119.เห็นตามความเป็นจริง

ตอนที่ 1 ความผิดพลาดอันใหญ่

ปล่อยวางความรู้ทุกอย่าง ปฏิบัติธรรมให้เหมือนไม่เคยรู้จักคำว่าปฏิบัติธรรม เหลือแค่รู้เห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริงในแต่ละขณะ กายเป็นยังไง จิตใจเป็นยังไง ก็รู้เห็นสภาพลักษณะของมันตามความเป็นจริง มันจะดี มันจะร้าย มันจะติด มันจะยึด มันจะเป็นอะไรก็ตาม เรามีหน้าที่แค่รู้เห็นตามความเป็นจริงแค่นั้น

แต่เพราะความรู้ทั้งหลายที่เราเคยได้ยินได้ฟังได้อ่านได้เรียนมา เช่น ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ต้องปล่อยวาง มันจึงมีเราที่พยายามจะทำแบบนั้น พอมันยึดอะไรเข้าก็พยายามปล่อย พยายามวาง นั่นคือ ตัวเราที่ซ้อนเข้าไปอีก เราตกจากการรู้เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง เราจะเอาดีตามที่เราเรียนมา ตามที่เราฟังมา ตามที่เราอ่านมา อันนี้คือ ความผิดพลาดอันใหญ่มากของนักปฏิบัติธรรม

เราชอบของดี เราไม่ได้ชอบเห็นตามความเป็นจริง มันยึดนี่ไม่ดี เราเลยจะวาง…เห็นมั้ย เห็นอัตตาที่มันยิ่งใหญ่อันนี้มั้ย จิตใจเป็นแบบนี้ไม่ดี เราจึงจะแก้ไข อยากทำให้มันดี จิตใจมันไม่ว่าง เราอยากทำให้มันว่างเพราะว่าฟังมาว่างนี่มันดี จิตใจฟุ้งซ่าน เราอยากให้มันสงบเพราะฟังมาว่าสงบนี่มันดี เราเอาแต่ดี เราไม่ได้เห็นตามความเป็นจริงเลย เราทำทุกอย่างเพราะหวังว่าเราจะได้ดี มันมีแต่เราตลอดทางอยู่ข้างหลัง เราไม่เข้าใจว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรทั้งนั้น แม้กระทั่งจิตนี้มันทำงานตามกรรมตามอวิชาที่มันมี มันปรุงแต่งตามความเคยชินที่มันมี

มีคนเคยมาถามว่า ทำไมปฏิบัติธรรมไปแล้ว จิตใจเศร้าหมองหดหู่ ปฏิบัติผิดหรือเปล่า ถ้าเราเข้าใจว่า “จิตเป็นอนัตตา” เป็นไปตามเหตุปัจจัย ปรุงแต่งด้วยตัวของมันเองไม่เกี่ยวกับเรา เราจะรู้ว่าเป็นเรื่องปกติ ก็รู้ไปเป็นแบบนั้น มันทำเอง มันไม่เกี่ยวกับเราเลย เราแค่รู้ว่ามันเป็นแบบนี้ จิตมีกรรมมีวิบากของมันเอง แต่ที่มันไม่จบเพราะว่าเราไปยุ่งกับมันนี่แหละ

ผมเคยเห็นจิตมันกลัว…มันกลัวด้วยตัวมันเอง ผมอยู่สบายดีแต่จิตมันกลัว กลัวอะไรก็ไม่รู้ ทำไมมันมีความกลัวแบบนั้น เพราะมันมีเชื้อที่จะปรุงแต่งความกลัวได้ มันก็ปรุง แต่ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติของจิต เราจะเป็นไง จิตตก กลัวอะไรเนี่ย…จะมีอะไรเกิดขึ้นกับเราไหม จะมีโชคไม่ดีเกิดขึ้นกับเราไหม ถ้ามันจะมี ก็เป็นเรื่องของอีก ก็เป็นกรรม ต้องรับ แต่ไม่ต้องเป็นเจ้าของ เรารับกรรมแต่ไม่ต้องเป็นเจ้าของ

