116.จบลง

ตอนที่ 1 อย่าลืม “วินัยและหน้าที่” เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

บางทีมันก็หลงไปคิดกับมัน ก็เรียกว่าหลับไปแล้ว แต่ทันทีที่รู้สึกตัวขึ้นมาเห็นร่างกายนี้มันเดินอยู่ มันก็ตื่นขึ้นมาอีก เห็นความคิด…เห็นมันหลงเข้าไปในความคิด มันก็จะตื่นขึ้นมา

ในชีวิตของการปฏิบัติธรรมมันก็ตื่นหลับๆ แบบนี้แหละ มันต่างกับชีวิตเมื่อก่อนที่เราไม่รู้จักการปฏิบัติธรรมคือ หลับตลอดชีวิต ไม่เคยตื่นเลย  เคยได้ยินเพลงกลกามแห่งความรักมั้ย? ท่อนนึง…ไม่ใช่ชีวิตแต่เป็นซากชีวิต ถึงมีร่างแต่ก็ไร้ใจ… เนี่ย! เราเป็นทาส พอเราเป็นทาสมันก็ไม่ตื่น

อย่าลืมว่าเราไม่ได้เดินเรื่อยเปื่อย เราเดินก็เห็นร่างกายมันเดิน หยุดอยู่ก็เห็นร่างกายนี้มันหยุดมันยืนอยู่ พอเคลื่อนหมุนตัวก็เห็น จริงๆ แล้วมันไม่ต้องมีคำพูดว่าหมุน มันเป็น “ความรู้สึก”…รู้สึกถึงความรู้สึกได้ว่ามันเคลื่อนอยู่ มันขยับอยู่ มันนิ่งอยู่ จริงๆ มันมีแค่นั้นเอง

พอมันเห็นอยู่อย่างนี้ อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้บังคับควบคุมเพ่งเอาไว้ เราจะได้สมาธิที่จะเรียกว่า “สัมมาสมาธิ”  สัมมาสมาธิเกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน 4 เห็นกายแบบนี้ เรียกว่าเจริญสติปัฏฐาน 4  เราจะได้สัมมาสมาธิอัตโนมัติ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน 4 นี่แหละเป็นตัวเจริญสติเจริญสมาธิอยู่ในตัวเลย แล้วพอสมาธิเพียงพอ มันก็จะเกิดขณะแห่งปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนาปัญญาได้ มันจะเห็นตอนไหนก็เรื่องของมัน

เรามีหน้าที่สร้างเหตุไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องคาดหวังอะไรเลย เหมือนที่ผมเคยบอกว่า ชีวิตผมปฏิบัติธรรมไม่เคยคาดหวังอะไรเลย แค่รู้ว่าชีวิตที่เกิดมานี้มีหน้าที่แบบนี้…รู้แค่นั้นเอง มันเข้าใจเลยว่ามันมีหน้าที่อย่างนี้ มันก็ทำหน้าที่ไม่เคยหวังว่าจะได้อะไร แต่รู้หน้าที่ก็เลยยอมทำหน้าที่แบบนี้ด้วยความเต็มใจ พอมันไม่มีความคาดหวังอะไร มันก็ไม่รู้สึกหรอกว่าเราก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า หรือช้าหรืออะไร ไม่รู้สึกทั้งนั้น เพราะมันไม่ได้คาดหวัง รู้แต่ว่าทำไปเรื่อยๆ แค่นั้น

พวกเราหลายคนก็รู้จักว่ามันเป็นหน้าที่แล้ว ก็ทำไปเรื่อยๆ หลายคนก็มาเล่าให้ฟัง เห็นความเป็นจริงในเชิงไตรลักษณ์ได้โดยบังเอิญทีเผลอ เหล่านี้เราจะเห็นว่าเพราะเราไม่ได้คาดหวังอะไร ทำไปเรื่อยๆ ปฏิบัติมาตั้งนานไม่เคยเห็น พอเลิกคาดหวัง ปฏิบัติให้มันถูก ไม่นาน…เห็นแล้ว

อย่าลืมว่า “วินัยและหน้าที่” เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าเราขาดวินัยชีวิตเราก็ไหลตามกิเลส ถ้าเรามีวินัย ทุกวันมีวินัยกับตัวเอง มันจะไม่ไหลตามกิเลสมาก เช่น ถึงเวลาปฏิบัติธรรมในรูปแบบ…ทำ อย่าไปทำนองว่า โอ้! ไม่เป็นไรหรอกตอนนี้ทำอะไรก็รู้สึกตัวอยู่…อย่าพลาดแบบนั้น บางวันที่เรามีเวลาไม่ได้มีธุระอะไร ก็บอกตัวเอง…เออ! เดี๋ยววันนี้จะไม่ดูมือถือ มีมือถืออยู่แต่ไม่ดู มีมือถืออยู่แต่ไม่ดูต่างกับการที่โดนยึดมือถือนะ ไม่เหมือนกัน เหมือนมีเค้กอยู่ข้างหน้าแต่เราต้องอดใจไม่กิน บารมีมันต่างกันเยอะ

