118.กรรม

ตอนที่ 1 กิเลส กรรม วิบาก

ชีวิตเราทุกคนมีรูปแบบอันเดียวกัน ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจตามนี้ ฟังให้ดี…ชีวิตเราทุกคนมีรูปแบบเดียวกัน คือ มีกิเลส กรรม วิบาก พิจารณาตรงนี้ เราเหมือนกันทุกคนในแง่กิเลส กรรม วิบาก แล้วทุกอย่างตกอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์

กิเลสก็เป็นแค่สิ่งหนึ่งที่มีอยู่ กรรมเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีอยู่ วิบากเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีอยู่ เรามีหน้าที่ผ่านรูปแบบของชีวิตในมุมของกิเลส กรรม วิบากนี้ ผ่านไปด้วยจิตใจที่ตั้งมั่น เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มันจะเปลี่ยนแปลง มันบีบคั้น มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย

เราใช้ชีวิตที่มีกิเลส กรรม วิบากเหมือนคนทุกคนในโลกนี้ แต่เรามีมุมมองที่ไม่เหมือนคนอื่นในโลกที่ไม่รู้จักศาสนาพุทธ นี่คือความต่างของชีวิตเหล่านักปฏิบัติธรรมกับชีวิตของคนที่ไม่เคยเข้าใจการปฏิบัติธรรม ถ้าเราขึ้นชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมใช้ชีวิตให้เหมือนนักปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ใช้ชีวิตเหมือนคนในโลก

เราทุกคนต้องอดทนต่อกรรมที่ผ่านเข้ามาในชีวิตไม่ใช่หนีกรรม อดทนที่จะผ่านมันไป ไม่ใช่หนีมัน ไม่ใช่แก้ไขมัน ไม่ใช่จัดการมัน “การอดทนผ่านทุกกรรมไป นั่นคือ การใช้หนี้กรรม”

หลวงปู่ดูลย์พูดว่า ใช้หนี้หมดก็พ้นเหตุเกิด แต่ถ้าเราหนีนั่นคือ กรรมใหม่ หนี้ไม่มีวันหมดถ้าเรายังทำตามความเคยชินเดิมๆ ตอบสนองต่อทุกปัญหา ความทุกข์หรือความสุขด้วยวิธีเดิมๆ ที่เราทำมาตั้งแต่เกิด เราจะต้องทุกข์เหมือนเดิมตลอดชีวิตนี้และชีวิตต่อๆ ไป

สิ่งที่ทำยากที่สุดคือ อดทน” เพราะฉะนั้น พวกเรามักจะทำสิ่งง่ายๆ มาตลอดชีวิตก็คือ หนี เลิกทำแบบนั้น เลิกทำตามความเคยชินเก่าๆ เส้นทางของชีวิตใหม่ก็จะเกิดขึ้น

เราไม่สามารถได้สิ่งที่เราหวัง ประสบความสำเร็จดังที่หวังตลอดเวลา มันไม่มีแบบนั้น ชีวิตเรามีแต่กรรมและเราต้องผ่านมันไป ศาสนาพุทธเราไม่พูดถึงความบังเอิญ เราพูดถึงกรรม การปฏิบัติธรรมของเราทั้งหมดก็เป็นไปเพื่อให้เกิดการตอบสนองต่อกรรมต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราอย่างถูกต้อง

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม การเข้าใจหลักการปฏิบัติธรรมเป็นทางเดียว…เป็นทางรอดทางเดียวที่เราจะตอบสนองต่อทุกกรรมที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราอย่างถูกต้อง

 

ตอนที่ 2 เราเลือกเอง

เคยมั้ย…เรารู้จักคนคนหนึ่ง เราเห็นแต่มุมเลวของมัน แต่อีกคนหนึ่งก็รู้จักคนเดียวกันนี่แหละ แต่เห็นแต่มุมดีของมัน ทำไมเป็นแบบนั้น? กรรม เราหล่อหลอมสร้างจิตของเราให้เป็นแบบนั้นเอง ถ้าคนนั้นมันเลวจริงๆ ทำไมมันไม่คิดเหมือนกันทุกคน

ปัญหาอยู่ที่ไหน? “อยู่ที่ทิฐิ อคติ ความคิด” จิตที่มีแต่อกุศลของเราเอง เราสร้างมันมาด้วยมือเราเอง แต่ธรรมชาติของพวกเราเราโทษไอ้คนคนนั้นว่ามันทำไม่ดี มันทำให้เราโกรธ มันทำให้เราไม่พอใจ

