115.โศกนาฏกรรม

ตอนที่ 1 หัวใจของศาสนาพุทธคือ การเห็นตามความเป็นจริง

ก่อนที่จะปฏิบัติธรรมเราต้องเข้าใจว่าศาสนาพุทธสอนอะไร หัวใจของศาสนาพุทธคือ “การเห็นตามความเป็นจริง” …

เรามีร่างกายเป็นทางผ่านของเวทนาต่างๆ …เรามีหน้าที่สังเกตเห็นมันตามความเป็นจริง

เรามีจิตใจเป็นทางผ่านของอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ …เรามีหน้าที่เห็นมันตามความเป็นจริง

เข้าใจหลักการนี้ให้ได้ก่อน เข้าใจว่านี่คือ หน้าที่ของนักปฏิบัติธรรมคือ การเห็นตามความเป็นจริง ไม่มีหน้าที่จัดการแก้ไขดัดแปลงแทรกแซงความเป็นจริงเหล่านั้นให้ผิดเพี้ยนไป

เคยฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ท่านเล่าว่า ก่อนนั้นไม่เข้าใจแบบนี้ ไปทำจิตให้ว่างอยู่เป็น 10 ปี กว่าจะมารู้ก็เสียเวลาเป็น 10 ปี คิดว่าเป็นเรื่องของการทำจิตให้มันดี อันนี้ไม่ใช่ศาสนาพุทธ เรื่องของการทำจิตให้มันดี ให้มันไม่ทุกข์ ให้มันว่าง อะไรต่างๆ เหล่านั้นมีมาก่อนพระพุทธเจ้า ทำได้หลากหลายวิธี แต่ไปไม่ถึงความพ้นทุกข์ ไปไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นความพ้นทุกข์ชั่วคราวแค่นั้น

แต่ถ้าเราฝึกจะเห็นตามความเป็นจริงตั้งแต่วันนี้ ตอนนี้ ร่างกายที่นั่งอยู่เห็นมั้ย เห็นด้วยความรู้สึกว่ามันกำลังมีรูปร่างนั่งอยู่ มีใครต้องพยายามเห็นมั้ย หรือว่ารู้สึกได้เลย “การเห็นตามความเป็นจริง” มันง่ายขนาดนี้ “สิ่งที่มีอยู่แล้วรู้มั้ย หรือละเลย จิตใจเป็นยังไงรู้มั้ย รับรู้ได้มั้ยเป็นยังไง มันไม่ดีก็รู้ไม่ดี มันกระเพื่อมหวั่นไหวก็รู้มันกระเพื่อมหวั่นไหว มันไม่กระเพื่อมหวั่นไหวก็รู้ว่ามันไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มันปกติก็รู้มันปกติ มันไม่ปกติก็รู้มันไม่ปกติ …

ทั้งหมดจะแสดงความจริงอันเดียวกันคือ “มันจะเปลี่ยนแปลง ตกอยู่ในสภาพบีบคั้น ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัยบังคับควบคุมไม่ได้” …สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลายอยู่ภายใต้ความจริงอันนี้อันเดียวกัน แล้วเรามีหน้าที่เห็นมันตามความเป็นจริง เรามีหน้าที่แค่นั้น

พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมต่อว่า เมื่อเราเห็นตามความเป็นจริง จะเบื่อหน่าย ทำไมเบื่อหน่าย? เพราะสิ่งที่เห็นนั้นมันแสดงความเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราอยู่กับคนที่นำความทุกข์มาให้เราตลอดเวลา เราเบื่อมั้ย? มันต้องเบื่อนะ ใครจะมีความสุขได้ถ้าต้องอยู่กับคนที่ทำให้เราทุกข์ตลอดเวลา