 

ตอนที่ 2 ลองมาปฏิบัติธรรม…ท้าทายกว่ากันเยอะ

ถ้าเรายิ่งปฏิบัติธรรม เราจะยิ่งค้นพบว่าสิ่งที่น่าตื่นเต้นในโลกเปรียบเทียบอะไรไม่ได้กับสิ่งที่เราจะได้เจอในการปฏิบัติธรรม การได้รู้ได้เห็นความจริงในกายในใจนี้เป็นสิ่งที่อ่านเอาไม่ได้ ฟังเอาไม่ได้ เหมือนเราเข้าไปในป่าลึก ผจญภัย เราได้พบสิ่งที่เราไม่เคยพบ ได้เห็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็น ได้รู้สิ่งที่เราไม่เคยรู้ แล้วก็เป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตัวเอง

ความตื่นเต้นเร้าใจในโลกถ้าจะเปรียบเทียบมันสู้ความตื่นเต้นเร้าใจในการที่เราได้เข้าใจตามความเป็นจริงในกายในจิตนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้เลย ความตื่นเต้นในเรื่องทางโลกมันก็คล้ายๆ กัน ไปเที่ยวเอ็มโพเรียมหรือไปเที่ยวพารากอนมันก็คล้ายๆ กันนะ ตื่นเต้นไม่ต่างกันเท่าไหร่ มันเป็นรูปแบบเดียวกัน Pattern ความสุขที่คล้ายๆ กัน แต่ความลึกซึ้งในการเข้าใจกายและจิตนี้ตามความเป็นจริงเป็นเรื่องน่าสนใจกว่าเยอะ น่าสนใจจนอยากจะเชิญชวนคนในโลก คนเก่งๆ ทั้งหลายในโลกที่อยากจะทำสิ่งนี้สิ่งนั้นที่มันดู Challenge จริงๆ แล้วมีสิ่งที่ท้าทายกว่านั้นเยอะ คือ “การปฏิบัติธรรม” คนเก่งๆ ในโลกที่รู้สึกว่าตัวเองพิชิตได้ทุกอย่าง ประสบความสำเร็จทุกอย่าง ลองมาปฏิบัติธรรม…ท้าทายกว่ากันเยอะ

เข้าใจได้ไหม…การรู้ซื่อๆ การเห็นตามความเป็นจริง การไม่ทำอะไร การใช้ชีวิตที่อยู่เหนือทั้งดีทั้งชั่ว ออกไปพ้นจากกรอบของคู่ทั้งหลาย รู้จักความอิสระที่แท้จริงของชีวิต รู้จักอะไรที่ทำให้ชีวิตนี้เป็นทุกข์ รู้จัก Pattern หรือรูปแบบของชีวิต ถ้าเรารู้จัก Pattern หรือรูปแบบของชีวิตหรือของสรรพสิ่งได้ มันก็ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นแล้ว เปรียบเสมือนเราดูมายากล ตราบใดที่เรายังไม่รู้จักกลนั้น เราก็ยังตื่นเต้นอยู่ เรายังสงสัยอยู่ มันทำได้ยังไง แต่เมื่อไหร่เขาโชว์ออกมาว่า กลมันเป็นแบบนี้ ทุกอย่างจะจบลง นี่คือการเห็นตามความเป็นจริงได้ เมื่อเห็นตามความเป็นจริงได้ กลนั้นก็หมดความหมาย หลอกเราไม่ได้อีกแล้ว

พุทธเจ้าสรุปรูปแบบของชีวิตให้เราแล้วว่า มันตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ เห็นทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจบลงที่ไตรลักษณ์ แล้วเราจะไม่ถูกหลอก เราจะไม่ถูกอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความปรุงแต่งใดๆ หลอกเราได้

 