หลวงพ่อชอบพูดเล่นกับผมบ่อยๆ บางทีหลวงพ่อทำแก้วตกหรือทำอะไรที่มันผิดพลาดในเรื่องง่ายๆ สมมติแก้วตกแตก หลวงพ่อก็หันมา จะโทษใครดี? จะหาคนไหนตำหนิดี? เนี่ยอันนี้เป็นคำสอน เพราะว่าเราทุกคนมีธรรมชาติโทษคนอื่น ไม่เคยโทษตัวเองเลย เรายังคงเรียกว่า สันดานแบบนั้น นั่นคือ เราหล่อหลอมจิตดวงนั้นให้เป็นแบบนั้นด้วยมือของเราเอง

จิตนี่เป็นอนัตตา เราสั่งมันไม่ได้ จิตบางคนก็มีแต่คนกุศลเยอะ จิตบางคนก็มีแต่อกุศลเยอะ จิตบางคนหันไปไหนก็เห็นแต่ของสวยของงาม จิตบางคนหันไปไหนก็เจอแต่ความอัปลักษณ์ ทำไม? เพราะว่าเป็นกรรม เราทำมาด้วยมือของเราเอง เพราะฉะนั้นอย่าโทษใคร

ศาสนาพุทธเราถึงบอกว่าให้ดูเข้าไปที่ตัวเอง เราเป็นทายาทของกรรม สวดมนต์ทุกวัน เราสวดมนต์ทุกวันว่าเราเป็นทายาทของกรรม แต่เราโทษคนอื่นทุกวัน จะสวดทำไม

ทำไมคนเราถึงพบเจออะไรต่างๆ สถานการณ์ต่างๆ ไม่เหมือนกัน เสี้ยววินาทีเดียวก็เห็นไม่เหมือนกันแล้ว จะมีอะไรตอบคำถามเหล่านี้ได้ ถ้าไม่ใช่กรรม

เราปฏิบัติธรรม รู้หลักปฏิบัติธรรม เข้าใจหลักปฏิบัติธรรมแต่เราลืมเรื่องกรรมไป บางทีเราไปนั่งใฝ่หาความพอดี ทุกอย่างต้องดีที่สุดเพื่อจะปฏิบัติธรรมได้ดีที่สุด จนเราลืมคำว่ากรรมไป เพราะฉะนั้น เข้าใจเรื่องกรรมให้มากขึ้น เข้าใจด้วยว่า “ชีวิตของเราแต่ละคนนั้นเราเลือกเอง” บางคนคิดว่าหลวงพ่อเป็นคนสั่ง หลวงพ่อเป็นคนบอก เนี่ยนิสัยเราเป็นแบบนั้น เราเลือกจะเชื่อเอง อย่าลืมอันนี้ เพราะฉะนั้น ชีวิตเราจริงๆ แล้วเราเลือกเอง เราจะโทษใครไม่ได้ในชีวิตนอกจากตัวเอง ปฏิบัติธรรมเราจะเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้งแบบนี้ เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นแล้วเราพิจารณาอย่างลึกซึ้ง มันไม่พ้นตัวเองหรอก ถ้าเราพิจารณาไปไม่ถึงตัวเองนั่นแปลว่าเราไม่เข้าใจชีวิต ถ้าเรายังไปที่คนอื่นตลอดเวลา นั่นเป็นเพราะเรายังไม่ได้ปฏิบัติธรรมเลย

 

ตอนที่ 3 ยุติธรรม

ผมเคยพูดตั้งแต่สมัยแรกๆ ว่า “เราแค่ Flow อยู่ในธรรมชาตินี้” “Being เป็นอยู่ตามที่มันเป็น” “แค่รู้สึก” นี่คือหน้าที่เรามีแค่นี้ เกินจากนี้ทั้งหมดเป็นความปรุงแต่ง เป็นความเป็นคน เป็นเรื่องของกิเลส เป็นความซับซ้อนของชีวิต แต่เราชอบเข้าไปอยู่ในความซับซ้อนนั้น

ชีวิตที่ง่ายๆ เราละทิ้ง เราไปเอาความซับซ้อนมาเป็นของเราแทน “ให้ชีวิตเหลือแค่หน้าที่และวินัย” อย่าให้มันเกินไปกว่านี้ ตอนนี้อยู่ในสมมติอะไร? เป็นนักปฏิบัติธรรมทำหน้าที่ของนักปฏิบัติธรรม