พระพุทธเจ้าท่านก็แสดงไว้ว่า ผลมันจะเป็นแบบนี้ถ้าเราเห็นตามความเป็นจริง จะเกิดความเบื่อหน่าย เนี่ย! เป็นผล คล้ายๆ ท่านบอกลายแทงเราเอาไว้ แต่เรามีหน้าที่อะไร? “สร้างเหตุ” แล้วผลมันเกิดขึ้น เราก็เทียบเคียงกับสิ่งที่ท่านสอน… เออ! จริงด้วย ไม่ใช่ไปทำผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นในทุกๆ เรื่อง ไม่มีหน้าที่ทำผลลัพธ์ให้เกิดขึ้น ให้มันเกิดขึ้นเอง แล้วเราก็ได้โอกาสเทียบเคียงกับลายแทงที่ท่านบอกเอาไว้ มันจะแสดงว่าที่เราปฏิบัติมานั้นถูกทาง

 

ตอนที่ 2 โศกนาฏกรรมของการเกิด

พวกเราเคยเห็นมั้ย กายกับใจนี้เป็นทุกข์ เมื่อก่อนเราทำงาน เรารู้สึกร่างกายไม่ค่อยทุกข์ ตื่นมาเข้าห้องน้ำ กินข้าว ออกไปทำงาน กลับบ้าน นอน เราก็รู้สึกว่าก็โอเคนี่ เราแข็งแรงดีที่จะทำแบบนี้ได้ แต่พอเราเริ่มสนใจร่างกายตัวเองให้มาก คำว่า “สนใจ” ไม่ได้แปลว่ารักษาสุขภาพนะ คือ เห็นอาการบีบคั้นของมันตลอดเวลา เดี๋ยวมันก็เป็นนี่ เดี๋ยวมันก็ปวดนั่น เดี๋ยวมันก็รู้สึกตรงนี้ ไปรู้สึกตรงนั้น เกิดอาการสั่นไหวก็มี แล้วมันก็เป็นเอง บังคับควบคุมไม่ได้ จนมีความรู้สึกว่าร่างกายหรือว่ากระทั่งจิตใจนี้เป็นทุกข์ มันเป็นความเข้าใจซาบซึ้งว่าร่างกายและใจนี้มันเป็นตัวทุกข์จริงๆ

และด้วยความที่มันเป็นตัวทุกข์ มันแสดงความทุกข์ที่ควบคุมไม่ได้ตลอดเวลา แล้วยังมี “เราไปยึดร่างกายและจิตใจนี้” มันยิ่งเป็นซุปเปอร์ทุกข์เลย เราห้ามไม่ให้มีเราเข้าไปยึดได้มั้ย ก็ห้ามไม่ได้อีก เพราะจิตนี้เต็มไปด้วยอวิชชา แต่เราได้เห็นตามความเป็นจริงแล้วว่า โอ้โห! การเกิดมาครั้งนึงมันเป็น “โศกนาฏกรรมแห่งความทุกข์” เลยทีเดียว การเกิดขึ้นมาพร้อมกับอวิชชาที่บังคับควบคุมอะไรไม่ได้ มีหน้าที่แค่เห็นมันตามความเป็นจริงจนกว่าจะหลุดพ้น เส้นทางนี้มันแสนสาหัสจริงๆ

พระพุทธเจ้าจึงว่า ธรรมะที่ท่านแสดงเป็นบทสรุปก็คือ “อริยสัจ 4” คือ รู้รอบในกองทุกข์นี้ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเราจะต้องเห็นกายและใจนี้เป็นทุกข์ เพราะมันเป็นความจริงแบบนั้น ถ้าเราไม่เห็นเข้ามาในมุมเหล่านี้ ให้ระลึกไว้ว่าเรากำลังปฏิบัติถูกอยู่หรือเปล่า ทำไมเราไม่เห็นว่ามันเป็นทุกข์ ใจนี้เป็นของเปราะบาง กระทบปุ๊บก็กระเทือน กระเทือนง่ายๆ เป็นทุกข์แล้ว เป็นทุกข์ที่ควบคุมบังคับไม่ได้ มีเหตุกระทบเข้ามามันก็กระเทือน มันกระเทือนตามหน้าที่ของมัน ตามเหตุของมันที่มันมีอยู่  แล้วถ้าเราไม่มีกำลังที่จะเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา เราจะต้องทุกข์กับมันด้วย แล้วพอเราทุกข์กับมันแล้ว เราก็บังคับให้มันหายก็ไม่ได้อีก เนี่ย! เห็นความน่ากลัวของความทุกข์มั้ย