ตอนที่ 3 คลื่น

ผมเคยบอกว่า สถานที่นี้จะศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้ก็ด้วยพวกเรา วันนี้สถานที่นี้ศักดิ์สิทธิ์แล้ว เพราะเราภาวนากัน สถานปฏิบัติธรรมจะเป็นสถานปฏิบัติธรรมได้ ไม่ใช่แค่ตั้งชื่อ ไม่ใช่แค่ติดป้าย ขึ้นอยู่กับคนที่มาอยู่ หัวใจของคนที่มาอยู่ หัวใจเราสงบร่มเย็น สถานที่นั้นก็จะมีพลังงานของความสงบร่มเย็น

จะเห็นว่าเราไม่ได้ทำอะไร “นอกจากปฏิบัติตัวเอง” เราไม่ต้องการไปจัดการอะไรภายนอก เราปฏิบัติตัวเอง แล้วมันกระจายไปสู่ภายนอกเอง “ฝึกตัวเอง” เมื่อเราสร้างเหตุที่ถูกต้อง ผลจะเกิดขึ้นตามเหตุที่ถูกต้องนั่นเอง ไปเอง

จิตใจเองก็เป็นรูปแบบของนามธรรมอย่างหนึ่ง มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยง่ายๆ เหมือนน้ำที่มีคลื่น ยามที่ลมไม่พัดมา มันก็นิ่ง ยามที่ลมพัดมา แรงดึงดูดระหว่างขั้วแม่เหล็กโลกอะไรต่างๆ ที่เป็นเหตุเกิดขึ้น คลื่นก็เกิดขึ้น เมื่อคลื่นเกิดขึ้น คลื่นนั้นก็ดับไป ไม่มีคลื่นลูกไหนที่อยู่ตลอด มันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนแสดงลีลารูปแบบต่างๆ ตามเหตุตามปัจจัย มีแต่เรานั่นแหละที่หลงผิด เอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาเป็นของเรา เอาความสุขมาเป็นของเรา เอาความทุกข์มาเป็นของเรา เอาความเศร้าเสียใจหดหู่มาเป็นของเรา เราไปเป็นเจ้าของคลื่น

เราเรียกคลื่นเพราะมันม้วนขึ้นมาจากน้ำ แต่ความจริงของคลื่นนั้นมันคือน้ำ แต่เราไปยึดคำว่าคลื่นมา เหมือนทุกสภาวะทางจิตใจตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ แต่เราไปยึดเอาว่า อันนี้ความสุข อันนี้ความทุกข์ ชอบไม่ชอบ เอาไม่เอา เราไม่ได้เข้าใจว่า ทั้งหมดตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ เราไปสนใจคำว่า คลื่น โดยที่ไม่สนใจว่าจริงๆ มันคือน้ำ ที่เปลี่ยนรูปร่างเฉยๆ

เราถูกคลื่นหลอกเรามาทั้งชีวิตแล้ว เราอาจจะยังเป็นทาสของมันอยู่ เราอาจจะยังดีใจหรือเสียใจไปกับคลื่นเหล่านั้นอยู่ เราอาจจะมีความสุขมีความทุกข์กับคลื่นต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราอยู่ แต่อย่างน้อยขอให้เรารู้ไว้ว่า เราจะไม่ถูกมันหลอกอีก

เรายังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความสุขและความทุกข์อยู่ เราก็รู้ว่าตอนนี้เป็นแบบนี้ แต่เราจะไม่ถูกหลอกเหมือนเดิม เราจะไม่ถูกหลอกว่าคลื่นนั้นเป็นคลื่นจริงๆ แม้ว่าเราทุกข์เพราะมัน หรือสุขเพราะมัน แต่หัวใจที่ไม่ถูกหลอกแล้ว เรารู้ว่ามันจะต้องเปลี่ยนแปลง มันจะต้องทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ไม่ว่าคลื่นนั้นจะใหญ่หรือเล็กหรือจะเป็นสึนามิก็ตาม มันก็เป็นแค่น้ำ จะคลื่นใหญ่คลื่นเล็กหรือสึนามิ ตัวเนื้อแท้ของมันหรือหัวใจของมันคือ “น้ำ” สภาวะไม่ว่าจะสุขทุกข์ฉูดฉาดรุนแรงขนาดไหน ตัวเนื้อแท้ของมันหรือหัวใจของมันคือ “มันตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์” มันเกิดขึ้นและดับไป เข้าไปถึงความจริงถึงแก่นของมัน ไม่ไปหลงอยู่กับความปรุงแต่งนั้นๆ มายานั้นๆ มันเป็นแค่ภาพลวงตา