ถ้าเราไม่ทำเกินหน้าที่ ชีวิตไม่ยาก ทุกอย่างจะยุติลง คำภาษาไทย “ยุติธรรม” คือ ยุติที่ธรรม ไม่ใช่ยุติที่ความพอใจของเรา ทุกวันนี้ยุติธรรมในโลกนี้ คือ ยุติที่ความพอใจของกู ไม่ใช่ยุติที่ธรรม

ถ้ายุติที่ธรรมเป็นยังไง? อะไรกระทบเข้ามาก็แค่รับรู้ เกิดความกระเทือนขึ้นก็รับรู้ และเห็นมันลงไปในมุมของไตรลักษณ์ นี่คือ ยุติที่ธรรม มีแค่นี้เอง

แต่ถ้าเอายุติที่ความพอใจ ยุติตามความคิด ความเห็น ทิฐิของตัวเอง เราจะพบแต่ความทุกข์ ไม่เพียงแต่เราทุกข์ คนที่เราควานหาความยุติธรรมแบบที่เราชอบ จะทุกข์ด้วย  เพราะฉะนั้น อยู่ที่นี่หรืออยู่ที่ไหน ให้มีหัวใจที่ยุติธรรมจริงๆ ไม่ใช่ยุติที่ความพอใจของตัวเอง แล้วที่นั่นจะร่มเย็น ให้ความร่มเย็นเกิดขึ้นที่ตัวเองก่อน

ทำไมเราทุกข์? เพราะความไม่รู้ เพราะความไม่รู้จักรูปแบบของชีวิตว่ามันประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้ เราไม่รู้จักความเป็นจริงของชีวิตว่าจะต้องเป็นแบบนี้ เราไม่เคยรู้จักว่าเราแค่ต้องผ่านมันไปด้วยจิตที่ตั้งมั่น มันเป็นแค่กรรม เราพยายามแก้ไขจัดการกรรมนั้นให้ดีกว่านี้ นั่นคือเส้นทางแห่งความทุกข์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราหนีกรรมไม่ได้ เราจะประสบแต่ความผิดหวัง เพราะกรรมนั้นต้องให้ผลแบบนั้น

เหมือนเรามีเพื่อนสองคน เราสามารถมองเขาสองคนเหมือนกันได้ไหม? เป็นไปไม่ได้ เขามีกรรมที่ทำให้คนอื่นเห็นเขาในความเป็นแบบนั้น เปลี่ยน perception หรือมุมมองคนไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนกรรม ผมพูดถึงแค่เปลี่ยนกรรมนะไม่ได้พูดถึงการปฏิบัติธรรม ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนกรรม เราแค่อย่าทำตามความเคยชินเดิมๆ ความเคยชินเก่าๆ ทั้งหลายสร้างเราขึ้นมาจนถึงวันนี้ จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบไหนทำแบบนั้น จะเปลี่ยนเป็นผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นก็ปฏิบัติธรรม จะเปลี่ยนเป็นคนที่ดีกว่านี้ก็ถือศีล เก็บปากเก็บมือเก็บเท้าเอาไว้ แล้วชีวิตใหม่ถึงจะเกิดขึ้นได้ ชีวิตใหม่ไม่ได้ถูกเรียกร้องด้วยการด่าใคร ตีโพยตีพายโทษใคร ชีวิตใหม่เกิดขึ้นได้ด้วยมือของเราเอง เปลี่ยนตัวเอง

 

ตอนที่ 4 จบลงที่ไตรลักษณ์

ถ้าเราเคยอ่านคำสอนครูบาอาจารย์รุ่นเก่าๆ ก็น่าจะเคยได้ยินหรือได้เห็นว่าท่านจะบอกว่า ให้พินิจ เพ่งพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างลงไปในมุมของอนิจจัง ทุกขัง หรืออนัตตา เรียกว่า ใช้ไตรลักษณ์ฟาดฟันเข้าไปในทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิตเรา นี่แหละคือการเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนกรรม จากเดิมที่เราเอาความทุกข์และปัญหาทั้งหลายฟาดฟันลงไปที่คนอื่น หาเหตุหาผลในเชิงความคิดที่เราเชื่อว่าควรจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่เราเปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งหมด นำทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเราจบลงไปที่ไตรลักษณ์ มันเป็นการนำร่องให้จิตให้เกิดวิถีใหม่ วิถีที่อยู่บนเส้นทางแห่งธรรมะจริงๆ เป็นการเลิกความเคยชินเก่าๆ

