121.ถอนตัว

ตอนที่ 1 เงียบ

เราต้องเข้าใจความเงียบ…ความเงียบเป็นสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้กายกับจิตอย่างที่มันเป็น เราต้องเข้าใจให้ลึกซึ้งว่า “ธรรมะคือ กายกับจิต” นี้เอง ที่จะแสดงตัวมันออกมาในฐานะของธรรมะ เพราะฉะนั้น เราเรียนธรรมะก็คือเรียนรู้ตัวเองนั่นแหละ จะเรียนรู้ตัวเองได้ต้องมีเวลาอยู่กับตัวเอง ขณะที่มีเวลาอยู่กับตัวเองนั่นคือ สภาพแวดล้อมที่เรียกว่า “เงียบ” หรือ Silence

เห็นไหมว่าเมื่อเงียบแล้วเราจะกลับเข้าไปที่ตัวเอง เราจะเริ่มเรียนรู้การเกิดดับของจิต เราจะเริ่มเรียนรู้ความรู้สึกตัว เราจะเริ่มเรียนรู้ความจริงของกายกับจิตนี้

เมื่อเราฟังธรรม ฟังวิธีปฏิบัติธรรม ฟังแล้วนำไปปฏิบัติ…นำไปปฏิบัติก็คือ “การอยู่กับตัวเอง” อยู่ในสภาพแวดล้อมที่วิเวก สันโดษ หรือว่าเงียบ การเรียนรู้ของจริงๆ ตรงหน้าจึงจะเกิดขึ้นได้

ความเข้าใจในธรรมะมันเกิดไม่ได้จากการฟัง อ่าน คิด แต่ก็ต้องฟัง ต้องอ่าน ต้องคิดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ท่านก็เทศน์วันละครั้งสองครั้ง บางวันก็นั่งเฉยๆ กับลูกศิษย์นี่แหละ ปล่อยให้ธรรมชาติของการเรียนรู้เกิดขึ้นในใจของแต่ละคนเอง เพราะหลักปฏิบัตินั้นบอกไปแล้ว

สังเกตไหมว่าเสียงข้างนอกก็มีเสียงแมลง เสียงจักจั่น เสียงอะไรก็ดังมาก ในขณะที่ศาลาเงียบ เพราะฉะนั้นจิตก็จะไปเกิดที่หูไปได้ยินเสียง ดูให้ดีว่าตลอดไหม? จริงๆ มันไปที่อื่นด้วย… มันไปตลอดไม่ได้

เราหายใจขึ้นมาทีนึง ความรู้สึกมันเด่นขึ้นมาที่ตรงการหายใจที่เนื้อตัว มันก็มารู้สึกตรงนี้ขึ้นมาแทน จิตที่หูก็ดับไป เกิดใหม่ตรงที่เนื้อที่ตัวที่หายใจ บังคับได้ไหม?…ไม่ได้… เพราะความรู้สึกตรงไหนมันเด่นชัดขึ้นมา มันก็ไปรู้สึกทันทีเลย “มันทำเอง

แต่เราจะสังเกตว่า เอ๊ะ! หายใจก็ได้ยินอยู่นะ ความรู้สึกเด่นขึ้นมาทางการหายใจก็รู้สึกขึ้นมา แต่ก็ยังได้ยินอยู่นะเสียงน่ะ นั่นเพราะว่าจิตนี้เกิดดับรวดเร็วมาก พระพุทธเจ้าเคยเทศน์ไว้ว่า ชั่วระยะเวลาลัดนิ้วมือเดียว จิตเกิดดับแสนโกฏิขณะ ทุกอย่างมันเลยดูเหมือนต่อเนื่องไปหมดเลย

 

ตอนที่ 2 ตั้งมั่น แล้วจะเห็นแต่ไม่เป็น

สังเกตได้หรือยังว่าถ้าเกิดความสบายขึ้น เราจะรู้ทันทันที จิตเริ่มตกไปในความสบายนิดนึง รู้ทันทันที ฝึกตรงนี้ได้หรือยัง?

