใหม่ต่อสิ่งต่างๆ มันจะถอดถอนความวิปลาสนั้น ชะล้างความวิปลาสนั้นออกไปเรื่อยๆ

มันจะฝืนๆ หน่อย ยากๆ หน่อย เหมือนเรานอนอยู่บนเตียง มันก็ไม่อยากตื่น จะลุกขึ้นมาที แค่ลืมตายังยากเลย เพราะฉะนั้น มันจำเป็นจะต้องยาก ในมุมนี้ แต่เราฝึกมากเข้าๆ ไอ้ที่เคยยากตอนแรกมันไม่ยากแล้ว ความเคยชินใหม่มันเกิดขึ้น เหมือนทางเดินที่เป็นพวกป่าๆ เขาๆ เดิมมันก็ไม่มีทางเดินหรอก คนเดินคนแรก มันก็เดินยากหน่อย พอมันเดินไปเดินมาทุกวัน มันเริ่มเป็นทางเดินแล้ว เดินง่ายแล้ว แบบเดียวกันธรรมชาติเป็นแบบนี้ ถ้าเราไม่ยอม จะฝืน จะยาก ในเชิงแบบนี้เลย มันก็เป็นทางเดินไม่ได้ มันก็ไปไม่ถึงความเป็นเองซะทีนึง

เพราะฉะนั้น ใช้ชีวิต ส่งเสริมให้ความต่อเนื่องมันเกิดขึ้น อย่าไปส่งเสริมอะไรที่มันทำให้ขาดตอน ไฟจะติดจะติด…ดับอีกแล้ว ไฟจะติดจะติด…ดับอีกแล้ว หลวงพ่อชาเคยบอกว่า “ทิ้งไปซะชีวิตหนึ่งได้ไหม” ชีวิตนี้คืออะไร?… “ความเป็นตัวเรา” ทิ้งไปได้ไหมทิ้งไปซักชีวิตหนึ่งได้ไหม ผมจะพาทิ้งเอง ทิ้งความเป็นเรา ความคิดว่าเป็นเรา ความเคยชินเก่าๆ ที่สนองความเป็นเรา สนองความเป็นตัวตนของเรา เช่น ถ้าเป็นฉัน…ฉันเป็นแบบนี้ ฉันจะทำแบบนี้ ฉันชอบแบบนี้ ทิ้งชีวิตแบบนี้ได้ไหม

 

ตอนที่ 4 ใช้จิตที่เป็นปกติธรรมดา

ครั้งนั้นที่ผมไปวัดป่าสุคะโต อีกวันนึงก็ได้ไปเจอหลวงพ่อคำเขียนที่กุฏิ ท่านกำลังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ พอท่านเห็นเรา ท่านก็หยิบหูช่วยฟังมาใส่ เราเอาปัจจัยไปถวายท่าน ท่านก็ถาม “ลำบากไหม” หมายถึงลำบากไหมที่ต้องเอาเงินมาถวาย เรามีเหลือไหม เราก็บอก “ไม่ลำบากครับ” แล้วก็ถวายท่าน ตอนนั้นท่านป่วย คนที่ดูแลท่านก็บอกเราว่า อย่าชวนคุยมาก ท่านไม่ค่อยสบาย เราก็ไม่กล้าชวนคุยเลย แต่ท่านคุยให้ฟังเอง เขาก็ว่าเราไม่ได้

ท่านก็เล่าเรื่องเรื่องนึง ท่านบอกว่า มีผู้ชายคนหนึ่ง โดนศัตรูฆ่าพ่อตาย แค้นมาก แต่ไม่มีปัญญาสู้ ก็เลยต้องไปฝึกวิชากับอาจารย์ที่เก่งที่สุดในประเทศตอนนั้น วิชาเพลงดาบอันดับ 1 ของยุทธภพ เขาก็ไปเก็บข้าวของแล้วไปที่สำนัก ขอเรียน อาจารย์บอกให้ไปทำครัวก่อน ยังไม่สอน ด้วยความมุ่งมั่นอาจารย์สั่งอะไรก็จะทำ ทำครัว ผ่าฟืน หุงข้าว ทำทุกอย่างในครัว คนอื่นเขาฝึกเพลงดาบกันไป เขาก็อยากจะเรียน แต่อาจารย์ไม่สอนไม่ให้เรียน ให้ทำครัวอย่างเดียว ทำครัวไป 1 ปี ก็ไปทวงถามอาจารย์ว่า “ผมจะเรียนได้หรือยัง” อาจารย์บอกว่า “ยัง” พอผ่านไป 2 ปี ไปบอกอาจารย์ “อาจารย์เดี๋ยวศัตรูของผมตายไปก่อน ผมจะไม่ทันล้างแค้น” อาจารย์ก็ตอบว่า “ยัง ไปทำครัวก่อน” ผ่านไป 3 ปี ไปถามใหม่ อาจารย์ก็บอกว่า “ยัง” ชายคนนั้นก็โมโห คิดว่าเอาไงดี…แต่ในเมื่ออาจารย์เขาไม่สอน จะให้ทำไง ก็ทำครัวต่อไป ทำไปเรื่อย ทำไปจนลืมไปแล้วว่าอยากจะเรียน วันนึงอาจารย์ก็เข้ามาในครัวเลย เอาดาบมาด้วย ไล่ฟันลูกศิษย์คนนี้ คนนี้ทำครัวอยู่ก็เลยหยิบปังตอขึ้นมารับดาบ ปุ๊บปั๊บ ปุ๊บปั๊บ ปุ๊บปั๊บ แล้วอาจารย์ก็หยุด ลูกศิษย์คนนี้ก็โมโห “ทำไมอาจารย์ทำแบบนี้กับผม ผมทำครัว ทำตามทุกอย่าง” อาจารย์ตอบว่า “สำเร็จแล้ว” แล้วอาจารย์ก็เดินออกจากครัวไป