ท่านว่าเพ่งพิจารณาลงไปทั้งวันทั้งคืน ทำไมเป็นแบบนั้น? ท่านต้องการให้เกิดเหตุใหม่ เหตุที่ถูกต้อง ไม่ปล่อยให้ความเคยชินในเชิงมิจฉาทิฐิเก่าๆ แทรกเข้ามา จนกว่าความเคยชินใหม่ที่ไม่ว่าเจออะไร เราก็เห็นมันลงไปในมุมของไตรลักษณ์ได้ นั่นแหละวิถีชีวิตใหม่ในการมองเห็นสรรพสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงจะเกิดขึ้น แทนที่ความเคยชินเก่าๆ ที่เต็มไปด้วยมิจฉาทิฐิ

และเมื่อเรื่องราวทุกอย่างที่เกิดขึ้นสิ้นสุดลง ความทุกข์ก็จะจางคลายไป “สิ้นสุดลงที่ไหน? ที่ไตรลักษณ์” แม้ว่าเป็นแค่การคิด เราก็จะพ้นทุกข์ได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นการเห็นที่เรียกว่า วิปัสสนาญาณ เราก็จะพบความพ้นทุกข์อีกระดับหนึ่ง เราจะได้สัมผัสความสุขที่เกิดจากการเข้าใจตามความเป็นจริง ความสุขอันนี้จะต้องสัมผัสเอง ถ้าเปรียบเปรยก็เหมือนกับว่า เวลาเราเข้าใจผิดคนที่เรารัก เราก็ทุกข์นะ พอเขาอธิบายเสร็จสรรพว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นไม่ได้เป็นแบบนี้ เราเข้าใจ อ๋อเหรอ เราเข้าใจผิด คลายทุกข์ มีความสุข

ศาสตร์พระพุทธเจ้าง่ายๆ อย่างนี้ คือเมื่อไหร่ที่เราเข้าใจตามความเป็นจริง มันก็ไม่ทุกข์ แต่ทุกวันนี้ทุกข์เพราะว่าเราเข้าใจผิด ที่เรียกว่า มิจฉาทิฐิ แต่มันลึกซึ้งมาก เลยต้องใช้เวลา ใช้การปฏิบัติธรรมจนกว่าจะเกิดความเข้าใจถูก จึงจะได้รู้จักความพ้นทุกข์ว่าเป็นยังไง

แต่คำสอนพุทธเจ้าไม่ได้โหดร้ายขนาดว่าต้องรอเราบรรลุธรรมหรอกถึงจะหลุดพ้น ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น เราค่อยๆ เห็นตามความเป็นจริงมากขึ้น เราก็ค่อยๆ พ้นทุกข์มากขึ้นไปเป็นลำดับอยู่แล้ว หัวใจมันอยู่ที่อันนี้ เข้าใจทุกสิ่งตามความเป็นจริง เป็นความพ้นทุกข์ด้วยปัญญาไม่ใช่ความคิด เข้าใจความเป็นจริงในมุมของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ความคิดในเชิงเหตุผลอื่นๆ

การเห็นสภาวะใดๆ ตามความเป็นจริงมักจะเกิดขึ้นทีเผลอ ยกตัวอย่างเช่น ผมเคยอาบน้ำอยู่ จิตมันอยู่ดีๆ ก็เศร้าหมอง ผมก็เห็นจิตมันเศร้าหมอง ในขณะถัดไปผมก็เห็นว่าเออมันเป็นเอง ขณะนั้นแหละความเศร้าหมองนั้นก็ดับไป เนี่ยหลุดพ้น หลุดพ้นแบบนี้ จบลงที่ไหน? ที่ไตรลักษณ์ “อนัตตา” แต่ถ้าเราไม่เข้าใจการปฏิบัติธรรมเห็นจิตมันเศร้าหมอง เอ..ทำไมมันเศร้า เพราะไอ้คนนั้นมันพูดอย่างนี้หรือเปล่า หรือว่าวันนี้เราไปทำอะไรมา เอ…หรือว่านู่นนี่นั่น มันจะพาเราฟุ้งซ่านแทนแล้วก็ติดอยู่กับมันนั้นแหละ หาตัว จะโทษใครดี Blame others

เพราะฉะนั้น ขอให้เราทุกคนปฏิบัติต่อผัสสะที่เข้ามากระทบอย่างถูกต้องตามธรรม แล้วชีวิตเราจะเข้าถึงความพ้นทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ เราจะสัมผัสได้ด้วยตัวเอง ไม่มีวิธีอื่น นี่เป็นทางรอดทางเดียว

 

23-06-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/Skx_yxEon_k

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S