120.เห็นตามความเป็นจริง 2

ตอนที่ 1 เห็นตามความเป็นจริงจึงหลุดพ้น

เราลองทิ้งความรู้ทั้งหมด ความรู้ทั้งหลายในเชิงปริยัติ แล้วเหลือแค่รู้สึก…แค่รู้สึก… แค่รู้สึกนี่แหละมันจะแสดงความจริงออกมาในที่สุด

ทุกคนน่าจะเคยเป็นเวลาเราหิวธรรมะ เราอยากได้ความรู้ความเข้าใจทางธรรมะ เราอยากฟัง เราอยากอ่านอะไรที่มันเด็ดๆ เจ๋งๆ ที่มันสุดยอด เหล่านักปฏิบัติธรรมทุกคนก็คงเคยเป็น แต่ให้เราเตือนตัวเองไว้ว่า ธรรมะที่แท้จริงนี้มันเกิดขึ้นจากการที่เรา “แค่รู้สึกกาย รู้ทันจิตใจ” นี่แหละ

เราอยากได้สัมผัสความรู้สึกว่ามันเจ๋ง มันลึกซึ้ง เราลงทุนด้วยการปฏิบัติธรรมด้วยตัวเอง ไม่ต้องเสียเวลาไปอ่านของคนอื่น ไปฟังคนอื่น ถ้าไปอ่านของเขาไปฟังของเขา มันก็เป็นของเขาอยู่ดีไม่ใช่ของเรา แล้วคำพูดไม่สามารถอธิบายความจริงได้ เราก็เข้าใจได้แค่ความคิดของเรา ต่อให้คนที่พูดอธิบายดีแค่ไหน เราก็เข้าใจได้แค่ความคิดของเรา เพราะฉะนั้น มันแทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเท่าไหร่ แต่เราอ่านเราฟังเพื่อให้จิตใจนี้มีความชุ่มชื้น มีพลังใจที่จะปฏิบัติธรรมต่อไปอันนี้โอเค…เป็นอุบายเหมือนกัน

เคยมีคนถามพระพุทธเจ้าว่า คนที่ไม่มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ จะเรียกว่าเป็นผู้หลุดพ้นได้อย่างไร? ไม่รู้วาระจิตคนอื่น ไม่รู้ความคิดคนอื่นเหล่านี้ ไม่รู้อดีต ไม่รู้อนาคต จะถือว่าเป็นผู้หลุดพ้นได้ยังไง?

พระพุทธเจ้าตอบว่า มีแต่ผู้ที่มีปัญญาเห็นตามความเป็นจริงเท่านั้นถึงจะเป็นผู้หลุดพ้น ท่านอธิบายต่อว่า เห็นตามความเป็นจริงยังไง? โดยสรุปก็คือว่า เห็นสภาวะใดๆ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าเห็นได้ตามนี้จึงจะเรียกว่าเป็นผู้ที่หลุดพ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะปฏิบัติธรรมแล้วมีสภาวธรรมวิเศษยังไง สุขขนาดไหน ว่างขนาดไหน ถ้าเราไม่มีความรู้ความเห็นในมุมของไตรลักษณ์ตามที่พระพุทธเจ้าบอก อาจจะต้องสงสัยว่าเราอาจจะยังไม่หลุดพ้นก็ได้ เพราะว่าเรายังไม่มีปัญญาเห็นตามความเป็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าบอก

เพราะฉะนั้น ในหนังสือเล่มใหม่เรื่อง “ปฏิบัติธรรม ง่าย กว่าที่คิด” ผมถึงได้เขียนบทส่งท้ายเรื่อง “ไตรลักษณ์ราวกันตก” ตลอดทางของการปฏิบัติธรรมเราจะได้เห็นความจริงอันนี้ ประตูสู่ญาณข้ามโคตรนั้นเราจะเห็นผ่านมุมของไตรลักษณ์ เห็นผ่านความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ หรือความว่างจากความเป็นสัตว์ ตัวตน บุคคลเรา เขา อนัตตา

ก่อนจะไปถึงตรงนั้น จิตใจต้องมีความเป็นกลางก่อน ความเป็นกลางเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่าเราเห็นทุกสภาวะตามความเป็นจริงว่ามันตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ มันถึงเป็นกลางต่อทุกสภาวะได้ จะไม่ว่างเราก็เป็นกลางกับมันได้ จะว่างเราก็เป็นกลางกับมันได้

 