เราจะเห็นได้ เราต้องอยู่บนฐานที่มั่นเรียกว่า “ตั้งมั่น” อาศัยฐานกาย เห็นร่างกาย รู้สึกร่างกายมันนั่งอยู่อย่างนี้ รู้สึกเหมือนนั่งอยู่ท่านี้ รู้สึกอยู่เนืองๆ อิริยาบถใหญ่ไปสู่อิริยาบถย่อย อิริยาบถย่อยกลับมาอิริยาบถใหญ่ ในระหว่างนั้นก็เห็นจิตอยู่ เห็นความรู้สึกอยู่ ทำแบบนี้ก็จะรู้ทันอาการของจิตที่เปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ

จิตไปคิดก็รู้ทัน รู้ทันแล้วกลับมาที่เนื้อที่ตัว กลับมาเอง แต่พอกลับมาแล้วให้รู้สึกถึงอิริยาบถใหญ่ แล้วมันก็จะเข้าไปอิริยาบถย่อยเหมือนเดิม วนไป อย่าลืมที่จะต้อง “รีเซ็ต” (Reset) บ้าง ให้มันตื่นขึ้น

“เปลี่ยนนิสัย” จากที่ชอบสนใจสิ่งภายนอกใส่ใจรายละเอียดภายนอก เปลี่ยนมาใส่ใจรายละเอียดของตัวเอง ละเอียดภายในร่างกายและจิตใจนี้ เปลี่ยนความสามารถส่งออกเป็นกลับมาเรียนรู้ตัวเอง ใช้ความสามารถที่มีอยู่ในโลกเอามาใช้ใหม่ ใช้ในการกลับมาเรียนรู้ตัวเอง เคยชอบเห็นคนอื่น เปลี่ยนมาเห็นตัวเอง เห็นร่างกายนี้มันทำอะไรอยู่ เห็นอารมณ์อะไรเกิดขึ้นอยู่ เห็นมัน…ไม่เป็นมัน…เห็นมันเห็นคนอื่น

สโลแกน “อ๋อ ตอนนี้เป็นแบบนี้” มันเป็นความเห็นว่า ตอนนี้เป็นแบบนี้ เห็นมันเป็นแบบนี้ ไม่เป็นมัน เวลามีความสุขก็เห็น อ่อ! ก็ตอนนี้มันมีความสุข ไม่ใช่เรามีความสุข จิตใจมันสงบเห็นมันสงบ ไม่ใช่เราสงบ  ถอนตัวออกมาจากทุกปรากฏการณ์

ภาษาครูบาอาจารย์ท่านจะพูดว่า “หมั่นสร้างตัวรู้” สร้างตัวรู้ สร้างยังไง? …ก็ปฏิบัติแบบนี้นี่แหละไม่ใช่ไปสร้างอะไร “เห็นมัน” หมั่นที่จะเห็นมัน ไม่ใช่เราเป็น เราเห็นว่ามันเป็นแบบนี้ ทุกครั้งที่เห็นปรากฏการณ์ใดๆ ของกายและใจนี้ ขณะนั้นเรียกว่า สร้างตัวรู้ให้เกิดขึ้น

เห็นมันนั่งอยู่ในขณะนั้นคือสร้างตัวรู้ขึ้นแล้วหนึ่งขณะ เห็นมันหายใจอยู่ขณะนั้นสร้างตัวรู้ขึ้นมาแล้วอีกหนึ่งขณะ เห็นมันไม่พอใจสร้างตัวรู้ขึ้นมาอีกขณะ เห็นมันมีความสุขสร้างขึ้นมาอีกหนึ่งขณะ นี่ไม่ใช่ไปสร้างมันจริงๆ เพียงแต่แค่เราเห็น ไม่เข้าไปเป็น ไม่เข้าไปเสวยอารมณ์นั้น