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคลื่นลูกใหญ่หรือลูกเล็ก สภาวะอารมณ์ความรู้สึกใดๆ ไม่ว่ามันจะใหญ่หรือมันจะเล็ก เราต้องมองทะลุผ่านมันเข้าไปถึงแก่นของความจริงให้ได้ แล้วคลื่นนั้นจะสงบลง อารมณ์ความรู้สึก สภาวะใดๆ จะขาดสะบั้นลงไป นี่คือ “พลังของความจริง

มันเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่ไม่อัศจรรย์ เปรียบเทียบเหมือนเราเข้าใจผิดใครซักคนนึง เราก็หลงเป็นจริงเป็นจัง แต่พอได้รู้ความจริงว่า อ๋อเขาไม่ได้เป็นแบบนั้น เขาไม่ได้พูดแบบนั้น เขาไม่ได้ทำแบบนั้น ความโกรธทั้งหลายก็มลายหายสิ้นเลย นี่คือ ธรรมชาติของจิต เมื่อมันได้เห็นหรือได้รู้ตามความเป็นจริง มันอัศจรรย์ตรงที่ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาบอกเรา เราไม่รู้ แต่มันก็ไม่อัศจรรย์ตรงที่มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา ให้ทะลุทะลวงม่านมายาเหล่านั้นเข้าไปให้ถึงความเป็นจริงให้ได้ ใช้บารมีเยอะ ใช้ความอดทนเยอะ ใช้ความตั้งมั่นเยอะ ใช้ทั้งชีวิตของเรา

 

ตอนที่ 4 เห็นตามความเป็นจริง

คำสั้นๆ ว่า “เห็นตามความเป็นจริง” นี่คือ หัวใจของศาสนาพุทธ ไม่ว่าเราจะปฏิบัติธรรมแบบไหนก็ตาม ถ้าเราไปเข้าใจการปฏิบัติธรรมหรือสิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่นอกเหนือจากการเห็นตามความเป็นจริง ให้เรารู้ว่านั้นไม่ใช่หัวใจของศาสนาพุทธ

เราลองนึกย้อนไปในอดีต เราเคยเข้าใจการปฏิบัติธรรมว่าเป็นอะไร ทำให้จิตสงบ ให้ไม่ยึดมั่นถือมั่น ให้เป็นคนปล่อยวาง ให้จิตมันโปร่งโล่งเบา ให้จิตมันว่าง หรือให้มันเป็นอะไรก็ตามทีที่เราเคยไปอ่านไปฟังมา เห็นไหมว่าทั้งหมดที่เราเคยคิดนั้นไม่ใช่หัวใจของศาสนาพุทธเลย

มีคนเคยถามครูบาอาจารย์ว่า ตัวเองเป็นคนชอบประคองจิตให้มันดี ให้เป็นผู้รู้ ไม่มันหลง แล้วก็ถามว่า หนูต้องไปเห็นความอยากดีใช่ไหม ท่านตอบว่า เห็นความไม่ชอบที่ตัวเองประคองจิต สังเกตไหมว่าตรงนี้มีนัยยะ เรามักจะหาเป้าหมาย หากิเลสดู เช่น มีความอยากดีมากก็เลยคิดว่าเราจะต้องเห็นความอยากดี นี่มันตั้งเป้าไว้ก่อน พอตั้งเป้าปุ๊บมันจะคอยดูสิ่งที่มันตั้งเอาไว้ แต่ในความเป็นจริงในคำตอบของครูบาอาจารย์ท่านตอบว่า เห็นความไม่ชอบที่มีการเข้าไปประคองจิต นั่นคือนัยยะ คือ ท่านให้เห็นตามความเป็นจริงในขณะนั้นๆ ความเป็นจริงในขณะนั้นๆ คือไม่ชอบ ไม่พอใจ ถ้าเรารู้หัวใจอันนี้เราไม่ต้องถามใครเลย