ตอนที่ 2 การถือศีล มีความจำเป็นมาก

การไม่ทำตามกิเลสเป็นบารมีอันใหญ่มาก เหมือนเราจะส่งจรวดออกไปนอกโลกต้องใช้เชื้อเพลิงมาก การไม่ทำตามกิเลสนี้เป็นเชื้อเพลิงของเรา คุณธรรมทั้งหลาย ความเสียสละ ความไม่เห็นแก่ตัว ความมีใจเมตตาอ่อนโยนเหล่านี้ มีแนวโน้มไปในทางการมีเชื้อเพลิงที่พร้อมจะออกไปนอกโลก รวมทั้งการมีศีล…ศีลข้อที่เสียพลังงานที่สุดคือการพูด ถ้ารู้จักควบคุมการพูดให้ได้ ชีวิตจะดีขึ้นเยอะ เราทำกรรมอะไรไว้ต้องรับ ขยันพูดอะไรไม่ดีต้องรับกรรม เพราะฉะนั้น ดีที่สุดไม่ต้องพูด ปลอดภัยที่สุด

เวลาบาปกรรมมันปิดบัง มันไม่มีใครช่วยเราได้จนกว่าแรงของบาปกรรมนั้นจะหมด ถ้าใครเคยรู้สึกถึงอิทธิพลของบาปกรรมนั้นมันหลุดไปเราจะรู้เลยว่า โอ้โห! มันปิดบังจริงๆ แล้วเราไปพูดชั่วกับคนที่บริสุทธิ์มีคุณธรรมนี้ มันก็ยิ่งแล้วใหญ่

ทำไมทำบาปกับพระอรหันต์ บาปกว่าทำบาปกับคนธรรมดา ก็ในเมื่อพระอรหันต์ไม่มีโกรธแล้ว คำตอบคือ ก็เพราะพระอรหันต์เป็นคนที่มีจิตใจบริสุทธิ์ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นคนดีขนาดนั้นแล้วยังมีคนคิดชั่วพูดชั่วให้ได้นี่แปลว่าคนนั้นต้องชั่วขนาดไหน ต้องใจดำขนาดไหน เพราะฉะนั้น มันก็เลยเป็นบาปที่หนักในตัวเองไม่เกี่ยวกับพระอรหันต์ เป็นความมืดดำ อกุศลของตัวเองที่สัมพัทธ์กับความบริสุทธิ์ของพระอรหันต์ แต่เราห้ามความคิดไม่ได้ จิตมีธรรมชาติตามอวิชา ตามนิสัยความเคยชินที่สะสมมา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าถึงให้เราถือศีล นี่คือความจำเป็น ความรอบคอบของพระพุทธเจ้าว่าทำไมเราต้องมีศีล

ศีล 5 คือเรื่องของกาย เรื่องของวาจา ท่านบอกเราไว้หมดแล้ว ท่านปกป้อง ป้องกันเราไว้อย่างดีเลย มันอยู่ที่เราจะมีศีลไหม หรือเราจะทำตามความพอใจ ความอยาก ความเคยชิน…ฉันอยากพูด ฉันต้องพูดมันเป็นเรื่องจริง…มันเป็นเรื่องจริงตามความคิดของเราคนเดียว ถ้าเราทำตามกิเลสเราจะได้ความเคยชินเก่าที่เพิ่มขึ้น แถมกับบาปที่จะได้รับ…ได้ 2 เด้ง ถ้าเราอดทนไม่ทำตามกิเลสเราจะได้ความเคยชินใหม่ เราจะได้บารมีที่เพิ่มขึ้น…ได้ 2 เด้งเหมือนกัน …เลือกเอาเอง

 

ตอนที่ 3 ปฏิบัติแล้วยากเพราะอะไร?

ให้เราเข้าใจง่ายๆ ว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนความสนใจ จากที่สนใจเรื่องนอกตัวก็แค่เปลี่ยนมาสนใจกายกับจิตนี้แค่นั้นเอง ชอบดูคนอื่นก็เปลี่ยนมาดูตัวเอง ชอบดูคนอื่นเดินก็เปลี่ยนมาดูตัวเองเดิน ชอบอยากรู้ว่าเขาคิดยังไงก็เปลี่ยนมาอยากรู้ว่าตัวเองคิดอะไร เปลี่ยนมาสนใจว่าตัวเองกำลังคิดอยู่หรือเปล่า เราอย่าไปวาดภาพการปฏิบัติว่ามันเป็นอะไรที่มันต้องทำอะไร เราแค่เปลี่ยนความสนใจ ใช้คำนี้ “เปลี่ยนความสนใจเฉยๆ”… แล้วมันจะเป็นธรรมชาติ มันจะไม่พยายามจะทำอะไร มันไม่รู้สึกว่าจะต้องได้อะไร เดินไปแล้วก็เห็นร่างกายนี้มันกำลังเคลื่อนไหวอยู่ ใช้ได้หลายคำ แค่รู้สึกก็ได้ เห็นไอ้ตัวนี้มันเดินอยู่ก็ได้ มันอยู่ที่เราชอบคำไหน เราก็เอาสักคำแล้วกัน คนสอนก็พยายามจะหาคำพูดที่มันเข้าใจง่ายๆ เลยต้องใช้หลายคำ