ภาษาการปฏิบัติง่ายๆ อย่างนี้แหละแต่ผลลัพธ์นั้นชั้นสูง พอเราเริ่มเห็นได้ รู้จักว่าอ๋อ! การเห็นเป็นแบบนี้ ทำไมมันง่ายอย่างนี้ แค่นี้เองหรอ? …แค่นี้แหละ แต่เห็นให้มันเนืองๆ ได้ไหม? …เห็นบ่อยๆ ทั้งวัน…. ธรรมะมันเลยสั้นนิดเดียว

ครูบาอาจารย์ที่พูดธรรมะสั้นๆแบบนี้ คือหัวใจของการปฏิบัติเลย เป็นหัวใจของการปฏิบัติที่สั้นที่สุด คือหลวงพ่อคำเขียน… “เห็นแต่ไม่เป็น”...จบเลย  อีกคำที่ท่านพูดบ่อย… “ไม่เป็นอะไรกับอะไร”… สั้นๆ 2 คำ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมมันมีนิดเดียว เช่นว่าเห็นแต่ไม่เป็น แต่สิ่งที่ยากคือยังไง? …จะทำยังไงให้การเห็นนั้นเป็นการเห็นที่สมบูรณ์ตั้งแต่เราตื่นจนหลับเลย คือหมดอาการเป็น… เป็นหน้าที่ของเรา ทำเรื่องที่เราว่าง่ายๆ นี่แหละ แต่ทำจนมันสมบูรณ์ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ไม่มีความลึกซึ้งอะไรมากไปกว่านี้

เพราะฉะนั้น อย่าลืม… การจะเห็นได้ เราต้องเหมือนอยู่บนหอคอย มีฐานที่มั่น เรียกว่า “ ตั้งมั่น” ก็ด้วยการรู้สึกร่างกายนี้บ่อยๆ ยังรู้สึกร่างกายนี้มันนั่งอยู่ได้ไหม ลืมไปแล้วไหม ทำเรื่องซ้ำๆ ซากๆ นี่แหละ อย่าเพิ่งเบื่อซะก่อน

เมื่อรู้สึกร่างกายได้เนืองๆ เห็นร่างกายได้เนืองๆ เราก็จะเห็นจิตได้ง่าย เห็นอารมณ์เห็นความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เพราะจิตมันมีกำลัง จิตใจมีกำลังถอนตัวมาเป็นคนเห็นได้ เวลาเกิดอารมณ์อะไรขึ้นในจิตใจ เช่น ความไม่พอใจ เราไม่ใช่หนีแล้วก็ไม่ใช่สู้ เรารู้อยู่ว่าตอนนี้มีอารมณ์แบบนี้เกิดขึ้นในจิตใจ ทีนี่มันมี 2 ทางเลือก ถ้าเราเข้าไปเป็นกับมัน เราจะเกิดการปรุงแต่งจนเกิดความไม่พอใจมากกว่าเดิม หรือถ้าปรุงแต่งไปในทางดีก็เพื่อจะลดความไม่พอใจนั้น ทั้ง 2 อย่างคือ “การปรุงแต่ง”

แต่อีกอย่างหนึ่งคือ “การพ้นจากความปรุงแต่ง” ก็คือรู้ว่ามีอารมณ์นี้เกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่รู้นั้นก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้น เขาเรียกว่ารู้อารมณ์นี้ เรียกว่ารู้จิตใจตอนนี้เป็นยังไง แล้วเดี๋ยวมันก็มารู้สึกตัว ในขณะเดียวกันก็ยังรู้อยู่ว่าตอนนี้มีอารมณ์แบบนี้อยู่ ก็รู้อยู่อย่างนั้นไปๆ มาๆ สลับกันไปมา จนกว่ามันจะดับไป จางคลายไป

แต่บางคนหนี มีอารมณ์ปุ๊ป! หนีเลย เช่น หนีกลับไปอยู่กับลมหายใจ อย่างนี้ก็ไม่ถูก เพราะเรามีกริยาคือรู้… “รู้อย่างที่มันเป็น” ในขณะที่รู้อยู่นั้นก็มีฐานที่มั่นของร่างกายที่เราจะรู้สึกกายด้วย รู้สึกใจด้วย สลับกันไปมาอย่างสมดุล เพื่อจะพ้นจากความคิดปรุงแต่งหรือแรงดึงดูดของอารมณ์นั้นๆ