มันเป็นโศกนาฏกรรมของการเกิดมาที่ผมบอก การเกิดมาด้วยความไม่รู้ และเมื่อรู้แล้ว เราจึงเข้าใจว่าการเกิดมาเป็นทุกข์  “เป็นทุกข์ที่เราทำอะไรไม่ได้” จนเราได้ค้นพบคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจึงเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าเราจะออกจากทุกข์นี้ยังไง  ถ้าเราเข้าใจเรื่องของกายและจิตนี้เป็นทุกข์มากขนาดที่ผมกำลังบอกว่ามันคือโศกนาฏกรรมของการเกิดมา เราจะเข้าใจคุณค่าของคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เราได้รับ ได้ยินได้ฟัง และได้ปฏิบัติตามแล้ว เรามีโอกาสจะได้รู้ได้ปฏิบัติตาม นี่คือ โอกาสที่มีค่าที่สุดในชีวิตเรา

 

ตอนที่ 3 มีใจเป็น “คนดู” อยู่มั้ย?

ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ต้องพยายามหาทุกอย่างให้พอดีกับชีวิต เช่น ต้องมีนี่ ต้องมีนั่น ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนั้น ให้สนใจกายและจิตให้มาก ไม่ใช่สนใจจะทำสิ่งแวดล้อมให้ดีเพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมได้ สิ่งที่เรา “คิด” ว่ามันจะดีหรือจะพอดี ให้ไปสังเกตสิ่งเหล่านั้นว่ามันไม่เคยมีวันนั้นเลย เมื่อเวลาผ่านไปหน่อยก็ไม่ดีอีกแล้ว พระพุทธเจ้าท่านจึงว่า “ปัจจัย 4 วิเวก มักน้อย สันโดษ” เป็นคุณสมบัติเบื้องต้น แล้วถ้าเราหมั่นสังเกตกายและจิตนี้อยู่เป็นประจำอยู่เนืองๆ จนรู้สึกว่าอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่เพ่ง เราจะเข้าถึงความพอดีเอง

การปฏิบัติธรรมจะเกิดความเจริญก้าวหน้าได้ จริงๆ ไม่มีอะไรมากนะ พวกเราทุกคนรู้หลักแล้ว ที่เหลือมันเป็นความเข้มข้นของเราที่จะอยู่กับตัวเองให้มากกว่าอยู่กับโทรศัพท์ ให้มากกว่าอยู่กับหนังสือ ให้มากกว่าอยู่กับอะไรๆ ที่มันพาเราออกนอก เราแค่อุดรูรั่ว ชีวิตของการปฏิบัติธรรมที่เข้มข้นมันก็เกิดขึ้นเอง โดยที่เราไม่ต้องตั้งใจเลยว่าวันนี้ฉันจะปฏิบัติธรรม แค่ไม่ทำสิ่งที่ไม่ต้องทำ การปฏิบัติธรรมก็จะเกิดขึ้นเอง มันเป็นผล