หลวงพ่อคำเขียนเล่าให้ฟัง พวกเราก็ฟังกันแบบยิ้มๆ หัวเราะๆ แต่เอาจริงๆ ตอนนั้นไม่รู้เรื่องว่าหลวงพ่อจะสื่ออะไร ออกมาก็งงๆ แต่แค่รู้สึกดีใจที่หลวงพ่อเล่าเรื่องให้ฟัง แต่นัยยะตรงนั้นคืออะไร? “ผู้ชายคนนั้นหมดความอยากจะเรียนแล้ว ได้แต่ทำหน้าที่ที่อาจารย์สั่ง จิตใจก็ว่างจากกิเลส เป็นปกติ เมื่อจิตใจนั้นปกติ ก็พร้อมจะรับธรรมะได้ พร้อมจะรับเคล็ดวิชาได้” ใช้เวลาหลายปีกว่าจิตใจจะปกติ

อาจารย์เขาไม่สอนเยอะ เขารอจนกว่ามันจะพร้อม” เพราะความแค้นที่มันสุมอกอยู่เนี่ย พูดเท่าไหร่ก็คงไม่ลงหรอก เพราะเชื่อความคิดตัวเองว่ายังไงก็ต้องแก้แค้น ตามเหตุตามผล ตามความเชื่อ ความเป็นตัวเป็นตนของตัวเองอย่างหนักแน่น หนาแน่น มันต้องอาศัยเวลามาก

กว่าผมจะมาเข้าใจเรื่องที่หลวงพ่อเล่าได้ก็ใช้เวลา ครั้งนั้นก็เป็นครั้งสุดท้าย ที่เราทุกคนได้เจอหลวงพ่อ

เพราะฉะนั้น จำไว้ว่า “เราใช้จิตใจที่เป็นปกติธรรมดา” ในการเรียนรู้ความจริงของกายและใจ จิตใจที่ปกติธรรมดานี่แหละเป็นจิตใจที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ความจริง เราไม่ได้ฝึกจิตให้มันดี เราเรียนรู้ที่จะมีสติ ที่จะเห็นกายและจิตตามเป็นจริง ไม่ว่ามันจะดีหรือไม่ดีก็ตาม

จิตใจที่เป็น “ลหุตา” คือ จิตใจอ่อนโยนนุ่มนวลควรค่าแก่การงาน การงานคือการปฏิบัติธรรม ลหุตา ก็คือจิตใจที่ปกติธรรมดานี่แหละ เกิดขึ้นได้ยังไง เกิดขึ้นเอง เราแค่อย่าไปยุ่งกับมัน อย่าไปทำให้มันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แค่ไม่ทำอะไรมันแค่นั้นแหละ รู้เนื้อรู้ตัวไป ไม่อยู่ในโลกของความคิดปรุงแต่ง ไปเรื่อยๆ จิตใจที่ปกติธรรมดา อ่อนโยนนุ่มนวลควรค่าแก่การงาน จะเปิดเผยตัวออกมา บางคนไปแปลความเป็นลหุตา ว่าหมายถึง จิตนี้มันสบาย แปลง่ายๆแบบนั้นก็ได้เหมือนกัน แต่จิตที่สบาย เบา ทำได้ไหม? ไปลองดู ทำง่ายๆ นั่งเหม่อ เพลินๆ ไปในความคิดในอารมณ์ความสุขหน่อย นั่นน่ะเบาสบายเลย ดังนั้น ไม่เหมือนกัน

เวลาบางคนเพ่งเก่ง ครูบาอาจารย์เลยบอกว่า ให้มันหลงบ้าง เพ่งแล้วมันหนัก ให้มันหลงบ้าง จะได้เบา อันนี้เบาในทางหลง ไม่ใช่ลหุตา เบาเพลินๆ ไป ไปแช่อยู่ในอารมณ์สบาย ไปเที่ยวชมวิว ดูวิว จิตเบาสบาย นั่นแหละคือหลง จิตออกนอกไปดูตั้งเท่าไหร่ไม่รู้เรื่องเลย

จิตที่เบาล่องลอยกับจิตที่อ่อนโยนนุ่มนวลควรค่าแก่การงาน ไม่เหมือนกัน จิตที่เป็นลหุตามันควรค่าแก่การงาน มันพร้อมที่จะเห็นกายกับจิตนี้ตามความเป็นจริงไม่ใช่ล่องลอย

 

14-07-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/yrnGH6lBnKQ

ฟังรวมคลิปเสียงธรรมได้ที่ https://goo.gl/RDZFMI

5 ช่องทางติดตามข่าวสาร
1) YouTube: https://goo.gl/in9S5v

2) Facebook : https://www.facebook.com/SookGuySookJai

3) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

4) Podcast: Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S

5) website : https://camouflagetalk.com/