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเกิดอารมณ์อะไรขึ้นในจิตใจ หรือไม่มีอารมณ์ใดๆ ที่ฉูดฉาดในจิตใจ ก็ยังเหมือนเดิม คือเราก็มีหน้าที่รู้สึกตัว แล้วก็รู้ทันจิตใจ รู้สึกจิตใจ รู้ทันความรู้สึกตัวเอง ยังใช้เครื่องมือเหมือนเดิม ไม่มีโอกาสพิเศษที่จะต้องไม่ใช้เครื่องมือนี้ ไม่มี Tactic (ชั้นเชิง) พิเศษอะไรในการจัดการกับอารมณ์

 

ตอนที่ 3 ถอนตัว

มีเวทนาเกิดขึ้นในร่างกาย ลองถอนตัวออกมา เห็นมันเป็นแค่เวทนาที่เกิดขึ้นในร่างกายเฉยๆ รู้สึก…เป็นความรู้สึกเกิดขึ้นในขาในหลัง…ไม่ใช่เรา ถอนตัวออกมาจากการเป็นผู้รับความเจ็บนั้น เราเป็นแค่สภาพรู้ความเจ็บนั้นไม่ได้เป็นความเจ็บ ถอนตัวออกมาจากการเป็นสภาพเป็นความเจ็บนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องทนมันให้ได้ แต่หมายถึงว่า ฝึกที่จะลองถอนตัวออกมาแล้วมันเป็นยังไง ความเจ็บมันลดลงใช่ไหม… เดี๋ยวมันเข้าไปเป็นใหม่… ลองถอนตัวออกมาอีกทีสิ…ความเจ็บมันลดลงใช่ไหม ฝึกที่จะเห็นความจริงแบบนี้ ฝึกที่จะเห็นว่าสภาพที่ “เห็น” เป็นยังไง สภาพที่ “เป็น” เป็นยังไง มันไม่เหมือนกัน

ถ้าเราเข้าใจแบบนี้เราจะรู้ว่าปรากฏการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายและจิตใจนี้ เช่น เวทนาในร่างกายนี้ เป็นเครื่องมือ จำไว้ ให้รู้สึกว่าเป็นเครื่องมือที่เราจะได้ฝึก ที่จะถอนตัวมาเป็นผู้เห็น อย่าไปคิดว่าเป็นอุปสรรค มันจะเกิดการเรียนรู้ว่าการเป็นผู้เห็นมันต่างจากการเป็นผู้เป็น

ในขณะที่ถอนตัวมาเป็นผู้เห็นได้ ขณะนั้นเกิดอะไรขึ้น? …ก็เกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญาที่รู้ปรากฏการณ์นั้นๆ ตามเป็นจริงได้ครบหมดทุกอย่างใน “ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

การเป็นผู้เห็น นั่นก็คือ “การกลับสู่สภาพตื่นรู้ล้วนๆ” แต่ภาษาครูบาอาจารย์ คือ เป็นผู้รู้ ผู้เห็น ผู้ดู แต่มันก็เป็นแค่การเห็น ไม่เข้าไปเป็นกับมัน เห็นทุกสิ่งตามจริง จะเห็นได้ต้องตื่นรู้ขึ้นมา จะตื่นรู้ขึ้นมาได้ต้องพ้นจากโลกของความคิดปรุงแต่ง จะพ้นได้ ต้องอาศัยเครื่องมือ คือร่างกายและจิตใจนี้ โดยรู้สึกตัว รู้ทันจิตใจ รู้ทันอารมณ์

หายใจแรงขึ้นมาทีนึง เห็นร่างกายนี้มันหายใจได้ไหม? เห็นร่างกายทั้งร่างกายเคลื่อนขึ้นมาได้ไหม บางครั้งจิตใจไม่มีอะไร ก็รู้สึกถึงร่างกายที่กำลังหายใจอยู่เข้าไว้ อย่าจมลงไปในความไม่มีอะไรของจิตใจ หรือความสงบ ความเงียบ ความสบาย ความว่าง