บางทีนักปฏิบัติธรรมเข้าใจผิด คิดว่าเวลามีการกระทบ มันจะต้องไม่กระเทือน มันไม่ควรกับกระเพื่อม จิตใจนี้ต้องเข้มแข็ง พอเราเข้าใจผิดแบบนั้นเราก็เลยไปเพ่งจิตเอาไว้ ไม่ให้มันกระเพื่อม ไม่ให้มันกระเทือน แล้วก็กลายเป็นหิน ไม่ได้เป็นนักปฏิบัติธรรมแล้วเป็นหินแทน เนี่ย! เรื่องราวแบบนี้เพราะเราไม่เข้าใจว่าอะไรคือการปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธ เราไม่เข้าใจเรื่องของจิตนี้มันกระทบแล้วมันก็กระเทือนตามความเป็นจริงที่มันเป็น ตามอวิชชาที่มันมี ตามกิเลสที่มันมี ตามธรรมชาติในตัวของมันเอง ตามกรรม แต่เราจะเอาดี เราว่าไม่กระเพื่อมนี่แปลว่า เจ๋ง เก่ง เนี่ย! ปฏิบัติผิดกันเยอะเลยเพราะคิดแบบนี้

ทำไมเราอยากให้มันเป็นแบบนั้นเพราะเบื้องหลังคือ “เราคิดว่าจิตนี้เป็นของเรา” มันควรจะดีแบบนี้ แต่ถ้าเราเข้าใจว่าจิตนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันจะกระเพื่อมก็เรื่องของมัน หน้าที่เราคืออะไร? “เราเป็นคนดู มีใจเป็นคนดู” เห็นแล้วมันกระเพื่อม เห็นแล้วว่าพอกระเพื่อมแล้วก็มีเราก็ไปทุกข์กับมัน…เห็นแล้ว นี่เขาเรียกว่า “เห็นตามความเป็นจริง” แล้วเราถึงเข้าใจได้ว่า ความยึดมั่นถือมั่นในกายและจิตนี้เป็นซุปเปอร์ทุกข์” อยากจะใช้คำว่าโคตรทุกข์ เพราะเป็นกระบวนการที่เราบังคับควบคุมไม่ได้เลย

ในระหว่างทางการปฏิบัติธรรม ถ้าเราคิดว่า จิตที่ไม่กระเพื่อมดีกว่าจิตที่กระเพื่อม คนที่เกิดมาแล้วมีจิตใจที่เข้มแข็ง เราเคยมีเพื่อนแบบนั้นมั้ยที่เขาไม่กระเทือนกับการกระทบอะไรง่ายๆ เขาไม่ต้องปฏิบัติธรรม มันไม่กระเพื่อมเอง ผมมีเพื่อนคนนึงเป็นแบบนี้ ผมเรียกเค้าว่ามันเป็นหิน นี่ไม่ใช่ปฏิบัติธรรม! แต่อนุสัย กรรมต่างๆ ก็หล่อหลอมให้เกิดความเป็นจิตที่มีลักษณะแบบนี้คือ ไม่กระเพื่อมง่ายๆ แต่บางคน sensitive ก็กรรมเขาเป็นแบบนั้น มีจิตแบบนั้น

เพราะฉะนั้น ตัววัดที่แท้จริงในศาสนาพุทธก็คือ ไม่ว่ามันจะเป็นจิตที่กระเพื่อมง่าย หรือกระเพื่อมยาก ไม่ค่อยกระเพื่อม หัวใจสำคัญคือ เราเป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หรือมีใจเป็นคนดูสภาพจิตต่างๆ ที่กำลังเป็นแบบนั้นอยู่มั้ย? ต่อให้มันไม่กระเพื่อม แล้วถ้าเราไม่มีใจเป็นคนเห็นว่าจิตใจนี้ไม่กระเพื่อมก็เท่ากับว่าเราไม่ได้ปฏิบัติธรรม เรากำลังพอใจกับจิตใจไม่กระเพื่อม เรากำลังเป็นเจ้าของมันอีกแล้ว