 

ตอนที่ 2 จบลง

พอเราเดินจงกรม เดินไปเดินมา สังเกตว่าสมาธิก็เริ่มเกิด จิตใจเป็นปกติ เราอาศัย “จิตใจที่มันเป็นปกติ” นี่แหละในการเห็นความคิด เห็นร่างกาย จะเป็นการเห็นอย่างเป็นกลาง

จิตใจที่เป็นปกติ คือ จิตใจที่ประภัสสรผ่องใส เป็นช่วงที่กิเลสยังไม่จรมา เราอาศัยจิตใจที่ประภัสสรนี้เห็นตามความเป็นจริง จนเกิดการขัดเกลาในที่สุด จนจิตนี้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส

อย่าลืมว่าเรามีหน้าที่ง่ายๆ …หัวใจสำคัญในการปฏิบัติธรรมคือ “การเห็นตามความเป็นจริง” จะเห็นตามความเป็นจริงได้…จิตใจต้องพร้อม คือ เป็นจิตใจที่มีสัมมาสมาธิ …จิตใจจะมีสัมมาสมาธิได้เกิดจากการที่เราเจริญสติปัฏฐาน 4 …เห็นกายอย่างที่กายเป็น มันเดินอยู่ก็เห็นมันเดินอยู่ มันอยู่อิริยาบถไหนก็เห็นมันอยู่อิริยาบถนั้น มันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวก็รู้สึกอยู่ โดยรวมก็เรียกว่า “รู้สึกตัว

อาศัยเห็นจิตใจที่เป็นปกติ  อาศัยการเห็นจิตใจ เห็นกายเห็นจิตนี้  ก็จะเกิดความ “อยู่กับเนื้อกับตัว” ขึ้น

เป็นความอยู่กับเนื้อกับตัวที่จิตใจนี้เป็นปกติเป็นกลาง ที่จะเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงต่อไป

เนี่ย! กระบวนการเหล่านี้จริงๆ มันเป็นวงกลม มันสนับสนุนกันไปสนับสนุนกันมา

ลองสังเกตดูว่าเราเดินไป เห็นกายอยู่บ้าง เห็นจิตอยู่บ้าง สลับกันไป เป็นแบบนั้นมั้ย? สังเกตมั้ยว่าแม้กระทั่งเราบอกว่าเราอยากจะเห็นกายตลอด มันก็เป็นไปไม่ได้…ทุกข์มั้ย? ทุกข์มั้ยที่เราบังคับอะไรก็ไม่ได้สักอย่าง แม้กระทั่งการที่จะเห็นกายหรือเห็นจิตก็เลือกไม่ได้ จิตมันเลือกของมันเองว่ามันจะไปคิด หรือมันจะมารู้ หรือมันจะอะไร เนี่ย! ชีวิตฟังดูโหดร้าย แต่เป็นแบบนั้น

พระพุทธเจ้าก็ให้เราเห็นในมุมทุกมุมในทำนองแบบนี้ เลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ แล้วก็เห็นมันเป็นทุกข์ด้วย คือ ไม่ต้องพยายามเห็นก็ได้นะ มันจะเห็นเองอย่างที่พูด มันซาบซึ้งเอง แต่การเห็นแบบนี้มันถึงได้เกิดความที่ครูบาอาจารย์เรียกว่า มันเลยทิ้งกายทิ้งใจ เพราะมันเป็นแบบนี้

เหมือนเรามีแฟนเราจะทิ้งมันเพราะอะไร? ถ้าเขาดีมากเราก็ไม่อยากทิ้ง เนี่ย! ธรรมชาติเดียวกัน พระพุทธเจ้าสอนให้เราเห็นว่ามันเป็นทุกข์ ทุกข์จนไม่เหลือสุขเลยมันถึงยอม…ยอมทิ้ง! คล้ายๆ เหมือนยอมแพ้กับการจะเป็นเจ้าของหรือบังคับมันอีกแล้ว เพราะรู้ว่ามันบังคับไม่ได้