เราอย่าไปคิดว่ามันลึกลับซับซ้อน ภาษาเขาบอกตรงๆ นะว่า “เห็นตามความเป็นจริง” ไม่เคยพูดเลยว่าต้องเห็นมันในกระบวนท่าที่ยากกว่าเห็นตามความเป็นจริง

หลวงปู่ดูลย์ท่านพูดว่า “จงทำญาณเห็นจิต ดั่งตาเห็นรูป” เหมือนตาเห็นรูปคือ ตาเห็นอะไรมันก็อย่างนั้น มันไม่ต้องทำความเข้าใจอะไรเลยใช่ไหม ตาเห็นยังไงก็เห็นอย่างนั้นเลยนี่คือการปฏิบัติธรรม

เราพูดถึงสติ เราพูดถึงความรู้สึกตัว เราพูดถึงความหลง มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะรู้สึกว่าเราอยากมีสติบ่อยๆ เราอยากรู้สึกตัว เราไม่อยากหลง แต่ความอยากและความไม่อยากเหล่านั้น เราต้องรู้ว่า มันเป็นหลุมพราง ผมถึงบอกตลอดว่า “เรามีหน้าที่แค่รู้เท่าที่รู้ได้

จิตที่หลงไปเราบอกว่ามันไม่ดี แต่นั่นคือ ความจริง เราเห็นว่ามันหลงไป นั่นคือการเห็นตามความเป็นจริงแล้ว เราได้ปฏิบัติธรรมแล้ว แต่ด้วยสมอง ด้วยอัตตา ด้วยความอยากดี พอมันหลงไป เราไม่ชอบ มันไม่ดี ต่อไปนี้เราจะ “ทำ” ความรู้สึกตัว เราจะไม่ให้มันหลง แล้วความผิดพลาดก็เกิดขึ้นในที่สุด

อย่าลืมที่ผมบอกว่า “เรามีหน้าที่แค่ไม่ทำสิ่งที่ไม่ต้องทำ” เช่น เล่นโทรศัพท์ ทำอะไรฟุ้งซ่าน แล้วความอยู่กับเนื้อกับตัว ความรู้สึกตัว สติมันจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเอง เพราะหัวใจของเราเนี่ยมันพร้อมจะปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว ถ้าเราไม่หลงไปฟุ้งซ่าน ไม่ไปทำกิจกรรมที่ฟุ้งซ่าน มันต้องเกิดสิ่งที่ตรงกันข้ามแทน มันเป็นเหตุปัจจัย เราไม่ต้องพยายาม

เราแค่อดทนอย่าทำตามกิเลสแค่นั้น ความขยันส่วนเกินที่อยากจะมีสติ อยากจะรู้สึกตัว อยากจะทำให้มันดี ให้เอาพลังงานเหล่านั้นมาแปรเปลี่ยนเป็นความอดทนจะดีกว่า อดทนที่จะไม่ไปทำเรื่องที่ตามใจกิเลส ตามใจความฟุ้งซ่านของตัวเอง เอาพลังงานส่วนเกินเหล่านั้นมาเป็นขันติบารมี แล้วการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องจะค่อยๆ เกิดขึ้นเอง เราจะทำหน้าที่ มีวินัย มีความแยบคายในการปฏิบัติธรรม อย่างนี้โอเคแล้ว

 

29-06-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/uenYxAT-iQM

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S