เพราะฉะนั้น เข้าใจการปฏิบัติธรรมให้ถูก ไม่ว่าสภาวะแบบไหนดีแค่ไหน เจ๋งแค่ไหน ยังมีใจเป็น “คนดู คนเห็น” สภาพแบบนั้นอยู่มั้ย ถ้ามันดีแล้วมีความพอใจ เห็นความพอใจนั้นมั้ย ถ้ามันไม่ดีแล้วเซ็งเป็ดทำไมเป็นแบบนี้ เห็นความเซ็งเป็ดนั่นมั้ย นี่เรียกว่าได้ปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจิตใจนั้นจะกระเพื่อมง่าย หรือกระเพื่อมยาก ถ้ามีใจเป็นคนดูก็เหมือนกันเท่ากัน ได้ปฏิบัติธรรมทั้งคู่ ไม่มีใครดีกว่าใคร

ถ้าเราเข้าใจการปฏิบัติธรรมได้ถูก สิ่งที่เราจะเห็นตามมาคือ กายและจิตนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง จะเข้าใจว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงเน้นเรื่องของอริยสัจ 4 มาก

 

ตอนที่ 4 อดทน” ที่จะเห็นมันไปอย่างสบายๆ

เวลาเราฟังธรรมเกิดความปิติซาบซึ้งน้ำตาไหล เนี่ย! เห็นมั้ยว่ามันควบคุมไม่ได้ มันกระทบแล้วมันก็กระเทือน ถ้าเราจะไม่พอใจที่มันเป็นแบบนี้ เราต้องทุกข์ซ้ำเข้าไปอีก แล้วถ้าเราเห็นตามความเป็นจริง เราจะเห็นว่า โอ้ มันคุมไม่ได้เลย การฟังธรรมก็เกิดปิติ เป็นน้ำตาแห่งความสุข เราอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ทุกข์ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์ที่มันควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ เราได้..แต่รู้..แต่เห็น..ไม่เข้าไปเป็นกับมันแค่นั้น  แต่ส่วนใหญ่เกิดอะไรขึ้น? เราชอบเป็นกับมัน พอธรรมชาติจิตที่ไม่มีกำลัง มันชอบเป็นกับการกระเทือนนั้น มันก็ทุกข์…ทุกข์อีกแล้ว

เพราะฉะนั้น มองไปทางไหนมันก็มีแต่ทุกข์ มองไปขั้นตอนไหนก็มีแต่ทุกข์ และสิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าอยากให้เราเห็น เพื่อจะได้เกิดความเบื่อหน่ายจะได้คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดจะได้หลุดพ้น

มีใครเคยเห็นเวลาที่จิตใจมีความสุขแล้วมันเป็นความทุกข์บ้าง มีใครเคยเห็นบ้างมั้ยความสุขที่มากกลับถูกมองเห็นว่าเป็นความทุกข์มหาศาล เนี่ย! เราต้องหัดมอง ความสุขที่มากขยายออกขยายออก เพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น มันเป็นความทุกข์มหาศาล เพราะมันบีบคั้นจิตใจนี้มาก ทันทีที่เราเห็นมันในมุมของไตรลักษณ์ว่ามันถูกบีบคั้นอยู่ จิตใจนี้จะกลับมาสู่ความเป็นปกติ

ความสุขนั้นดับไป…ทำไมดับ? เพราะเราได้เห็นมันตามความเป็นจริงในมุมของไตรลักษณ์ แต่ถ้าเราไม่ได้ถอนตัวออกมาเห็นมันตามความเป็นจริง มันก็คาอยู่อย่างนั้นแหละเพราะมันมีเราที่อยากจะได้ความสุขนั้นอยู่ เราพยายามต่อยอดโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย การพยายามต่อยอดความสุขเหล่านั้นเป็นความบีบคั้น ถ้าเราปฏิบัติธรรมเห็นจิตเห็นใจอยู่เนืองๆ เราจะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ผมพูดวันนี้