การเห็นทุกข์นี่ละเอียด เห็นกายเห็นใจให้มากๆ เราจะค่อยๆ เข้าใจ เห็นมากๆ ก็สงสารคนในโลกที่ไม่เคยรู้เลยว่า การเกิดมานี่เป็นทุกข์ขนาดไหน ไม่เคยเห็นไม่เคยเข้าใจเลยคิดเป็นสุขอีก นึกออกมั้ยว่ามีคนจำนวนมากเท่าไหร่ที่รู้สึกว่าชีวิตนี้ฉันโชคดี มีแฟน มีลูก มีเงิน มีทุกสิ่งทุกอย่างพอใช้ได้ไม่ต้องรวยก็ได้ ก็รู้สึกว่าตัวเองโชคดีแล้วที่ชีวิตมีสุขมากกว่าทุกข์ มีคนแบบนี้เท่าไหร่ในโลกนี้ คนที่ไม่เห็นความจริงอะไรเลย คนใกล้ตัวพวกเราเต็มไปหมด คนที่เรารักเต็มไปหมดที่คิดแบบนี้

พวกเราที่ปฏิบัติธรรมมาถึงวันนี้ ผมอยากให้ไปลองสังเกตนะว่า การที่เราจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานก็เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ เราจะค่อยๆ ถอดถอนความรู้สึกที่ว่าการหลงนี้ผิด ไม่ดี เราจะเลิกเพ่งเลิกพยายามที่มากเกินไป เหลือแค่ความใส่ใจ ที่จะเห็นกายเห็นใจนี้เท่าที่เห็นได้ แล้วพอมันลืมไป มันเผลอไป ก็เห็นมันลงไปในมุมของไตรลักษณ์ว่า นี่! ควบคุมไม่ได้

ให้ทุกเหตุการณ์ไม่ว่ารู้หรือหลงจบลงที่ไตรลักษณ์ เท่ากับเราได้ปฏิบัติธรรมแล้ว การทำแบบนี้เรียกว่า อาศัยการเทียบเคียงเรียกว่า “สัมมสนญาณ”…เอ้อ! คุมไม่ได้ เอ้อ! บังคับไม่ได้ เอ้อ! ไปอีกแล้ว เนี่ย! ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แต่ก็เป็นเบื้องต้นเพื่อให้จิตใจนี้จบลง  ความปรุงแต่งจบลง ความละเมอเพ้อพกจบลง จบลงด้วยความจริงอันนี้

 

ตอนที่ 3 แค่รู้…ไม่ต้องทำอะไร

เมื่อตอนที่วิปัสสนาญาณเกิดจะเป็นลักษณะที่เรียกว่า “รู้เท่าทัน” เห็นมั้ยว่ามีคำว่า “เท่า” รู้เท่าทันคือ รู้ตรงหน้านี้เลย เห็นเหมือนกับตาเห็นรูปอยู่ตอนนี้  หลวงปู่ดูลย์ท่านเลยว่า “จงทำญาณเห็นจิตดั่งตาเห็นรูป” แต่อะไรต่างๆ เหล่านี้ก็จะเกิดเอง เราแค่เพียงทำหน้าที่ของเราไป

ตากระทบรูป หูได้ยินเสียง จิตใจก็เปลี่ยนแปลง เราก็รู้ได้ “รู้ไม่ต้องทำอะไร” แค่รู้มันเปลี่ยนแล้ว มันเป็นอาการปรมัตถ์เฉยๆ ไม่ต้องให้ชื่อมันก็ได้แต่เรารู้ว่ามันเปลี่ยน เนี่ย! ลักษณะแบบนี้เขาเรียกว่า “มีสติตามรักษาจิตอยู่เนืองๆ” คือ พอมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเราก็รู้ได้ แต่เวลารู้ มันก็มี 2 อย่างคือ “รู้แบบเป็นกับมัน” คือ ทุกข์กับมัน หรือว่าสุขกับมัน กับ “รู้แบบเป็นผู้รู้อยู่ห่างๆ” มันก็แล้วแต่ว่าตอนนั้นกำลังสมาธิมีแค่ไหนก็เห็นได้แค่นั้น แต่ไม่ว่ากำลังสมาธิจะเท่าไหนก็ตาม ถ้าเรายังยืนยันอยู่ในกิริยาที่ “เห็น…ว่าตอนนี้เป็นแบบนี้” และถ้ามีความพอใจหรือไม่พอใจ ชอบหรือไม่ชอบเกิดขึ้น ก็รู้ทันลงไปอีกว่าตอนนี้เปลี่ยนแปลงเป็นแบบนี้แล้ว  สำคัญคือ “เราไม่ทำอะไร ไม่จัดการ ไม่แทรกแซง ไม่บังคับ ไม่แก้ไข อดทน เห็น อย่างเดียว