เราเดินไปเดินมา เราเห็นร่างกายมันเดิน รู้สึกถึงว่าร่างกายนี้มีความเคลื่อนไหวอยู่ เดี๋ยวจิตใจก็เปลี่ยนแปลงก็รู้ได้ รู้สึกได้ว่าความรู้สึกในใจเปลี่ยนแปลงแล้ว จากปกติอยู่ก็ไม่ปกติ จากเฉยๆ ก็ดิ้นรน เดี๋ยวแวบๆ ก็เบื่อ เดี๋ยวแวบๆ ก็ขี้เกียจ เดี๋ยวแวบๆ ก็สงสัยเอ๊ะ! ถูกหรือเปล่า อะไรก็ได้ที่มันกำลังเกิดขึ้นอยู่…เราก็รู้ มันก็ดูง่ายๆ แต่มันก็ไม่ง่ายเท่าไหร่ แต่ที่ว่ายากเลยก็คือว่าพอเราอยากจะให้มันเป็นอย่างที่เราคิดเนี่ยอันนี้จะยากเลย เพราะเรากำลังจะทำสิ่งที่บังคับควบคุมไม่ได้ให้มันบังคับควบคุมได้ มันต้องยากแน่นอน เรากำลังฝืนธรรมชาติ แล้วมันยากก็ต่อเมื่อว่าเราอยากก้าวหน้า เราอยากดีกว่านี้ มันควรจะเจริญมากกว่านี้ ชีวิตก็เริ่มยากแล้ว

ถ้าเราได้สร้างสิ่งแวดล้อม สร้างเหตุเต็มที่แล้ว เราก็พอใจกับผลที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่ไปพยายามจัดการแทรกแซงแก้ไขอะไรเพิ่มเติมเข้าไปอีก เมื่อไหร่ที่จิตใจมีความรู้สึกแบบนั้นมันจะดิ้นรน มันจะผิดปกติ มันจะทุกข์ แล้วเราก็ห้ามไม่ได้

ความเป็นคนเนี่ยมันอยากได้อะไร? มันอยากก้าวหน้า เราห้ามอวิชาไม่ได้ เรารู้ทันได้อย่างเดียว เพราะฉะนั้น รู้ทันสะ ไม่ใช่พยายามจะทำตามมัน

 

ตอนที่ 4 ต้องอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ถึงจะดี…จริงหรือ?

บางคนนักปฏิบัติคิดว่ากูต้องอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ มีอะไรติดอยู่จะได้บอกเราได้ มันก็เหมือนดี คำว่า “เหมือนดี” แปลว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ถ้าจิตใจนี้ติดอะไรอยู่ แล้วบอกให้ไปทำอะไรที่จะแก้ไขมันได้ อัตตาจะเกิดขึ้น เราจะมีความเชื่อในใจเลยว่า ติดนี่ไม่ดีและแก้ไขได้จัดการได้ แต่ในประสบการณ์ผมโดยส่วนใหญ่ การติดอะไรก็จะเป็นทุกข์ และนั่นคือประตูสู่ธรรมะ เราต้องอดทนเพียงพอที่จะให้ความทุกข์นั้นแสดงความจริงออกมา แล้วความเข้าใจ ความจริงทั้งหลายมันจะเข้าไปในเลือดในกระดูกเรา ด้วยความทุกข์ ด้วยการติดอะไรๆ นั่นแหละ