เมื่อเราเห็นกายและจิตที่ยังปรุงแต่งอยู่แบบนี้ ควบคุมบังคับไม่ได้ แสดงความเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เราได้ฟังคำสอนพระพุทธเจ้า เราเริ่มเจอทางออกเล็กน้อย ว่าถ้าเราเป็น ผู้รู้ ผู้ดู อยู่ ไม่เป็นผู้เป็น เราจะไม่ทุกข์ เราจะเห็นทุกข์แต่ไม่เป็นทุกข์” แต่ความทุกข์มันซ้อนอยู่ ถ้าเราปฏิบัติไปเราจะรู้ว่า “ผู้รู้นี่ก็ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยเหมือนกัน” เราจะอยู่ตรงไหนดี? ในเมื่อตรงไหนก็แสดงแต่ความทุกข์อย่างเดียว พระพุทธเจ้าท่านจึงว่า “เส้นทางนี้เป็นเส้นทางแห่งทุกข์” ท่านเขมานันทะเคยบอกว่า เราต้องผ่านอุโมงค์มืดนี้ไปจนสุดท้ายถึงจะค้นพบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

เมื่อเราปฏิบัติธรรมเห็นกายและจิตนี้เป็นทุกข์มากๆ จนบางครั้งมันไม่ไหว จิตใจต้องการความสุขบ้าง เราต้องรู้จักนั่งสมาธิ ให้จิตใจได้รับความสงบ เพื่อจะมีกำลังที่จะเห็นความจริงในกายในใจนี้ต่อไป เมื่อไหร่ก็ตามที่จิตดิ้นรน เบื่อ อยากจะได้ความสุข ค่อยๆ นั่ง ไม่ใช่รีบร้อนจะนั่งสมาธิ นั่งสบายๆ เห็นจิตเห็นใจที่มันกำลังดิ้นรน เห็นไปเรื่อยๆ ไม่ทำตามมัน…จะ 5 นาที 10 นาที 15 นาที 20 นาที จะชั่วโมงนึง มันจะเปลี่ยน เรามีหน้าที่ “อดทน” ที่จะเห็นมันไปอย่างสบายๆ แล้วความสงบจะเกิดขึ้น…เกิดเอง

การที่เราดิ้นรน ทำตาม เป็นทาสของมัน เราจะไม่มีวันได้พบความสุขและความสงบเลย จะมีแต่ความดิ้นรนมากขึ้น จะมีแต่ความอยากมากขึ้น จะมีแต่อาการที่จะไขว่คว้าหาความสุขที่มากขึ้นๆๆ ไปอีก แล้วเราตกเป็นทาสของมันโดยที่เราไม่รู้ตัวว่ากำลังทุกข์อยู่ ยังไม่ได้ความสุขจริงๆ ซักที…ความรู้สึกจะเป็นแบบนี้ มันเลยไม่หยุด

เคยเป็นมั้ย เบื่อ ก็ดูโทรศัพท์ ดู Facebook รูดไปเรื่อย ไม่มีอะไรดูหรอกแต่รูดไปเรื่อย คิดว่าจะได้เจออะไรที่น่าสนใจ แล้วมันก็ไม่มี เจออันนี้เหมือนจะใช่สิ่งที่สนใจแล้ว…แล้วก็จบ ยังไม่ได้ความสุขเท่าที่ต้องการ…หาไปต่ออีก …เนี่ยเป็นทุกข์แล้วแต่ไม่เห็น เพราะฉะนั้น เลิกทำแบบนั้นไม่มีประโยชน์อะไร รังแต่จะทำให้เสียสมาธิไปเรื่อยๆ เหมือนตุ่มที่มีรูรั่ว บางคนบอกว่า นั่งดูก็รู้สึกตัวนะ แต่เขาเรียกว่าตุ่มที่มีรูรั่ว เนี่ย! ทุกข์มันแสดงตัวอยู่ทุกขณะ มันอยู่ที่เราจะมีความแยบคายเพียงพอที่จะเห็นมันมั้ย

 

15-06-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/lw-F59mnxWI

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S