มันมหัศจรรย์มากนะที่มีพระพุทธเจ้าบอกเราว่า เรามีหน้าที่เห็นตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีคนบอกเรา เราไม่มีวันรู้เลย เพราะเราทุกคนมันมี “เราเราเกิดมาด้วยความมีเรา เราอยากจะได้สิ่งที่ดี เราจะคิดไม่ออกเลยว่าความพ้นทุกข์ พบบรมสุขที่แท้จริง มันใช้การเห็นตามความเป็นจริง ไม่ใช่ใช้การแก้ไข จัดการ ดัดแปลง แทรกแซงให้จิตให้กายนี้มันดี เพราะมันล่อลวงเราได้แนบเนียนมาก

ในยุคก่อนพระพุทธเจ้าถึงมีคนทำรูปฌานอรูปฌานเพื่อจะเข้าถึงความสุขที่ประณีตมากได้ แล้วทำได้ แล้วถ้าเราไม่มีพระพุทธเจ้าบอกเราว่ายังไม่ใช่ทาง เราก็ต้องเชื่อแบบนั้นเพราะมีคนทำได้ แล้วเราคิดนอกกรอบไม่ได้แน่นอนว่าใช้การเห็นตามความเป็นจริง เราคิดได้แต่ว่า เออ…ต้องจัดการให้มันดี ต้องดัดแปลงให้มันดี ต้องควบคุมมันดี เราคิดแต่ในเชิงทำได้อย่างเดียว เราคิดอย่างอื่นไม่ได้ เพราะเบื้องหลังมีความเป็นเจ้าของกายและจิตนี้ เป็นตัวแม่เลย ตัวนี้แหละมันทำให้เราคิดว่าเราต้องทำ

 

ตอนที่ 4 ทุกขสัจจะ

การปฏิบัติธรรมเราจะเห็นทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเข้าใจทุกข์ในมุมที่ลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นทุกข์ในมุมของไตรลักษณ์ ไม่ใช่ทุกขเวทนาหยาบๆ ทั่วไป เป็นทุกข์ในมุมของไตรลักษณ์ของกายและจิต เรียกว่า “ทุกขสัจจะ” ไม่ใช่เราปฏิบัติธรรมสบายทั้งวัน ผ่อนคลายทั้งวัน สุขทั้งวัน…นี่! เพี้ยนเลย เพราะถ้าเห็นตามความเป็นจริง เห็นทุกข์นี่ มันจะเบื่อหน่าย สุขไม่ได้

ไปลองดูนะเวลาปฏิบัติในมุมของมีแต่ความสุข อัตตามันเกิดขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับว่าฉันปฏิบัติดี ชีวิตดีจัง นี่! มันคนละมุมกับอริยสัจ 4 เลย กายกับจิตนี้เป็นทุกข์ ชีวิตดีไม่ได้ จะดียังไงอยู่กับกองทุกข์ คิดตามตรรกะเหตุผลก็น่าจะคิดออกแล้ว

เราสังเกตมั้ยว่า หน้าร้อนก็ร้อนในง่าย คนไหนกินอะไรหน่อยก็ปวดท้อง อาการทางร่างกายต่างๆ เป็นง่ายๆ แต่เพราะว่าเราหาทางแก้ตลอดเวลา มนุษย์เราเป็นอะไรปุ๊บ ก็กินยาๆ กินยาก็หาย กลบเกลื่อนความจริงว่า กายและจิตใจนี้เปราะบาง เป็นทุกข์ง่าย เปลี่ยนแปลงง่าย กระเทือนง่าย ใช้วิธีการแก้ไข หนี กลบเกลื่อนความทุกข์เหล่านั้นตลอดชีวิต เลยไม่เคยเห็นเลยว่ามันเป็นทุกข์ ด้วยความที่มีทางหนีทางแก้ตลอดนี่แหละ ทำให้เราไม่มีโอกาสเห็นตามความเป็นจริงได้เลย

เพราะฉะนั้น เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น เห็นตามความเป็นจริงก่อน มีมุมมองในชีวิตใหม่ เกิดมุมมองในเชิงของธรรมะ ในเชิงของความเป็นจริง พิจารณาลงไปให้มันเกิดความเข้าใจในธรรมจากความทุกข์แต่ละอย่างที่กำลังเกิดขึ้น แล้วจะจัดการแก้ไขปรับปรุงเกี่ยวกับร่างกาย…ค่อยทำ

 

15-06-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/lQns24AkmAY

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S