“ตื่นเข้าไว้” พอเรามารู้สึกร่างกายกำลังหายใจอยู่เนี่ย สังเกตให้ดี ที่ว่าไม่มีอะไรจะดู ไม่เคยจะรู้สึกเนี่ย สังเกตไหมเวลาหายใจขึ้นมาทีนึง ความรู้สึกไปตามจุดต่างๆ หรือความรู้สึกอิริยาบถใหญ่ที่กำลังหายใจอยู่  รายละเอียดในการหายใจแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน มันไปรู้สึกตำแหน่งต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน เปลี่ยนไปเรื่อยตามที่มันอยากจะรู้สึก

สังเกตว่าถ้าเรารู้สึกร่างกายอยู่เนืองๆ มันแวบไปคิดได้เหมือนกัน แต่จะรู้ทันได้เร็วมากแล้วก็กลับมาอยู่กับร่างกายอัตโนมัติ ทำไมเป็นแบบนั้น? …เพราะเรามีฐานที่มั่น ใส่ใจกับร่างกายใส่ใจกับเวทนาที่มีอยู่ เห็นความเปลี่ยนแปลงของมัน เห็นความต่างระหว่างเข้าไปเป็น กับถอนตัวมาเป็นการเห็นอย่างเดียว

จิตใจเป็นยังไง? ย้อนกลับไปดูจิตใจบ้าง ที่ว่าเจ็บๆ อยู่ จิตใจเป็นยังไง? จิตใจเกี่ยวข้องกับมันไหม? จิตใจเจ็บด้วยไหม? ย้อนกลับไปดูจิตใจตัวเอง ความเจ็บก็ส่วนความเจ็บไหม? จิตใจก็ส่วนจิตใจไหม? เป็นอันเดียวกันไหม? ลองดูจริงๆ แล้วเรารู้สึกเฉยๆ ไหม? ความรู้สึกทางจิตใจลองดูมีอะไรไหม? ต่อความเจ็บนั้น เวทนากำลังเพิ่มขึ้น สังเกตจิตใจ เกี่ยวกับมันไหม?

เพราะฉะนั้น เรานั่ง ไม่ใช่นั่งเพื่อให้เวทนามันหายไป แต่เรานั่ง เพื่อจะเห็นความเป็นจริงว่าเวทนานี้ มีอยู่ เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไป ขึ้นได้ ลงได้ และเมื่อเกิดการเข้าไปจับเวทนานั้น ความทุกข์ก็จะมาแบบ 100% แต่เมื่อเกิดการถอนตัวจากเวทนานั้น ความทุกข์ก็จะลดลงไป 50% เพราะไม่มีเราเข้าไปจับ เห็นตามเป็นจริงแบบนั้น เวทนามีเพื่อให้เราเห็นตามเป็นจริงแบบนั้น ไม่ใช่มีเพื่อจะนั่งให้มันหายไปให้มันดับไป มันอาจจะหายไปหรือดับไปก็ได้ ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน แต่ให้เราเข้าใจการเห็นแต่ไม่เป็นตรงนี้ ไม่ต้องรอจนมันดับ ฝึกที่จะเห็นแต่ไม่เป็นตรงนี้ ฝึกได้เลย

การที่เราฝึกที่จะเห็น เมื่อมันเปลี่ยนแปลงหรือมันดับไปในที่สุด ก็เกิดการเห็นตามเป็นจริง เห็นเหมือนเราอยู่บนบก ก็จะเป็นการเข้าใจไตรลักษณ์ เข้าใจการเกิดดับได้จริง

เราฝึกทั้งหมดทั้งมวล เราต้องฝึกที่จะตื่นขึ้นมาก่อน แล้วผลลัพธ์แห่งการเห็นวิปัสสนา เห็นไตรลักษณ์ เห็นเกิดดับ มันถึงจะเห็นได้จริง

 

10-12-2561

Camouflage

 

YouTube :  https://youtu.be/H85fFwcsRUU

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S