เรานึกว่าไม่ติดนี่มันดี…ดีเหมือนกัน ดีที่มันไม่ทุกข์ไง แต่ดีไม่พอที่จะเกิดปัญญา ถ้าเราไปแก้ไขมัน เหมือนทหารที่เอาแต่ซ้อมรบ…ซ้อมทั้งชีวิตไม่เคยเจอศัตรูจริงๆ เลย เพราะมีแม่ทัพบอกว่า เออ! มึงไม่ต้องออกไปหรอก เดี๋ยวมึงตาย มันก็มีความสุขทั้งชีวิตนั่นแหละ เพราะมันอยู่ในค่ายอย่างเดียว ซ้อมรบจนแก่ไม่ได้ออกรบสักที เหมือนแม่นกกับลูกนก…ลูกนกมันมีปีก ใหม่ๆ มันก็บินไม่ค่อยได้ บินแล้วก็ตก บินแล้วก็ตก แม่มันก็ต้องยอม เจ็บก็ต้องยอม ถ้ามันไม่เจ็บมันบินไม่ได้ เนี่ยธรรมชาติเป็นแบบนี้

เราต้องลืมความรู้อะไรทั้งหลายที่เราว่าดีๆ ทิ้งมันไปก่อน เรารู้สึกว่าไม่ติด ไม่ยึดมั่นถือมั่นนี่ดี ปล่อยวางนี่ดีอย่างนี้กูเอาเลย เพราะฉะนั้น มันก็คิดไปต่อว่า กูจะอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ดี มันจะได้ไม่ต้องติด ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น มีคนบอกเรา… เราก็เป็นลูกแหง่ตลอดชีวิต

เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่ซ้อมรบ แล้วก็ออกรบ “เผชิญความจริงด้วยตัวเอง” เห็นตามความเป็นจริงเข้าไปเรื่อยๆ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเปิดเผยออกมา จะค่อยๆ เปิดเผยออกมา เราจะเข้าใจถึงคำว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรเลย ที่เราฝึกจะมีสติ จะมีสมาธิ จะมีปัญญาทั้งหลาย เราไม่ได้เป็นเจ้าของมันเลยสักอย่างเดียว

เห็นตามความเป็นจริง… อย่าลืมที่ผมบอก จิตที่หลงไป มันก็แสดงความจริง อย่าไปรังเกียจมัน เพราะธรรมชาติของจิตเป็นแบบนั้น ถ้าเราเข้าใจตามนี้ เราจะไม่พยายามจะทำอะไรให้มันดีขึ้นกว่านี้ หรือพูดในอีกมุมหนึ่ง พระพุทธเจ้าบอกว่า “จิตนี้เกิดแล้วดับสืบเนื่องกันไป เกิดที่ไหนดับที่นั่น” ยกตัวอย่าง เราเดินอยู่นี่ มันมีความรู้สึกตัวอยู่ใช่ไหม เห็นร่างกายมันเดินอยู่ใช่ไหม แล้วอยู่ดีๆ มันก็วูบไปคิดโดยที่เราไม่ทันรู้ตัวเลยว่ามันไปตอนไหน ความเป็นจริงมันไม่ได้ไปจริง เพียงแต่จิตที่กำลังรู้สึกตัวอยู่นี้มันดับแล้วมันไปเกิดอยู่ที่ความคิด เรารู้อีกทีคือมันเกิดที่ความคิดแล้ว มันไปเกิดเป็นความคิดเราก็รู้ ถือว่าเรารู้ตามความเป็นจริงเหมือนกันถูกไหม เพราะฉะนั้น มันไม่ได้เลวร้ายอะไร เรามารู้มันก็ดับแล้วค่อยมาเกิดที่ความรู้สึกตัวอีกครั้งหนึ่ง แล้วเดี๋ยวมันก็ต้องดับอีก แล้วก็ไปเกิดที่อื่นต่อ

ถ้าเราใช้ทฤษฎีข้อสรุปที่พระพุทธเจ้าบอกไว้อันนี้มาเป็นข้อเตือนใจในการปฏิบัติธรรมก่อนก็ได้ เราจะได้รู้ว่าขณะที่กำลังรู้อยู่ ไม่ว่าจิตนี้มันจะรู้สึกตัวหรือมันจะหลงอยู่ในความคิด แต่มีจิตที่รู้อยู่ นั่นเราได้ปฏิบัติธรรมแล้ว เราเห็นตามความเป็นจริงแล้ว ชีวิตก็ง่าย เพราะฉะนั้น เราโชคดีที่เราได้ใช้ความจริงที่พระพุทธเจ้าค้นพบแล้ว สรุปมาให้เราฟังแล้วมาใช้ในการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมของเราก็จะง่ายขึ้นเยอะบนพื้นฐานของความจริงที่พระพุทธเจ้าบอกเราไว้ก่อนแล้ว

 

29-06-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/znUyCPqasQg

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S